ล่ามคือใคร?

—–ล่าม คือ บุคคลผู้เป็นตัวกลางในการสื่อสารข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรมด้วยวาจา ณ สถานที่และทันที

 

วิชาการล่ามและการแปลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

—–การล่ามคือแขนงหนึ่งของการแปล เป็นการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นทางสู่ภาษาปลายทางโดยผ่านการพูด

– จุดเหมือนของการแปลและการล่ามคือ กระบวนการถ่ายทอดภาษาต้นทางไปสู่ภาษาปลายทางที่เหมือนกันโดยเริ่มจากความเข้าใจ การวิเคราะห์ และถ่ายทอด

– จุดต่างประการแรก คือเงื่อนไขเรื่องเวลา เนื่องจากล่ามเมื่อแปลออกไปแล้ว หากเนื้อหาผิดพลาดจะไม่สามารถแก้ไขได้มากนัก แต่ในทางกลับกันการแปลจะสามารถตรวจทานความถูกต้องของเนื้อหาซ้ำไปซ้ำมา หรือปรับแต่งภาษาให้เหมาะสมได้ จุดต่างประการที่สอง คือองค์ประกอบอื่นๆ การล่ามจะมีองค์ประกอบมากกว่าการแปล อาทิ เมื่อต้องทำหน้าที่ในที่สาธารณะบุคลิกภาพและน้ำเสียงเป็นเรื่องสำคัญ  นอกจากนี้ล่ามยังต้องมีความจำที่ดี เนื่องจากมีเวลาจำกัดในการแปล ดังนั้นจำเป็นต้องมีการสะสมคลังความรู้ที่สามารถเรียกใช้ได้ทันที แต่ล่ามก็มีข้อได้เปรียบการแปลเช่นกัน เมื่อล่ามแปลออกไปจะสามารถดูปฏิกิริยาของผู้ฟังได้ทันทีว่าเข้าใจที่ตนสื่อหรือไม่ ประการสุดท้ายคือ จุดต่างด้านมาตรฐาน โดยทั่วไปการแปลจะเน้นการแปลตามมาตรฐาน แต่ล่ามจะให้ความสำคัญกับความถูกต้องและรวดเร็ว

 

ประเภทของล่าม

—–การล่ามแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. แบ่งตามสถานที่ทำงานและธีมในการทำงาน อาทิ ล่ามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (外交口译) ล่ามการประชุม (会议口译) ล่ามศาล (发庭口译) วิธีฝึกฝนในล่ามเฉพาะทางคือซื้อตำราล่ามเฉพาะด้านมาฝึกแปล โดยทั่วไปจะเป็นภาษาจีน-อังกฤษ ผู้ที่สนใจสามารถนำเนื้อหามาฝึกแปลเอง เรียนรู้ความต่างของภาษาด้วยตนเอง

ตำราสำหรับล่ามระหว่างประเทศ

 

  1. แบ่งตามทิศทางการทำงาน แบ่งได้เป็น 2 ทาง คือ ล่ามทางเดียว (单向口译) คือแปลภาษาเดียว เช่น แปลจีนเป็นไทยเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงโอกาสที่ล่ามจะได้แปลไทยเป็นจีน จะมีมากกว่าแปลจีนเป็นไทย ส่วนใหญ่จะใช้ล่ามประเภทนี้ในงานใหญ่หรือการประชุม แต่โดยทั่วไปจะใช้ล่ามสองทาง (双向口译) คือล่ามหนึ่งคนแปลสลับทั้งสองภาษา
  2. แบ่งตามวิธีทำงาน ล่ามพูดพร้อม (同声传译) ต้องมีทักษะภาษาระดับสูง โดยทั่วไปจะใช้ในงานประชุม เช่น ล่ามตู้ ล่ามพูดตาม (交替传译) เป็นล่ามที่แปลตามผู้พูดแปลสลับไปสลับมาซึ่งพบได้บ่อย นอกจากนี้ยังมี ล่ามพูดทางเดียว (接续口译) ใช้ในการบรรยายพูดยาวต่อกันไปเรื่อยๆ ล่ามกระซิบ (耳语式传译) และล่ามที่สามารถอ่านสคิปแล้วแปล (视译)

 

คุณสมบัติที่ล่ามต้องมี

  1. เชี่ยวชาญภาษา

ล่ามต้องการฝึกฝนให้มีความรู้และความคล่องตัวในการใช้ภาษาทั้งสองภาษาเป็นอย่างดี ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อฝึกภาษาปลายทางจนคล่องแคล่ว ปัญหาที่จะตามมาคือจะใช้ภาษาแม่ไม่เป็นธรรมชาติ เช่น การพูดภาษาไทยด้วยไวยากรณ์ภาษาจีน

  1. ใฝ่ศึกษาความรู้เฉพาะทาง

ล่ามต้องมีความรู้และคลังคำศัพท์เฉพาะทางในการแปล มีการศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาที่จะเจรจามาล่วงหน้า อาจมีการสร้างคลังคำศัพท์ของตนขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสถัดไป นอกจากนี้ล่ามยังต้องศึกษาวิธีการจดให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วและไม่ตกหล่น

  1. กว้างขวางมีเครือข่าย

ในวงการล่ามเครือข่ายมีความสำคัญ เนื่องจากล่ามจะอาศัยการแนะนำงานต่อๆ กัน หากมีคนแนะนำคนจ้างจะไว้ใจล่ามที่แนะนำมามากกว่า กรณีไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ไม่ควรปฏิเสธงานแต่ควรแนะนำเพื่อนร่วมวงการและไว้ใจได้แทน เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้จ้างและเพิ่มโอกาสที่เพื่อนร่วมวงการจะแนะนำงานให้เรากลับ

  1. รู้หลากหลายทันสถานการณ์

ล่ามต้องมีความรู้กว้างขวางต้องตามทันสถานการณ์โลกให้ทัน ล่ามควรหาหัวข้อเบาๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องคุยหรือเพื่อกระชับความสัมพันธ์

  1. เป็นเลิศด้านความจำ

ล่ามจำเป็นต้องมีความจำรวมถึงสมาธิที่ดี มีคลังคำศัพท์พร้อมใช้งานตลอดเวลา มีความจำระยะสั้น ระยะยาว อาจมีการจดบันทึกเล็กน้อย

  1. รู้จักเก็บงำความลับ

การเปิดเผยรายละเอียดเรื่องที่แปลถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ และทำลายความน่าเชื่อถือของตนเอง ข้อมูลที่เปิดเผยไปอาจทำให้องค์กรเสียหายได้

  1. ลำดับความเข้าใจง่าย

ล่ามต้องมีทักษะการวิเคราะห์ที่ดี เพื่อลำดับความใหม่และถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย จึงไม่จำเป็นต้องแปลละเอียดแต่นำใจความหลักถ่ายทอดออกมา

  1. ร่างกายแข็งแรง

ล่ามต้องมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อรับมือกับงานที่อาจจะติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือสถานที่ไม่อำนวย รวมถึงสมองต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ว่องไว ดังนั้นผู้มีปัญหาสุขภาพควรเลือกรับงานที่มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้จนจบ

  1. เข้มแข็งทางอารมณ์

งานล่ามเป็นงานที่มีความกดดันสูง เมื่อเครียดอาจทำให้ประสิทธิภาพการแปลลดลง ล่ามต้องจัดการอารมณ์ให้ดี หากแปลผิดต้องรู้จักให้อภัยตนเอง

  1. บุคลิกเหมาะสม

บุคลิกภาพ การแต่งกาย กิริยาสุภาพ มีความสำคัญต่องานล่าม เนื่องจากแสดงถึงความน่าเชื่อถือ ต้องแต่งกายเหมาะสมกับงาน

 

การเตรียมตัวก่อนปฏิบัติงาน

—–ระยะยาว – ต้องฝึกภาษา สะสมคลังคำศัพท์และรูปประโยค ฝึกการแปลกลับไปมา ฝึกการจดบันทึกอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านหนังสือให้มาก และฝึกบุคลิกภาพ

—–ระยะกลาง – ค้นหาความรู้ ศัพท์ ชื่อบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะปฏิบัติ รู้สถานที่ ลำดับการประชุมและเวลา

—–ระยะสั้น – เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ให้พร้อม ไปถึงสถานที่ก่อนเวลานัดหมาย 1-2 ชั่วโมง

 

การล่ามกับการจดบันทึก

—–ล่ามไม่จำเป็นต้องจดทุกคำพูด สิ่งที่ควรจดคือข้อมูลที่จำยาก อาทิ ชื่อเฉพาะและตัวเลข สิ่งที่ไม่ควรจดคือข้อมูลที่รู้อยู่แล้ว

 

เทคนิคการจดบันทึก

  • ใช้สัญลักษณ์ ไม่มีรูปแบบตายตัว
  • ใช้อักษรย่อ ไม่มีรูปแบบตายตัว
  • ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนชวเลข
  • ใช้ภาษาใดก็ได้ แต่ปกติ ขณะจดสมาธิจะอยู่ที่การฟัง ดังนั้นจดภาษาต้นทางสะดวกที่สุด
  • ขณะแปล ต้องถอดรหัสตนเองให้ได้
  • ใช้สมุดโน้ตหรือแท็บเล็ตตามสะดวก สมุดโน๊ตควรเป็นสมุดที่พลิกขึ้นบนเพื่อรวดเร็วต่อการพลิกไปมา

 

เทคนิคในการพัฒนาภาษาเพื่องานแปลและงานล่าม

  1. ฝึกแปลในชีวิตประจำวันให้เป็นนิสัย เช่น แปลซีรีย์หรือข่าว ฝึกใช้ภาษาง่ายๆ ก่อน อย่ากดดันตนเอง
  2. พจนานุกรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการสะสมคำศัพท์ ควรมีทั้งแบบจีน-ไทยและจีน-จีน สามารถใช้พจนานุกรมในโทรศัพท์ได้
  3. พจนานุกรมเฉพาะทางเป็นสิ่งจำเป็น ต้องการเป็นล่ามด้านใดก็ศึกษาคำศัพท์ด้านนั้น
  4. ฝึกแปลสื่อสองภาษาด้วยตนเอง จากนั้นจึงเทียบกับที่แปลไว้แล้ว
  5. หนังสือพิมพ์จีนในวีแชทเหมาะกับการฝึกฝน เนื่องจากเป็นข่าวสารเรียลไทม์ ผู้ฝึกสามารถสั่งสมคำศัพท์ได้ โดยวิทยากรแนะนำหนังสือพิมพ์ ‘星暹传媒’ และ ‘泰国世界日报’


หนังสือพิมพ์ 星暹传媒

  1. อย่าเชื่อพจนานุกรม จีน-ไทย ไทย-จีน ทุกเรื่อง พจนานุกรมแต่ละเล่มอาจมีข้อผิดพลาด ดังนั้นก่อนนำความหมายมาแปลต้องวิเคราะห์ก่อน
  2. พจนานุกรม จีน-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย คือกับดัก เพราะคำหนึ่งคำอาจมีหลายความหมาย เมื่อเลือกคำแปลมาใช้อาจเลือกผิด ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นล่ามควรใช่พจนานุกรม จีน-จีน จะมีประสิทธิภาพมากกว่า
  3. ต้องรู้จักคัดกรองข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น เนื้อหาในวิกิพีเดีย ไป่ตู้ เว็บบอร์ด กรุ๊ปในเฟซบุ๊กหรือสื่อโซเชียลอื่น
  4. การจัดการภาษาในการแปลแบบล่าม
  5. ต้องเข้าใจความแตกต่างของภาษาจีน-ภาษาไทยก่อน
  6. สะสมคลังคำศัพท์ ชื่อเฉพาะ สำนวน สะสมรูปประโยค ฝึกแปลปากเปล่าสลับไปมา ฝึกแทนที่รายละเอียด การ ‘替换练习’  ของแบบเรียนต่างๆ เริ่มจากง่ายไปยาก ฝึกแปลปากเปล่าเกี่ยวกับตัวเลข ฝึกเรียบเรียงภาษาที่ซับซ้อน
  7. หาหนังสือเกี่ยวกับคำกล่าวในที่สาธารณะมาอ่าน และฝึกแปลหรือฝึกแทนที่แบบ ‘替换练习’

แบบฝึกหัด 替换练习 จาก 《赢在中国》

หนังสือคำกล่าวในที่ชุมนุมชน

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นปัญหาในการเรียบเรียงภาษา

  1. วิเคราะห์ประโยคให้ถูกก่อน หาคำหลักหลัง ‘的’ และแปลย้อนกลับ
  2. ปัญหาการ “เห็นอะไรก่อน แปลก่อน” จะเกิดในกรณีประโยคที่ยาว
  3. ปัญหาประโยคที่มีบุพบทวลีเป็นบทขยายนาม พบบ่อยในประโยคที่มีขนาดยาวและซับซ้อน เมื่อผู้แปลมีปัญการการเห็นก่อนแปลก่อน จึงละเลยการวิเคราะห์ประโยคให้ชัดเจน หากบทขยายมีหน่วยเดียวคำหลักมีหลายหน่วย ผู้แปลมักสับสนไม่ทราบว่าบทขยายนั้น ขยายคำนามคำแรกหรือขยายคำนามทั้งหมด
  4. กรณีบทขยายนามยาวและซับซ้อน อาจปรับบทแปลให้เหมาะสมเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
  5. ปัญหาประโยคที่มีบุพบทวลีหลายช่วง
  6. การแปลให้สละสลวย ไม่จำเป็นต้องแปลทุกคำหากแปลแล้วดูแปลกในภาษาปลายทาง
  7. ปัญหาการแปลประโยคความรวม แบบที่ประกอบด้วยประโยคหลักและประโยครอง ต้องปรับคำเชื่อมให้เหมาะสม และอาจต้องสลับประโยคหน้า-หลัง

สรุปคือหากแปลจีนเป็นไทยจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างประโยค หาประธาน กริยา กรรม จับให้ได้ว่ามีอะไรเป็นส่วนขยายหาคำหลักและแปลย้อนกลับ

สรุปจากการบรรยายหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาตนสู่ล่ามจีน-ไทย ไทย-จีน สำหรับผู้สนใจงานล่าม” โดย รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์