มหัศจรรย์บ้านดิน

มรดกโลก ณ อำเภอหย่งติ้ง

เรื่องโดย ฮุ่ยเหลียน


 

——บ้านดินหรือถู่โหลว (土樓) เป็นที่อยู่อาศัยแบบโบราณของชาวจีนแคะ ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารราว 3-4 ชั้น สร้างด้วยดินเหนียวและไม้ บางหลังดูคล้ายป้อมปราการทรงกลมขนาดใหญ่ บ้างก็มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีลานบ้านที่เปิดโล่ง ด้วยรูปทรงที่แปลกตาเป็นเอกลักษณ์ บ้านดินจึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน (福建) โดยเฉพาะที่อำเภอหย่งติ้ง (永定) เมืองหลงเหยียน (龍巖) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนแคะ และมีบ้านดินจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ในบริเวณนี้กว่า 23,000 หลัง

——แต่เดิมชาวจีนแคะก็คือชาวจีนฮั่นที่มีถิ่นฐานในแถบจงหยวน[1] (中原) ปลายสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晉 ค.ศ. 265-316) ดินแดนบริเวณนี้ถูกรุกรานโดยอนารยชนทางเหนือ บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ผู้คนต้องหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ ผ่านตอนใต้ของมณฑลเจียงซี (江西) เข้าสู่เขตภูเขาทางตะวันตกของมณฑลฮกเกี้ยน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้อพยพก็เริ่มหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น กลายเป็นกลุ่มคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ เรียกว่าชาวฮากกา (客家) หรือชาวแคะนั่นเอง

——ในสมัยก่อนพื้นที่ทางตะวันตกของมณฑลฮกเกี้ยนนั้นทุรกันดาร เต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้าย และมีโจรชุกชุม ชาวจีนแคะซึ่งเป็นผู้อพยพมาจากต่างถิ่นจึงต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับให้คนจำนวนมากอยู่รวมกัน เพื่อรวบรวมกำลังคน เสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการสร้างบ้านดิน การสร้างบ้านดินของชาวจีนแคะเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 14 สำหรับในอำเภอหย่งติ้งนั้น บ้านดินที่ค้นพบส่วนใหญ่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ซากบ้านดินหลังเก่าแก่ที่สุดที่ขุดค้นพบคือ บ้านดินหลงอันไจ้ (龍安寨) ซึ่งคาดว่าเริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ถัง มีอายุกว่า 1,000 ปี

——บ้านดินของชาวจีนแคะนั้นแท้จริงแล้วมีหลากหลายรูปทรง เช่น ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ทรงห้าเหลี่ยม ทรงแปดเหลี่ยม ทรงคล้ายตัวอักษร 日 (หมายถึง พระอาทิตย์) ของจีน เป็นต้น รูปแบบทั้งหมดนี้สามารถจำแนกโดยสังเขปได้เป็น 2 ประเภท คือแบบทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะโดดเด่นของบ้านดินคือ มักมีขนาดใหญ่โต สูงราว 3-4 ชั้น สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก กำแพงชั้นนอกสร้างจากดินเหนียว ผสมและอัดแน่นเข้ากับวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ทราย ปูนขาว ข้าวเหนียว ไข่ขาว น้ำตาลทรายแดงในสัดส่วนที่เหมาะสม ภายในเสริมด้วยโครงไม้ไผ่เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและการยึดเกาะ กำแพงของบ้านดินขึ้นชื่อเรื่องความแน่นหนาและแข็งแกร่ง ส่วนมากหนาราว 1-2 เมตร มีคุณสมบัติกันไฟ และสามารถป้องกันการโจมตีจากอาวุธของศัตรู นอกจากนี้ยังสามารถกันความร้อนได้ดีในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวจะทำให้ภายในบ้านอบอุ่น ฐานกำแพงสร้างด้วยหินที่มีความทนทาน เหนือกำแพงขึ้นไปมีหลังคามุงด้วยกระเบื้อง ชายคาด้านนอกยื่นยาวออกมาเป็นพิเศษเพื่อกันน้ำฝนกัดเซาะตัวกำแพง ส่วนด้านใน ลานกลางบ้านจะเปิดโล่งรับแดด ไม่มีหลังคาคลุม จึงทำให้รูปทรงดูคล้ายบ่อน้ำ เป็นจุดเด่นอีกอย่างของบ้านแบบชาวแคะ

——ด้านในบ้านดินมีพื้นที่ใช้สอยที่ครบครันและจัดสรรอย่างเป็นระบบ อย่างเช่นในบ้านดินทรงกลม ห้องหับต่างๆ สร้างติดกับกำแพง หันหน้าเข้าหาศูนย์กลางของบ้าน โดยทั่วไปบ้านดินในอำเภอหย่งติ้งจะมีห้องต่างๆ รวมกันราว 100-200 ห้อง แต่บางหลังที่มีขนาดใหญ่ เช่น เฉิงฉี่โหลว (承啟樓) นั้นมีถึงราว 400 ห้อง แต่ละห้องมีรูปแบบและขนาดเท่ากัน ชั้นหนึ่งส่วนมากใช้เป็นห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร บ้างก็ใช้เป็นเล้าหมูหรือคอกวัว ชั้นสองใช้เป็นโรงเก็บของหรือธัญพืชต่างๆ 2 ชั้นล่างนี้ไม่มีหน้าต่างเปิดออกสู่ด้านนอกกำแพงเพื่อป้องกันโจรหรือศัตรู ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นห้องนอนหรือพื้นที่อยู่อาศัยของคนในบ้าน พื้นที่ตรงจุดศูนย์กลางของบ้านดินมักสร้างศาลบรรพบุรุษไว้ และใช้เป็นพื้นที่ส่วนรวมสำหรับจัดงานพิธีต่างๆ นอกจากนี้ภายในบ้านดินยังมีบ่อน้ำ ห้องอาบน้ำ โรงโม่แป้ง และโรงเรียนที่ใช้ร่วมกันอีกด้วย

——การสร้างบ้านดินขนาดใหญ่สำหรับใช้รวมตัวกันอยู่นั้น นอกจากจะทำเพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมแบบชาวจีนภาคกลางที่ติดตัวชาวแคะมาแต่โบราณ การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ของสมาชิกในตระกูลเป็นค่านิยมที่ชาวจีนภาคกลางได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื่อ เมื่อบรรพบุรุษของชาวจีนแคะอพยพมาทางใต้ ก็ได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ บ้านดินของชาวจีนแคะหลังหนึ่งนิยมใช้เป็นที่อยู่ของคนในตระกูลเดียวกัน มีสมาชิกราว 300-400 คน บางหลังอาจมีมากถึง 600 คน เปรียบได้เหมือนกับชุมชนเล็กๆ เลยทีเดียว

บ้านดินแบบอู่เฟิ่งโหลว

——สำหรับบ้านดินบางประเภทที่สัดส่วนและทำเลในพื้นที่ต่างๆ ของบ้านไม่เท่ากัน เช่น บ้านดินแบบอู่เฟิ่งโหลว[2] (五鳳樓) การอยู่อาศัยต้องคำนึงถึงลำดับอาวุโสในตระกูล หัวหน้าหรือผู้อาวุโสของตระกูลจะอาศัยในอาคารสูงด้านหลัง ห้องอื่นๆ ในอาคารด้านหน้าและด้านข้างจะมีความสำคัญรองลงมา ห้องที่หันหน้าเข้าหาทิศใต้ตามหลักฮวงจุ้ยเป็นห้องสำหรับผู้อาวุโส ห้องที่หันหน้าเข้าหาทิศเหนือนับว่ามีทำเลด้อยกว่า ใช้เป็นห้องสำหรับลูกบ้าน อย่างไรก็ตามความชัดเจนในการจัดลำดับอาวุโสนี้ถูกลดทอนลงไปเมื่อเปลี่ยนรูปแบบการสร้างบ้านดินเป็นแบบทรงกลมซึ่งทุกห้องล้วนมีสัดส่วนเท่าๆ กัน และหันหน้าเข้าหาศูนย์กลางของบ้านเหมือนๆ กันทั้งสิ้น

——บ้านดินยังแสดงถึงฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของตระกูลผู้อยู่อาศัย ในอำเภอหย่งติ้ง บ้านดินหลายหลังมีขนาดใหญ่โตโอ่อ่า โดยเฉพาะในช่วงสมัยฮ่องเต้คังซี (康熙) และฮ่องเต้เฉียนหลง (乾隆) แห่งราชวงศ์ชิง บ้านดินแถบนี้นับว่าใหญ่โตและมีเทคนิคการสร้างที่ก้าวหน้ากว่าพื้นที่อื่น ทั้งนี้เพราะชาวจีนแคะในอำเภอหย่งติ้งนิยมทำไร่ยาสูบส่งออกขายในหลายพื้นที่ของประเทศจีน รวมไปถึงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้คนในอำเภอนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี และนิยมสร้างบ้านใหญ่โตสวยงามเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของตระกูล ปัจจุบันในอำเภอหย่งติ้งจึงพบเห็นบ้านดินขนาดใหญ่ที่มีตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไปได้เกือบ 5,000 หลัง ในจำนวนนี้มีบ้านดินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากที่สุด เช่น เฉิงฉี่โหลวซึ่งเป็นบ้านดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เจิ้นเฉิงโหลว (振成樓) และเจิ้นฝูโหลว (振福樓) เป็นต้น

เจิ้นเฉิงโหลว

——ในปี ค.ศ. 2008 บ้านดินชาวแคะจำนวน 46 หลังในมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งรวมถึงบ้านดินหลายแห่งในอำเภอหย่งติ้ง เช่น บ้านดินในหมู่บ้านชูซี (初溪) หมู่บ้านหงเคิง (洪坑) หมู่บ้านเกาเป่ย (高北) และหมู่บ้านหนานซี (南溪) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ในฐานะที่เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของภูมิปัญญาเก่าแก่ด้านวิศวกรรมที่สะท้อนรูปแบบการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนของมนุษย์ โดยมีระบบการจัดการด้านการป้องกันภัยอย่างดี และยังแสดงให้เห็นความสามารถด้านการปรับตัวอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนอีกด้วย

 


[1]จงหยวน คือ ที่ราบภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโห (黃河) ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลเหอหนาน (河南) ทั้งหมด และบางส่วนของมณฑลเหอเป่ย (河北) ซานซี (山西) ซานตง (山東) อันฮุย (安徽) และเจียงซู (江蘇)

[2] อู่เฟิ่งโหลว เมื่อแปลตามตัวอักษรจะหมายถึง อาคาร 5 หงส์ ลักษณะเด่นคือ จากด้านหน้าถึงด้านหลังของบ้านมีหลังคาเกยซ้อนกัน 5 ชั้น มุมหลังคางอนขึ้น ดูคล้ายหงส์กำลังสยายปีก เมื่อมองจากมุมสูง แบบแปลนภาพรวมของบ้านจะมีรูปทรงคล้ายตัวอักษร 日ของจีน ตรงกลางมีอาคารสร้างเป็นแนวนอน 3 ตอน ตอนหน้าสุดมีขนาดเตี้ยที่สุด เป็นโถงทางเข้าและห้องรับแขก ตอนกลางเป็นที่ตั้งของศาลบรรพบุรุษและพื้นที่ทำพิธีต่างๆ ตอนหลังสุดเป็นอาคารสูง ใช้เป็นที่พักอาศัยของผู้อาวุโส อาคาร 3 ตอนนี้มีลานบ้านคั่นระหว่างกัน ส่วนด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งจะสร้างอาคารในแนวตั้งเชื่อมอาคารตรงกลางทั้งสาม ใช้เป็นห้องของลูกบ้าน รวมถึงห้องครัว ห้องอาบน้ำ และโรงเรียน เป็นต้น