สวนวัฒนธรรมเจิ้งเหอ

โดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา


 

—–เจิ้งเหอ (郑和 ค.ศ. 1371 – 1433) เป็นนักเดินเรือคนสำคัญในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368 – 1644) เล่าขานกันว่าชื่อเดิมของเขาคือ หม่าเหอ  (马和) และมีชื่อเล่นว่า ซานเป่า (三保) ส่วนแซ่เจิ้ง (郑) เป็นแซ่ที่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (明成祖 ค.ศ. 1360 – 1424) พระราชทานให้ในภายหลัง ชาวไทยส่วนมากรู้จักเจิ้งเหอกันในนาม ซำปอกง (三宝公)

—–เจิ้งเหอถือกำเนิด ณ มณฑลอวิ๋นหนาน (云南) ประเทศจีน ในวัยเด็ก กองทัพหมิงบุกกวาดล้างกองกำลังของมองโกลที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงอวิ๋นหนาน เป็นเหตุให้เจิ้งเหอตกเป็นเชลยศึก และต้องติดตามกองทัพหมิงเข้าสู่นครหนานจิง ในภายหลังเขาถูกตอนเป็นขันที และถูกส่งตัวให้เข้ารับใช้ในจวนเยียนอ๋องจูตี้[1]  (燕王朱棣) เมื่อเขาเติบใหญ่ก็ได้สร้างผลงานในเหตุการณ์ การจลาจลจิ้งน่าน[2] (靖难之役ค.ศ.1399 – 1402) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นขันทีฝ่ายใน

—–ตั้งแต่รัชศกหย่งเล่อ (永乐) ปีที่ 3 จนถึงรัชศกเซวียนเต๋อ (宣德) (ค.ศ. 1405 – 1433) ปีที่ 8 เจิ้งเหอได้รับพระราชโองการให้ออกเรือเดินสมุทรทั้งหมด 7 ครั้ง ซึ่งการเดินทางลงสมุทรของเจิ้งเหอมีโครงสร้างใหญ่และใช้ระยะเวลายาวนานที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์จีน โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 28 ปี ทั้งนี้ยังได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้แก่ราชวงศ์หมิงอีกด้วย กล่าวคือขณะที่เจิ้งเหอออกเดินทางบนมหาสมุทรก็ได้ไปเยี่ยมเยือนเหล่านานาประเทศถึง 40 ประเทศ ถือเป็นการเปิดเส้นทางสายไหมทางทะเล จนเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่ง “สยาม” หรือประเทศไทยในขณะนั้น ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เจิ้งเหอได้เข้ามาเยือนเช่นเดียวกัน

(บริเวณสวน สวนวัฒนธรรมเจิ้งเหอ)

—–สำหรับการเสียชีวิตของเจิ้งเหอ ถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าเจิ้งเหอเสียชีวิตที่แคว้นกู่หลี่[3] (古里国) บ้างก็ว่าถูกฝังที่เกาะชวา บ้างก็ว่าเสียชีวิตกลางทาง ต้องปลงศพกลางทะเล และนำกลับมาแค่เส้นผมหรือของติดตัวบางส่วนเท่านั้น บางแหล่งก็กล่าวว่าเสียชีวิตที่เมืองหนานจิง แต่ยังไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้แน่ชัด ส่วนประเด็นการถูกฝังที่เขาหนิวโส่ว บันทึกซั่งเจียงเหลี่ยงเสี้ยน (上江两县 สองอำเภอสู่แยงซีเกียง) ในรัชศกถงจื้อ (同治) สมัยราชวงศ์ชิง (清ิ ค.ศ. 1636 – 1912) ได้กล่าวไว้ว่า

เขาหนิวโส่วมีสุสานขันทีเจิ้งเหอ รัชศกหย่งเล่อมีบัญชาให้เดินสมุทร ต้นรัชศกเซวียนเต๋อกลับมาถวายรายงาน สิ้นใจที่กู่หลี่ พระราชทานให้ฝังศพที่เชิงเขา” 

(牛首山有太监郑和墓,永乐年命下西洋,宣德初覆命,卒于古里,赐葬山麓。)

—–ค.ศ. 1985 เป็นปีที่เจิ้งเหอเดินสมุทรครบ 580 ปี ทางการจึงขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเหล่าทายาทรุ่นหลังของเจิ้งเหอในการบูรณะสุสานให้สมบูรณ์ โดยปรับเปลี่ยนลานสุสานให้มีรูปทรงเกือกม้า เพื่อรักษาธรรมเนียมเดิมของชาวหุยซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม[4]  หินปิดสุสานสลักลายเมฆและดอกบัวมงคล ผนังด้านหลังสลักอักษร สุสานเจิ้งเหอ (郑和之墓)

—–ทางเข้าสุสานนับว่าออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์ บันไดทางขึ้นสู่สุสานมีทั้งหมด 28 ขั้น แบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับละ 7 ขั้น อันมีความหมายบ่งบอกถึงการเดินสมุทรทั้งสิ้น 28 ปี เยือน 40 กว่าประเทศทั้ง 7 ครั้งของเจิ้งเหอ

—–แม้ในปัจจุบันจะยังการันตีไม่ได้ว่า ภายในสุสานเจิ้งเหอนี้จะเป็นสุสานที่ฝังร่างของเจิ้งเหอไว้จริง หรือเป็นเพียงสุสานที่ฝังเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ของเขาเพียงเท่านั้น แต่ทายาทรุ่นหลังของเจิ้งเหอและผู้คนจำนวนมาก ก็ยังใช้ที่แห่งนี้เป็นที่รำลึกถึงมหาขันทีนักเดินเรือผู้นี้

—–ปัจจุบันสุสานของเจิ้งเหอมีอีกชื่อว่า สวนวัฒนธรรมเจิ้งเหอ (郑和文化园) และยังเป็นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้รับความคุ้มครองโดยมณฑลเจียงซู


[1] จูตี้ คือพระนามของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ก่อนขึ้นครองราชย์มีตำแหน่งเยียนอ๋อง ดูแลเมืองเป่ยผิง (ปักกิ่งในปัจจุบัน)

[2] การจลาจลจิ้งน่าน เป็นเหตุการณ์การจลาจลที่มีต้นเหตุจากจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน (建文帝 ค.ศ. 1377 – ไม่ระบุแน่ชัดเนื่องจากหายสาบสูญ) ต้องการลดทอนอำนาจของเหล่าอ๋องรวมถึงขุนศึกต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจในหมู่ขุนนาง ภายหลังจูตี้กรีธาทัพเข้านครหนานจิง และเข้ายึดอำนาจจักรพรรดิเจี้ยนเหวินได้ในที่สุด ทั้งยังปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ ใช้ชื่อรัชศกว่าหย่งเล่อ

[3] กู่หลี่ ในปัจจุบันคือ เมืองโคชิโคด ประเทศอินเดีย

[4] เล่าขานกันว่า เจิ้งเหอเดิมนับถือศาสนาอิสลาม