—–จาย

—–หลายคนรู้จักมาเก๊า หลายคนเคยเดินทางมาเที่ยวมาเก๊า แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ประวัติศาสตร์ของเมืองอันศิวิไลน์แห่งนี้

มาเก๊า

—–มาเก๊า (澳门) เป็น 1 ใน 2 เขตปกครองพิเศษของประเทศจีน (อีกแห่งคือ ฮ่องกง) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียง (珠江口) โดยทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับเมืองจูไห่ (珠海) มณฑลกวางตุ้ง (广东) ทิศใต้ติดกับทะเลหนานไห่ (南海) ทิศตะวันออกห่างจากเกาะฮ่องกงราว 60 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 32.8 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ คาบสมุทรมาเก๊า (澳门半岛) เกาะไทปา (Taipa) และเกาะโคโลอาน (Coloane) ลักษณะภูมิประเทศเป็นแบบเนินเขาและที่ราบแบบทางเหนือต่ำทางใต้สูง โดยมียอดเขาโคโลอาน (Alto de Coloane) ทางตะวันตกของเกาะโคโลอานเป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูง 171 เมตร ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบเขตร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปี 22.3 องศาเซลเซียส มาเก๊ามีประชากรทั้งหมดราว 6.58 แสนคน (ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2018)

มาเก๊า

—–จากการค้นพบทางโบราณคดี โดยเฉพาะใน ค.ศ. 1995 ได้ค้นพบเครื่องเคลือบลายครามและภาชนะหยกบริเวณหาดทรายดำ เกาะโคโลอาน มีอายุราว 4-5 พันปี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในพื้นที่บางส่วนของมาเก๊ามีกลุ่มคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว

—–เดิมมาเก๊าอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไป่เย่ว์ (百越) ต่อมาหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝 259-210ก่อนคริสต์ศักราช) ได้รวบรวมแผ่นดินจีนสำเร็จ มาเก๊าก็ขึ้นกับแคว้นหนานไห่ (南海郡) ครั้นถึงราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127-1279) ก็ขึ้นกับอำเภอเซียงซาน (香山县) มณฑลกวางตุ้ง (广东) เมื่อมองโกลเข้ายึดครองแผ่นดินจีนส่วนใหญ่ ทำให้กองทัพจีนต้องถอยร่นมาทางใต้โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มของจางซื่อเจี๋ย (张世杰 ไม่แน่ชัด – ค.ศ. 1279 แม่ทัพราชวงศ์ซ่งใต้ต่อต้านมองโกล) ได้นำทหารและประชาชนราว 5 แสนคน พร้อมกับเรือ 2,000 ลำเข้ามาบริเวณนี้ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น

—–สมัยราชวงศ์หมิง (明ค.ศ. 1368-1644) ค.ศ. 1514 โปรตุเกสส่งกองทัพเรือมาที่ฮ่องกงพร้อมตั้งศิลาจารึกที่แกะสลักลายตราประจำประเทศโปรตุเกส แต่โดนทหารหมิงขับไล่ออกไป จากนั้นได้เกิดสงครามใหญ่น้อยระหว่างจีนกับโปรตุเกสอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งค.ศ. 1553 โปรตุเกสก็ได้รับสิทธิในการเทียบท่าเรือการค้าที่มาเก๊าโดยติดสินบนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่นั้นมาโปรตุเกสก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ถึงปีค.ศ. 1557 โปรตุเกสก็ครอบครองมาเก๊าอย่างเป็นทางการ โดยเสียค่าเช่าพื้นที่ทุกปีให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเก็บเข้าคลังของอำเภอเซียงซาน จากนั้นก็ขยายการค้าขายระหว่างจีน ญี่ปุ่น อินเดียและประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งวางระบบการปกครองท้องถิ่นใหม่ แต่อย่างไรก็ตามอธิปไตยของมาเก๊ายังคงอยู่ในความครอบครองของราชสำนักจีน

—–หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 โปรตุเกสอาศัยที่จีนกำลังอ่อนแอ ทำให้พระราชินีมาเรียที่ 2 แห่งโปรตุเกส ประกาศให้มาเก๊าเป็นเมืองท่าอิสระเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1845 โดยใช้ข้ออ้างการกอบกู้เศรษฐกิจของมาเก๊า และส่ง Amaral แม่ทัพเรือชาวโปรตุเกสมาเป็นผู้ว่ามาเก๊าคนใหม่ พร้อมกับเริ่มเก็บภาษีจากชาวจีน จนกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1887 ราชสำนักชิงและโปรตุเกสได้เซ็นสัญญาจีน-โปรตุเกส (中葡会议草约) ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยมีเงื่อนไขในสัญญาคือ อนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาบริหารมาเก๊า และห้ามโอนมาเก๊าไปให้ประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจีน ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคมในปีเดียวกันได้เซ็นสัญญาการค้าจีน-โปรตุเกส (中葡和好通商条约) ที่เมืองปักกิ่ง ซึ่งเป็นฉบับเพิ่มเติมและปรับปรุงจากฉบับแรก โดยยินยอมให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานและดำเนินธุรกิจในมาเก๊าได้ จากสัญญา 2 ฉบับนี้ทำให้มาเก๊าเสมือนตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ

—–ภายหลังที่โปรตุเกสเข้าครอบครองมาเก๊า ชาวโปรตุเกสก็ได้รับสิทธิพิเศษและมีฐานะที่พิเศษมากมาย ทำให้ชาวมาเก๊าไม่พอใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเกิดกระแสเรียกร้องขอคืนสิทธิอธิปไตยของมาเก๊าอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 3 ธันวาคม (一二•三事件) ซึ่งเป็นเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ที่มาเก๊า หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลโปรตุเกส ส่งผลให้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในทุกระดับชั้นของสังคม

เหตุการณ์ 3 ธันวาคม

—–กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติคาร์เนชั่นเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1974 อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศโปรตุเกส จนได้รัฐบาลใหม่เข้ามาปกครองและมีนโยบายปลดปล่อยอาณานิคมทั้งหมด พร้อมยอมรับมาเก๊าเป็นพื้นที่ของจีน จึงนำมาสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลโปรตุเกส ต่อมาใน ค.ศ. 1979 จีนกับโปรตุเกสสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่าง 2 ประเทศ และมีการเจรจาเกี่ยวกับปัญหามาเก๊าอยู่หลายครั้ง จนเมื่อ ค.ศ. 1984 เติ้งเสี่ยวผิง (邓小平 ค.ศ. 1904-1997) เสนอนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งนโยบายนี้ส่งผลให้การเจรจาแก้ไขปัญหามาเก๊าเริ่มชัดเจนขึ้น จากนั้นมีการลงนามฉบับร่างในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1987 ตกลงส่งคืนมาเก๊ากลับสู่ประเทศจีน และในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1987 นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศในแถลงการณ์ความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหามาเก๊าระหว่างรัฐบาลประเทศจีนกับรัฐบาลประเทศโปรตุเกส 《中华人民共和国政府和葡萄牙共和国政府关于澳门问题的联合声明》จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999 มาเก๊าก็ได้รับอำนาจอธิปไตยคืนจากโปรตุเกส และดำเนินการปกครองรูปแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบเหมือนฮ่องกง

ตัวเมืองมาเก๊าในปัจจุบัน

—–ปัจจุบันมาเก๊าเป็นท่าเรือเสรีสากล และศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 4 เมืองแห่งคาสิโนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (อีก 3 แห่งคือ เมืองมอนติคาร์โล ประเทศโมนาโก เมืองแอตแลนติกและเมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา) จนได้สมญาว่า LAS VEGAS OF ASIA

 


** เหตุกาณ์ 3 ธันวาคม เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเก๊า สาเหตุเกิดจากการสร้างอาคารเรียนของ Fong Chong School of Taipa (凼仔坊众) เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสั่งรื้อถอนโรงเรียนแห่งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่คนงานที่สร้างและชาวมาเก๊าเป็นอย่างมาก จนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวมาเก๊ากับตำรวจในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1966

 

 

เรียบเรียงโดย เสี่ยวเฉิน