—–จา

ประเทศอิตาลีมีเวนิส แล้วที่ประเทศจีนมีหรือเปล่านะ? … พบกับ อูเจิ้น สถานที่ที่ได้รับการขนานนามว่า เวนิสแห่งแดนมังกรกันค่ะ !!!

อูเจิ้น : ชุมชนโบราณกลางสายน้ำ

—–ตำบลอูเจิ้น (烏鎮) ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองถงเซียง (桐鄉) มณฑลเจ้อเจียง (浙江) มีพื้นที่ทั้งหมด 71.19 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 60,000 คน ตำบลอูเจิ้นเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมแบบชุมชนริมน้ำของชาวจีนภาคใต้ช่วงปลายราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616 -1911) ถึงต้นยุคสาธารณรัฐ ภายในชุมชนมีแม่น้ำลำคลองสายน้อยใหญ่พาดผ่านเชื่อมต่อกัน เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนมาแต่อดีต โดยใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและการคมนาคม แม่น้ำสายหลักของตำบลคือแม่น้ำซื่อเหอ (市河) ซึ่งไหลผ่านกลางตำบล แบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ด้านซ้ายของฝั่งตะวันตกยังติดกับคลองใหญ่หรือคลองต้าอวิ้นเหอ[1] (大運河) ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรสู่เมืองอื่นๆ

   อูเจิ้น

—–ตำบลอูเจิ้นมีร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนตั้งแต่ยุคหินใหม่หรือราว 7,000 ปีที่แล้ว โดยได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ที่ทำจากหินและกระดูกสัตว์ในบริเวณตะวันออกของตำบล นักโบราณคดีสรุปว่าหลักฐานที่ค้นพบบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอารยธรรมโบราณหม่าเจียปัง[2] (馬家浜 5000-4000 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

—–ในสมัยชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ดินแดนบริเวณนี้เป็นเขตรอยต่อระหว่างแคว้นอู๋ (吳) กับแคว้นเย่ว์ (越) แคว้นอู๋ใช้พื้นที่บริเวณตำบลอูเจิ้นเป็นฐานป้องกันเขตแดน จึงเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า อูซู่ (烏戍) โดย คำว่า ‘อู’ หมายถึงสีดำ และ ‘ซู่’ หมายถึง (กองทหาร) ป้องกันรักษา ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตำบลอูเจิ้นถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 2 เขต โดยใช้แม่น้ำซื่อเหอ หรือที่เรียกว่า ลำธารเชอซี (車溪) ในสมัยนั้นเป็นเส้นแบ่ง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเรียกว่า อูตุน[3] (烏墩) ส่วนฝั่งตะวันออกเรียกว่า ชิงตุน (清墩) ทั้งสองฝั่งถูกกำหนดให้อยู่ในเขตปกครองของคนละอำเภอ หลังจากนั้นพื้นที่ 2 เขตนี้บางยุคสมัยก็ขึ้นต่อเมืองเจียซิง หรือเมืองหูโจว (湖州) ของมณฑลเจ้อเจียง บางยุคก็ขึ้นต่อเมืองซูโจว (蘇州) ของมณฑลเจียงซู ผลัดเปลี่ยนไปตามเกณฑ์การปกครองของราชวงศ์ต่างๆ

—–ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) มีบันทึกกล่าวถึงชื่อตำบลว่า อูตุนเจิ้น[4] (烏墩鎮) และ ชิงตุนเจิ้น (清墩鎮) แต่เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของจักรพรรดิซ่งกวงจง (宋光宗ค.ศ. 1147-1200) พระองค์มีพระนามว่า เจ้าตุน (趙惇) เนื่องจากในสมัยนั้นมีกฎห้ามใช้ชื่อพ้องเสียงกับพระนามของจักรพรรดิ จึงตัดคำว่า ‘ตุน’ ทิ้ง เหลือเพียง ‘อูเจิ้น’ และ ‘ชิงเจิ้น’ พื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำนี้แยกกันปกครองเรื่อยมากระทั่ง ค.ศ. 1950 จึงได้รวมเข้าเป็นตำบลเดียว คือตำบลอูเจิ้นในปัจจุบัน

—–สาเหตุที่ใช้คำว่า ‘อู’ (烏) เป็นชื่อตำบลนั้นเดิมชาวบ้านเล่าต่อกันมาหลายกรณี เช่น นำมาจากพระนามของโอรสกษัตริย์แคว้นเย่ว์ที่ถูกส่งมาอยู่ที่นี่ หรือตั้งตามชื่อของแม่ทัพสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ที่พลีชีพระหว่างปราบกบฏที่ดินแดนบริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แน่ชัดและถูกวิจารณ์ว่าไม่สมเหตุสมผล เพียงแต่ชาวบ้านมักนิยมเล่าเรื่องราวที่มีสีสันเพื่อให้ที่มาของชื่อตำบลน่าสนใจยิ่งขึ้น ข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการคือ ชื่อตำบลอูเจิ้นน่าจะมีที่มาจากสีของดิน ไม่ไกลจากตำบลอูเจิ้น มีหมู่บ้านที่มีดินออกสีแดง จึงเรียกว่าหมู่บ้านหงตุน (紅墩) หมายถึง เนินดินสีแดง อีกหมู่บ้านหนึ่งดินมีลักษณะเป็นสีอมม่วง จึงเรียกว่า หมู่บ้านจื่อตุน (紫墩) หมายถึง เนินดินสีม่วง เนื่องจากบริเวณตำบลอูเจิ้นเป็นที่ราบตะกอนน้ำพา แม่น้ำพัดพาตะกอนมาสะสม ทำให้ดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และมีสีเข้ม จึงนำคำว่า ‘อู’ (烏) ที่หมายถึงสีดำมาใช้ตั้งชื่อตำบล ส่วนคำว่า ‘ชิง’ (清) ในชื่อชิงตุนนั้นภาษาจีนโบราณหมายถึงสีดำเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากกรณีเดียวกัน

—–เนื่องจากบริเวณนี้มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตอบอุ่น ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมาก และมีแสงแดดเพียงพอ จึงเหมาะสมกับการทำนาปลูกข้าว ทำให้ในตำบลมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 50% ถือเป็นแหล่งผลิตธัญญาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้อูเจิ้นยังทำอุตสาหกรรมรังไหมและผลิตผ้าไหมเป็นสินค้าขึ้นชื่อของตำบลอีกด้วย

—–การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นำรายได้เข้าสู่ตำบลอูเจิ้น แต่ละปีจะมีผู้คนมาเยือนตำบลนี้ถึงราว 7 ล้านคน พื้นที่ตำบลอูเจิ้นแบ่งอย่างคร่าวๆ ออกเป็น 4 ส่วน คือ เขตเหนือ เขตใต้ เขตตะวันออก และเขตตะวันตก โดยเขตที่นักท่องเที่ยวนิยมไปและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญคือเขตตะวันตกและเขตตะวันออก ภายในเขตท่องเที่ยวนี้ ผู้คนจะได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศเมืองโบราณบนสายน้ำ คล้ายกับเมืองเวนิสในอิตาลี บ้านเรือนที่เห็นในปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างในสมัยปลายราชวงศ์ชิงถึงต้นยุคสาธารณรัฐ เรือไม้ลำน้อยลอยล่องไปตามลำคลอง ลอดสะพานหินโค้งพานักท่องเที่ยวชมทัศนียภาพ ริมคลองประดับไปด้วยต้นหลิวเรียงรายแผ่กิ่งระย้าลงเหนือน้ำ ตามทางเดินมีร้านรวงมากมายทั้งร้านขายของที่ระลึก เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร และคาเฟ่สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้นั่งดื่มด่ำบรรยากาศ แต่หากใครต้องการสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้านในแถบนี้ ก็สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่เก่าแก่ในตำบล เช่น ที่ทำการไปรษณีย์เก่า โรงย้อมผ้าหงหยวนไท่ (宏源泰染坊) พิพิธภัณฑ์วิถีชิวิตชาวเจียงหนาน พิพิธภัณฑ์เตียงโบราณเจียงหนาน เป็นต้น

 โรงย้อมผ้าหงหยวนไท่

—–นอกจากนี้ ตำบลอูเจิ้นยังมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งรวมปัญญาชน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง อูเจิ้นเป็นที่บ่มเพาะบัณฑิตที่ผ่านการสอบระดับมณฑลกว่าร้อยคน และกว่า 60 คนผ่านการสอบเข้ารับราชการขั้นสูงสุดของราชสำนัก บุคคลในอดีตที่มีชื่อเสียงของตำบล เช่น องค์รัชทายาทเจาหมิง (昭明ค.ศ. 501-531) พระโอรสของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (梁武帝ค.ศ. 464-549) แห่งอาณาจักรเหลียง ( ค.ศ. 502-557) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (南北 ค.ศ. 420-589) พระองค์มาศึกษาวิชาความรู้ที่ตำบลอูเจิ้นและเป็นผู้ริเริ่มเรียบเรียงตำรารวมบทกวีโบราณเหวินเสวี่ยน《文選》,เหมาตุ้น (茅盾ค.ศ. 1896-1981) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสังคม หนึ่งในผู้วางรากฐานวรรณกรรมจีนสมัยใหม่, มู่ซิน (木心 ค.ศ. 1927-2011) จิตรกรและนักเขียนร่วมสมัยชื่อดัง เป็นต้น ปัจจุบันนี้ถึงแม้บุคคลสำคัญเหล่านี้จะล่วงลับไปแล้ว และอูเจิ้นก็ไม่ได้เป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแต่ก่อน แต่ก็ยังคงมีร่องรอยที่บอกเล่าเรื่องราวของบุคคลเหล่านั้นตามสถานที่ต่างๆ ในตำบลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและระลึกถึง เช่น ที่บ้านเดิมของเหมาตุ้น และห้องสมุดเจาหมิง เป็นต้น

 บ้านเดิมของเหมาตุ้น


[1] คลองต้าอวิ้นเหอ คือคลองขุดที่เชื่อมพื้นที่ภาคเหนือกับภาคใต้ของจีน จากกรุงปักกิ่ง (北京) จนถึงเมืองหังโจว (杭州) ยาว 1,794 กิโลเมตร เชื่อมแม่น้ำทั้งหมด 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำไห่เหอ (海河), แม่น้ำฮวงโห (黃河), แม่น้ำหวยเหอ (淮河), แม่น้ำแยงซีเกียง (長江) และแม่น้ำเฉียนถังเจียง (錢塘江) ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดเริ่มขุดตั้งแต่ 486 ปีก่อนคริสต์ศักราชในมณฑลเจียงซู (江蘇) และขุดส่วนหลักที่เหลือต่ออีก 2 ครั้งใหญ่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 และปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13

[2] อารยธรรมโบราณหม่าเจียปัง เป็นหนึ่งในแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ยุคหินใหม่ของจีน พบบริเวณทะเลสาบไท่หู (太湖) ศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านหม่าเจียปัง เมืองเจียซิง (嘉興) มณฑลเจ้อเจียง

[3] ตุน (墩) หมายถึง เนินดิน ตอไม้หรือก้อนหินขนาดใหญ่

[4] เจิ้น (鎮) หมายถึง ตำบล หรือ ชุมชนเมืองเล็กๆ

 

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา