—–จา

เกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 1.91 ตารางกิโลเมตร กลับเต็มไปด้วยทิวทัศน์ที่น่าหลงใหลจนได้รับการยกย่องให้เป็น 1ใน 35 สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อจากทั่วทั้งประเทศจีน

เกาะกู่ลั่งอวี่  สวนบุปผาบนผืนน้ำ

—–เพียง 1 กิโลเมตรจากเมืองเซี่ยเหมิน (厦門) เป็นที่ตั้งของเกาะกู่ลั่งอวี่ (鼓浪嶼) เกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 1.91 ตารางกิโลเมตร ทว่าเต็มไปด้วยทิวทัศน์ที่น่าหลงใหลจนได้รับการยกย่องให้เป็น 1ใน 35 สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อจากทั่วทั้งประเทศจีน และเป็นอันดับ 1 จาก 10 สถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามที่สุดของมณฑลฮกเกี้ยน (福建) โดยรอบของเกาะกู่ลั่งอวี่รายล้อมด้วยท่าเรือสำคัญของเมืองเซี่ยเหมิน นอกจากนี้ยังมีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์อีกหลายแห่ง เช่น เขตอนุรักษ์โลมาขาว และเขตอนุรักษ์นกกระยางขาว เป็นต้น

เกาะกู่ลั่งอวี่

—–เกาะกู่ลั่งอวี่ มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) เดิมมีชื่อว่า เกาะหยวนซาโจว (圓沙洲) หรือ เกาะหยวนโจวจื่อ (圓洲仔) ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะกู่ลั่งอวี่[1] ซึ่งมีที่มาจากเสียงคลื่นที่กระทบกับถ้ำหินบนเกาะ ฟังคล้ายกับเสียงตีกลองนั่นเอง

—–เกาะกู่ลั่งอวี่เป็นเกาะที่เงียบสงบ  เพราะมีข้อห้ามการใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน  บนเกาะจึงใช้รถพลังงานไฟฟ้าสำหรับบริการพานักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์โดยรอบ ภูมิประเทศของเกาะกู่ลั่งอวี่เป็นภูเขา บ้านเรือนสร้างขึ้นตามไหล่เขาสูงต่ำไล่ลดหลั่นกันไปตามทิวเขาที่สลับซับซ้อน พื้นที่กว่า 40 เปอร์เซนต์บนเกาะปกคลุมด้วยพืชพรรณกว่า 4,000 ชนิด 80 สายพันธุ์  ทั้งไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ไม้พุ่มดัดทรงสวย ตลอดจนไม้ดอกนานาพันธุ์ที่ผลัดกันบานสะพรั่งอวดโฉมตลอดปี  พืชพรรณเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ที่นี่มีอากาศบริสุทธิ์ เหมาะกับการเป็นที่ฟอกปอดของนักท่องเที่ยวเท่านั้น หากยังทำให้ที่นี่ดูงดงามและทรงเสน่ห์สมกับสมญานามที่ว่า ‘สวนบุปผาบนผืนน้ำ’ (海上花園)

 เกาะกู่ลั่งอวี่

—–นอกจากทิวทัศน์  เกาะแห่งนี้ยังมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์อีกด้วย  ในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1644-1911) เจิ้งเฉิงกง (鄭成功ค.ศ. 1624-1662) วีรบุรุษของชาวฮั่นเคยใช้เกาะนี้เป็นที่ตั้งของค่ายทหารสำหรับการฝึกซ้อมเตรียมไพร่พลเพื่อต่อสู่กับทหารของราชวงศ์ชิง ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นขยายอาณานิคมเข้ามาแถบแผ่นดินจีน รัฐบาลจีนก็ถูกบังคับให้เซ็นสัญญายกเกาะกู่ลั่งอวี่ให้เป็นพื้นที่เช่าสำหรับชาวต่างชาติ นับแต่นั้นมาสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น สเปน และอีกหลายประเทศต่างพากันตั้งสถานกงสุลบนเกาะแห่งนี้ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่แผ่นดินจีน การก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร ตลอดจนโบสถ์ ล้วนสรรค์สร้างขึ้นในสไตล์ตะวันตกทั้งสิ้น  แม้ว่าในปี ค.ศ. 1945  เกาะกู่ลั่งอวี่จะกลับมาอยู่ใต้การปกครองของเซี่ย
เหมินอีกครั้ง แต่สถาปัตยกรรมแปลกตาเหล่านี้ยังคงสะท้อนเรื่องราวเมื่อครั้งอดีต รัฐบาลจีนได้อนุรักษ์และบูรณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองเกาะกู่ลั่งอวี่จึงเป็นที่รวมตัวของสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปหลายสัญชาติ เป็นที่มาของชื่อเรียกที่นักท่องเที่ยวตั้งให้กับเกาะแห่งนี้ว่า ‘ลานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ’ (萬國建築博覽會)

 เจิ้งเฉิงกง

—–‘เกาะเปียโน’ เป็นชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งของเกาะกู่ลั่งอวี่ มีความเป็นมาจากเหล่ามิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาในสมัยที่เกาะนี้ยังคงเป็นพื้นที่เช่าของชาวต่างชาติ มิชชันนารีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เผยแผ่ศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดวัฒนธรรมทางดนตรีให้แก่คนบนเกาะนี้ด้วย เปียโนกลายเป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลายและเป็นที่โปรดปรานของชาวบ้าน เห็นได้จากบนเกาะแห่งนี้มีเปียโนกว่า 600 หลัง ในขณะที่มีประชากรเพียงแค่ 20,000 กว่าคน โดยเฉลี่ยแล้ว 10 ครัวเรือนจะมีเปียโน 1 หลัง ซึ่งนับเป็นอัตราเฉลี่ยที่มากที่สุดในประเทศ  เกาะเล็กๆ แห่งนี้จึงเป็นที่บ่มเพาะนักดนตรีชั้นแนวหน้ามากมาย เช่น โจวซูอัน (周淑安 ค.ศ. 1894-1974) ผู้เชี่ยวชาญด้านการขับร้องดนตรีสมัยใหม่คนแรก, หลินจวิ้นชิง (林俊卿 ค.ศ. 1904-2000) ศิลปินด้านการขับร้อง และอินเฉิงจง (殷承宗เกิดค.ศ. 1941) นักเปียโนที่มีชื่อเสียง  นอกจากนี้บนเกาะยังมีพิพิธภัณฑ์เปียโน ภายในจัดแสดงเปียโนทั้งเก่าและใหม่จากหลากหลายพื้นที่ อีกทั้งยังใช้เป็นเวทีในการแข่งขันดนตรีครั้งใหญ่ๆ อีกด้วย


[1]  กู่ลั่งอวี่ (鼓浪屿) หมายถึง เกาะที่มีเสียงคลื่นดังเหมือนเสียงกลอง

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา