—–จา

ทะเลสาบซีหู นอกจากที่เมืองหางโจว แล้ว ยังมีที่ไหนอีกบ้างนะ ??? ในบทความนี้ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ขอเสนอ ทะเลสาบซีหูแห่งฝูโจว

ทะเลสาบซีหูแห่งฝูโจว

—–ทะเลสาบซีหู (西湖) ตั้งอยู่ทางตะวันตกในเมืองฝูโจว (福州) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晋ค.ศ. 265-316) ในปี ค.ศ. 282 เหยียนเกา (严高) เจ้าเมืองฝูโจวสร้างทะเลสาบแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้ในการเกษตร ต่อมาในปลายราชวงศ์ถัง (唐ค.ศ. 618-907) เพราะบรรยากาศที่สวยงามและร่มรื่น จึงทำให้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรแห่งนี้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป ครั้นถึงยุค 5 ราชวงศ์[1] (五代ค.ศ. 907-960) หวังเหยียนจวิน (王延钧 ไม่แน่ชัด- ค.ศ. 935) เจ้าผู้ครองแคว้นหมิ่น[2] (闽) ได้ยกฐานะทะเลสาบแห่งนี้เป็นอุทยานส่วนพระองค์ มีการปรับภูมิทัศน์ของทะเลสาบให้ดูงดงามยิ่งขึ้น โดยการสร้างหอ ศาลา ตลอดจนเรือพระที่นั่ง และขุดทางเชื่อมระหว่างวังกับทะเลสาบเพื่อใช้ในการเสด็จประพาส  จนกระทั่งปี ค.ศ. 1914 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้เปลี่ยนทะเลสาบซีหูให้เป็นสวนสาธารณะ ปัจจุบันแม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่า 1,700 ปี ทว่าการดูแลอย่างดีในทุกยุคทุกสมัยทำให้ทะเลสาบแห่งนี้ยังคงงดงามเสมือนเมื่อครั้งอดีต และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สุดยอดศิลปะการจัดสวนแห่งฮกเกี้ยน’ (建筑园林明珠)

ประตูทะเลสาบซีหูแห่งฝูโจว

—–ทะเลสาบซีหูมีเกาะเล็กๆ 3 เกาะเชื่อมถึงกันด้วยระเบียงยาว เมื่อมองจากมุมสูง เกาะเหล่านี้ดูคล้ายกับแผ่นหยกสีเขียวที่วางอยู่บนพื้นน้ำสีคราม ทั้งนี้เพราะบนเกาะมีทั้งพันธุ์ไม้นานาชนิดที่เขียวชอุ่มตลอดปี และยังมีไม้ดอกหลากสีที่ผลัดกันแต่งแต้มผืนป่าสีเขียวให้ดูสดใส ทิวทัศน์ที่งดงามเหล่านี้ทำให้ที่นี่เป็นเสมือน ‘ห้องรับแขก’ ของชาวเมืองฝูโจว ไม่ว่าจะต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของเหล่ากวี ความงามของทะเลสาบไม่เพียงแต่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกผ่อนคลาย แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมที่ทำให้เกิดงานเขียนมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทะเลสาบซีหูจึงจัดเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งนอกจากธรรมชาติที่งดงาม

     ะเลสาบซีหูแห่งฝูโจว

—–ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น วัดไคฮั่ว (开化寺) ซึ่งถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัย 5 ราชวงศ์ ภายในวัดมีต้นลิ้นจี่พันธุ์ ‘องค์หญิงสิบแปด’[1] ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายากอันเป็นสัญลักษณ์คู่กับวัดมาช้านาน นอกจากวัดไคฮั่วแล้ว บริเวณรอบทะเลสาบยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สำคัญอื่นๆ เช่น

 วัดไคฮั่ว

—–หอหว่านไจ้ (宛在堂) ที่เดิมเคยเป็นบ้านพักของฟู่หรู่โจว (傅汝舟 ค.ศ. 1476-1557) กวีแห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644), ศาลวีรชนกุ้ยไจ(桂斋) ของขุนนางสมัยซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) นามว่า หลี่กัง (李纲 ค.ศ. 1083-1140) และพิพิธภัณฑ์ฮกเกี้ยนที่เป็นทั้งศูนย์วิจัยและสถานที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมณฑลนี้ ภายในมีสิ่งของทรงคุณค่าจัดแสดงกว่า 2 แสนชิ้น แบ่งเป็นหมวดต่างๆ เช่น หมวดโบราณคดี หมวดธรรมชาติ และหมวดศิลปะ เป็นต้น

—–บนพื้นที่กว่า 400 ตารางกิโลเมตร ทะเลสาบซีหูไม่ได้มีเพียงธรรมชาติที่งดงาม และประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า หากแต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดผลงานทางวรรณศิลป์อีกมากมาย จึงไม่แปลกที่ทะเลสาบซีหูแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นเลิศของเมืองฝูโจว

 


[1]  องค์หญิงสิบแปด (十八娘) เป็นสายพันธุ์หนึ่งของลิ้นจี่ ตำนานเล่าว่า องค์หญิงสิบแปดแห่งแคว้นหมิ่นโปรดเสวยลิ้นจี่พันธุ์นี้มาก จึงเป็นที่มาของชื่อพันธุ์ตั้งแต่นั้นมา

[1] ยุค 5 ราชวงศ์ (五代 ค.ศ. 907-960) ช่วงปลายราชวงศ์ถัง เป็นยุคที่บรรดาแม่ทัพนายกองตามหัวเมืองต่างๆ ยึดอำนาจ ตั้งตนเป็นใหญ่ โดยแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห (黄河) มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจการปกครองทั้งสิ้น 5 ราชวงศ์ และตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (长江) เกิดเป็นแคว้นอิสระอีก 10 แคว้น

[2] แคว้นหมิ่น (闽国) เป็นหนึ่งใน 10 แคว้นอิสระแถบจีนตอนใต้ในยุค 5 ราชวงศ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฝูโจว

 

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา