—–จา

นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน เมืองที่มีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน และรุ่งเรื่องจวบจนปัจจุบัน

เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน

—–นครเฉิงตู (成都) เป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวน ชาวจีนต่างขนานนามว่า เทียนฝู่จือกั๋ว  คำว่า ‘เทียนฝู่’ มาจากคัมภีร์ โจวหลี่ 《周礼》 ตำราโบราณของจีน ความหมายแรกเริ่มเป็นตำแหน่งขุนนางที่รับผิดชอบดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินในท้องพระคลัง ชนรุ่นหลังจึงยกคำนี้มาเปรียบเปรยถึงดินแดนที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

—–ตัวนครเฉิงตูตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแอ่งกระทะ มีลักษณะเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จึงเรียกกันว่า  ‘ที่ราบเฉิงตู’ ในยุคราชวงศ์ฉิน (秦221-206  ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ก่อสร้างเขื่อนตูเจียงเยี่ยน[1] (都江堰) ส่งผลให้พื้นที่แถบนี้รอดพ้นจากอุทกภัย และยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณมากขึ้น ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข นครเฉิงตูจึงได้ชื่อว่า ‘ดินแดนแห่งสวรรค์’

   เขื่อนตูเจียงเยี่ยน

—–นอกจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว นครเฉิงตูยังได้พัฒนาเกษตรกรรมและหัตถกรรมมาโดยตลอด จึงเป็นเมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญเป็นแหล่งเสบียงอาหารและจ่ายภาษีให้แก่รัฐในแต่ละยุคสมัยมานานหลายพันปี

—–ปัจจุบัน นครเฉิงตูมีพื้นที่ในปกครองทั้งหมด 14,335 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 16 ล้านคน มีระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศอย่างครบครัน การเดินทางสะดวกสบาย เทศบาลนครเฉิงตูกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตว่า จะพัฒนานครเฉิงตูให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน การคมนาคม  และการสื่อสารให้ทันสมัยในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน.

   นครเฉิงตู

 

ประวัติความเป็นมาของนคร ‘เฉิงตู’

—–ประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า ที่ราบเฉิงตูแต่เดิมอยู่ในการปกครองของอาณาจักรสู่โบราณ[2] (古蜀国 ไม่ระบุแน่ชัด– 316 ปีก่อนคริสต์ศักราช)  ในยุคของไคหมิงหวัง (开明王) ผู้ปกครองรุ่นที่ 9  ทรงย้ายนครหลวงของอาณาจักรสู่โบราณมาบริเวณที่ราบเฉิงตู พร้อมพระราชทานชื่อนครแห่งนี้ว่า ‘เฉิงตู’ หมายถึง ‘กลายเป็นนครหลวง’  เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งชื่อนครแห่งนี้มีที่มาจากความตอนหนึ่งในตำนานการสร้างเมืองของโจวไท่หวัง (周太王) พระปัยกา (ปู่ทวด) ของโจวอู่หวัง (周武王) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว (周1046 – 256  ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่กล่าวไว้ว่า ‘หนึ่งปีรวมเป็นชุมชน สองปีกลายเป็นเมือง สามปีกลายเป็นนครหลวง’ (一年而所居成聚,二年成邑,三年成都。)  นครเฉิงตูเป็นเมืองประวัติศาสตร์แห่งเดียวของจีนที่ไม่เคยเปลี่ยนชื่อ

—–นครเฉิงตูมีวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ภายหลังจากอาณาจักรสู่โบราณล่มสลายจากการบุกรุกของทหารฉินเมื่อ 316 ปีก่อนคริสต์ศักราช ราชวงศ์ฉินได้สร้างกำแพงเมืองเฉิงตูตามแบบเมืองเสียนหยาง (咸阳) เมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน ต่อมาในสมัยสามก๊ก  (三国ค.ศ. 220-280) ได้ตั้งนครเฉิงตูเป็นเมืองหลวงของแคว้นสู่ (蜀国จ๊กก๊ก) เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีเทือกเขาสูงชันขนาดใหญ่ล้อมรอบ เส้นทางการคมนาคมจึงถูกปิดกั้น นักการทหารในยุคประวัติศาสตร์จีนอย่าง เตียวเหลียง (张良 ไม่ระบุแน่ชัด-186 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กับขงเบ้ง (孔明 ค.ศ. 181-234) ต่างเลือกนครเฉิงตูเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นฐานที่มั่นทางการทหาร โดยเฉพาะในช่วงสงคราม ฮ่องเต้และขุนนางจำนวนมากก็ได้เลือกนครแห่งนี้เป็นที่ลี้ภัย  นครเฉิงตูจึงมีร่องรอยของโบราณสถานทางประวัติศาสตร์มากมาย

 


[1] เขื่อนตูเจียงเยี่ยน (都江堰) เมื่อประมาณ 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช  ฉินเจาเซียงหวัง (秦昭襄王325-251 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เจ้าผู้ครองแคว้นฉิน ผู้เป็นพระปัยกาของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้สั่งการให้หลี่ปิง (李冰)  ผู้ว่าการแคว้นสู่ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณนครเฉิงตูเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างเขื่อนตูเจียงเยี่ยน เพื่อป้องกันอุทกภัย  เขื่อนนี้จึงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศจีน

[2]  ชื่อเรียกอาณาจักรในยุคโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนของจีนในปัจจุบัน  อาณาจักรแห่งนี้แบ่งการปกครองได้ 5 ยุค คือ 1.ยุคฉานฉง (蚕丛) 2.ยุคไป่ก้วน (柏灌) 3.ยุคอวี๋ฝู (鱼凫) 4.ยุคตู้อวี่ (杜宇) และ 5.ยุคไคหมิง (开明)

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา