—–จา
บทความนี้ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ขอเสนอเขื่อน สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ มาดูกันค่ะว่าเป็นสถานที่ไหน ….
ตูเจียงเยี่ยน : จากอดีตสู่ปัจจุบัน
—–เขื่อนตูเจียงเยี่ยน (都江堰) ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหมินเจียง (岷江) ห่างจากนครเฉิงตู (成都) เมืองเอกของมณฑลเสฉวนเป็นระยะทาง 56 กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนดินแห่งแรกของโลก มีอายุกว่า 2,200 ปี และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นด้านการชลประทานของจีน ซึ่งยังใช้งานจวบจนถึงปัจจุบัน
เขื่อนตูเจียงเยี่ยน
—–เขื่อนตูเจียงเยี่ยนมีความสำคัญด้านการป้องกันอุทกภัยมาตั้งแต่อดีต สร้างขึ้นราว 256 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยจั้นกั๋ว (战国 475 – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ยุคของเจาเซียงหวาง (昭襄王 325 – 251 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์แห่งรัฐฉิน (秦 221 – 207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยความคิดริเริ่มของหลี่ปิง (李冰) ผู้ว่าการมณฑลเสฉวน (蜀郡太守) แห่งรัฐฉินและบุตรชายของเขานามว่าหลี่เอ้อหลาง (李二郎) ซึ่งได้เกณฑ์ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปสร้างเขื่อน ณ ตอนบนของแม่น้ำหมินเจียง ด้วยเหตุว่าแม่น้ำสายนี้ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นนิจ ภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านทุกครั้ง ซึ่งหลังจากหลี่ปิงสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนมณฑลเสฉวนก็ดีขึ้นมาก
หลี่ปิงและบุตรชาย หลี่เอ้อหลาง
—–เขื่อนดินแห่งนี้ตั้งอยู่กลางแม่น้ำหมินเจียง มีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ คันแบ่งน้ำรูปปากปลา (鱼嘴分水堤), ฝายน้ำล้น (飞沙堰) และประตูน้ำรูปปากขวด (宝瓶口)
—–ส่วนแรกคันแบ่งน้ำรูปปากปลา มีลักษณะเหมือนปากปลา แบ่งแม่น้ำหมินเจียงออกเป็นสองสาย ทางฝั่งตะวันตกเป็นแม่น้ำหมินเจียงสายหลัก เรียกว่า แม่น้ำสายนอก (外江) หน้าที่หลักคือใช้ระบายน้ำออกนอกพื้นที่และออกทะเลในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัย ส่วนฝั่งตะวันออกเลียบไปกับแนวเขาเป็นทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เรียกว่า แม่น้ำสายใน (内江) หน้าที่หลักคือใช้ทดน้ำเข้ามาในระบบชลประทาน เพื่อใช้ในเกษตรกรรมและการคมนาคมขนส่ง
—–ฝายน้ำล้นเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างคันแบ่งน้ำรูปปากปลาและประตูน้ำรูปปากขวด มีลักษณะยาวและแคบ ในอดีตใช้กรงไม้ไผ่ที่บรรจุหินกรวดมาวางกองรวมกัน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้คอนกรีตแทน ส่วนประกอบนี้ทำหน้าที่ระบายน้ำล้น โดยเมื่อแม่น้ำสายในมีปริมาณน้ำสูงกว่าปริมาณที่ประตูน้ำรูปปากขวดรับได้ น้ำส่วนเกินก็จะล้นออกไปทางฝายน้ำล้น อีกทั้งน้ำที่ไหลบ่ามาจากป่าเขาจะพัดเอาดิน โคลน ทราย และหินลงมาด้วย หน้าที่อีกอย่างของฝายน้ำล้นจึงเป็นทางออกของสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ไปตกตะกอนรวมกันจนทำให้แม่น้ำสายในตื้นเขิน
เขื่อนตูเจียงเยี่ยน
—–เมื่อกล่าวถึงที่มาของชื่อเขื่อนตูเจียงเยี่ยน เขื่อนแห่งนี้เริ่มแรกมีชื่อว่า เจียนเผิง (湔堋) คำว่า เจียน มาจากชื่อของภูเขาเจียนซัน (湔山) ภูเขาข้างเคียงบริเวณเขื่อนนี้ ส่วนคำว่า เผิง แปลว่า เขื่อน ในภาษาถิ่นของชาวเผ่าตีเชียง (氐羌) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบบริเวณนั้น ต่อมาในสมัยสามก๊ก (三国ค.ศ. 220 – 280) เปลี่ยนชื่อเป็น ตูอันเยี่ยน (都安堰) ตามชื่ออำเภอที่เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่คืออำเภอตูอัน (都安县) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง (唐ค.ศ. 618 – 907) เปลี่ยนชื่ออีกเป็นเจี้ยนเหว่ยเยี่ยน (楗尾堰) ตามวิธีสร้างเขื่อน นั่นก็คือการนำก้อนหินใส่ในกรงไม้ไผ่ให้เต็มแล้วนำไปกองรวมกัน เพื่อกั้นทางน้ำไหล จนมาถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋ค.ศ. 960 – 1279) จึงปรากฏชื่อ ตูเจียงเยี่ยน มาจากคำว่า ตูเจียง (都江) อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของแม่น้ำหมินเจียงที่ไหลผ่านเขื่อนแห่งนี้นั่นเอง
—–เขื่อนตูเจียงเยี่ยนผ่านกาลเวลาช้านานหลายยุคหลายสมัย ทั้งยังมีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ซือหม่าเชียน (司马迁 145 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ไม่แน่ชัด) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้เขียนเรื่อง ‘บันทึกประวัติศาสตร์’ 《史记》 ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (汉武帝140 – 88 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 8) เคยได้รับพระบรมราชโองการให้ไปลงพื้นที่ตรวจตราเขื่อนตูเจียงเยี่ยน ณ แคว้นจ๊กก๊กหรืออาณาจักรสู่ฮั่น (蜀汉ค.ศ. 221- 263)
—–ในสมัยสามก๊กจูกัดเหลียง (诸葛亮 ค.ศ. 181 – 234) หรือขงเบ้ง (孔明) สมุหนายกและสมุหกลาโหมในพระเจ้าเล่าปี่ (刘备 ค.ศ. 161 – 223) ก็เคยมาเยือนเขื่อนแห่งนี้ และเห็นความสำคัญของเขื่อนกับการทำเกษตรกรรม จึงแต่งตั้งข้าราชการพิเศษประจำเขื่อน เพื่อจัดการดูแลเขื่อนแห่งนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ในรัชกาลจักรพรรดิหยวนซื่อจู่ (元世祖 ค.ศ.1215 – 1294) หรือกุบไลข่าน (忽必烈) ยังมีชาวอิตาเลียนชื่อมาร์โค โปโล (马可•波罗 ค.ศ. 1254 – 1324) นักเดินทางผู้โด่งดังระดับโลกได้ขี่ม้าเป็นเวลา 20 กว่าวันจากเมืองฮั่นจง (汉中[1]) มายังเขื่อนตูเจียงเยี่ยน เพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพอันงดงามของเขื่อน และยังจดสิ่งที่ได้พบเห็นที่นี่ลงในบันทึกการเดินทางของเขาด้วย
—–ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกประเทศเข้ามาเยี่ยมชมเขื่อนตูเจียงเยี่ยนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งวัดเอ้อหวังเมี่ยว (二王庙) หรือวัดสองกษัตริย์ ในบริเวณใกล้เคียงที่สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝ค.ศ.420 – 589) เพื่อสดุดีคุณงามความดีของหลี่ปิงและบุตรชายผู้สร้างเขื่อนแห่งนี้ ภายในวัดมีรูปปั้นของบุคคลทั้งสองและสิ่งปลูกสร้างอันสวยงาม หากนักท่องเที่ยวยืนชมเขื่อนจากตำแหน่งของวัดแห่งนี้ก็จะเห็นทัศนียภาพที่สวยงามและครอบคลุมที่สุด เมื่อปีค.ศ. 2000 เขื่อนแห่งนี้ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก เป็นการยืนยันถึงคุณค่าของเขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งนี้
วัดเอ้อหวังเมี่ยว
[1] เมืองฮั่นจง ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลส่านซี(陕西省)
เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา