ผาหินแกะสลักต้าจู๋
เรื่องโดย บุณฑริกานารี
——หากพูดถึงผาหินแกะสลักของประเทศจีน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงนึกถึง 3 สุดยอดผาหินอันเลื่องชื่อ ได้แก่ ผาหินแกะสลักมั่วเกา (莫高窟) ในมณฑลกานซู่ (甘肅) ผาหินแกะสลักอวิ๋นกัง (雲岡石窟) ในมณฑลซานซี (山西) และผาหินแกะสลักหลงเมิน (龍門石窟) ในมณฑลเหอหนัน (河南) ทว่าแท้จริงแล้วในเขตมหานครแห่งใหม่ล่าสุดที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดอย่าง ‘มหานครฉงชิ่ง’ (重慶) ก็มีผาหินแกะสลักอันทรงคุณค่าทั้งด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไม่แพ้ผาหินแกะสลัก 3 แห่งข้างต้น นั่นคือผาหินแกะสลักต้าจู๋ (大足石刻)
——ผาหินแกะสลักต้าจู๋ ตั้งอยู่ในเขตต้าจู๋ (大足) มหานครฉงชิ่ง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 100 กิโลเมตร คำว่า ‘ต้าจู๋’ เป็นชื่อรัชศกในสมัยพระนางบูเช็คเทียน (武则天) โดยมีนัยมาจาก ‘大足天下、天下大足’ ซึ่งหมายถึง เปี่ยมสุขทั่วแผ่นดิน ทว่าอีกกระแสหนึ่งร่ำลือกันว่า คำว่า ‘ต้าจู๋’ ควรแปลตรงตัวว่า ‘เท้าขนาดใหญ่’ มีที่มาจากสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหน้าผาและหุบเขา หากมองจากมุมสูงจะเหมือนแอ่งขนาดใหญ่ ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ประทับลงมานั่นเอง
——ผาหินแกะสลักต้าจู๋มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 650 ซึ่งเป็นปีแรกแห่งการครองราชย์ของฮ่องเต้ถังเกาจง (唐高宗) หลังจากนั้นก็มีประติมากรมากฝีมือฝากผลงานไว้รุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) รวมแล้วเป็นเวลากว่า 400 ปี ผาหินแกะสลักต้าจู๋เป็นงานแกะสลักหน้าผาหินขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่จะเน้นงานแกะสลักนูนสูงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีศิลปะการแกะสลักแบบต่างๆ เช่น การแกะสลักนูนต่ำ การแกะสลักลอยตัว รวมไปถึงงานฉลุลาย เป็นต้น ผลงานแต่ละชิ้นมีความวิจิตรงดงามและประณีตสะท้อนให้เห็นฝีมือชั้นยอดของประติมากรชาวจีนในยุคนั้น
——ผาหินแกะสลักต้าจู๋ถือเป็นงานศิลปะล้ำค่าที่แฝงเกร็ดประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ สวรรค์ภูมิ ตลอดจนนรกภูมิ รองลงมาคือลัทธิขงจื่อและลัทธิเต๋า นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยราชวงศ์ซ่งอีกด้วย งานแกะสลักหินแบ่งออกเป็น 75 จุด มีรูปสลักมากกว่า 5 หมื่นรูป และตัวอักษรแกะสลักมากกว่า 1 แสนตัว งานแกะสลักทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็น 5 สถานที่หลัก ได้แก่
- งานแกะสลักเป่ยซาน (北山石刻) เริ่มสร้างเมื่อปลายสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 892) แล้วเสร็จสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1162) มีโค้งพระพุทธรูปใหญ่ (大佛灣) เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยเนินพระโพธิสัตว์กวนอิม (觀音坡) เนินอิ๋งผาน (營盤坡) ผาหินฝอเอ่อร์ (佛耳岩) และวัดเจดีย์เหนือ (北塔寺)
- งานแกะสลักสือจ้วนซาน (石篆山石刻) ภูเขาสือจ้วนซานสูงกว่าระดับน้ำทะเล 6 เมตร เริ่มแกะสลักราวปี ค.ศ. 1082-1096 หน้าผาแกะสลักยาวประมาณ 130 เมตร สูงไล่ระดับตั้งแต่ 3-8 เมตร
——รูปสลักในภูเขาสือจ้วนซานมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา ลัทธิหรู และลัทธิเต๋า เช่น หินแกะสลักรูปขงจื่อและลูกศิษย์สิบคน (孔子及十哲龕) หินแกะสลักสามพระ (三身佛龕) หินแกะสลักเหล่าจวิน (老君龕) หินแกะสลักเหลาจื่อในท่านั่ง (老子坐像) เป็นต้น
- งานแกะสลักสือเหมินซาน (石門山石刻) เริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง ภูเขาสือเหมินซาน สูงกว่าระดับน้ำทะเล 374.1 เมตร เริ่มแกะสลักราว ค.ศ. 1094-1151 หน้าผาแกะสลักยาว 71.8 เมตร สูงไล่ระดับตั้งแต่ 3.4-5 เมตร มีโพรงที่มีรูปแกะสลักทั้งหมด 12 แห่ง
——รูปสลักในงานแกะสลักสือเหมินซานประกอบด้วยรูปสลักเกี่ยวกับพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า เช่น เทพตาทิพย์ที่หินแกะสลักเง็กเซียนฮ่องเต้ (玉皇大帝龕) ซึ่งมีดวงตาดุจมองเห็นไกลนับพันลี้ ถ้ำสามจักรพรรดิ (三皇洞) ที่มีรูปสลัก 35 ชิ้น หินแกะสลักพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า (藥師佛龕) หินแกะสลักพระศากยมุนีพุทธเจ้า (釋迦佛龕) เป็นต้น โดยส่วนที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดคือถ้ำสิบกวนอิม (十聖觀音窟)
- งานแกะสลักเป๋าติ่ง (寶頂石刻) สูงกว่าระดับน้ำทะเล 527.83 เมตร เริ่มแกะสลักโดยภิกษุนามว่าจ้าวจื้อเฟิ่ง (趙智鳳 ค.ศ. 1159-1249) ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ระหว่างปี ค.ศ. 1174-1252 ภายในภูเขาเป๋าติ่งมีวัดเซิ่งโซ่ว (聖壽寺) เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปแกะสลักที่โค้งพระพุทธรูปใหญ่ และโค้งพระพุทธรูปเล็ก (小佛灣) มีงานแกะสลักขนาดมหึมามากกว่า 360 ชิ้น งานแกะสลักที่มีชื่อเสียงได้แก่ ภาพสังสารวัฏ 6 วิถี (六道輪迴) หอกว่างต้าเป่า (廣大寶樓閣) รูปแกะสลักหัวเหยียนซานเซิ่ง[1] (華嚴三聖像) และรูปแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ (千手觀音像) เป็นต้น
ภาพสังสารวัฏ 6 วิถี
รูปแกะสลักหัวเหยียนซานเซิ่ง
รูปแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ
——โค้งพระพุทธรูปใหญ่ตั้งอยู่ด้านซ้ายของวัดเซิ่งโซ่ว เป็นหน้าผาโค้งรูปตัวยู (U) ยาวประมาณ 500 เมตร ความสูงไล่ระดับตั้งแต่ 8-25 เมตร งานแกะสลักอยู่บนหน้าผา 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศเหนือ ส่วนโค้งพระพุทธรูปเล็กตั้งอยู่ด้านขวาของวัดเซิ่งโซ่ว มีถ้ำ หน้าผาหินแกะสลัก เจดีย์แกะสลัก เป็นต้น
- งานแกะสลักหนานซาน (南山石刻) ภูเขาหนานซานมีชื่อเดิมว่ากว่างหัวซาน (廣華山) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตต้าจู๋ มีงานแกะสลักทั้งหมด 15 ชิ้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับลัทธิเต๋า
ภาพแกะสลักวิถีชีวิตชาวบ้าน
——ความพิเศษอีกประการของผาหินแกะสลักต้าจู๋คือรสนิยมการแต่งแต้มสีสันให้แก่งานแกะสลัก ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ผาหินแห่งนี้ดูโดดเด่นทว่ายังใช้เป็นตัวบ่งชี้ช่วงเวลาในการสร้างได้อีกด้วย เพราะผลงานในช่วงราชวงศ์ถังจะเน้นสีเขียว สีน้ำเงินเป็นหลัก และมีการใช้สีแดงร่วมบ้างเพื่อให้ดูสดใส ส่วนผลงานในยุคราชวงศ์ซ่ง สีจะจืดกว่าในยุคถังแต่เน้นความประณีตและสมจริงเป็นสำคัญ สีที่สวยงามเหล่านี้เป็นผลจากการใช้วัตถุดิบธรรมชาติผสมกับยางไม้ซึ่งถือเป็นเทคนิคของประติมากร ผลงานเหล่านี้จึงมีสีสันสวยงามและคงทนแม้เวลาล่วงเลยมากว่าพันปีแล้วก็ตาม
——งานแกะสลักหินต้าจู๋รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 23 เมื่อปี ค.ศ. 1999 ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่า ‘ผาหินแกะสลักแห่งต้าจู๋ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9-13 มีคุณค่าทางศิลปะสูงมาก รวมทั้งมีข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกจนถึงเรื่องทางธรรม สะท้อนให้เห็นชีวิตและสังคมของชาวจีนในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังช่วยยืนยันว่าแนวคิดและความเชื่อของพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อสามารถสอดประสานกันได้อย่างลงตัว’
[1] หัวเหยียนซานเซิ่ง คือ ชื่อเรียกรวมของพระโพธิสัตว์ 3 องค์ ประกอบด้วย พระศากยมุนีพุทธเจ้า (釋迦牟尼佛) พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (文殊菩薩) และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (普賢菩薩)