สะพานกว่างจี้

เรื่องโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา


“ไม่ไปเยือนสะพานกว่างจี้ ถือว่าไม่ถึงถิ่นแต้จิ๋ว”

到潮不到桥,枉向潮州走一遭

ภาพจาก Southcn.com

——สะพานกว่างจี้ (广济桥) หรือสะพานเซียงจื่อ (湘子桥) ตั้งอยู่ทางประตูทิศตะวันออกของเมืองโบราณแต้จิ๋ว (潮州古城)[1] เป็นสะพานข้ามแม่น้ำหั่งกัง (韩江 หานเจียง) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่แต้จิ๋ว มีโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างสะพานตอม่อหินและสะพานลอยน้ำเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1171 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋ค.ศ. 960–1279) หรือราว 800 กว่าปีก่อน เป็น 1 ใน 4 แห่งของสะพานเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงจีน[2] และได้รับการยกย่องจากบิดาแห่งสะพานจีน “เหมาอี่เซิง” (茅以升)[3] ว่าเป็น “สะพานแบบเปิด-ปิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” ที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สะพานกว่างจี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ อาทิ สะพานคังจี้ (康济桥) สะพานเซียงจื่อ (湘子桥) สะพานติงกง (丁公桥) สะพานติงโหว (丁侯桥)

——ผู้ริเริ่มก่อสร้างสะพานกว่างจี้ มีนามว่า เจิงวัง (曾汪) เจ้าเมืองในสมัยรัชศกเฉียนเต้า (乾道) แห่งจักรพรรดิซ่งเซี่ยวจง (宋孝宗 ค.ศ. 1127–1194 ) โดยเดิมใช้เรือ 86 ลำผูกเชื่อมต่อกันเป็นสะพาน และตั้งชื่อนี้ว่า สะพานคังจี้ (康济桥) นับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำหั่งกังในยุคแรก สามปีให้หลัง สะพานคังจี้ถูกกระแสน้ำซัดจนเสียหายเกือบหมด เจ้าเมืองคนใหม่จึงสั่งบูรณะสะพานขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1174 โดยสร้างตอม่อหินต้นแรกเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสะพานลอยน้ำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างสะพานลอยน้ำยึดด้วยตอม่อ นับจากนั้นมาตลอดระยะเวลา 54 ปี สะพานแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมเพิ่มจำนวนตอม่อหินมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การบูรณะสะพานครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) โดยได้สร้างศาลาจีนบนตอม่อแต่ละต้น เพิ่มราวกั้นสะพาน และตกแต่งตัวสะพานให้ดูประณีตงดงาม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อสะพานแห่งนี้จากสะพานคังจี้มาเป็นสะพานกว่างจี้ (广济桥) ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

ภาพจาก Teochew International Federation

——มีเอกสารโบราณกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวแต้จิ๋วที่อยู่คู่กับแม่น้ำหั่งกังเช่นบท “โองการเซ่นไหว้จระเข้” 《鳄鱼文》ของหานอี้ว์ (韩愈 ค.ศ. 768–824) สมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618–907) กล่าวว่า แม่น้ำสายนี้ไหลเชี่ยวกราก ชาวบ้านสัญจรไปมาด้วยความลำบาก อีกทั้งยังมีจระเข้ออกมาอาละวาด ผู้คนจึงเรียกแม่น้ำสายนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “สายน้ำหฤโหด” (恶溪) หรือ “สายน้ำจระเข้” (鳄溪) ในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองแต้จิ๋วได้เขียนไว้ว่า “ผู้ที่เดินทางมายังถิ่นกวางตุ้ง เมื่อถึงเมืองแต้จิ๋วก็พบว่า มีแม่น้ำสายหนึ่งขวางกั้นอยู่ ต้องรอคลื่นลมสงบ น้ำลดลงแล้วถึงข้ามฟากได้ แต่หากฝนตกหนักน้ำหนุนสูงก็ต้องรอคอยอย่างไม่มีกำหนด เพราะกระแสน้ำเชี่ยวกรากมาก”

——ยังมีตำนานพื้นบ้านของชาวแต้จิ๋ว เรื่อง เซียนพระสร้างสะพาน (仙佛造桥) กล่าวถึงการสร้างสะพานแห่งนี้ไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์ถัง หลังจากที่หานอี้ว์  (韩愈) ได้ย้ายมาประจำตำแหน่งที่แต้จิ๋ว ต้องการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายหฤโหด แต่เนื่องจากน้ำที่ลึกและเชี่ยวกราก ทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเขาได้ไปขอความช่วยเหลือจากหลานชายของเขา หานเซียงจื่อ (韩湘子) พร้อมเหล่าโป๊ยเซียน (八仙)[4] กับพระอรหันต์กว่างจี้ (活佛广济和尚)  โดยพระอรหันต์กว่างจี้รับหน้าที่สร้างสะพานจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก เหล่าโป๊ยเซียนรับหน้าที่สร้างจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตก และเพื่อสร้างสะพานให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด พวกเขาได้ใช้พลังเวทย์เพื่อแสดงศักยภาพของตน พระอรหันต์กว่างจี้ได้ไปที่ภูเขาซางผู่ (桑浦山) เสกหินให้กลายเป็นฝูงแกะดำ (乌羊) มุ่งไปที่เมืองแต้จิ๋ว ทางด้านโป๊ยเซียนฝั่งตะวันออกก็ไปที่ภูเขาเฟิ่งหวง (凤凰山) เปลี่ยนหินบนภูเขาให้กลายเป็นฝูงหมูดำ (乌猪) เร่งไปยังพื้นที่ก่อสร้างเช่นกัน

——ฝั่งโป๊ยเซียนมีกำลังคนมากกว่า พวกเขาจึงแบ่งกันต้อนหมูเป็นชุดๆ ระหว่างทางต้อนหมูชุดสุดท้ายลงจากภูเขา หลี่เถี่ยไกว่เผอิญพบกับผู้หญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้อยู่หน้าหลุมศพ เมื่อเผชิญกับความเศร้าโศกฉับพลัน คาถาที่เสกไว้ได้เสื่อมลง ฝูงหมูดำก็ล้มลงกลับกลายเป็นภูเขา ซึ่งก็คือ “ภูเขาหมู (猪山)” ที่เมืองหลินซี (磷溪镇) ในปัจจุบัน

——เช่นเดียวกับฝั่งพระอรหันต์กว่างจี้ที่ต้อนแกะเพียงลำพัง ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง เมื่อมาถึงแต้จิ๋ว ถึงพบว่าแกะหายไปสองตัว จึงรีบกลับไปตามหาพวกมันจนพบ แต่เขาได้เจอกับเศรษฐีผู้ละโมบคนหนึ่งที่แอบอ้างว่าแกะดำสองตัวนั้นเป็นแกะที่หายไปของเขาและนำแกะกลับไปที่ทุ่งนา เศรษฐีฟาดแส้ลงไปบนตัวแกะ ทันใดนั้นแกะทั้งสองก็กลายเป็นภูเขาสองลูกทับร่างเศรษฐีและทุ่งนาของเขาไว้ และถูกเรียกว่า “ภูเขาอูหยาง (乌洋山 พ้องเสียงกับคำว่า 乌羊 แกะดำ)” ตั้งอยู่ที่เมืองฝูหยาง (浮洋镇)

——ฝั่งโป๊ยเซียนขาดหมูหนึ่งฝูง กับพระอรหันต์กว่างจี้ขาดแกะสองตัว ทำให้เมื่อถึงกลางสะพานไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ หลี่เถี่ยไกว่ (李铁拐) เห็นดังนั้น รู้สึกกังวลมากจนเผลอกระทืบเท้าส่งผลให้ตอม่อฝั่งตะวันออกพังทลายลง ทุกคนต่างทำอะไรไม่ถูก เห็นเพียงเหอเซียนกูหย่อนดอกบัวของวิเศษลงไป ดอกบัวได้แผ่ออกไปกลางแม่น้ำกลายเป็นเรือ 18 ลำ พระอรหันต์กว่างจี้ที่อยู่อีกด้านหนึ่งเห็นจึงรีบทิ้งไม้เท้าลงสู่ใจกลางแม่น้ำกลายเป็นเชือกยาวเชื่อมเรือทั้ง 18 ลำเข้าด้วยกัน

——ดังนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงหานเซียงจื่อพร้อมเหล่าโป๊ยเซียน และพระอรหันต์กว่างจี้ สะพานจึงมีสองชื่อ ผู้อยู่อาศัยบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเรียกว่า “สะพานเซียงจื่อ” และผู้ที่อยู่บนฝั่งตะวันตกเรียกว่า “สะพานกว่างจี้”

ภาพจาก Teochew International Federation

——จวบจนปัจจุบัน สะพานกว่างจี้หรือสะพานเซียงจื่อได้ตั้งตระหง่านอยู่คู่แม่น้ำหานเจียงมานานถึง 853 ปีแล้ว แม้จะผ่านการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมนับครั้งไม่ถ้วนตามยุคสมัย แต่ยังคงมีสภาพที่มั่นคง แข็งแรง สวยงามตระการตา และได้รับการจัดอันดับให้เป็นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ

 


[1] เมืองโบราณแต้จิ๋วตั้งอยู่ห่างจากนครแต้จิ๋วไปทางตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร

[2] สะพานเก่าแก่ขนาดใหญ่ 4 แห่งที่มีชื่อเสียงของจีน คือ 1. สะพานกว่างจี้ที่นครแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง (广东潮州广济桥) 2. สะพานจ้าวโจวที่อำเภอจ้าว มณฑลเหอเป่ย (河北赵县赵州桥) 3. สะพานลั่วหยางที่เมืองเฉวียนโจว มณฑลฮกเกี้ยน (福建泉州洛阳桥) 4. สะพานหลูโกวที่มหานครปักกิ่ง (北京的卢沟桥)

[3] เหมาอี่เซิง (茅以升 ค.ศ.  1896–1989) ชื่อรอง ถังเฉิน (唐臣) ผู้เชี่ยวชาญด้านสะพานและวิศวกรโยธาชาวเจิ้นเจียง มณฑลเจียงซู ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งสะพานจีน”

[4] เทพแปดองค์หรือโป๊ยเซียน (八仙) ประกอบไปด้วย หลี่เถี่ยไกว่ (李铁拐) ฮั่นจงหลี (汉钟离) จางกั๋วเหล่า (张果老) หลี่ว์ต้งปิน (吕洞宾) เหอเซียนกู (何仙姑) หลานไฉ่เหอ (蓝采和) หานเซียงจื่อ (韩湘子) และเฉากั๋วจิ้ว (曹国舅)