—–จาย
—–จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีนราว 5000 ปี ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมอันล้ำค่ามากมาย อาทิ พระราชวัง กำแพงเมือง บ้านเรือนต่างๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านโบราณที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง
—–วันนี้เราจะขอนำเสนอหมู่บ้านโบราณที่มีชื่อเสียงแห่งมณฑลอันฮุย สถานที่ซึ่งนักเดินทางทั่วโลกต้องการมาเยี่ยมชม และสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านสักครั้งในชีวิต ….
********************************
หมู่บ้านหงชุน
—–หมู่บ้านหงชุน (宏村) หรือเรียกว่า กลุ่มอาคารโบราณหงชุน (宏村古建筑群) ตั้งห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภออีเซี่ยน (黟县) เมืองหวงซาน (黄山) มณฑลอันฮุย (安徽) ราว 11 กิโลเมตร เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์หมิง (明ค.ศ. 1368-1644) ชิง (清ค.ศ. 1644-1912) และยุคสาธารณรัฐ (中华民国ค.ศ. 1912-ปัจจุบัน) มีพื้นที่ทั้งหมด 280,000 ตารางเมตร
หมู่บ้านหงชุน
—–หมู่บ้านหงชุนเริ่มสร้างในสมัยหนานซ่ง (南宋 ค.ศ. 1127-1279) แต่เดิมเป็นพื้นที่ของตระกูลวาง (汪姓) ซึ่งย้ายครัวเรือนหนีจากอัคคีภัยจากที่อยู่เดิม จนเดินทางมาถึงตีนเขา
เหลยกั่ง (雷岗山) และพบว่าสถานที่แห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศดี แหล่งน้ำใสอีกทั้งไม่เคยเหือดแห้ง มีแม่น้ำ 2 สายล้อมรอบ ทำให้ตัดสินใจตั้งรกรากบริเวณนี้ และด้วยความเชื่อที่ว่า วัวเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง น้ำคือหลักประกันความโชคดีของลูกหลาน จึงออกแบบและสร้างหมู่บ้านแห่งนี้ตามรูปแบบของวัว ต่อมาในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐 ค.ศ. 1403-1424) มีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารขึ้นใหม่ และเมื่อถึงสมัยราชวงศ์ชิงตอนกลางก็มีการปรับปรุงและสร้างใหม่ให้มีขนาดใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิม
—–เมื่อ ค.ศ. 1949 ถึง ค.ศ. 1982 รัฐบาลอำเภออีเซี่ยนรับเอาวัด ศาลเจ้า สถานศึกษาเข้ามาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ พร้อมกับตั้งองค์กรจัดการโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและองค์กรจัดการเฉพาะทางเพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์และบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างโบราณเหล่านี้ ต่อมาได้เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1986
—–การออกแบบโครงสร้างของหมู่บ้านหงชุนแห่งนี้เป็นรูปแบบ วัว (牛型) โดยภูเขาเหลยกั่งเปรียบเสมือนหัววัว (牛头) บริเวณป่าตรงปากทางหมู่บ้านเปรียบเสมือนเขาวัว (牛角) ตรงกลางหมู่บ้านเปรียบเสมือนลำตัววัว (牛身) สะพานทั้ง 4 บริเวณลำธารซีซี (西溪) เปรียบเสมือนขาวัว (牛腿) บึงเย่ว์จ่าว (月沼 บึงพระจันทร์) เปรียบเสมือนกระเพาะวัว (牛胃) ส่วนทะเลสาบหนานหู (南湖) เปรียบเสมือนท้องวัว (牛肚) และเส้นทางน้ำอันคดเคี้ยวหลายสายจากลำธารซีซีเข้าสู่หมู่บ้าน สุดท้ายลงสู่ทะเลสาบหนานหูเปรียบเสมือนลำไส้วัว (牛肠) การจัดวางโครงสร้างแบบนี้คำนึงถึงระบบชลประทาน การป้องกันอัคคีภัย และความสมดุลของธรรมชาติ
โครงสร้างของหมู่บ้านหงชุน
—–การจัดวางโครงสร้างหมู่บ้านแห่งนี้ผ่านการวางแผนมาอย่างดี โดยเฉพาะระบบชลประทานทั้งในและนอกหมู่บ้านที่วางแผนและออกแบบอย่างระเอียดรอบคอบ ซึ่งหาได้ยากในหมู่บ้านโบราณทั่วโลก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจีนและต่างประเทศ เรียกหมู่บ้านหงชุนว่า ไข่มุกแห่งศิลปวัฒนธรรมจีน (中国传统的一颗明珠)
—–สิ่งปลูกสร้างในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงที่สำคัญในหมู่บ้านหงชุนกว่า 140 หลัง ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีและค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่อยู่อาศัย สวนส่วนบุคคล สถานศึกษา และวัด โดยสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะมีลักษณะเรียบง่าย งดงาม มีการแกะสลักบนไม้ หิน อิฐ รวมถึงการตกแต่งภายในอาคาร การจัดวางลานบ้านและพื้นที่สีเขียว ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นออกมาได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังแสดงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ โดยมีสถานศึกษาหนานหู (南湖书院) เป็นตัวแทนด้านสถาปัตยกรรมรูปแบบสถานศึกษาสมัยโบราณ เฉิงจื้อถาง (承志堂) เป็นตัวแทนด้านสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย เต๋ออี้ถาง (德义堂) เป็นตัวแทนด้านสถาปัตยกรรมรูปแบบสวนส่วนบุคคล(私家园林)
*****************************************
หมู่บ้านหงชุนมีสถานที่สำคัญน่าเยี่ยมชมหลายแห่ง อาทิ
- สถานศึกษาหนานหู (南湖书院) ตั้งอยู่บริเวณทางเหนือของทะเลสาบหนานหู แต่เดิมสร้างเป็นโรงเรียนส่วนตัว 6 แห่งในช่วงปลายราชวงศ์หมิง ใช้ชื่อว่า สถานศึกษา 6 แห่งติดริมทะเลสาบ (倚湖六院) ต่อมามีการปรับปรุงครั้งใหญ่และรวมสถานศึกษาทั้งหก เข้าด้วยกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานศึกษาหนานหูในสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉庆ค.ศ. 1760-1820) สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของอัคราชทูตอังกฤษและญี่ปุ่นในสมัยสาธารณรัฐจีน
สถานศึกษาหนานหู (南湖书院)
- เฉิงจื้อถาง (承志堂) สร้างขึ้นในปลายราชวงศ์ชิง เคยเป็นสถานที่พักอาศัยของวางติ้งกุ้ย (汪定贵) พ่อค้าเกลือรายใหญ่ในสมัยนั้น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มอาคารที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านหงชุน ด้วยพื้นที่ราว 2,100 ตารางเมตร ภายในมีทั้งหมด 60 กว่าห้อง บริเวณรอบๆ แบ่งเป็นลานบ้าน 9 ลาน ด้านข้าง 2 ด้านเป็นห้องโถงที่เปิดเป็นโรงเรียนส่วนตัว (家塾厅) และห้องโถงอวี๋ถัง (鱼塘厅) หลังบ้านเป็นสวนดอกไม้ บริเวณลานบ้านยังสร้างสถานที่สำหรับสูบฝิ่นชื่อว่า ทุนอวิ๋นเซวียน (吞云轩) และสถานที่สำหรับเล่นไพ่นกกระจอกชื่อว่า หอไผซานเก๋อ (排山阁) ในอาคารประกอบด้วยเสาไม้ 136 ต้นที่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม
เฉิงจื้อถาง (承志堂)
- เต๋ออี้ถาง (德义堂) เป็นต้นแบบอาคารของกลุ่มชนชาวฮุย สร้างในสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง ด้านหน้าเป็นประตูมีหลังคาลายดอกบัวรูปพัด (扇半幢莲花们) 16 บาน มีเส้นทางเชื่อมระหว่างภายในและภายนอกอาคาร หน้าห้องโถงมีบ่อน้ำ 1 แห่ง ภายในสระมีท่อระบายน้ำเชื่อมต่อกับลำธาร บริเวณรอบๆ สระน้ำสร้างเป็นทัศนียภาพของสวนกระถางซึ่งจัดให้เหมือนทัศนียภาพทางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีสวนดอกไม้อีก 2 แห่ง
เต๋ออี้ถาง (德义堂)
- จิ้งเต๋อถาง (敬德堂) เป็นอาคารรูปทรงธรรมดาและเรียบง่าย เสาอาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยม ระหว่างตัวอาคารจะเป็นลานบ้านเพื่อให้รับแสงอาทิตย์ได้ดี เป็นตัวแทนอาคารสมัยปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิงของหมู่บ้านหงชุน สร้างในสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อ (顺治 ค.ศ.1634-1661) ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอักษร H
จิ้งเต๋อถาง (敬德堂)
- บ่อน้ำเย่ว์จ่าว (月沼) เรียกอีกอย่างว่า ‘ท้องน้อยวัว’ (牛小肚) มีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งดวง น้ำในบ่อใสดั่งกระจก สร้างในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เพื่อรับน้ำจากลำธารซีซีเก็บไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการป้องกันอัคคีภัย
บ่อน้ำเย่ว์จ่าว (月沼)
- เล่อซวี่ถาง (乐叙堂) สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ประตูเข้าออกอาคาร,อาคารหน้า ห้องสันทนาการ (享堂) และห้องประชุม (议事厅) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดการประชุม งานมงคล และลงโทษผู้กระทำผิดของชุมชน
เล่อซวี่ถาง (乐叙堂)
—–คุณค่าทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านหงชุงที่ผู้คนมักจะนึกถึงก็คือ การแกะสลักแบบฮุยโจว (徽州三雕) เป็นงานฝีมือด้านการแกะสลักของชาวพื้นเมืองที่แกะสลักลงบนวัสดุ 3 อย่างคือ ไม้ หินและอิฐ อันเป็นรูปแบบงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนชาวฮุย (徽派) ในพื้นที่ฮุยโจวสมัยโบราณ ส่วนใหญ่จะใช้ตกแต่งอาคาร วัด ศาลเจ้าและสวน รวมถึงงานฝืมืออื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ฉากกั้นห้อง จานใส่ผลไม้ เป็นต้น ปรากฏออกมาเป็นรูปแบบที่สวยงามด้วยฝีมือการแกะสลักอันยอดเยี่ยมละเอียดอ่อน ทั้งยังแฝงความหมายที่เป็นสิริมงคลไว้อีกด้วย ซึ่งสามารถพบเจอได้ทั่วบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้
—–ด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมและความงดงามทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านหงชุนแห่งนี้ ทำให้ได้รับการขึ้นเป็นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์กรยูเนสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000
เรียบเรียงโดย เสี่ยวเฉิน—