—–พิพิธภัณฑ์กู้กง (國立故宫博物院) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเกาะไต้หวัน เป็น 1 ใน 8 สถานที่อันยิ่งใหญ่ของไต้หวัน (อีก 7 แห่งคือ อาคารไทเป101, ทะเลสาบสุริยันจันทรา, ภูเขาอาลีซาน, อุทยานอวี้ซาน (玉山國家公園), อุทยานโทโรโกะ (太魯閣國家公園), อุทยานเขิ่นติง (墾丁國家公園) และแม่น้ำแห่งความรักเมืองเกาสง) เดิมมีชื่อเรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์จงซาน’ แต่ภายหลังได้ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พิพิธภัณฑ์กู้กง’ แต่ละปีมีผู้เยี่ยมชมกว่า 6 ล้านคน
ทางเข้าพิพิธภัณฑ์กู้กง ไต้หวัน
—–พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ซึ่งโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ถูกพรรคก๊กมินตั๋ง (國民黨) ขนย้ายจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะไต้หวันในช่วงปลายสงครามภายในครั้งที่ 2 (第二次國共內戰 ค.ศ. 1945-1950) โดยดำเนินการขนย้ายถึง 4 ครั้งคือ
- ครั้งที่ 1 มีการขนย้ายกล่องจำนวน 712 กล่องด้วยเรือรบที่ชื่อว่า จงติ่งเฮ่า (中鼎號) เริ่มขนย้ายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ถึงท่าเรือจีหลง (基隆港) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปีเดียวกัน
- ครั้งที่ 2 มีการขนย้ายกล่องจำนวน 3,502 กล่องด้วยเรือรบที่ชื่อว่า ไห่หลูเฮ่า (海瀘號) ถึงท่าเรือจีหลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1949
- ครั้งที่ 3 เดิมทีจะมีการขนย้ายกล่องจำนวน 2,000 กล่องแต่เนื่องด้วยมีประชาชนจำนวนมากต้องการโดยสารไปด้วย จึงขนย้ายได้แค่ 1,252 กล่องด้วยเรือรบที่ชื่อว่า คุนหลุนเฮ่า (崑崙號) ถึงท่าเรือจีหลงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949
- ครั้งที่ 4 เป็นการเคลื่อนย้ายกล่องโดยเครื่องบินหลังจากเหมาเจ๋อตง (毛澤東 ค.ศ. 1893-1976) ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ซึ่งเดิมทีจะมีการขนย้ายกล่องจำนวน 69 กล่อง แต่ทว่าสามารถขนได้แค่ 38 กล่องด้วยเครื่องบิน 2 ลำ โดยลำแรกถึงไทเปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 และลำที่ 2 ถึงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1949 รวมจำนวนกล่องที่ขนย้ายได้ทั้งหมด 5,504 กล่อง ต่อมามีการสร้างโกดังเพื่อเก็บสมบัติเหล่านี้ จนกระทั่งวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1963 ได้มีการตรวจสอบสภาพกล่องต่างๆ ปรากฏว่า บางกล่องได้รับความเสียหายจากน้ำฝน จึงดำเนินการของงบประมาณในการสร้างสถานที่สำหรับอนุรักษณ์วัตถุโบราณล้ำค่าเหล่านี้ โดยเริ่มสร้างในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1964 แล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965
—–พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเขตซื่อหลิน (士林區) นครไทเป มีพื้นที่ทั้งหมด 212,000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของอาคารจัดแสดงที่ 1 หรืออาคารหลัก (第一展覽區/ 正館) สร้างตามแบบพระราชวังของประเทศจีน หลังคามุงกระเบื้องสีฟ้าตัดกับผนังสีเหลือง มีพื้นที่ 12,496 ตารางเมตรจัดแสดงวัตถุโบราณอันล้ำค่ามากมาย ประกอบด้วยห้องแสดงนิทรรศการมากกว่า 20 ห้อง มีการสร้างให้ทนทานต่อการเกิดแผ่นดินไหว ป้องกันการเกิดไฟไหม้ การโจรกรรม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ แบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่
- ชั้น B1 เป็นศูนย์เพื่อการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็กและห้องมัลติมีเดีย
- ชั้น 1 มีห้องจัดแสดงหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ห้องจัดแสดงเครื่องใช้เครื่องเรือนสมัยราชวงศ์ชิง และประติมากรรมทางศาสนา
- ชั้น 2 มีห้องจัดแสดงเครื่องเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา และห้องจัดแสดงภาพวาด ภาพเขียน
- ชั้น 3 มีห้องจัดแสดงภาชนะหยก (หยกผักกาดขาว, หยกชิ้นหมูสามชั้น) ภาชนะสำริด (毛公鼎 เหมากงติ่ง) และเครื่องใช้ต่างๆ
—–นอกจากนี้ยังมีการสร้างขยายอาคารออกเป็น อาคารจัดแสดงที่ 2 (第二展覽區) มีพื้นที่ราว 1,220 ตารางเมตร เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการหัวข้อพิเศษตามแต่โอกาส
พิพิธภัณฑ์กู้กง
วัตถุโบราณชิ้นที่มีชื่อเสียงและไม่ควรพลาดชม
—–เหมากงติ่ง (毛公鼎) เป็นภาชนะสำริด 3 ขาที่มีอายุเก่าแก่ถึง 2,800 ปี หลอมขึ้นในยุคของจักรพรรดิโจวเซวียนหวาง (周宣王 828-782 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจวตะวันตก (西周1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นภาชนะทรงกลม ประกอบด้วยหูจับกว้าง 2 ข้าง และขาซึ่งมีลักษณะคล้ายเท้าสัตว์ 3 ขา ตัวภาชนะสูง 53.8 เซนติเมตร กว้าง 47.9 เซนติเมตร ภาชนะสำริดชิ้นนี้ถูกขุดพบบริเวณมณฑลส่านซีในช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวง (道光帝 ค.ศ. 1782-1850) ความสำคัญของโบราณวัตถุชิ้นนี้อยู่ที่อักษรสำริด (金文) จำนวน 32 บรรทัด รวม 500 ตัวที่สลักไว้บนผิวด้านในของภาชนะโดยขุนนางชั้นผู้ใหญ่ แห่งราชวงศ์โจวตะวันตกผู้มีนามว่าเหมากง (毛公) เนื้อหาเขียนเกี่ยวกับการบริหารราชกิจของจักรพรรดิโจวเซวียนหวาง จึงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จีนยุคราชวงศ์โจวตะวันตก
เหมากงติ่ง
—–หยกผักกาดขาวแห่งราชวงศ์ชิง (翠玉白菜) ถือเป็นหยกหายากเพราะเป็นการนำหยกสีขาวและเขียวมาแกะสลักด้วยช่างฝีมือชั้นยอด บริเวณก้านใบเป็นสีขาว ปลายด้านบนเป็นกลีบใบสีเขียวมีตั๊กแตนเกาะอยู่ นอกจากจะเป็นงานแกะสลักที่ประณีตโดยผ่านการเนรมิตวัตถุที่แข็งให้กลายเป็นชิ้นผักที่ดูสดและเปราะบางแล้ว สีธรรมชาติของชิ้นหยกยังเป็นตัวเสริมให้หยกแกะสลักชิ้นนี้กลายเป็นผลงานระดับสุดยอดอีกด้วย ตัวหยกมีความสูง 18.7 เซนติเมตร กว้าง 9.1 เซนติเมตร และหนา 5.07 เซนติเมตร เล่ากันว่าหยกชิ้นนี้เป็นของหมั้นของพระสนมจิ่นเฟย (瑾妃 ค.ศ. 1873-1924) ในจักรพรรดิกวงซวี่ (光绪帝ค.ศ. 1871-1908) ที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
หยกผักกาดขาวแห่งราชวงศ์ชิง
—–หยกชิ้นหมูสามชั้น (肉形石) ทำจากหินทึบแสงชนิดพิเศษที่มีการแบ่งชั้นของสีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อผ่านการแกะสลักและตกแต่งทางศิลปะแล้วก็ดูราวกับเนื้อหมูจริงที่ชวนให้น้ำลายสอ ตัวหยกมีความสูง 5.7 เซนติเมตร กว้าง 6.6 เซนติเมตร หนา 5.3 เซนติเมตร เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของโลกที่เกิดในยุคราชวงศ์ชิง
หยกชิ้นหมูสามชั้น
** เหมากงติ่ง หยกผักกาดขาว และหยกชิ้นหมูสามชั้นได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สามสิ่งล้ำค่าแห่งพิพิธภัณฑ์กู้กง’ ถือเป็นของล้ำค่าที่นำมาวางโชว์ตลอดทั้งปี **
—–ภาพวาดจำลองบรรยากาศวันเช็งเม้งเรียกว่า Along the river during the Qingming Festival (清明上河圖) เป็นภาพวาดที่แสดงบรรยากาศความคึกคักและเจริญรุ่งเรืองบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเปี้ยนเหอ (汴河) เมืองไคเฟิง (開封市) มณฑลเหอหนาน (河南省) ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง โดยจิตรกรหลวง 5 ท่านในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) มีความยาว 1,152.8 เซนติเมตร กว้าง 35.6 เซนติเมตร ในภาพวาดเต็มไปด้วยเรื่องราวสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และประเพณีของประชาชนอย่างละเอียดและประณีต นับว่าเป็นข้อมูลอันยอดเยี่ยมที่จะเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น
ภาพวาดจำลองบรรยากาศวันเช็งเม้ง
—–พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งชมวัตถุโบราณล้ำค่าแล้ว ภายในยังมีแหล่งชมทัศนียภาพหลายแห่งไว้ให้บริการ เช่น ‘สวนสาธารณะจื้อซ่าน’ (至善園) ที่ตั้งอยู่ทางปีกซ้ายของพิพิธภัณฑ์ สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1984 ภายในออกแบบเป็นสวนโบราณของจีนประกอบด้วยสะพานและลำธาร สร้างความรู้สึกร่มรื่นให้แก่ผู้ที่แวะเวียนไปชม
—–ส่วนทางปีกขวาของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งของ ‘สวนจื้อเต๋อ’ (至德園) ถือเป็นเขตสวนสาธารณะแบบเปิด ปากทางเข้าเป็นประตูโค้งทรงกลมที่มีความงดงามแบบโบราณ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์หอที่ระลึกจางต้าเชียนที่ออกแบบโดย จางต้าเชียน (張大千ค.ศ. 1899-1983) ทั้งหลัง เป็นการจำลองชีวิตความเป็นอยู่ขณะที่สถาปนิกผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ ภายในยังมีรูปภาพและกระถางเพาะชำจำนวนมาก
จางต้าเชียน
—–แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้เริ่มพัฒนาอย่างมากตั้งแต่ยุค 80 โดยของที่นำมาจัดแสดงมีความโดดเด่นกว่าพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในโลก ทำให้พิพิธภัณฑ์กู้กงยังคงครองความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
** จางต้าเชียน เป็นปรมาจารย์ด้านการวาดภาพ เติบโตในครองครัวปัญญาชนที่มณฑลเสฉวน ภายหลังย้ายมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรที่ไต้หวัน มีความสามารถหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพทิวทัศน์ด้วยการพ่นหมึก การเขียนลายสือศิลป์ การแต่งโคลนกลอน เป็นต้น จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น สุดยอดจิตรกรจีนแห่งศตวรรษที่ 20
เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา