“ตำหนักทอง” แห่งนครคุนหมิง

เรื่องโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา

 

 

——ตำหนักทอง (金殿) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตำหนักไท่เหอกง (太和宫) เป็นตำหนักทองที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศจีน และเป็นอารามของลัทธิเต๋าที่มีชื่อเสียงของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่เชิงเขาหมิงเฟิ่งซาน (鸣凤山 หรือภูเขานกแก้ว 鹦鹉山) ห่างออกไปทางตะวันออกของเมืองคุนหมิงราว 8 กิโลเมตร

——มีเอกสารโบราณบันทึกการสร้างตำหนักทองครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1602 ตรงกับปีรัชศกที่ 30 สมัยจักรพรรดิว่านลี่ (万历 ค.ศ. 1573-1620) แห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) สร้างตามแบบตำหนักทองบนยอดเขาเทียนจู้เฟิง (天柱峰) ภูเขาอู่ตัง (武当山 หรือภูเขาบู๊ตึ๊ง) ตั้งชื่อว่าตำหนักไท่เหอ (太和宫) ภายหลังถูกย้ายไปที่ภูเขาจีจู๋ (鸡足山)  เมืองต้าหลี่ (大理) ทว่าได้ถูกทำลายลงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (文化大革命 ค.ศ. 1966-1976)

——ตำหนักทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นตำหนักทองที่สร้างขึ้นใหม่โดยอู๋ซานกุ้ย (吴三桂 ค.ศ. 1608-1678) ในสมัยจักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654-1722) แห่งราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1644-1912)  โดยสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์หมิง ตำหนักทองนี้ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวและภัยสงครามหลายครั้ง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาตลอด จนถึงช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ตำหนักทอง และรูปหล่อองค์เทพถูกทุบทำลายกลายเป็นที่รกร้าง กระทั่งเมื่อ ค.ศ. 1999 รัฐบาลเมืองคุนหมิงก็ดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ ปัจจุบันตำหนักทองนี้มีสภาพที่สมบูรณ์มากกว่าตำหนักทองภูเขาว่านโซ่วซาน (万寿山) ของพระราชวังฤดูร้อนในมหานครปักกิ่ง (北京) และมีขนาดใหญ่กว่าตำหนักทองบนภูเขาบู๊ตึ๊งอีกด้วย

——ตัวตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้รูปแบบศาลาทรงสี่เหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้องปลายงอน แกะสลักอย่างประณีตสวยงาม เคลือบด้วยทองเหลืองทั้งหลัง เมื่อสะท้อนกับแสงอาทิตย์ จะเกิดแสงสีทองสว่างไสว จึงเป็นที่มาของชื่อตำหนักทอง ตัวตำหนักมีความสูง 6.7 เมตร ความกว้างและความลึกด้านละ 6.2 เมตร ด้านในตำหนักทองแห่งนี้ยังคงมีสีเหลืองทองอร่ามอยู่บ้าง ตรงกลางประดิษฐานเทพเจินอู่ต้าตี้ (真武大帝 หรือ 玄天上帝) ด้านข้างเป็นจินถงอวี้หนี่ว์ (金童玉女 เด็กชายและเด็กหญิงที่ปรนนิบัติรับใช้อยู่ข้างเทพเจ้า) ด้านบนแกะสลักเป็นตัวมังกร ส่วนด้านนอกมองไม่ค่อยออกว่าเป็นสีทองแล้ว แต่ยังสามารถเห็นร่องรอยได้ตรงบริเวณวงกบประตู

——ตำหนักทองแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่พักอาศัยของอู๋ซานกุ้ยกับเฉินหยวนหยวน โดยจะเห็นได้จากสถานที่บริเวณนี้มีสิ่งปลูกสร้างเกี่ยวกับทั้งสองคน เช่น พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของอู๋ซานกุ้ย, รูปปั้นเฉินหยวนหยวน เป็นต้น

——นอกจากตำหนักทองแล้วโดยรอบยังมีสถานที่น่าสนใจ ดังนี้

  • หอระฆัง (钟楼) เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดบนเขาหมิงเฟิ่ง สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐 ค.ศ. 1360-1424) เป็นหอ 3 ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง สูง 30 เมตร ชั้น 3 แขวนระฆังขนาดใหญ่ สูง 2.1 เมตร เส้นรอบวง 6.7 เมตร หนัก 14 ตัน (เท่ากับ 14,000 กิโลกรัม) บนระฆังมีอักษร 大明永乐二十一年岁在癸卯仲春吉日造 หมายถึง ‘สร้างในวันมหามงคล เดือนสอง ปีเถาะ รัชศกหย่งเล่อที่ 21’ มีอายุกว่า 500 ปี

  • อาคารแสดงนิทรรศการ (展览馆) ตั้งอยู่ 2 ด้านของตำหนักทอง แบ่งเป็น

    • อาคารนิทรรศการแสดงดาบและง้าว (吴三桂大刀和真武七星剑展室) ภายในจัดแสดงกระบี่วิเศษเจ็ดดาว (七星宝剑 ของเทพเจินอู่ต้าตี้) หลอมขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ตัวกระบี่ 2 ด้านเลี่ยมด้วยดาวสำริด 7 ดวง ยาว 1.94 เมตร หนัก 20 กิโลกรัม เป็นของวิเศษในเทพนิยายของลัทธิเต๋า ใช้สำหรับปราบปีศาจของเทพเจินอู่ต้าตี้ และง้าวของอู๋ซานกุ้ย (吴三桂大刀) เป็นง้าวที่อู๋ซานกุ้ยเคยใช้ ยาว 2 เมตร หนัก 12 กิโลกรัม
    • อาคารนิทรรศการอู๋ซานกุ้ยกับเฉินหยวนหยวน (吴三桂陈圆圆展览馆) จัดแสดงข้อมูลและรูปภาพทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทั้งสองคน

 

  • หอขุยซิงโหลว (魁星楼) เป็นหอ 2 ชั้น สูง 3 เมตร ด้านในประดิษฐานเทพขุยซิง (魁星)  ซึ่งเป็นเทพอาลักษณ์ หรือเทพฝ่ายบุ๋น องค์เทพยืนบนหลังเต่ามังกรยักษ์ด้วยขาข้างเดียว อีกข้างยกไว้ด้านหลัง มือซ้ายถือพู่กัน มือขวาถือโม่โต่ว (墨斗 เครื่องมือเขียนเส้นตรงของช่างไม้) หน้าตาดุดัน จึงเป็นที่มาของชื่อหอแห่งนี้ โดยสร้างอยู่บนประตูทิศตะวันออกสำหรับปกป้องตำหนักทอง หอแห่งนี้ถึงแม้จะเสียหายจากแผ่นดินไหวและศึกสงคราม ทว่าก็ได้รับการบูรณะให้สมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง

 

  • สวนจัดแสดงตำหนักทอง (金殿博览苑) สร้างเมื่อค.ศ. 1995 มีพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ตารางเมตร ภายในมีตำหนักสำริดที่เลียนแบบสถานที่สำคัญซึ่งย่อส่วนลงมาจากขนาดจริง 1 เท่าคือ ตำหนักสำริดแห่งภูเขาอู่ไถซาน (五台山铜殿) ศาลาเป่าอวิ๋นแห่งภูเขาว่านโซ่วซาน (万寿山宝云阁) ตำหนักทองแห่งภูเขาบู๊ตึ๊ง (武当山金殿) และศาลาทองแห่งภูเขาไท่ซาน (泰山金阁) ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ สระน้ำ ภูเขา และสะพานโค้ง เป็นทัศนียภาพอันงดงามแปลกตา