เขตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมปิงหลางกู่: สัมผัสวิถีกลุ่มชาติพันธุ์หลีและม้ง

เรื่องโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา


 

——เขตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลีม้งปิงหลางกู่แห่งไหหลำ (海南槟榔谷黎苗文化旅游区) ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติกันสือหลิ่ง (甘什岭自然保护区) ของเขตปกครองตนเองชนชาติหลีม้ง อำเภอเป่าถิง (保亭黎族苗族自治县) มีพื้นที่มากกว่า 5,000 ไร่ สร้างขึ้นเมื่อค.ศ. 1993 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของจีนที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์หลี (黎族) และ ม้ง (苗族)

ภาพจาก http://hncfs.edu.cn/jy/info/1013/9217.htm

 

  • ทำความรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์หลีและม้ง

——กลุ่มชาติพันธุ์หลี (黎族) สืบเชื้อสายมาจากชาวลั่วเย่ว์ (骆越) เป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่บนเกาะไหหลำ ในสมัยโบราณชาวหลีอาศัยกันอยู่ริมน้ำและเนินเขาแถบอ่าวจอดเรือ และดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตร ภายหลังได้กระจายถิ่นฐานไปทั่วบริเวณเกาะโดยเฉพาะตอนกลางและฝั่งตะวันตก ปัจจุบันมีประชากรหลีในท้องที่ไหหลำมีจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคน (สถิติของมณฑลไหหลำประจำปี 2022)

——กลุ่มชาติพันธุ์หลีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องเทคนิคการทอผ้าของชาวหลี (黎族织锦) ที่เป็นเอกลักษณ์จนถือว่าเป็นสมบัติประจำชาติจีน และได้รับการจัดให้อยู่ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ต้องการการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนโดยองค์การ UNESCO เมื่อค.ศ. 2009 อีกด้วย

——กลุ่มชาติพันธุ์เหมียว (苗族) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชาวม้ง” (蒙人) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์โบราณของจีน เดิมทีชาวม้งมักจะอาศัยอยู่ตามป่าเขา และมักย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์ตัดฟืน รวมถึงทำการเกษตรเป็นหลัก จนได้ฉายาว่า มังกรข้ามภูเขา (过山龙)

——ในช่วงราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) ทหารชาวม้งส่วนใหญ่ถูกราชสำนักย้ายให้มาประจำการที่ไหหลำ หลังจากที่ปลดประจำการแล้ว ทหารบางส่วนก็กลายเป็นประชากรของไหหลำอย่างถาวร และก็มีบางส่วนที่ย้ายจากที่อื่นเพื่อมาทำการค้าหาเลี้ยงชีพในไหหลำ ปัจจุบันประชากรชาวม้งในท้องที่ไหหลำมีจำนวนมากกว่า 8 หมื่นคน (สถิติของมณฑลไหหลำประจำปี 2022) โดยมากจะอาศัยอยู่แถบภูเขาตอนกลางและตอนใต้ของเกาะ

 

  • โซนท่องเที่ยวทั้ง 7

——เขตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลีม้งปิงหลางกู่แห่งไหหลำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ผู้เข้าชมสามารถดื่มด่ำกับธรรมชาติ และใกล้ชิดกับชาวหลี-ม้ง ได้ใน 7 โซนใหญ่ต่อไปนี้

——1. หมู่บ้านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (非遗村)

——สำหรับจุดนี้ เรียกได้ว่าเป็นจุดชมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีหอนิทรรศการที่จัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของท้องถิ่นมากมายซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น

  • หอผ้าทอใยฝ้าย (棉纺馆) ที่จัดแสดงกรรมวิธีการผลิตผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์หลี กล่าวคือ การปั่น การย้อม การทอ และการปัก
  • หอผ้าห่มลายมังกร (龙被艺术展) ที่จัดแสดงผ้าห่มลายมังกรฝีมือกลุ่มชาติพันธุ์หลี กล่าวกันว่าผ้าห่มลวดลายมังกร เป็นงานหัตถกรรมที่มีขั้นตอนซับซ้อนและต้องใช้ฝีมือระดับสูงถึงจะได้ผลงานที่ประณีตออกมา ซึ่งผ้าห่มชนิดนี้เป็นของบรรณาการที่ชาวหลีถวายแด่ราชสำนักอีกด้วย

——2. หมู่บ้านกันสือของชาวหลี (甘什黎村)

——หมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์หลี ซึ่งมีอายุราว 200 ปี มีผู้อาศัยประมาณ 400 คน ในค.ศ. 1998 ได้เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในหมู่บ้านประกอบไปด้วยห้องนิทรรศการต่างๆ เช่น

  • ห้องนิทรรศการการสักของชาวหลี (黎族文身馆) การสักเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวหลี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าตนอยู่ตระกูลใด มีบรรพบุรุษเป็นใคร ซึ่งในห้องนิทรรศการจะจัดโชว์การสัก 5 ลวดลายผ่านหุ่นขี้ผึ้ง
  • ห้องจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา (陶艺馆) ในห้องจะจัดแสดงกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมของชาวหลี ซึ่งมีวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือใช้วิธีเผากลางแจ้ง (露天烧制) ในปัจจุบันคนที่มีฝีมือการผลิตแบบดั้งเดิมนี้มีไม่มากแล้ว จึงถูกจัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติเมื่อค.ศ. 2006

การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมของชาวหลี ภาพจากเว็บไซต์ http://www.binglanggu.com/

——นอกจากห้องนิทรรศการข้างต้น ยังมีห้องนิทรรศการอื่นๆ รวมถึงการแสดงที่น่าสนใจ เช่น ปีนต้นไม้เก็บผลหมาก (爬树摘槟榔) เป็นต้น

——3. หมู่บ้านชาวม้งในป่าฝน (雨林苗寨)

——ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น เดิมทีชาวม้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์ หมู่บ้านชาวม้งแห่งนี้ได้จัดแสดงวัฒนธรรมการล่าสัตว์ของชาวม้ง และเป็นเพียงที่เดียวในไหหลำที่จัดแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวม้ง อีกทั้งยังมีโชว์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น โชว์ภูเขามีดทะเลเพลิง (刀山火海) ให้ชมด้วย

โชว์ภูเขามีดทะเลเพลิง ภาพจากเว็บไซต์ http://www.binglanggu.com/

——4. ถนนอาหารเลิศรสชาวหลี-ม้ง (黎苗风味美食街)

——เปิดให้ผู้เข้าชมสามารถลิ้มลองรสชาติของ “ปิงหลาง” หรือ “ผลหมาก” รวมถึงอาหารท้องถิ่นของชาวหลี-ม้งได้ในโซนนี้

——5. โซนการแสดงชุด “ปิงหลาง: กลิ่นอายโบราณ”《槟榔·古韵》

——ในโซนนี้จะมีการแสดงชุด “ปิงหลาง: กลิ่นอายโบราณ”《槟榔·古韵》ซึ่งจะพาผู้เข้าชมย้อนกลับไปเมื่อ 3,000 ปีก่อน โดยจะมีโชว์ต่างๆ มากมายๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวหลีและชาวม้ง เช่น รำกระทบไม้ (打柴舞) ระบำตำข้าว(舂米舞) เป็นต้น โดยการแสดงชุดนี้ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งใน “โครงการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนสู่เวทีโลก” โดย กระทรวงพาณิชย์ของจีน

การแสดงรำกระทบไม้ ภาพจาก http://www.binglanggu.com/

การแสดงระบำตำข้าว ภาพจาก http://www.binglanggu.com/

——ส่วนโซนที่ 6. บ้านชาวหลีในท้องทุ่ง (田野黎家) และโซนที่ 7. กระท่อมกล้วยไม้ (兰花小木屋) จะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือบริการที่พักค้างแรมให้แก่นักท่องเที่ยว  เพื่อให้เหล่านักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรม และบรรยากาศอย่างใกล้ชิด

บ้านชาวหลีในท้องทุ่ง ภาพจาก http://www.binglanggu.com/