—–ภาษาสันสกฤตอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว หลายคนคิดว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว แต่แท้จริงแล้วภาษาสันสกฤตเป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทยอย่างที่แม้แต่คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังก็แยกไม่ออก
—–ผศ.ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ เคยบวชเรียนเป็นพระภิกษุศึกษาภาษาบาลี ต่อมาจึงหันไปศึกษาภาษาสันสกฤตจนเชี่ยวชาญ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อาศรมสยาม-จีนวิทยา เห็นถึงความน่าสนใจจึงเชิญอาจารย์สมบัติมาสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของภาษาสันสกฤต
ทำไมอาจารย์ถึงสนใจศึกษาภาษาสันสกฤต
—–ผมศึกษาภาษาบาลีมาก่อน ตอนนั้นเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดดาวดึงษาราม คิดว่าถ้าเราศึกษาภาษาบาลีต่อ ก็น่าจะรู้แค่เฉพาะบางส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่ถ้าหันมาเรียนภาษาสันสกฤต ก็สามารถศึกษาพระพุทธศาสนาบางส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต คัมภีร์ของเถรวาทบางส่วน รวมทั้งคัมภีร์ของศาสนาฮินดูซึ่งบางทีก็มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะว่าเป็นศาสนาที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันอยู่ ผมก็เลยสนใจที่จะมาศึกษาทางด้านปรัชญาศาสนาเป็นหลัก
—–อีกอย่างคือมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ใกล้วัดผม เดินทางสะดวก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไปเรียนได้แล้ว สมัยนั้นพระเณรไม่ใช่ว่าอยากจะเรียนอะไรก็เรียนได้ ภาษาสันสกฤตเป็นวิชาที่พระผู้ใหญ่อนุญาตให้เรียน
ภาษาสันสกฤตมีวิวัฒนาการอย่างไร
—–ภาษาสันสกฤตเกิดขึ้นมาจากชนชาติที่มีอารยธรรมอยู่ในแถบประเทศอินเดียในปัจจุบัน เช่น ประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ฯลฯ
—–ภาษามากับความคิด ความเชื่อ คือการนับถือธรรมชาติหรือพระเจ้า หลังจากมีการตั้งหลักแหล่งอยู่แถวประเทศอินเดีย ก็เกิดความคิดว่าชีวิตมันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ขณะเดียวกันภาษาก็วิวัฒนาการตามความคิด เมื่อความคิดพัฒนาขึ้น ละเอียดขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ภาษาก็พัฒนาไปด้วย เพื่อรับใช้วิถีชีวิตหรือคนในสังคมของอินเดีย ประมาณ พ.ศ. 200 “ปาณินิ” ได้ตั้งกฎเกณฑ์ หลักเกณฑ์ไวยากรณ์ ปาณินิเป็นคนเก่งมากที่กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้น แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังหาคนที่ทำแบบนี้ไม่ได้
—–ในปัจจุบันภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในโลกก็ว่าได้ เหมาะที่จะใช้บันทึก แม้แต่ด้านคอมพิวเตอร์ คนอินเดียยังบอกว่าถ้าใช้ภาษาต่างๆ ในโลกบันทึกให้มีขนาดเป็นไบต์ลงในฮาร์ดดิสก์ ภาษาอื่นๆ จะกินเนื้อที่มาก เช่น ภาษาอังกฤษจะต้องมีพื้นที่มีการเคาะเว้นวรรค แต่ภาษาสันสกฤตไม่ต้องมีการเคาะวรรค คำศัพท์สั้น ง่าย ภาษาสันสกฤตจะบันทึกได้มากกว่า เพราะงั้นจึงมีความละเอียดลึกซึ้งของภาษามากกว่า แต่ทั้งหมดคือเรื่องทางกายภาพ ถ้าพูดถึงเรื่องของจิตวิญญาณ ภาษาสันสกฤตมีความละเอียดลึกซึ้งพอๆ กับภาษาบาลีหรือมากกว่าภาษาบาลีด้วยซ้ำ เพราะว่าภาษาสันสกฤตใช้บันทึกศาสนาพราหมณ์ฮินดูด้วย ของบาลีก็จะเน้นไปทางพระพุทธศานา
—–ปัจจุบันที่อินเดียยังมีคนพูดภาษาสันสกฤต เพราะเค้าพยายามรื้อฟื้น หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านพูดภาษาสันสกฤตในชีวิตประจำวัน รัฐบาลอินเดียถือว่าภาษาสันสกฤตเป็นหนึ่งในภาษาประจำชาติ เค้าจะมีข่าวเป็นภาษาสันสกฤตทุกวัน วันละประมาณ 1 ชั่วโมง
ทำไมภาษาสันสกฤตถึงเป็นภาษาที่ตายแล้ว
—–ทีแรกผมเองก็คิดว่าภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว เรียนไปอย่างนั้น แต่พอเรียนที่อินเดียก็พบว่าคำว่าภาษาที่ตายแล้วใช้กับภาษาสันสกฤตไม่ได้ เพราะเป็นภาษาที่ยังมีคนใช้อยู่ คนพยายามที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ศัพท์ปัจจุบันมีหมดทั้ง “รถเมล์” “เครื่องบิน” เค้าไม่ได้ใช้คำว่า “ระถะ” (รถ) แต่ใช้คำว่า “ยานะ” (ยาน) บางทีก็ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย เหมือนเรายืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทย ที่กล่าวมาคือคำศัพท์ แต่ด้านไวยากรณ์ไม่พัฒนาแล้ว เนื่องจากไวยากรณ์มันสมบูรณ์แล้ว ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา สื่อความหมายได้ชัดเจน
สภาพภาษาสันสกฤตในสังคมไทยเป็นอย่างไร
—–พูดถึงสังคมไทยกับภาษาสันสกฤต หากพูดในเชิงภาษา ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาสันสกฤต เราเรียกว่าบาลีสันสกฤต บางศัพท์ก็เป็นทั้งภาษาบาลีและสันสกฤต บางศัพท์ก็เป็นเฉพาะภาษาบาลี บางศัพท์ก็เป็นเฉพาะภาษาสันสกฤต เรายืมบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซนต์ ถ้าตัดคำยืมภาษาบาลีสันสกฤตออกไปจากภาษาไทย เราคุยกันไม่รู้เรื่อง ยกตัวอย่าง เราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เขียนว่า “วันนี้นายกเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล” มีเฉพาะคำว่า “วันนี้” กับ “ไป” เท่านั้นที่เป็นภาษาไทย นอกนั้นเป็นคำยืมหมด “นายก” ก็ยืมมาจากบาลีสันสกฤต “เดิน” ก็ยืมมาจากเขมร “ทำเนียบ” ก็ยืมเขมร “รัฐบาล” ก็ภาษาบาลีสันสกฤต เพราะฉะนั้นภาษาไทยมีน้อย
—–ถ้าเราจะบอกว่าบาลีสันสกฤตมีความสำคัญต่อพุทธศาสนา ต่อภาษาไทยอย่างไร ถ้าดูจากการใช้ในชีวิตประจำวันเราอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าเราแยกให้เห็นชัดเจนว่า คำที่เราเอามาใช้ เช่น “นายกรัฐมนตรี” เราใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้แทนภาษาอังกฤษ Prime minister ถ้าเราไปใช้คำอื่นมันก็ไม่ผิด แต่มันแค่ไม่เป็นที่ทราบ ไม่เป็นที่ตกลงร่วมกัน เพราะฉะนั้นภาษาทั้งบาลีสันสกฤต โดยเฉพาะสันสกฤตก็มีความจำเป็นต่อภาษาไทย เพราะว่ามันอยู่ในวิถีชีวิตเรา อย่างคำว่า “กรุณา” คำว่า “เมตตา” เราใช้คำว่า “เมตตา” กับคำว่า “เห็นใจ” ในน้ำหนักต่างกัน อารมณ์ความรู้สึกก็จะต่าง ถามว่ามันมีความจำเป็นต่อคนไทยมั้ย ถ้าในชีวิตประจำวันจำเป็นแน่นอน แต่ว่าจะให้มาเรียนบาลีเรียนสันสกฤตเพื่อเอามาศึกษา หรือว่าเอามาใช้ในพระพุทธศาสนาเหมือนที่คนอินเดียใช้ ผมมองว่าอาจจะไม่จำเป็น ถ้าเราไม่ได้มาด้านนี้
ถ้าอยากศึกษาภาษาสันสกฤตจะศึกษาได้ที่ไหน
—–ถ้าเรียนตามสถาบัน เรียนแล้วได้รับใบประกาศ ได้รับใบปริญญา ก็มีที่ผมสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี ศิลปากรมีปริญญาเฉพาะทางสันสกฤต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีภาควิชาภาษาเอเชียใต้ มีบาลีสันสกฤตด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็สอนบาลีสันสกฤตในภาษาไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นปริญญาเฉพาะ
—–แต่ถ้าจะเรียนแบบไม่เอาปริญญา อยากจะได้ความรู้ ที่ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ผมทำงานอยู่ก็มีการเปิดอบรมเป็นรุ่นๆ แต่จะเน้นหนักไปทางตัวภาษา เรียนเพื่อเอาภาษาไปใช้ เน้นด้านไวยากรณ์ หลักภาษา ไม่ได้เรียนเพื่อที่จะเอามาใช้ดูความงามของภาษาในด้านวรรณกรรม วรรรณคดี หรือจะเรียนสันสกฤตด้วยตัวเองก็มีเป็นหนังสือ แต่การเรียนสันสกฤตถ้าอยากจะให้ได้ผล ต้องทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ แต่ต้องมีอาจารย์คอยตรวจ จากประสบการณ์ที่สอนนักศึกษา เหมือนกับว่าเราสนใจอยากจะรู้จริงๆ ไม่อยากมาเรียนกับครู อาจารย์ ก็เอาตำรามาเรียนเองเลย แต่ต้องตั้งใจจริง และต้องทำแบบฝึกหัด ในแบบฝึกหัดกฎบางกฎเหมือนเส้นผมบังภูเขา ผมเคยทำแบบฝึกหัด ข้อหนึ่งใช้เวลาหนึ่งวัน แต่พออาจารย์มาแนะนำ ไม่ถึง 5 นาที ก็รู้คำตอบเลย
ปัจจุบันคนสนใจศึกษาภาษาสันสกฤตเยอะไหม
—–มหาวิทยาลัยศิลปากรภาษาสันสกฤตระดับปริญญาตรีนั้นไม่มี มีปริญญาโทกับปริญญาเอก ปริญญาโทเปิดรับปีละ 10 คน มีคนเรียนประมาณ 5-6 คน ซึ่งถือว่าเยอะแล้ว ปริญญาเอกมีคนเรียนปีละ 5 คนตามเป้า บางปีมีคนเรียน 6-7 คน ส่วนใหญ่คือคนที่จบปริญญาโทแล้วมาเรียนต่อ
—–ตอนนี้เรามีนักศึกษาจากจีนเข้ามาเรียน 2 คน เมื่อก่อนก็มีนักศึกษาญี่ปุ่นที่จบปริญญาเอก มีนักศึกษาต่างชาติที่สนใจจะมาเรียน เช่น พม่า ศรีลังกา กัมพูชา ของเราถือว่าค่าเทอมถูกที่สุด มหาวิทยาลัยอื่นเค้าก็มี ที่จุฬาฯ ภาควิชาภาษาเอเชียใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วก็มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยก็มีวิชาเหล่านี้ แต่ว่าบางทีนักเรียนนักศึกษามีจำนวนน้อยอาจจะไม่ได้เปิดเป็นวิชาเอก แต่ของผมที่ศิลปากรเนี่ย เปิดเป็นวิชาเอกทุกปีแต่ไม่มาก อย่างรุ่นผมเนี่ย ปี 2535 เข้า 5 คน จบ 2 คน
—–อาจารย์ทุกท่านจะถามคำถามเดิมทุกปี คือวิชานี้ไม่ใช่วิชาที่จบแล้วจะได้งาน คุณเรียนไปแล้วคุณรับได้ไหมว่าหางานไม่ได้ เพราะว่าเรียนไปเพื่อความรู้ แต่ก็ทิ้งไม่ได้ เพราะภาษาสันสกฤตมันอยู่ในภาษาไทย มันอยู่ในวัฒนธรรมไทย อารยธรรมอินเดียจำนวนมากก็อยู่ในอารยธรรมไทย มีอิทธิพลเยอะ ถ้าเราไม่รู้เรื่องเลยบางอย่างก็น่าเสียดาย
เหตุใดประเทศจีนจึงรับอิทธิพลจากมหายานแทนที่จะเป็นเถรวาทอย่างไทยและประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์
—–หลักฐานที่ชัดเจนและตอบคำตอบได้ง่ายคือเรื่องทางภูมิศาสตร์ สมัยนั้นเราเดินทางด้วยเรือ พระพุทธศาสนาเถรวาทส่วนใหญ่จะอยู่แถบอินเดียใต้ แผ่อิทธิพลในแถบศรีลังกา พม่า ไทย อย่างไทยเคยมีพระพุทธศาสนามหายานมา เช่น ในประเทศกัมพูชายุคหนึ่งเคยมีพระพุทธศาสนามหายานเข้ามาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเฉพาะในช่วงหลังตั้งแต่สมัยสุโขทัยพุทธศาสนาเถรวาทมีอิทธิพลแถบนี้
—–ส่วนทางเหนือพ่อค้าแถบเส้นทางสายไหมและคนแถบเอเชียกลางเค้ารับศาสนาพุทธนิกายมหายานตั้งแต่เริ่มต้น เช่นพระเจ้ากนิษกะมหาราชที่ปกครองดินแดนแถบอัฟกานิสถานและเอเชียกลาง ท่านก็นับถือพุทธศาสนามหายาน ถามว่าแล้วทำไมเถรวาทไม่ขึ้นไป จริงๆ เถรวาทจะอยู่ด้านล่าง ด้านบนเป็นมหายาน เพราะงั้นการรับมหายานที่อยู่ด้านบนอยู่แล้วมันง่ายกว่า แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลหลัก มันอยู่ที่ความชอบของคน อย่างทำไมคนไทยไม่รับมหายาน สังเกตมั้ยว่าประเทศที่รับพุทธศาสนามหายานจะมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือชอบค้าขาย เอเชียกลาง เส้นทางสายไหม จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนามเหนือชอบค้าขาย ส่วนพม่า ไทย ลังกา ชอบทำการเกษตร ภูมิประเทศเอื้ออำนวย คนที่ทำการเกษตรเค้าไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก อยู่กับวิถีชีวิตของเขา แต่คนค้าขายมีความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง ผมว่าคนค้าขายเสี่ยงกว่าคนทำไร่ทำนานะ อย่างเช่นพวกพ่อค้ากองคาราวานที่ไปเอเชียกลาง ประสบปัญหาทั้งเรื่องอากาศ หลงทาง โจรปล้น ความปลอดภัย ถ้าตายก็ไม่มีใครเห็น ตายไปแล้วก็แล้วไป คือการเสี่ยงโชค แต่ถ้ารอดมาได้ก็ถือว่าสุดยอด เสี่ยงเหมือนทหาร ทหารเป็นอาชีพที่ชอบเครื่องรางของขลังมากเพราะเขารู้ว่าเขาจะต้องตาย เพราะฉะนั้นพุทธศาสนามหายานอาจจะช่วยเหลือกันได้มากกว่าเถรวาท เถรวาทจะไม่นิยมเรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เครื่องรางของขลังต่างๆ แต่ในเมืองไทยที่มีปัจจุบันมันประสมกันหลายส่วน แต่ว่าความเชื่อของพระเถรวาทเพียวๆ ท่านจะไม่เอาเรื่องเครื่องลางของขลัง เรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เรื่องมนต์อะไร แต่มหายานเรื่องพวกนี้จะเป็นเรื่องธรรมดา มันจะเข้าได้กับวิถีชีวิตของคน
ถ้าพุทธศาสนาไม่ได้เผยแผ่เข้าประเทศจีน อาจารย์คิดว่าประเทศจีนในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
—–คือผมชอบดูเรื่องพัฒนาการทางด้านศาสนา ผมไปสนใจภาพยนต์ซีรีส์ของเกาหลีเรื่องหกมังกรกำเนิดโชซอน เค้าจะยกย่องศาสนาขงจื๊อ เพราะว่าเขานับถือศาสนาขงจื๊อ และก็ไล่ศาสนาพุทธออก ใช้เวลาปกครองอยู่เป็นเวลา 500 ปี ถามว่าในช่วง 500 ปีที่มีขงจื๊อและไม่มีพุทธเนี่ยเป็นยังไง ก็คือเกาหลีในปัจจุบัน ถ้าลองจินตนาการ ถ้าจีนไม่มีพุทธศาสนามีแต่ขงจื๊อ (เต๋านี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะเต๋าไม่สนใจอะไรมาก) ผมมองว่าไม่ต่างกับเกาหลีในปัจจุบัน คือรากก็จะเป็นขงจื๊อที่มั่นคง ดูตัวอย่างเกาหลีในปัจจุบัน คนเกาหลีก็น่าจะใกล้เคียงกับจีน ขนาดญี่ปุ่นเอาพุทธแบบญี่ปุ่นมาบังคับให้พระมีครอบครัว มีเมียได้เหมือนญี่ปุ่น อยู่ได้ไม่นานก็กลับมาเป็นแบบเดิมอีก เพราะวัฒนธรรมเค้าเป็นแบบนั้น ที่จริงขงจื๊อไม่ได้มีอะไรเสียหาย เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเน้นที่สภาพสังคมปัจจุบัน อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องโลกหน้า ให้มีความสุขกับชีวิตนี้ ให้อยู่แบบมีคุณค่า มีคุณธรรม
มหายานหมายถึงพาหนะที่ใหญ่ ไม่ใช่แค่ตัวเองหลุดพ้นจากนิพพานเพียงคนเดียว แต่ยังนำพาชีวิตอื่นๆ ไปสู่นิพพานพร้อมกัน แต่เป็นความเชื่อที่ขัดต่อหลักของลัทธิเต๋าที่มุ่งเน้นเพียงตัวเองเพียงคนเดียวและเข้าสู่ธรรมชาติ เพราะเหตุใดมหายานถึงได้รับความนิยมมากกว่าเถรวาท ที่สอดคล้องกับเต๋ามากกกว่า
—–นั่นเป็นข้อเดียวที่สอดคล้องกับเต๋า ส่วนเรื่องอื่น เช่น พวกพิธีการ เรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เต๋ามี เพียงแต่ไม่เอา ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ พิธีกรรมถือเป็นเปลือก ต้นไม้เนี่ยเราเห็นเปลือกก่อนที่จะเห็นแก่น พอเห็นว่าเปลือกมันไม่ไปด้วยกัน มันก็อยู่ด้วยกันลำบาก แต่เรื่องการบรรลุมันคือแก่น คือข้างใน คนก่อนที่จะบรรลุถึงแก่นได้ต้องเห็นเปลือกก่อน แต่มหายานนี่เค้าชัดเจนเค้าบอกว่าอะไรก็ได้ พระพุทธเจ้ามาอยู่ในรูปใดก็ได้ อาจจะมาอยู่ในรูปหมาขี้เรื้อนมาสอนเราให้เรารู้ซึ้ง อย่างเช่นพระอรหันจี้กงที่ประสบกับความคิดว่าทำไมพระรูปนี้น่าเกลียดขนาดนี้ ทำไมมีเพื่อนเป็นโสเภณี จริงๆ นั่นคือคำสอน เป็นวิธีการสอน ซึ่งในความเห็นผมมหายานสอนได้ละเอียดกว่า มองโลกในความเป็นจริง และเข้ากับบริบทของสังคมทุกสังคม มากกว่าเถรวาท เถรวาทค่อนข้างจะแคบ เรื่องบรรลุ ตัวเองบรรลุก่อน แล้วค่อยไปช่วยคนอื่น มันก็จริง เวลาที่เค้ายกตัวอย่าง เวลาเราหิวข้าว เราให้คนอื่นกินแทนได้มั้ย เราก็ต้องกินจนอิ่ม ถ้าเราให้คนอื่นกินแทนเราก็ไม่อิ่ม กรณีนี้มันใช้ได้ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องมันไม่ใช่กินข้าวอย่างเดียว เวลาที่เรายกของ เราจะบอกว่าของผมผมยกเอง ของคุณคุณยกเอง ยกเก้าอี้ ยกโต๊ะ ถ้ามันหนักเราช่วยกันได้ มันไม่ใช่กรณีกินข้าวใช่มั้ย แล้วทำไมไม่เอาเรื่องยกโต๊ะมาเปรียบเทียบบ้าง ทำไมเอาเรื่องกินข้าวเปรียบเทียบ แล้วแต่ว่าใครถาม แต่ว่ามหายานผมชอบอย่างหนึ่งคือ มหายานบอกว่าตัวอย่างมันใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์ และบางอย่างตัวอย่างไม่ได้ให้อะไรกับเราเลย อุปมาอุปไมยยกตัวอย่างใช้ไม่ได้เลย สู้ไม่พูดดีกว่าอย่างนิกายเซน ถ้าพูดไปแล้วไม่ดี เงียบดีกว่า ผมว่ามหายานมีอะไรที่พลิกแพลงและหลากหลาย มันอาจจะตรงใจกับคนจีน ตรงใจกับคนแถบเอเชียตะวันออก วัฒนธรรมเขาหรือภูมิประเทศเขา
สุดท้ายอยากให้อาจารย์ฝากอะไรถึงผู้อ่าน
—–ในฐานะที่ศึกษามาด้านภาษาสันสกฤต โอกาสได้มาพูดคุยนำเสนอความคิดและความเห็นของตัวเองเกี่ยวกับทางด้านที่ผมศึกษามา แต่ส่วนที่ผมไม่ค่อยได้ข้องแวะคือด้านจีน ผมก็อยากจะร่วมมือกับนักวิชาการ หรือว่าใครก็ตามที่มีความสนใจทางด้านนี้ เอาความรู้มาแชร์กัน มาเชื่อมโยงกัน เช่นผมสนใจว่าคัมภีร์เต้าเต๋อจิงที่เป็นภาษาสันสกฤตมีจริงมั้ยและมันอยู่ที่ไหน มันน่าจะเป็นมิติใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าทั้งหมดทั้งมวลมันก็ไม่ได้ไกลกันหรอกนะ แปลกลับไปกลับมาจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ความคิดมันก็ไม่ได้ไกลกัน แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะมีขัดแย้งกันบ้าง แต่ว่าความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้เป็นเรื่องของส่วนรวม หรือหลักการทั้งหมด ผมก็อยากจะเพิ่มเติมตรงนี้ อยากมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นระหว่างคนที่มีความรู้ทางด้านจีน และภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาสันสกฤตอย่างพวกผมเนี่ย อยากจะช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เป็นองค์ความรู้สำหรับผู้สนใจต่อไป