‘หมิงฮุน’ ประเพณีแต่งงานหลังการตาย เรื่องโดย ชฎาพร ขุนทอง |
——‘หมิงฮุน’ (冥婚) หมายถึง ‘พิธีแต่งงานหลังการตาย’ เป็นประเพณีการจัดพิธีสมรสให้แก่ชายหรือหญิงที่เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยเชื่อว่าดวงวิญญาณของผู้ตายจะเป็นสุขและส่งผลให้วงศ์ตระกูลเจริญรุ่งเรือง แม้ประเพณีดังกล่าวจะถูกนักปรัชญาลัทธิหรู (儒) คัดค้านอย่างหนักและมองว่าเป็นความเชื่องมงาย เนื่องจากขัดต่อหลักคำสอนเรื่องมนุษยนิยม ที่เน้นว่ามนุษย์เกิดมามีคุณค่า ทุกคนสร้างคุณค่าได้ด้วยการพัฒนาตนเองเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม อันถือเป็นการเชิดชูคุณค่าของชีวิตตอนที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ตาม ประเพณีการแต่งงานหลังการตายยังคงสืบทอดกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ราวกับถูกฝังรากลึกลงไปถึงแก่นของหัวใจชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแนวคิดปรัชญาอันลึกล้ำของลัทธิหรู
——ประเพณีหมิงฮุน หรือ ‘เพ่ยกู่’ (配骨 การวิวาห์กระดูก, จับคู่ให้กระดูก) สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นเวลายาวนานกว่า 3,000 ปี นักวิชาการคติชนวิทยาสันนิษฐานว่า การวิวาห์ศพวิวัฒนาการมาจากงานศพที่มีการฝังสิ่งต่างๆ พร้อมคนตาย (殉葬) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่ออยู่หลายกระแส อาทิเรื่องชีวิตหลังความตาย โดยคิดว่าผู้ตายจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปในปรโลก ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ โดยคิดว่าถ้าดวงวิญญาณของผู้ตายไม่เป็นสุข ครอบครัวก็จะอยู่อย่างไม่เป็นสุขไปด้วย รวมทั้งความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยของสุสานฝังศพบรรพชนครอบครัว โดยคิดว่าถ้ามีสุสานแห่งใดฝังศพที่ไร้คู่ จะไม่เป็นสิริมงคลต่อสมาชิกของวงศ์ตระกูลทั้งหมด บางทีก็เป็นคำร่ำลือที่ชาวบ้านเล่ากันปากต่อปากว่า คู่ที่หมั้นหมายเอาไว้แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน ครอบครัวจำเป็นต้องจัดพิธีวิวาห์ศพให้ มิฉะนั้นจะฝังศพในสุสานบรรพชนไม่ได้ และยังตั้งป้ายชื่อของผู้ตายในศาลบรรพชนประจำตระกูลไม่ได้
——โดยทั่วไปการวิวาห์ศพจะปรากฏ 2 รูปแบบให้เห็น ได้แก่ การวิวาห์ระหว่างศพกับศพ ชาวจีนเรียกว่า ‘ผีแต่งผี’ (死人配) หรืออีกแบบคือ การวิวาห์ระหว่างคนเป็นกับศพ หากศพชายแต่งผู้หญิงเรียกว่า ‘ผีแต่งเมีย’ (鬼娶妻) หากศพหญิงแต่งผู้ชายเรียกว่า ‘ผีแต่งผัว’ (娶鬼妻) ในคัมภีร์โจวหลี่ ภาคกฎบัญญัติการปกครองท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการเป็นพ่อสื่อแม่สื่อ《周禮·地官·媒氏》บันทึกไว้ว่า ‘ห้ามย้ายที่ฝังศพและแต่งงานกับศพ’ (禁遷葬者與嫁殤者) พิสูจน์ให้เห็นว่า การจัดพิธีการวิวาห์ศพในยุคนั้นเป็นที่แพร่หลายจนราชสำนักโจวต้องออกกฎห้าม ซึ่งส่วนใหญ่นิยมกันในหมู่ครอบครัวขุนนางหรือเศรษฐี เนื่องจากต้องใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างมาก
——การวิวาห์ศพพบได้ทั่วไปตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) แม้แต่โจโฉ (เฉาเชา 曹操 ค.ศ. 155-220) มหาบุรุษแห่งยุคสามก๊กก็เคยจัดพิธีวิวาห์ศพกับศพ เพื่อหาคู่ให้แก่โจฉอง (เฉาชง 曹冲 ค.ศ. 196-208) ลูกชายที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี ด้วยการมอบสินสอดทองหมั้นให้แก่ครอบครัวตระกูลเจิน (甄) เพื่อสู่ขอศพของเด็กหญิงผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้มาฝังร่วมกับศพของลูกชายในฐานะลูกสะใภ้ นับเป็นเรื่องหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วในหน้าประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก
——การแต่งงานของร่างไร้วิญญาณนั้นต้องพิจารณาความสมน้ำสมเนื้อของทั้งสองฝ่าย เช่น ฐานะทางบ้านที่เท่าเทียมกัน อายุของบ่าวสาว ฯลฯ หากเป็นการแต่งงานที่ผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวยินยอมพร้อมใจ ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกค่าสินสอดจากครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าว สินสอดเหล่านั้นเป็นของจริงครึ่งหนึ่งและทำจากกระดาษครึ่งหนึ่ง เช่น เงินทอง เครื่องประดับ ของใช้ ฯลฯ พิธีการแต่งงานแทบไม่ต่างกับการแต่งงานของคนธรรมดา แต่มีขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดคือการฝังร่างของทั้งสองในหลุมเดียวกัน ซึ่งอาจใช้ภาพวาดหรือป้ายวิญญาณแทนหากเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่
——ส่วนชนบทบนเกาะไต้หวัน หากมีผู้หญิงโสดเสียชีวิต ครอบครัวจะทิ้งซองแดงซึ่งใส่สิ่งของ เช่น เงินสด เส้นผม หรือเล็บของผู้ตายเอาไว้ แล้วรอจนกว่าจะมีผู้ชายเดินมาหยิบซองนั้น ชายคนแรกที่หยิบขึ้นมาจะถูกเลือกให้เป็นเจ้าบ่าวของผู้ตาย เชื่อกันว่าหากชายคนนั้นยอมแต่งงาน ก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลต่อทุกฝ่าย แต่หากปฏิเสธชายคนนั้นจะต้องพบกับความโชคร้าย
——แม้ประเพณีดังกล่าวจะดูพิสดาร แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมจีน ทั้งความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว ความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อบุตรผู้จากโลกไปก่อนวัยอันควร