มองวัฒนธรรมซ่งผ่านภาพ
‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ ฉบับราชวงศ์ซ่งเหนือ
เรื่องโดย ความทรงจาง
——ภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ (清明上河圖) หรือ ภาพ ‘พื้นที่บริเวณรอบแม่น้ำในเทศกาลชิงหมิง’ เป็นหนึ่งในภาพวาดอันลือชื่อ ในช่วงเวลาหลายพันปีมานี้ เกิดภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ ฉบับเลียนแบบขึ้นหลายภาพ คาดกันว่ามีมากกว่า 30 ภาพ อยู่ที่ประเทศจีนกว่า 10 ภาพ ไต้หวัน 9 ภาพ สหรัฐอเมริกา 5 ภาพ ฝรั่งเศส 4 ภาพ อังกฤษ 1 ภาพ และญี่ปุ่น 1 ภาพ ต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดคือฉบับราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960-1127) วาดโดยจางเจ๋อตวน (張擇端 ประมาณ ค.ศ. 1085-1145) จิตรกรสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ถือเป็นภาพซึ่งสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม ชนชั้นทางสังคม และวัฒนธรรมในสมัยนั้นเป็นอย่างดี งานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้รับการยกย่องเป็นสมบัติแห่งชาติจีน (國寶級文物) ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่ง (北京故宮博物院)
——ภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ ฉบับซ่งเหนือเป็นภาพสีแต่ซีดจางไปบ้างตามกาลเวลา มีขนาดกว้าง 24.8 ซ.ม. ยาว 528.7 ซ.ม. บันทึกวิถีชีวิตและสภาพสังคมช่วงเทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง 清明) ในเมืองเปี้ยนจิง (汴京 ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง 開封 มณฑลเหอหนาน 河南) ซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์ซ่งเหนือ เมืองเปี้ยนจิงเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีประชากรมากถึง 1.3 ล้านคน บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากไม้จึงเกิดไฟใหม่ได้ง่าย มีบันทึกว่าราชวงศ์ซ่งเหนือเกิดไฟใหม่ครั้งใหญ่กว่า 40 ครั้ง จึงมีมาตรการป้องกันไฟอย่างเข้มงวด ที่เห็นได้ชัดจากภาพคือมีหอสังเกตการณ์ไฟไหม้และตำรวจดับเพลิงอยู่บนหอ ภาพเขียนผืนนี้นอกจากเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเปี้ยนจิงแล้ว ยังสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของราชวงศ์ซ่งเหนืออีกด้วย
——แม่น้ำในภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ คือแม่น้ำเปี้ยนเหอ (汴河) เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ จากภาพจะเห็นว่าสองฝั่งแม่น้ำมีบรรยากาศคึกคัก ผู้คนหนาตา มีเรือค้าขาย ร้านค้า ร้านน้ำชาสำหรับนั่งพักผ่อน ฯลฯ
ชิงหมิงซ่างเหอถูขนาดเต็ม มีความยาวถึง 5 เมตร
——จุดเด่นของงานจิตรกรรมชิ้นนี้คือมีความยาวถึง 5 เมตร และความคมชัดจนเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งที่ผ่านมือผู้ครอบครองมากหน้าหลายตาในแต่ละยุคสมัยมากว่าพันปี แต่เนื้อหาในภาพยังคงชัดเจนและโดดเด่น เชื้อเชิญนักประวัติศาสตร์จำนวนมากมาร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์สิ่งที่ภาพต้องการสื่อ เนื้อหาแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนแต่ละชนชั้น ประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งมีชีวิต เช่น คน วัว อูฐ ม้า ลา ล่อ ฯลฯ และส่วนประกอบอื่นๆ เช่น หอประตูเมือง สะพาน บ้านเรือน เรือลำน้อยใหญ่ รถลาก เกี้ยว ฯลฯ ซึ่งล้วนมีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง
——ผู้เชี่ยวชาญพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่งวิเคราะห์รายละเอียดของภาพตามจุดต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
-
บ้านจ้าวไท่เฉิง
——ป้ายด้านหน้าสถานที่นี้เขียนว่า ‘บ้านจ้าวไท่เฉิง’ (趙太丞家) มีโต๊ะทรงสูงอยู่ในร้าน บนโต๊ะมีกระดาษซึ่งน่าจะเป็นใบสั่งยา ป้ายด้านข้างร้านเขียนไว้ว่า ‘治酒所傷真方集香丸’ คาดว่าเป็นตำรับยาชนิดหนึ่งที่รักษาอาการอันเกิดจากการดื่มเหล้า แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคนั้นนิยมดื่มเหล้ากันมาก คนที่ดื่มจนเจ็บป่วยก็คงมีไม่น้อย
-
บ่อน้ำสี่เหลี่ยม
——ชาวบ้านกำลังตักน้ำอยู่ข้างบ่อ แต่ละคนมีอิริยาบถแตกต่างกัน บ้างถือเชือกถือถังไม้เตรียมตักน้ำ บ้างเพิ่งหาบถังเปล่ามาถึง เมืองเปี้ยนจิงมีประชากรนับล้านคน น้ำจึงเป็นปัญหาใหญ่ จากภาพจะเห็นว่าบ่อน้ำไม่ลึกมาก รอบบ่อก่อด้วยอิฐ ปากบ่อแบ่งเป็น 4 ช่อง เพื่อให้ใช้งานพร้อมกันได้ 4 คน ภาพส่วนนี้แสดงชีวิตสามัญของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
-
การใช้พัดบังหน้า
——ปกติเราใช้พัดเวลาร้อน แต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ พัดยังใช้ปิดบังใบหน้าเมื่อบังเอิญเจอคนรู้จักแต่ไม่อยากโอภาปราศรัย
-
การสอบเป็นขุนนาง
——สมัยราชวงศ์ซ่งมีการสอบเพื่อรับเข้าเป็นขุนนาง (科舉考試) แล้ว บัณฑิต (士) เกษตรกร (農) กรรมกร (工) และพ่อค้า (商) ไม่ว่าชนชั้นไหนก็สอบเป็นขุนนางได้ เมื่อมีการจัดสอบขึ้น ทั่วเมืองเปี้ยนจิงจึงเต็มไปด้วยผู้สมัครสอบ
-
โรงแรม
——โรงแรมแห่งนี้มีชื่อว่า ‘久住王員外家’ คำว่า 久住 หมายถึง ตั้งอยู่มานาน บอกเป็นนัยๆ ว่าที่พักแห่งนี้เชื่อถือได้ ส่วนคำว่า 王員外家 หมายถึง บ้านคหบดีแซ่หวาง โรงแรมแห่งนี้มีขนาดใหญ่เนื่องจากสูงสองชั้น หลังช่องหน้าต่างเห็นแขกพักอยู่ บนโต๊ะมีอุปกรณ์เขียนพู่กันจีน บางทีชายผู้นี้อาจเข้ามาสอบเช่นกัน โรงแรมสมัยนั้นไม่เพียงเป็นที่พักของคนเดินทาง แต่ยังมีที่เก็บสินค้าของผู้มาเข้าพัก จึงได้รับความนิยมในหมู่พ่อค้าวาณิช
-
สำนักงานภาษี
——ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสถานที่ใกล้ๆ ประตูเมืองแห่งนี้คือสำนักงานภาษี มีขุนนางคอยทำหน้าที่เก็บภาษีนั่งอยู่ พ่อค้าต้องแจ้งรายละเอียดต่อเจ้าหน้าที่ เช่น ประเภทสินค้า จำนวน ปลายทาง ฯลฯ เพื่อบันทึกเป็นเอกสารที่เรียกว่า ‘อิ่นจื่อ’ (引子) หากไม่มีอิ่นจื่อ เมื่อถึงเวลาจ่ายภาษี ก็จะถูกเรียกเก็บแพง
-
หอประตูเมืองและคาราวานอูฐ
——หอประตูเมืองเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในภาพ บนสุดมีอาคารตั้งตระหง่าน ภายในมีกลองที่ใช้ตีส่งสัญญาณ คาราวานอูฐกำลังเคลื่อนผ่านทางประตู แสดงให้เห็นว่าเมืองเปี้ยนจิงไม่ได้มีเพียงพ่อค้าจีน แต่ยังมีพ่อค้าต่างชาติ จากบันทึกประวัติศาสตร์พบว่าในสมัยราชวงศ์ซ่งทูตชาวอาหรับเดินทางมาจีนมากถึง 26 ครั้ง พ่อค้าบางรายแฝงตัวมาเป็นทูต แต่เป้าหมายหลักคือทำการค้า
-
ขอทานเด็ก
——สมัยจักรพรรดิซ่งฮุยจง (宋徽宗 ค.ศ. 1082-1135) สังคมดูโอ่อ่าหรูหราแค่ภายนอก ความจริงประชาชนลำบากยากแค้น ในภาพมีขอทานเด็กสองคนกำลังแบมือขอเงินคนที่กำลังชมทิวทัศน์อยู่บนสะพาน
-
เพิงหมอดู
——เรื่องหยินหยาง (陰陽) ห้าธาตุ (五行) หรือการเสี่ยงทาย เป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์ซ่ง จึงมีผู้ประกอบอาชีพหมอดูจำนวนไม่น้อย กล่าวกันว่าในเมืองเปี้ยนจิงมีหมอดูถึงหนึ่งหมื่นคน บางคนร่ำรวยจากอาชีพนี้มากกว่าขุนนางในราชสำนักเสียด้วยซ้ำ การเสี่ยงทายไม่เพียงเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่ยังถูกใช้ในการเมืองการปกครองและศึกสงคราม
-
เรือเทียบท่า
——เรือหลายลำทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือโดยสารจอดเทียบท่า มีชาวบ้านเดินบนไม้กระดานขึ้นเรือ หากดูจากระดับน้ำข้างท้องเรือ คาดคะเนได้ว่าเรือลำนี้บรรทุกสินค้าเต็มลำ กำลังจะแล่นไปทางทิศใต้
-
สะพานหงเฉียว (虹橋)
——ภาพสะพานไม้ในสมัยซ่งถือเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับนักวิชาการที่ศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ระดับน้ำในแม่น้ำเปี้ยนเหอขึ้นลงอย่างรุนแรงอาจกัดเซาะเสาสะพานได้ สะพานนี้จึงไม่มีเสาค้ำ ต่อมาสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำเปี้ยนเหอต่างสร้างด้วยโครงสร้างเช่นนี้
-
โกดังท่าเรือ
——ใกล้ๆ ท่าเรือมีโกดังสินค้าจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดมักเก็บของไว้ตามโกดังริมน้ำเพื่อให้ขนถ่ายได้สะดวก ในภาพมีกรรมกรกำลังขนสินค้าซึ่งน่าจะเป็นธัญพืช ส่วนเถ้าแก่ผู้เดินทางมากับเรืออย่างเหน็ดเหนื่อยนั่งพักอยู่บนกระสอบสินค้า
-
ขบวนเกี้ยวประดับดอกไม้
——ขบวนเกี้ยวนี้คือกลุ่มคนที่เพิ่งกลับมาจากการปัดกวาดสุสานในเทศกาลเช็งเม้ง ข้างหน้าสุดมีคนใช้คอยเปิดทาง เกี้ยวในขบวนตกแต่งด้วยดอกไม้ชนิดต่างๆ แสดงว่าเป็นวันพิเศษ เจ้านายหญิงนั่งอยู่ในเกี้ยว ส่วนเจ้านายชายขี่ม้าอยู่ท้ายขบวน ท่าทางของทุกคนกำลังเร่งรีบ
-
ลานตากธัญพืชและร้านนั่งพัก
——ใกล้ๆ สะพานเล็กมีร้านให้นั่งพักผ่อน หน้าร้านมีเพิงและม้านั่ง เช้าๆ อย่างนี้ยังไม่มีแขกมาที่ร้าน ส่วนเจ้าของร้านกำลังยุ่งอยู่กับการตากธัญพืชที่ลานหลังร้าน
-
ร้านเครื่องดื่ม
——ใต้ร่มขนาดใหญ่มีป้ายเขียนว่า ‘飲子’ หมายถึง เครื่องดื่ม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่ต้มจากสมุนไพร ชาวบ้านผู้ซื้อเครื่องดื่มในภาพสวมชุดเหมือนชาวบ้านทั่วไป จึงเดาได้ว่าเครื่องดื่มราคาไม่สูงนัก
-
ร้านขายเนื้อ
——ร้านขายเนื้อแห่งนี้ชื่อว่า ‘ซุนหยางเตี้ยน’ (孫羊店) ในร้านมีพนักงานกำลังแล่เนื้อ ส่วนคนที่นั่งอยู่หน้าร้านน่าจะเป็นเจ้าของร้าน
-
วัด
——เมืองเปี้ยนจิงมีวัดจำนวนไม่น้อย วัดที่มีชื่อเสียงได้แก่วัดต้าเซียงกั๋วซื่อ (大相國寺) วัดไคเป่าซื่อ (開寶寺) และวัดไท่ผิงซิงกั๋วซื่อ (太平興國寺) ในภาพมีพระรูปหนึ่งกำลังเดินเข้าวัด วัดแห่งนี้เป็นวัดชั้นสูง ได้รับอนุญาตจากทางการ
—–ภาพเขียนโบราณชิ้นนี้มีคุณค่าทั้งในด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม แม้ว่ามนุษย์จะย้อนอดีตไม่ได้ แต่ภาพเขียนก็เปรียบเสมือนเครื่องย้อนเวลา ที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นได้มากขึ้น
ที่มาภาพ
https://zh.wikipedia.org/wiki/%E6%B8%85%E6%98%8E%E4%B8%8A%E6%B2%B3%E5%9C%96
[/fusion_builder_column][/fusion_builder_row][/fusion_builder_container]