พัฒนาการของตัวอักษรจีน
เรื่องโดย หลี่หมิงเสียน
——ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงห้าพันกว่าปี โดยมีพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่ง ‘ตัวอักษรจีน’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีวิวัฒนาการมาอย่างช้านานเช่นเดียวกัน โดยสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
1. อักษรกระดองเต่า หรืออักษรบนกระดูกสัตว์ (甲骨文)
——อักษรกระดองเต่าเป็นรูปแบบอักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ตัวอักษรประเภทนี้ใช้ในสมัยปลายราชวงศ์ซาง (商 1,600-1,046 ปีก่อนคริสตศักราช) มีเป้าหมายเพื่อใช้บันทึกและทำนายดวงชะตา ด้วยการสลักอักษรไว้บนกระดูกสัตว์หรือกระดองเต่า
——อักษรกระดองเต่ามีลักษณะคล้ายอักษรภาพ เพียงแค่มองก็รู้ทันทีว่าหมายความว่าอะไร โดยรูปแบบของอักษรชนิดนี้จะเรียวบางและไม่ค่อยโค้งมนตามเครื่องมือที่ใช้แกะสลัก นอกจากนี้อักษรกระดองเต่าแม้จะเก่าแก่แต่ก็เป็นอักษรที่มีความสมมาตรและมีรูปแบบที่แน่ชัด ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยสามปัจจัยหลักสำหรับศิลปะการเขียนอักษร ได้แก่ การเขียนอักษร การผสมคำและองค์ประกอบของความเรียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอักษรในยุคนี้พัฒนาอย่างเป็นระบบแล้ว และเป็นรากฐานในการพัฒนามาสู่รูปแบบของอักษรในปัจจุบัน
2. อักษรสำริด หรืออักษรโลหะ (金文)
——อักษรสำริดเกิดขึ้นในช่วงกลางยุคราชวงศ์ซาง (商 1,600-1,046 ปีก่อนคริสตศักราช) และเป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์โจว (周 1,046–256 ปีก่อนคริสตศักราช) ในสมัยนั้นมีการใช้เครื่องสำริดกันอย่างแพร่หลาย อักษรประเภทนี้เกิดจากการหลอมหรือสลักตัวอักษรลงบนเครื่องสำริดต่างๆ โดยเฉพาะบนระฆัง (钟) และกระถางสามขา (鼎) เนื้อหาที่บันทึกจะเกี่ยวกับการทำพิธีเซ่นไหว้ ราชโองการ หนังสือรบ หนังสือสัญญา เป็นต้น ซึ่งบันทึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
——ลักษณะของอักษรสำริดเมื่อเทียบกับอักษรกระดองเต่าแล้ว อักษรสำริดจะมีความหนา ความโค้งมนและจับเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าอักษรกระดองเต่า
3. อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆)
——ตัวอักษรเสี่ยวจ้วนเกิดขึ้นหลังจากจักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇 259–210 ปีก่อนคริสตศักราช) รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้แล้ว จึงออกนโยบายปฏิรูปและวางรากฐานอักษรให้ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ โดยเป็นการปรับอักษรต้าจ้วน (大篆) ที่ชาวแคว้นฉินนิยมใช้กันก่อนหน้านี้ให้มีความเรียบง่ายขึ้น จนกลายเป็นอักษรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น จนถึงช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉 202 ปีก่อนคริสตศักราช–ค.ศ. 8) ตัวอักษรเสี่ยวจ้วนถูกอักษรลี่ซู (隶书) ทดแทนในที่สุด
——เมื่อประเทศจีนเริ่มใช้ตัวอักษรแบบเสี่ยวจ้วน ก็มีการกำหนดรูปแบบการเขียนที่เป็นระบบมากกว่าเดิมขึ้นมา ทั้งในด้านเส้นขีด เค้าโครง และรูปแบบโครงสร้างที่แน่นอน รวมถึงลดความเป็นอักษรภาพลง ลักษณะของอักษรเสี่ยวจ้วนจะเป็นอักษรที่มีรูปทรงชัดเจนกว่าอักษรสองแบบข้างต้น โดยจะเป็นทรงยาวและมีความโค้งมนสม่ำเสมอ
4. อักษรลี่ซู หรืออักษรทาส (隶书)
——อักษรลี่ซูเป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรเสี่ยวจ้วน (小篆) เริ่มใช้สมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสตศักราช) เป็นที่นิยมสูงสุดในสมัยราชวงศ์ฮั่น (汉 202 ปีก่อนคริสตศักราช–ค.ศ. 220) ตำนานเล่าว่าอักษรชนิดนี้ถูกสร้างสรรค์โดยทาสในเรือนจำผู้หนึ่งนามว่า ‘เฉิงเหมี่ยว’ (程邈 ปีเกิดและปีตายไม่แน่ชัด) เขาคิดว่าอักษรเสี่ยวจ้วนเขียนอย่างรวดเร็วไม่ได้ ทำให้เสียเวลาทำงาน จึงคิดอักษรรูปแบบใหม่ขึ้นมาและใช้เฉพาะกับงานในเรือนจำเท่านั้น ต่อมาได้เรียกว่าอักษรนี้ว่า ‘ลี่ซู’ เพราะคำว่า ‘ลี่’ (隶) แปลว่าทาส และถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นจนกระทั่งทดแทนอักษรเสี่ยวจ้วนในที่สุด ทว่าในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (北魏 ค.ศ. 386-534) มีการค้นพบอักษรที่มีความคล้ายกับอักษรลี่ซู ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอักษรประเภทนี้อาจมีขึ้นมาก่อนสมัยราชวงศ์ฉินแล้ว
——ตัวอักษรลี่ซูจะมีลักษณะอ้วนกว้าง เส้นขีดแนวขวางจะยาว เส้นขีดแนวตั้งจะสั้น และเปลี่ยนความโค้งมนของอักษรเสี่ยวจ้วนเป็นรูปทรงเหลี่ยม
5. อักษรข่ายซู หรืออักษรมาตรฐาน / อักษรบรรจง (楷书)
——อักษรข่ายซูค่อยๆ พัฒนาโดยเป็นการย่อแบบมาจากอักษรลี่ซู (隶书) อีกที ซึ่งอักษรรูปแบบนี้มีการพัฒนามาแล้วหลายต่อหลายสมัย ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (汉 202 ปีก่อนคริสตศักราช–ค.ศ. 220) จนถึงราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1636-1912) ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อักษรข่ายซูจะมีลักษณะเป็นทรงตรง เหลี่ยม ตัวอักษรมีความสมดุล เป็นระเบียบบรรจงสวยงาม จึงถือเป็นมาตรฐานในการเขียนอักษรจีนจนถึงปัจจุบัน
6. อักษรเฉ่าซู หรืออักษรหวัด (草书)
——อักษรเฉ่าซูหรืออักษรหวัด คืออักษรที่เขียนด้วยความรวดเร็วและหวัดพบในช่วงราชวงศ์ฮั่น (汉 202 ปีก่อนคริสตศักราช-ค.ศ. 220) โดยพัฒนามาจากการเขียนอักษรลี่ซู (隶书) แบบหวัด ซึ่งในปัจจุบันไม่ว่าอักษรประเภทใด ขอเพียงแค่เขียนหวัดก็สามารถจัดเป็นอักษรเฉ่าซูได้ เนื่องจากเป็นอักษรที่มีการเขียนง่ายแต่อ่านค่อนข้างยาก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสาร จึงไม่มีการนำมากำหนดให้เป็นรูปแบบอักษรที่ใช้กันทั่วไป
7. อักษรสิงซู (行书)
——อักษรสิงซูเป็นอีกหนึ่งรูปแบบอักษรที่พัฒนามาจากอักษรลี่ซู (隶书) เป็นรูปแบบที่อยู่ระหว่างอักษรข่ายซู (楷书) และอักษรเฉ่าซู (草书) โดยจะอ่านได้ง่ายกว่าอักษรเฉ่าซู แต่ก็เขียนออกมาได้รวดเร็วกว่าอักษรข่ายซูเช่นกัน อักษรสิงซูสามารถแบ่งได้สองประเภทตามลักษณะของการเขียน หากเขียนได้บรรจงและประณีตหน่อยจะเรียกว่า ‘สิงข่าย’ (行楷) แต่ถ้าหากเขียนแล้วมีความหวัดมากกว่าจะเรียกว่า ‘สิงเฉ่า’ (行草)
ที่มาของภาพ
http://wap.art.ifeng.com/?app=system&controller=artmobile&action=content&contentid=3435349
http://www.jnwmw.com/m/wenhua/7827.htm
http://www.shufalu.com/xiaozhuan/67.html
https://www.sohu.com/a/231001673_281265
https://kknews.cc/zh-sg/news/o8nznm.html
http://www.shufazidian.com/ziliao/41617.html
https://www.cidianwang.com/shufazuopin/qingchao/909165_1.htm
http://m.yac8.com/news/12529.html
https://www.sohu.com/a/220955829_100061956