—–จาย

บทความนี้ อาศรมสยาม-จีนวิทยา จะขอพานักอ่านทุกท่านไปเยี่ยมชม สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนอย่าง สามก๊ก  นั่นก็คือ …

 

อู่โหวฉือ : ดินแดนศักดิ์สิทธิ์สามก๊ก

—–อู่โหวฉือ (武侯祠) หรือศาลขงเบ้ง ตั้งอยู่ที่เมืองเฉิงตู  มณฑลเสฉวน มีเนื้อที่ 139,860 ตารางเมตร ได้รับสมญานามว่า ‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์สามก๊ก’ (三国圣地) ภายในมีรูปปั้นวีรบุรุษจ๊กก๊ก (蜀国) มากกว่า 50 รูป เช่น เล่าปี่ (刘备 ค.ศ. 161-223), ขงเบ้ง (孔明 ค.ศ. 181-234) เป็นต้น ซึ่งเป็นฝีมือของประติมากรในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ.1644-1911) ภายหลังรูปปั้นเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเทพมงคลในสายตาประชาชน อันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ความผาสุก สติปัญญา และโชคลาภ ภายในอู่โหวฉือมีศิลาจารึกมากกว่า 50 ชิ้น รวมทั้งป้ายโคลงกลอนต่างๆ มากกว่า 70 ชิ้น

อู่โหวฉือ

—–ปัจจุบันอู่โหวฉือแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนโบราณวัตถุ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สามก๊ก 2. ส่วนอุทยาน มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมสามก๊ก และ 3. ถนนคนเดินจิ๋นหลี่ (锦里古街)ทั้งนี้ภายในอู่โหวฉือมีสถานที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ศาลขงเบ้ง (诸葛亮殿) ศาลเล่าปี่ (刘备殿) และสุสานเล่าปี่ (惠陵)

—–ศาลขงเบ้งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงขงเบ้ง อัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก ซึ่งทำงานหนักจนล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมที่สนามรบอู่จั้งหยวน (五丈原之战) เมื่อปี ค.ศ.234 ขณะยังมีชีวิตขงเบ้งเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นอู่เซียงโหว (武乡侯) ซึ่งเทียบเท่ากับบรรดาศักดิ์ ‘พระยา’ ของไทย และหลังจากเขาถึงแก่อสัญกรรมก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นจงอู่โหว (忠武侯 ภาษาไทยแปลว่า พระยายุทธภักดี) ด้วยเหตุนี้ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงขงเบ้งจึงเรียกว่า ‘อู่โหวฉือ’ (ฉือ แปลว่า ศาลเจ้า) ภายในมีรูปปั้นขงเบ้งสวมหมวกและถือพัดขนนกกระเรียน ด้านหน้ารูปปั้นมีกลองสำริดที่สร้างขึ้นในคราวที่ขงเบ้งยกทัพไปปราบดินแดนทางตอนใต้ ผู้คนจึงเรียกกลองใบนี้ว่า “กลองขงเบ้ง” (诸葛鼓)

—–อู่โหวฉือแห่งนี้ไม่มีสุสานขงเบ้งเนื่องจากก่อนถึงแก่อสัญกรรม ขงเบ้งสั่งเสียให้นำศพของตนไปฝังบริเวณเชิงเขาเตงกุนสัน (定军山) ทางเข้ามณฑลเสฉวน เสมือนหนึ่งประสงค์จะเฝ้าอารักขาอาณาประชาราษฎร์และเมืองเสฉวนอันเป็นที่รักยิ่งให้ปลอดภัยจากวุยก๊ก(魏国 403-225 ปีก่อนคริสต์ศักราช)มีตำนานเล่าว่าเมื่อกองทัพวุยก๊กเข้าตีจ๊กก๊กและเคลื่อนทัพผ่านเขาเตงกุนสัน วิญญาณขงเบ้งได้ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้าแม่ทัพ และขอให้ไว้ชีวิตชาวบ้านที่ไม่มีความผิด

—–ส่วนสุสานเล่าปี่และศาลเจ้าเล่าปี่นั้นสร้างขึ้นก่อนศาลเจ้าขงเบ้งตามบันทึกในจดหมายเหตุสามก๊ก《三国志》หลังจากเล่าปี่ล้มเหลวจากการตีง่อก๊ก (吴国) จึงได้ถอยทัพและล้มป่วยจนเสียชีวิตที่เมืองไป๋ตี้ (白帝城) เมื่อปี ค.ศ.223 จากนั้นมีการเคลื่อนศพของเล่าปี่กลับมาฝังที่เมืองเฉิงตู  สุสานฮุ่ยหลิงหรือสุสานเล่าปี่เป็นที่ฝังศพของเล่าปี่และภรรยาทั้งสองท่าน หลุมศพมีความสูง 12 เมตร มีเส้นรอบวง 180 เมตร ด้านหน้ามีกำแพงบังตา และป้ายหินสลักว่า “สุสานจักรพรรดิฮั่นเจาเลี่ย” (汉昭烈皇帝之陵) สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลขงเบ้ง โดยหันหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับสิ่งปลูกสร้างหลักอื่นๆ ในอู่โหวฉือ กล่าวกันว่าขงเบ้งเป็นผู้เลือกทำเลสุสานนี้ด้วยตนเอง

   สุสานจักรพรรดิฮั่นเจาเลี่ย

—–เมื่อยึดตามความเชื่อของชาวฮั่นที่ว่า “มีสุสานต้องมีศาล” ศาลเล่าปี่จึงสร้างขึ้นด้วยเหตุนี้  ภายในศาลเล่าปี่มีรูปปั้นเล่าปี่ปิดทองท่าทางสง่างามสูง 3 เมตร ด้านซ้ายเป็นรูปปั้นเล่าขำ (刘谌 ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 263) หลานของเล่าปี่และเป็นอ๋องแห่งเมืองเป่ยตี้ (北地) เดิมเคยมีรูปปั้นเล่าเสี้ยน (刘禅 ค.ศ. 207-271) ลูกชายของเล่าปี่อยู่ด้านข้างรูปปั้นเล่าปี่ แต่เนื่องด้วยเล่าเสี้ยนเป็นคนโง่เขลา จึงถูกขุนนางสมัยจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗ค.ศ. 968-1022) นำออกจากศาล นอกจากนี้ภายในศาลเล่าปี่ยังมีรูปปั้นบุคคลสำคัญอื่นๆ จำนวนมาก เช่น กวนอู (关羽 ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 220) กับเตียวหุย (张飞 ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 221) ทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก และเป็นน้องร่วมสาบานของเล่าปี่  จิวฉอง (周仓) คนสนิทของกวนอู ผู้มีรูปร่างสูงใหญ่และมีพละกำลังมาก ซึ่งรูปปั้นทั้งหมดล้วนมีขนาดเท่าคนจริง พร้อมป้ายระบุชื่อและชีวประวัติ หน้าตาและท่าทางของรูปปั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะ และยังสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยที่แตกต่างกันของแต่ละคน

 รูปปั้นเล่าปี่

 

 รูปปั้นขงเบ้ง

—–ปี ค.ศ.2006 อู่โหวฉือได้รับเลือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 4A[1] ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและบวงสรวงเซ่นไหว้กว่าปีละล้านคน


[1] กรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนแบ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ A, AA (2A), AAA (3A), AAAA (4A) และ AAAAA (5A) อันเป็นมาตรฐานการการันตีคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวของจีน โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ รอบด้าน เช่น แหล่งท่องเที่ยวและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก  ระบบการดูแลความปลอดภัย  การรับรองปริมาณนักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ถือเป็นระดับสูงสุดและได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา