**คำเตือน บทความนี้มีภาพศพ ไม่เหมาะกับผู้ขวัญอ่อน** —–หม่าหวังตุย เนินดินที่ดูแสนจะธรรมดาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกชานเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน กลายเป็นที่จับตามองของบรรดานักโบราณคดีทั่วโลกเมื่อต้นปี ค.ศ. 1972 หลังจากมีการค้นพบสุสานขนาดใหญ่ยุคราชวงศ์ฮั่นบริเวณนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่นำวัตถุโบราณทรงคุณค่าจำนวนมากออกมาสู่สายตาสาธารณชน ก็เกิดกระแสตกตะลึงไปทั่วโลก —–เมื่อกล่าวถึงที่มาของชื่อ ‘หม่าหวังตุย’ (马王堆) ในภาษาจีน ‘หม่าหวัง’ หมายถึง อ๋องตระกูลหม่า ‘ตุย’ หมายถึง กองดิน เนินเดิน หรือดอย ชาวบ้านเชื่อว่า อาณาบริเวณนี้เป็นสุสานของหม่าอิน (马殷 ปี ค.ศ. 852-930) เจ้านายชั้นสูงผู้ก่อตั้งแคว้นฉู่ ในยุคห้าราชวงศ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนตกอยู่ในสถานการณ์แตกแยกอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า ‘หม่าหวังตุย’ —–ทว่านักโบราณคดีจีนยืนยันภายหลังว่า ผลการพิสูจน์หลักฐานที่เป็นวัตถุโบราณหลายชิ้น อาทิ เครื่องไม้ ตราประทับ ภาพเขียน ม้วนผ้าที่มีตัวอักขระบันทึกอยู่ รวมทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์และของใช้ประจำวันต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า ‘สุสานหม่าหวังตุย’ แห่งนี้ เป็นที่ฝังศพของลี่ชัง (利仓 ? – 193 ก่อนปีคริสตศักราช) และครอบครัว ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซา (长沙国 เมื่อ 202 ปีก่อนคริสตศักราช ถึง ปี ค.ศ. 7 เป็นรัฐที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักฮั่นตะวันตก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมณฑลหูหนาน) —–ต่อมา ‘สุสานยุคราชวงศ์ฮั่นที่เนินหม่าหวังตุย’ (马王堆汉墓) ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อของมณฑลหูหนาน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนนับไม่ถ้วนในแต่ละปี โดยเฉพาะที่กล่าวขานกันว่าเป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์’ คือร่างของมนุษย์โบราณที่ไม่ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ศพไม่เน่า’ นั้น เป็นศพไม่แห้งเพศหญิงศพแรกของโลกที่ค้นพบได้ในประวัติศาสตร์ สตรีสูงศักดิ์ท่านนี้เสียชีวิตแล้วนานกว่า 2,100 ปี แต่ยังคงสภาพที่ ‘ไม่เน่าเปื่อย’ สร้างความฉงนสงสัยให้แก่ผู้คนทั่วโลกและเป็นเรื่องท้าทายที่ยากแก่การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบว่า ศพถูกเก็บรักษามาได้อย่างไร —–‘สุสานยุคราชวงศ์ฮั่นที่เนินหม่าหวังตุย’ มีทั้งหมด 3 สุสานด้วยกัน สุสานหมายเลข 1 เป็นสุสานของภรรยาท่านลี่ชัง นามว่าซินจุย (辛追) สุสานหมายเลข 2 เป็นสุสานของท่านลี่ชัง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในช่วงต้นสมัยราชวงศ์ฮั่น ส่วนสุสานหมายเลข 3 เป็นสุสานของบุตรชายท่านลี่ชัง ในจำนวนสุสานทั้ง 3 แห่งนี้ สุสานหมายเลข 1 มีขนาดใหญ่ที่สุด หลุมสุสานจากทิศเหนือจรดใต้ยาวประมาณ 20 เมตร ตะวันออกจรดตะวันตกกว้าง 17.8 เมตร ระดับความลึก 20 เมตร ภายในสุสานหมายเลข 1 ค้นพบศพผู้หญิงที่มีอายุร่วม 2,100 ปี ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ร่างกายชุ่มชื้น ข้อต่อข้อพับสามารถขยับยืดงอได้ มีความยืดหยุ่นของเนื้อหนังมังสา เสมือนเป็นศพใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเสียชีวิตมาไม่นาน แตกต่างจากมนุษย์โบราณอื่นๆ เช่น มัมมี่ของอียิปต์ นับว่าเป็นความหัศจรรย์ในวิทยาการป้องกันการเน่าเปื่อยของซากศพ ศพนี้จึงมีลักษณะพิเศษและดึงดูดนักวิชาการ รวมทั้งนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลก หุ่นขี้ผึ้งซินจุย —–นักวิชาการจีนสันนิษฐานว่า ศพโบราณเพศหญิงที่ว่านี้ มีนามว่า ‘ซินจุย’ (辛追) มีส่วนสูง 1.54 เมตร เสียชีวิตราวอายุ 50 ปี นางมีชีวิตอยู่ในต้นสมัยราชวงศ์ฮั่น ตอนเปิดโลงศพ พบว่าศพถูกแช่อยู่ในโลงที่มีของเหลวไร้สีลึก 20 เซนติเมตร (ของเหลวดังกล่าว ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หลังเปิดโลงได้ไม่นาน) ปัจจุบันศพดังกล่าวผ่านการชันสูตร แยกอวัยวะภายในออกจากศพ และจัดแสดงภายในห้องใต้ดินที่ออกแบบเป็นพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งมณฑลหูหนาน เนื่องจากสภาพศพยังค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่เน่าเปื่อย หรือแห้งจนแข็ง จึงเรียกกันว่า ‘มัมมี่จีน 2,000 ปี’ และยังเรียกกันในอีกหลายชื่อ เช่น ‘ศพโบราณซินจุย’ ‘ศพสตรีหม่าหวังตุย’ ‘ศพพันปีไม่เน่า’ เป็นต้น ปัจจุบัน สุสานหมายเลข 1 และ 2 ได้ฝังกลบหลุมไปแล้ว ส่วนสุสานหมายเลข 3 ได้มีการสร้างหลังคาคลุมขนาดใหญ่ขึ้นภายนอก รวมทั้งเสริมเพิ่มความแข็งแกร่งโครงสร้างภายใน เพื่ออนุรักษ์ไว้และรองรับผู้เข้าเยี่ยมชม การค้นพบสุสานหม่าหวังตุย —–‘สุสานยุคราชวงศ์ฮั่นที่เนินหม่าหวังตุย’ ถูกค้นพบโดยบังเอิญ และกระบวนการขุดค้นก็เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหตุเกิดเมื่อปลาย ปี ค.ศ. 1971 โหวเหลียง (侯良) นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งมณฑลหูหนานได้รับรายงานว่า ภายในบริเวณฐานทัพทหารแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่าเนินเขาหม่าหวังตุย อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างชั้นใต้ดินของโรงพยาบาลทหาร ขณะที่ใช้เครื่องขุดเจาะพื้นดินอยู่นั้น ปรากฏว่าเกิดรูโหว่ขึ้น และมีแก๊สพวยพุ่งออกมา มีคนลองจุดไฟก็เกิดเป็นเปลวไฟสีน้ำเงิน เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ท่ามกลางความตกตะลึงและฉงนสงสัยของชาวบ้าน โหวเหลียงผู้คร่ำหวอดในวงการโบราณคดีก็นึกได้ในทันทีว่า สิ่งที่ขุดพบโดยบังเอิญนั้น ต้องใช่สุสานโบราณเป็นแน่ —–เดือนมกราคม ค.ศ. 1972 คณะนักโบราณคดีได้เริ่มดำเนินการขุดสุสานโบราณอันเร้นลับอย่างเป็นทางการ พบว่า ตัวสุสานมีขนาดความยาวจากเหนือจรดใต้ราว 20 เมตร ตะวันออกจรดตะวันตกราว 17.8 เมตร และลึก 20 เมตร ด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วค่อยๆ แคบลงสู่ด้านล่าง ภายในหลุมจัดทำเป็นห้องวางโลงศพ ขนาดความยาวกว่า 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ซึ่งเป็นห้องเก็บโลงศพขนาดใหญ่ที่หายาก สร้างความตกตะลึงแก่บรรดานักโบราณคดีผู้คร่ำหวอดเป็นอย่างมาก พอเปิดแผ่นไม้ที่ปิดหุ้มที่วางโลงศพ ทุกคนต้องผงะกับสภาพที่พบเห็น เพราะที่นี่เปรียบเสมือนเป็นขุมทรัพย์ใต้ดินที่อลังการ มีโลงศพขนาดใหญ่ตั้งตรงตระหง่านอยู่ตรงกลาง ข้างๆ ล้อมรอบด้วยเครื่องประดับอัญมณีระยิบระยับ ภายใต้ฝุ่นดินบางๆ ที่เกาะจับนั้น วัตถุทุกชิ้นยังคงดูประดุจเช่นของใหม่ สุสานหม่าหวังตุย —–โหวเหลียง หนึ่งในทีมงานสำรวจสุสานหม่าหวังตุยหวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตแล้วเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่นักโบราณคดีกำลังหยิบเอาโบราณวัตถุออกมาอย่างระมัดระวังอยู่นั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น มีคนพบเครื่องเขินที่สวยงามชิ้นหนึ่งตั้งอยู่ในหีบด้านตะวันออก พอเปิดฝาออกพบว่าข้างในมีน้ำ และมีแผ่นรากบัวลอยอยู่หลายแผ่น หวังหวี่หวี่ นักโบราณคดีจากปักกิ่งรีบตะโกนขึ้นว่า “นี่มันรากบัว 2,000 พันกว่าปีนี่!” พอได้ยินเสียงเข้า ทีมสำรวจทุกคนต่างเบียดเสียดเข้ามามุงดูปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากเช่นนี้ หวังหวี่หวี่เกรงว่าวัตถุโบราณจะได้รับความเสียหาย จึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายมาวางตรงกลางและรีบถ่ายรูปเก็บเอาไว้ แต่ก็เพียงแค่เคลื่อนย้ายแล้ววางลงเท่านั้นเอง รากบัวที่เห็นอยู่ภายในเครื่องเขินก็เหลือเพียงไม่กี่แผ่นแล้ว พอผ่านไปอีกไม่กี่นาทีเท่านั้น ก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออีกเลย รากบัวที่เพิ่งจะถ่ายภาพเก็บไว้ได้นั้นสลายหายไปในน้ำท่ามกลางสายตาทุกคนที่จับจ้องอย่างไม่กะพริบตา —–สิ่งแปลกๆ ที่อยู่เหนือความคาดหมายของทีมสำรวจมีให้พบเห็นอีกครั้ง โลงศพขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลางนั้น ภายในซ้อนโลงศพขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ประกอบขึ้นถึง 4 ชั้น ชั้นในสุดถึงจะเป็นโลงศพที่บรรจุศพของผู้ตาย ฝาโลงคลุมด้วยผ้าไหมที่มีภาพวาด 1 ผืน รูปทรงเป็นรูปแบบอักษร T มีลวดลายต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความเร้นลับ ซึ่งภาพวาดบนผ้าไหมผืนใหญ่ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหายเช่นนี้ นับเป็นการค้นพบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีประเทศของจีน ภาพวาดขนาดใหญ่ —–โลงศพทั้ง 4 ชั้นล้วนสร้างขึ้นจากไม้เนื้อดี แต่ละชั้นมีการตกแต่งลวดลายที่แตกต่าง ด้านนอกสุดเป็นโลงทาสีดำเงามัน ไม่มีลวดลายตกแต่งใดๆ ชั้นที่ 2 เป็นโลงเหลือบสีวิจิตรศิลป์พื้นดำ บนพื้นสีดำใช้สีเหลืองทองในการวาดรูปก้อนเมฆที่สลับซับซ้อน ลายเส้นแต่งเติมด้วยรูปสัตว์หรือเหล่าเทวดามากกว่าร้อยรูป ส่วนชั้นที่ 3 เป็นโลงเหลือบสีวิจิตรศิลป์พื้นแดง บนพื้นสีแดงใช้สีเหลืองทอง สีเขียวและสีน้ำตาลวาดเป็นรูปภาพต่างๆ อาทิ มังกร 6 ตัว เสือ 3 ตัว กวาง 3 ตัว นกหงส์ 1 ตัว เทวดา 1 องค์ ซึ่งล้วนแล้วเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของคนจีน หากเทียบกับโลงศพด้านนอกแล้ว โลงศพ 2 ใบนี้มีความวิจิตรงดงามมาก ส่วนโลงศพชั้นในสุด ตัวโลงศพทาสีเคลือบด้วยสีดำและห่อหุ้มตกแต่งด้วยผ้าไหมและผ้าปักที่มีลวดลายสวยงาม โลงศพของซินจุย —–กว่าจะเปิดดูโฉมหน้าของเจ้าของหลุมศพต้องใช้เวลาร่วมสัปดาห์ เนื่องจากร่างของผู้ตายถูกห่อหุ้มด้วยเสื้อผ้าที่ใช้สำหรับทั้ง 4 ฤดูอย่างครบถ้วนถึง 20 ชั้น วัสดุผ้านั้นประกอบด้วยผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าฝ้าย ผ้าปอ ฯลฯ หลังจากทีมงานสำรวจค่อยๆ เปิดสิ่งห่อหุ้มที่พันอยู่ด้านนอกออก ในที่สุด ใบหน้าของเจ้าของหลุมศพก็ปรากฏให้เห็น ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้ทุกคนต่างยืนมองปากอ้าตาค้าง เพราะว่านางดูไม่เหมือนกับศพ ผิวหนังยังคงสภาพสีเหลืองอ่อน กดดูยังคงมีความยืดหยุ่น ส่วนที่เป็นข้อต่อต่างสามารถขยับเขยื้อนได้ ชุดของซินจุย ศพของซินจุย แพทย์ชันสูตรศพซินจุย —–ต่อมา ทีมงานสำรวจที่ประกอบด้วยนักโบราณคดีจากเมืองต่างๆ ได้ทำการขุดพบสุสานหมายเลข 2 และสุสานหมายเลข 3 ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งระหว่างนั้น มีการค้นพบวัตถุโบราณอย่างต่อเนื่อง จากตราประทับที่ด้านบนสลักอักษรระบุชื่อและตำแหน่งอย่างชัดเจนหลายชิ้น จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘สุสานยุคราชวงศ์ฮั่นที่เนินหม่าหวังตุย’ นี้ เป็นที่ฝังศพของลี่ชัง ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นไต้โหว ( 轪侯 เทียบได้กับฐานันดรศักดิ์ไทยชั้นพระยา) และเป็นอัครมหาเสนาบดีรัฐฉางซาในช่วงต้นสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถยืนยันว่า การอ้างอิงถึงสุสานของหม่าอิน (马殷 ปี ค.ศ. 852-930) เจ้านายชั้นสูงผู้ก่อตั้งแคว้นฉู่ในยุคห้าราชวงศ์นั้นเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด วัตถุโบราณในสุสานหม่าหวังตุย —–การค้นพบสุสานหม่าหวังตุยใน ค.ศ. 1971 เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันสืบค้นหลักฐานและศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจากวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสุสานแห่งนี้ ล้วนแต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การทหาร การแพทย์ เทคนิคการช่าง ศิลปะและการดนตรี ฯลฯ โดยสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและสภาพสังคมของผู้คนในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี —–นอกจากศพโบราณเพศหญิงอายุถึง 2,100 ปีแล้ว ในสุสานยังมีโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่ามากมาย อาทิ หนังสือโบราณ ภาพเขียนบนผ้าไหม อาวุธโบราณ ตราประทับ เสื้อผ้าอาภรณ์ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากกว่า 3,000 ชิ้น กล่าวพอสังเขปได้ดังนี้ —–1. หนังสือโบราณ เป็นการจารึกข้อความบนผ้าไหมและแผ่นไม้ไผ่ รวม 120,000 กว่าตัวอักษร (การจารึกบนแผ่นไม้ไผ่ เรียกว่า ตำราไม้ไผ่[1]) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี และเทคนิคการช่างในสมัยโบราณ โดยเฉพาะตำราการแพทย์ ‘สูตรยา 52 ชนิด’ เป็นการบันทึกสูตรยาต่างๆ ที่รักษาโรคได้ 52 ชนิดไว้ รวมถึงสรรพคุณของสมุนไพรอีก 240 ชนิด นับว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของการแพทย์จีนแผนโบราณ นอกจากนี้ยังมีแผนที่ที่จัดทำด้วยวิธีการคำนวนสัดส่วนและใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับปัจจุบัน —–2. ภาพเขียนบนผ้าไหม ขุดพบได้จากสุสานหมายเลข 1 และสุสานหมายเลข 3 เป็นจิตรกรรมบนผืนผ้าที่วาดด้วยสีสวยสดงดงาม ถ่ายทอดโดยจิตรกรผู้มีฝีมือชั้นเยี่ยมในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ภาพเขียนเหล่านี้สะท้อนเรื่องราวและวิถีชีวิตของ ‘ลี่ชางกับซินจุย’ ขณะยังมีชีวิตอยู่ เช่น ขบวนรถม้าที่ประกอบด้วยม้าหลายร้อยตัว พร้อมบริวารผู้ติดตามนับร้อยคน สำหรับภาพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ คือ ภาพเขียนสองภาพที่ใช้รูปคน สัตว์ เทวดาและสัตว์ประหลาดมาจำลองโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก ทั้งสองภาพคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างเพียงคนในภาพที่มีลักษณะเหมือนเจ้านาย โดยภาพหนึ่งเป็นสตรี อีกภาพหนึ่งเป็นบุรุษ ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า สตรีและบุรุษที่มีลักษณะเหมือนชนชั้นสูงนี้ คือ ผู้ตายคู่สามีภรรยาที่เป็นเจ้าของสุสานนั่นเอง ภาพวาดดังกล่าวออกแบบในแนวยาวเหมือนรูปตัว T มีความยาว 2 เมตร มุมทั้ง 4 ต่างมีพู่ห้อย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ภาพเขียนผ้าไหมผืนนี้น่าจะเป็นธงที่ใช้ในกระบวนแห่ศพ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีศพแล้ว จึงนำมาใช้ห่อหุ้มหีบศพโดยเชื่อกันว่า จะนำวิญญาณของผู้ตายขึ้นสู่สวรรค์ได้ —–3. เครื่องไม้ที่ทาสีแล้วเคลือบผิวด้วยน้ำมัน เช่น หีบศพซ้อนกันถึง 4 ชั้น ตุ๊กตาไม้ เครื่องดนตรีโบราณ ภาชนะที่บรรจุสิ่งของต่างๆ เป็นต้น ล้วนวิจิตรงดงามด้วยลวดลาย สีสัน เป็นการแสดงถึงฝีมือการช่างที่ละเอียดประณีตในสมัยโบราณ ตุ๊กตาไม้ —–4. เสื้อผ้าอาภรณ์ การเก็บอยู่ในสุสานใต้ดินเป็นเวลานาน ทำให้เครื่องนุ่งหุ่มทั้งที่สวมใส่อยู่บนตัวของผู้ตายและที่เก็บอยู่ในหีบไม้ ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจนไม่อาจนับเป็นชิ้นได้ หลงเหลืออยู่เพียง 15 ชิ้นที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ผ้าหุ่ม ถุงใส่เครื่องกำยาน ฯลฯ ในจำนวนนี้มีเสื้อคลุมยาวทอด้วยใยไหมชั้นดีจำนวน 2 ตัว เนื้อผ้าบางเหมือนปีกแมลงปอ แต่ละตัวมีขนาดประมาณ 1 เมตร แขน 2 ข้างยื่นออกไปราว 2 เมตร แต่มีน้ำหนักเพียง 28 กรัม หากม้วนให้แน่นสามารถใช้มือข้างเดียวกำไว้ได้ แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนรู้จักใช้เส้นไหมในการทอผ้าตั้งแต่สมัยเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว และได้พัฒนาเทคนิคการทอผ้าในระดับสูง —–5. ตราประทับ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ยืนยันสถานภาพของผู้ตาย ชิ้นแรกขุดพบได้ในสุสานหมายเลข 1 ตราประทับนี้แกะสลักจากกระดูกสัตว์ มีตัวอักษร 3 ตัวว่า 妾辛追 (qiè xīn zhuī) เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ศพสตรีที่ฝังอยู่ในสุสานหมายเลข 1 นั้นก็คือ ภรรยาของลี่ชัง มีนามว่า ‘ซินจุย’ ต่อมานักโบราณคดีได้ขุดพบตราประทับอีก 3 ชิ้นจากสุสานหมายเลข 2 โดยชิ้นแรกแกะสลักจากหยก มีตัวอักษร 2 ตัวว่า 利仓 (lì cāng) ตราประทับชิ้นที่ 2 และ 3 หลอมด้วยทองแดง มีตัวอักษรว่า 长沙丞相 (cháng shā chéng xiàng ตราประจำตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีรัฐฉางซา) และ 轪侯之印 (dài hóu zhī yìn ตราประจำบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา) ทั้งชื่อและตำแหน่งก็ตรงกับบันทึกในประวัติศาสตร์สื่อจี้ (史记) ซึ่งเป็นหนังสือโบราณที่บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของจีน เรียบเรียงโดยซือหม่าเชียน ( 司马迁 ราว 145-87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน [1] ชาวจีนเรียกตำราประเภทนี้ว่า จู๋เจี่ยน (竹简) เป็นการนำไม้ไผ่มาฝานให้เป็นแผ่นเพื่อใช้บันทึก ซึ่งเป็นวิธีจดบันทึกของคนจีนในยุคโบราณก่อนที่จะมีกระดาษ เรื่องโดย สนสามใบ