—–รูปแบบการเรียนการสอนวิชาการแปลรวมถึงวิชาล่ามในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. การแบ่งตามภาษาคือการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยจะสอนโดยอาจารย์ชาวไทย และการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนซึ่งจะจัดการสอนโดยอาจารย์ชาวจีน
  2. การแบ่งตามระดับภาษาสามารถแบ่งได้จากระดับความยากง่ายของภาษา
  3. การแบ่งตามเนื้อหาจะแบ่งตามเนื้อหาที่เรียนเช่น การแปลภาษาจีนเชิงธุรกิจ การแปลวรรณกรรมภาษาจีน ในส่วนของการแปลภาษาจีนเบื้องต้นก็จะให้ความสำคัญกับพื้นฐานของภาษา เน้นด้านไวยากรณ์
  4. การแบ่งตามวิธีการแปล จะแยกวิชาการแปลแบบล่ามซึ่งใช้ทักษะการพูดออกจากวิชาการแปลจากตัวอักษร

—–การจัดวิชาการแปลให้กับผู้เรียนที่พบมากที่สุดคือในระดับชั้นปีที่ 4 รองลงมาคือระดับชั้นปีที่ 3 ส่วนน้อยที่จะจัดไว้ในชั้นปีที่ 2ซึ่งจะพบในมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกับประเทศจีนหรือมีการส่งผู้เรียนไปประเทศจีนโดยการจัดลำดับเนื้อหาจะเริ่มจากแบ่งตามเนื้อหาไวยากรณ์ แบ่งตามหัวข้อการใช้งาน และแบ่งตามภาคทฤษฎี

  • ตำราที่ใช้มาจากที่ใด

เนื้อหาที่ใช้มาจากผู้สอนผลิตตำราเองซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำและอีกส่วนหนึ่งคือใช้ตำราสำเร็จรูปจากสถาบันอื่น

ภาพหนังสือเรียนภาษาจีนเบื้องต้นจัดทำโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

(ที่มา: มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง / www.mfu.ac.th/news/)

  • มหาวิทยาลัยควรใช้การแปลแบบใด

—–แต่ละมหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึงภาพรวมของหลักสูตร วัตถุประสงค์ของรายวิชา พื้นฐานของผู้เรียนและวัตถุประสงค์ของผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่าแบบได้เหมาะสมที่สุดเนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย

  • วิชาล่ามจำเป็นต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรหรือไม่

—–สามารถแบ่งได้เป็น 3 มุมมองคือ มุมมองของผู้เรียนซึ่งจะสามารถแบ่งได้อีก 2 มุมมองย่อยคือ ผู้เรียนที่ชอบการพูดก็จะสนใจในวิชาล่ามส่วนผู้เรียนที่ไม่ชอบการพูดก็จะสนใจในวิชาการแปลมากกว่า

มุมมองของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่ให้ความสำคัญกับทักษะการแปลการเขียนก็จะเห็นว่าวิชาล่ามเป็นทักษะที่จำเป็น

มุมมองของผู้รับผิดชอบหลักสูตรซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะเห็นว่าถ้ามีก็จะดีแต่ปัญหาคือการหาอาจารย์ผู้สอน

  • หากมีการบรรจุวิชาล่ามในหลักสูตรจะมีแนวทางการสอนอย่างไร

—–เนื่องจากวิชาการแปลการล่ามจำเป็นต้องใช้ทักษะการพูด ฟัง อ่าน เขียน รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่แปลและทักษะการถ่ายทอดบูรณาการเข้าด้วยกันจนมีความพร้อม ดังนั้นจึงควรจัดไว้ในชั้นปีที่สูง ทั้งนี้ก็ต้องดูทักษะของผู้เรียนที่ไม่เท่ากัน การจัดวิชาการแปลการล่ามไว้ในชั้นปีต้นๆ จะทำให้สอนไม่ได้มากเนื่องจากความไม่พร้อมและยังไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียน แต่ถึงแม้จะจัดรายวิชาไว้ในปีสูง การวางพื้นฐานการแปลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีต้นๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น

  • พื้นฐานที่จำเป็นของวิชาการแปล

—–ต้องคำนึงถึงเนื้อหาโครงสร้างและไวยากรณ์ให้มากสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาให้กับผู้เรียนเพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ วิชาการอ่าน ต้องฝึกทั้งการอ่านจับใจความและการอ่านแบบละเอียดรวมถึงวิธีการแปลแบบโบราณแต่ไม่ล้าสมัยเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างท่องแท้

  • พื้นฐานที่จำเป็นของวิชาการล่าม

—–พื้นฐานเช่นเดียวกับวิชาการแปลแต่เสริมวิชาการฟัง พูด และสนทนา จะต้องฝึกออกเสียงให้สื่อความออกมาได้ชัดเจนสุดท้ายคือวิชาการพูดในที่ชุมชนต่อหน้าคนจำนวนมาก เพื่อฝึกบุคลิกภาพ น้ำเสียงที่ใช้และรูปแบบประโยคที่ใช้บ่อย

  • ความรู้ที่จำเป็นกับวิชาการล่ามและการแปล

—–ความรู้ทางภาษาเป็นสิ่งจำเป็นทั้งวิชาล่ามและวิชาแปล เช่น รูปประโยคที่ใช้บ่อยเพื่อสร้างความคุ้นชินในการแปล ความเข้าใจธรรมชาติของภาษาที่แตกต่างกัน ชื่อเฉพาะ การคำนวณและหน่วยชั่งตวงวัดผู้สอนต้องปูพื้นฐานด้านตัวเลขให้กับผู้เรียน และสุดท้ายคือสำนวณ สุภาษิต คำพังเพย บทกวี คำคม

  • ความรู้ควรสอดแทรกในวิชาการล่ามนอกเหนือจากความรู้ทางภาษา

จรรยาบรรณล่าม

บุคลิกภาพและการแต่งกาย

การฝึกฝนความจำ

การฝึกไหวพริบในการแก้ไขสถานการณ์

การเตรียมตัวปฏิบัติงานล่าม

ข้อควรระวังในการปฏิบัติงาน

การจดบันทึก เน้นการจดเพื่อจำ

  • ปัญหาที่จะเกิดในการเรียนวิชาการแปลและการล่าม

—–สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาต้นทางทำให้ผู้สอนปรับเนื้อหาให้ง่ายลงแต่เมื่อจบวิชาก็จะไม่สามารถใช้งานได้จริงผู้เรียนจะรู้สึกท้อแท้มีทัศนคติในแง่ลบกับการแปลการล่ามผู้สอนเองจะรู้สึกล้มเหลวในการสอน ส่วนปัญหาของผู้ที่มีพื้นฐานมากพอคือ แม้จะเข้าใจภาษาต้นทางแต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ ดังนั้นจึงต้องฝึกให้ผู้เรียนคำนึงถึงการถ่ายทอดความหมายของทั้งบริบทไม่ใช่เพียงความหมายของศัพท์คำใดคำหนึ่ง

  • ต้องจัดหลักสูตรการแปลหรือการล่ามไว้ก่อนหรือหลัง

—–วิชาการแปลและการล่าม มีข้อดีต่างกันหากฝึกการแปลก่อนก็จะมีทักษะการเรียบเรียงที่ดีจึงต้องย้อนกลับไปที่เป้าหมายที่ต่างกันของผู้เรียนว่าสนใจในด้านใดมากกว่ากันดังนั้นก่อนจะเริ่มเรียนผู้สอนต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจในวิชาเรียนก่อนว่าหากจบวิชาแล้วผู้เรียนจะมีระดับความสามารถเท่าใดและทำอย่างไรจึงจะบรรลุถึงระดับที่ต้องการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกทางของตนเอง

  • การสอนในปัจจุบันผู้สอนควรคำนึงถึงอะไร

—–ปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้นและการเรียนการสอนมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาดังนั้นผู้สอนควรคำนึงถึงคือการสร้างความสามารถในการเรียนรู้และกระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้นอกห้องเรียนได้ด้วยตนเอง

  • วิธีการสอนควรเป็นแบบใด

—–การสอนต้องผนวกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าด้วยกัน ใช้เวลาในห้องเรียนกับสิ่งที่ทำนอกห้องเรียนไม่ได้ ในวิชาแปลควรเน้นอธิบายมากกว่าการบอกแค่คำแปลที่ถูกต้อง จัดกิจกรรมกลุ่มอภิปรายว่าควรแปลอย่างไร ส่วนที่แปลผิดควรแก้ให้ถูกต้อง แต่ในวิชาล่ามควรเน้นภาคปฏิบัติจำลองสถานการณ์และไม่จำเป็นต้องแก้ไขทุกจุดเพื่อไม่ให้ผู้เรียนเสียความมั่นใจ ไม่แก้ขณะพูด แก้เมื่อจบทั้งหมด

ภาพการเรียนการสอนแบบจับกลุ่มอภิปรายหรือ Active Learning

(ที่มา: คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ / http://healthsci.swu.ac.th/)

  • ควรฝึกล่ามประเภทใดให้กับผู้เรียน

ในระดับปริญญาตรีล่ามที่จำเป็นต้องฝึกคือล่ามพูดตาม เนื่องจากใช้บ่อยและใช้จริง ส่วนล่ามประเภทพูดพร้อมหรือกระซิบควรฝึกสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพล่ามมืออาชีพ

  • การสอบและวัดผลควรจัดอย่างไร

—–ในการสอบย่อยควรจัดเป็นข้อเขียนวัดระดับคลังความรู้การสอบปฏิบัติเน้นรูปประโยคที่ใช้บ่อยหรือจำลองสถานการณ์ท้ายสุดคือโครงงาน

สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้สอนต้องคำนึงว่าผู้เรียนต้องเรียนหลายวิชาดังนั้นจึงควรมอบหมายงานให้ผู้เรียนแต่พอดี มิเช่นนั้นผู้เรียนจะเกิดทัศนคติทางลบต่อวิชาการแปลการล่ามแรงจูงใจในการเรียนจะหายไป

รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง

สรุปการบรรยายหัวข้อ “แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาล่าม จีน-ไทย ไทย-จีน ในระดับอุดมศึกษา”โดย รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์