—–จา
วัดพุทธศาสนานิกายเซนแห่งเดียวในประเทศจีน อยู่ที่ไหนกันนะ? มาหาคำตอบได้ที่นี่เลยค่ะ …
阿育王寺
วัดพระเจ้าอโศก(มหาราช): วัดนิกายเซนซึ่งมีชื่อตามกษัตริย์ผู้เป็นพุทธมามกะ
—–วัดพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นวัดแห่งเดียวทางพุทธศาสนานิกายฉาน (禅宗คนไทยรู้จักในชื่อ นิกายเซน) ในประเทศจีนซึ่งใช้พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชมาตั้งเป็นชื่อวัดและยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
ซุ้มประตูทางเข้าวัดพระเจ้าอโศก(มหาราช)
—–วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในศักราชไท่คัง (太康 ค.ศ. 280-289) ที่ 3 (ค.ศ.282) ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晋 ค.ศ. 266-316) โดยเริ่มต้นจากการที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่นามหุ้ยต๋า (慧达) ได้ทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเจดีย์ในเขตที่ราบเหนี่ยวสือ (鸟石岙) ของภูเขาเม่า (鄮山) ซึ่งอยู่ในเขตเป่ยหลุน (北仑区) ของตำบลต้ากัน (大矸镇) ในปัจจุบัน มาประดิษฐานไว้ในบริเวณที่สร้างวัดแห่งนี้ ซึ่งในขณะนั้นที่นี่ยังคงเป็นวัดไม่มีชื่อ แต่ได้ถูกตั้งชื่อเป็นวัดพระเจ้าอโศกในศักราชผู่ทง (普通) ที่ 3 (ค.ศ.522) ของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (梁武帝 ค.ศ. 464-549) ปฐมกษัตริย์รัฐเหลียง (梁国) ในสมัยราชวงศ์ใต้ (南朝) การที่เหลียงอู่ตี้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่าวัดพระเจ้าอโศกนั้นเพราะตามตำนานกล่าวว่าเจดีย์ซึ่งพระภิกษุหุ้ยต๋าไปอัญเชิญพระบรมสาริกธาตุมานั้นคือ 1 ใน 84,000 เจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชมีรับสั่งให้พระธรรมทูตไปสร้างไว้ในทุกแห่งทั่วโลกเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งในประเทศจีนมีการก่อสร้างไว้ทั้งหมด 19 แห่ง แต่เจดีย์ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีเพียงที่นี่แห่งเดียว
—–ภายในวัดมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 80,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้างประมาณ 24,000ตร.ม. ซึ่งภายในประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างและต่อเติมขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคแรกเริ่มนั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้น อาทิ ตำหนักท้าวจตุโลกบาล (天王殿) ตำหนักบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (舍利殿) พระอุโบสถ (大雄宝殿) หอพระคัมภีร์ (藏经楼) เป็นต้น
ตำหนักท้าวจตุโลกบาล
—–ภายในหอพระคัมภีร์แห่งนี้ได้เก็บรวบรวมตำราอันทรงคุณค่าไว้มากมายและหนึ่งในนั้นก็คือหนังสือชุด คัมภีร์มังกรธิเบตฉบับพระราชทาน (钦赐龙藏经) ซึ่งเป็นตำราที่จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正 ค.ศ. 1678-1735) แห่งราชวงศ์ชิงมีรับสั่งให้บรรดาราชบัณฑิตร่วมกันนำคัมภีร์ต้าจั้ง (大藏经) ซึ่งเป็นตำราพุทธศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดมาชำระความใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปีจึงแล้วเสร็จ กล่าวคือตั้งแต่รัชศกยงเจิ้งที่ 13 จนถึงรัชศกเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) ที่ 3 (ค.ศ.1735-1738) เมื่อแล้วเสร็จ มีจำนวนถึง 1,675 บท หรือ 7,239 เล่ม จึงถือได้ว่าเป็นชุดตำราพุทธศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน
หอพระคัมภีร์
—–ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ในปี ค.ศ.1984 สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้วัดแห่งนี้เป็น“ศาสนสถานสำคัญในพุทธศาสนาของชาวฮั่นจากทั่วประเทศ” (全国汉族地区佛教重点寺院)
เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา