รู้หรือไม่ !! สะพานข้ามอ่าวที่ยาวที่สุดในช่วงต้นศตรวรรษที่ 21 คือที่ไหน? อาศรมสยาม-จีนวิทยา จะนำผู้อ่านไปพบกับ …


สะพานข้ามอ่าวหังโจว

—–สะพานข้ามอ่าวหังโจว (杭州湾跨海大桥) ตั้งอยู่บริเวณอ่าวหังโจว (杭州灣) มณฑลเจ้อเจียง (浙江省) มีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2003 และเปิดให้ใช้สัญจรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.2008 ขึ้นชื่อว่าเป็นสะพานข้ามอ่าวที่มีระยะทางยาวที่สุดในโลกแห่งต้นศตวรรษที่ 21


สะพานข้ามอ่าวหังโจว

—–อ่าวหังโจว ตั้งอยู่ใกล้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (長江三角洲) ถือเป็นเขตที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูงมาก เนื่องจากทิศเหนือของอ่าวเป็นเขตนครเจียซิง เส้นทางที่มุ่งสู่มหานครเซี่ยงไฮ้อันเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจการเงินของจีน ส่วนทิศใต้เป็นเขตนครหนิงโปซึ่งมีท่าเรือหนิงโป (寧波港) ท่าเรือสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ

—–ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของจีน รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่าวหังโจวแห่งนี้ขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงทั้งสองนครใหญ่ให้มีความคล่องตัวทางด้านเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ส่งผลให้เขตพื้นที่ดังกล่าวเกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทั้งยังช่วยผลักดันให้ท่าเรือหนิงโปกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

—–สะพานข้ามอ่าวขนาดใหญ่แห่งนี้ ทอดยาวสุดสายตาไปตามแนวขวางของอ่าวหังโจว ฝั่งเหนือของอ่าวคือเขตพื้นที่นครเจียซิง (嘉興市) เริ่มจากหมู่บ้านเจิ้งเจียต้าย (鄭家埭村) อำเภอไห่เหยียน (海鹽) นครเจียซิง ไปจรดถึงฝั่งใต้ของอ่าวคือเขตนครหนิงโป (寧波市) ที่หมู่บ้านสุ่ยลู่วาน (水路灣村) อำเภอฉือซี (慈溪) รวมความยาวทั้งสิ้น 36 กิโลเมตร รูปแบบของถนนเป็นทางด่วนคู่ขนาน 6 เลน พร้อมแสงไฟส่องสว่างยามค่ำคืนตลอดเส้นทาง

 แผนที่สะพานข้ามอ่าวหังโจว

—–เหนือขึ้นไปจากฝั่งใต้ของสะพานราว 14 กิโลเมตร มีสิ่งก่อสร้างเป็นอาคารทรงกลมขนาดใหญ่มีพื้นที่ขนาดสองสนามฟุตบอลราว 12,000 ตารางเมตร ต่อเติมออกมาจากด้านข้างของตัวสะพานประมาณ 150 เมตร ภายในอาคารมีทั้งโรงแรม ร้านค้า ภัตตาคาร และศูนย์ประชุมระดับโลก ส่วนด้านหลังมีหอสูงตั้งตระหง่านเหนือระดับผิวน้ำ 136 เมตร ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดื่มด่ำกับทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ไพศาลของอ่าวหังโจวได้อย่างเต็มอิ่มเต็มตา นับเป็นผลงานการก่อสร้างที่ทำให้สะพานข้ามอ่าวหังโจวโดดเด่นยิ่งกว่าสะพานอื่นๆ ของจีนก็ว่าได้

 สะพานข้ามอ่าวหังโจว

—–สะพานข้ามอ่าวหังโจว คือสิ่งก่อสร้างที่ท้าทายความสามารถของบรรดาสถาปนิกและวิศวกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก คลื่นยักษ์ พายุไต้ฝุ่น รวมทั้งต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ในการก่อสร้าง ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องตระหนักจึงมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของทัศนียภาพโดยรวม รวมถึงประเด็นของสภาพแวดล้อมว่าด้วยหลักอุทกศาสตร์อันซับซ้อนของอ่าวหังโจว และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ การตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมาทั้งบนสะพานและใต้สะพานนั่นเอง

—–ในที่สุดสะพานแห่งนี้ จึงมีลักษณะเป็นรูปตัว S เพื่อลดแรงต้านกระแสน้ำและสร้างความปลอดภัยต่อผู้สัญจรบนสะพาน นอกจากนี้ยังใช้ลวดสลิงขนาดใหญ่ขึงกับตัวสะพานเป็นรูปตัว A คร่อมตัวสะพานไว้ 3 จุด เพื่อต้านแรงลมจากพายุไต้ฝุ่น คือฝั่งเหนือของสะพาน 2 จุด มีความสูง 187 เมตร และฝั่งใต้ของสะพานอีก 1 จุด มีความสูง 202 เมตร

 ลวดสลิงขนาดใหญ่ขึงกับตัวสะพานเป็นรูปตัว A

—–ประโยชน์ของลวดสลิงเหล่านี้คือช่วยยึดตัวสะพานไว้ ป้องกันการพังทลายของช่องทางเดินเรือใต้สะพาน ส่วนรูปแบบการขึงทรงสามเหลี่ยมนั้นจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของสะพานจากการปะทะของพายุไต้ฝุ่นให้ทนทานยิ่งขึ้น และที่น่าตกตะลึงไม่น้อยก็คือ สะพานที่มีความยาวถึง 36 กิโลเมตรนี้ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเพียง 5 ปีกว่าเท่านั้น โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ยังรับประกันอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี

—–สะพานแห่งนี้ช่วยย่นระยะทางจากหนิงโป-เซี่ยงไฮ้ได้กว่า 120 กิโลเมตร จากเดิมที่ต้องเดินทางทางบกจากหนิงโป-หังโจว-เจียซิง-เซี่ยงไฮ้ รวมระยะทางทั้งสิ้น 350 กิโลเมตร ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งทางบกสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นกับทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นับเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงทั้งทรัพยากรมนุษย์ เงินทุน และเทคโนโลยีต่างๆ ให้กระจายสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนอย่างทั่วถึงและนำไปสู่การพัฒนาก้าวไกลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี่ก็คือ อีกหนึ่งผลงานการสร้างสรรค์สุดมหัศจรรย์ของแดนมังกรแห่งต้นศตวรรษที่ 21

 

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา