—–จาย

—–ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศจีน 1 ในประเทศมหาอำนาจของโลก ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่มากมายจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักเดินทางทั่วโลกต่างต้องการไปเยือน และ 1 ในสถานที่เหล่านั้น ก็มีสะพานและอุโมงค์ใต้น้ำข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2018 นั่นคือ …

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า

—–สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (港珠澳大橋) เป็นระบบวิศวกรรมโยธาอันทันสมัยที่เชื่อมระหว่างฮ่องกง จูไห่และมาเก๊าเข้าด้วยกัน เริ่มจากท่าเรือฮ่องกงบนเกาะเทียมใกล้สนามบินนานาชาติฮ่องกงข้ามอ่าวหลิงติง (伶仃洋 ) บริเวณปากแม่น้ำจูเจียง เชื่อมกับเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง และคาบสมุทรมาเก๊า เป็นสะพานและอุโมงค์ใต้น้ำข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลกด้วยความยาวทั้งหมด 55 กิโลเมตร มีทางรถวิ่งไปกลับ 6 เลน ข้างละ 3 เลน ใช้งบประมาณในการสร้าง 1.269 แสนล้านหยวน

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (港珠澳大橋)

—–สะพานแห่งนี้แรกเริ่มจากโครงการสะพานข้ามอ่าวหลิงติงหยาง เมื่อค.ศ. 1983 ซึ่ง หูอิงเซียง (胡应湘) เศรษฐีชาวฮ่องกงมีความคิดจะเชื่อมระหว่างฮ่องกงกับจูไห่ ต่อมา ค.ศ. 2003 ก็ถูกแทนที่ด้วยโครงการสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า หลังจากผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 2009  โครงการนี้ก็เริ่มสร้างอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 และ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เปิดสะพานแห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2018 พร้อมประกาศให้รถวิ่งได้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2018 เวลา 9.00 น.

—–โครงการนี้ถูกออกแบบให้มีอายุใช้งานถึง 120 ปี สามารถทนต่อแผ่นดินไหวระดับ 8 และไต้ฝุ่นระดับ 16 พร้อมรับแรงกระแทก 30 ตัน รวมทั้งอุทกภัยและภาวะน้ำขึ้นบริเวณปากแม่น้ำจูเจียงได้  ดังนั้นวิศวกรชาวจีนจึงเลือกแผ่นเหล็กอัลลอยด์ที่ไม่เกิดสนิมและแข็งแรงทนทานกว่าเหล็กธรรมดาของบริษัทไท่หยวนเหล็กกล้า (บริษัทผลิตเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในจีน) ซึ่งได้คิดค้นและผลิตขึ้นเพื่อสร้างสะพานแห่งนี้ โดยเชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเหล็กขนาดใหญ่ประกอบเป็นตัวสะพานที่สมบูรณ์ จากนั้นต้องผ่านการตรวจสอบความเรียบร้อยอย่างละเอียด ค่อยเคลื่อนย้ายมาประกอบเป็นสะพาน

—–ปัญหาต่อมาคือ การสร้างสะพานแห่งนี้นอกจากจะกีดขวางการจราจรทางทะเลในอ่าวหลิงติงแล้ว ยังสร้างใกล้กับสนามบินแห่งชาติฮ่องกง จึงต้องออกแบบสะพานให้สูงพอและเต็มไปด้วยช่องมากมายให้เรือทั้งหลายลอดผ่านไปได้ อีกทั้งในบางช่วงก็สร้างเป็นอุโมงค์ใต้ทะเลลึกเพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดแล่นข้ามไปได้

—–สิ่งสำคัญที่สุดคือ โครงการนี้เป็นโครงการแห่งแรกที่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำจูเจียงแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์หายากชนิดหนึ่งคือโลมาสีขาว (พื้นที่นี้ถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเมื่อ ค.ศ. 2003) มากกว่า 2,000 ตัว เพื่อลดผลกระทบต่อโลมาสีขาวและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงความสมบูรณ์ไว้ให้มากที่สุด

—–สะพานแห่งนี้นอกจากเป็นเส้นทางการคมนาคมขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นสะพานประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อ 1 ประเทศ 2 ระบบโดยทอดผ่าน 3 เขตการปกครองเพียงแห่งเดียวในโลก ทำให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียง และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้ให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (港珠澳大橋)

—–การออกแบบสะพานแห่งนี้ ประกอบขึ้นจากหลายส่วนเข้าด้วยกัน โดยมีจุดสำคัญ เช่น สะพานหลัก 3 แห่ง อุโมงค์ใต้ทะเล 1 แห่ง เกาะเทียม 4 แห่ง เป็นต้น

  • สะพานชิงโจว (青州航道橋) เป็นสะพานแขวนรูปแบบเสาคู่ สายเคเบิลคู่  โครงสร้างเสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 163 เมตร ใช้สายเคเบิลทั้งหมด 112 เส้นขึงไว้ การออกแบบเสาได้รับแรงบันดาลใจจากการถักเชือกของจีน มีความหมายแฝงถึงการประสานความร่วมมือร่วมใจของดินแดนทั้งสาม

สะพานชิงโจว (青州航道橋)

 

  • สะพานเจียงไห่ (江海直達船航道橋) เป็นสะพานแขวนรูปแบบ 3 เสา สายเคเบิลเดี่ยวขึงตรงกลาง โครงสร้างเสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 105 เมตร ใช้สายเคเบิลทั้งหมด 42 เส้นจัดวางในรูปแบบพัด การออกแบบเสาได้รับแรงบันดาลใจจากโลมาขาว (จึงเรียกว่า เสาโลมาขาว) ของเขตอนุรักษ์ปลาโลมา มีความหมายแฝงคือ คนและธรรมชาติพัฒนาอย่างกลมกลืน แสดงถึงแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาประเทศ

สะพานเจียงไห่ (江海直達船航道橋)

 

  • สะพานจิ่วโจว (九州航道橋) เป็นสะพานแขวนขึงด้วยเสารูปเรือใบ โครงสร้างเสาเป็นเหล็ก สูงราว 120 เมตร การออกแบบเสาได้รับแรงบันดาลใจจากใบเรือสำเภา มีความหมายแฝงถึงการเดินทางสู่อนาคตที่กว้างไกลไพศาล

สะพานจิ่วโจว (九州航道橋) 

 

  • อุโมงค์ใต้ทะเล (海底隧道) เป็นอุโมงค์ใต้ทะเลที่ยาวที่สุด อยู่ลึกที่สุด มีอายุการใช้งานถึง 120 ปี และเป็นอุโมงค์ในน่านน้ำทะเลลึกเส้นทางแรกของจีน  อยู่ระหว่างเกาะลันเตา (Lantau Island) และสะพานชิงโจว มีความยาว 6.7 กิโลเมตร ลึก 40 เมตรจากผิวน้ำ โครงสร้างอุโมงค์ใต้ทะเลแห่งนี้ประกอบด้วย ท่อสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันแต่ละท่อมีความยาว 180 เมตร กว้าง 38 เมตร สูง 11.4 เมตร น้ำหนักราว 44,000 ตัน

อุโมงค์ใต้ทะเล (海底隧道)

 

—–เกาะเทียมทางตะวันออกและตะวันตก (東西人工島) เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างอุโมงค์ใต้ทะเลกับสะพานโดยการใช้แท่นเหล็กขนาดใหญ่ฝังลงไปในทะเลล้อมรอบเกาะเทียม เกาะเทียมแห่งนี้ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นทางทั้งหมด แบ่งเป็น

  • เกาะเทียมตะวันออก (東人工島) จัดวางเป็นรูปทรงรี มีความยาว 625 เมตร กว้าง 215 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 1 แสนกว่าตารางเมตร เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การจัดการ การบริการ การช่วยเหลือ และการทัศนศึกษา

เกาะเทียมตะวันออก (東人工島)

 

  • เกาะเทียมตะวันตก (西人工島) ออกแบบให้เป็นรูปหอยนางรม มีความยาว 625 เมตร กว้าง 190 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 1 แสนตารางเมตร เป็นพื้นที่ทำการของหน่วยดูแลรักษาสะพาน

เกาะเทียมตะวันตก (西人工島)

 

—–เกาะท่าเรือ 2 แห่งเชื่อมสามพื้นที่การปกครอง (三地口岸島) แบ่งเป็น

  • เกาะเทียมท่าเรือจู่ไห่มาเก๊า (珠澳口岸人工島) มีพื้นที่ 2,170,000 ตารางเมตร มีความกว้างราว 950 เมตร ความยาว 1,930 เมตร เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างโครงสร้างสะพานหลักของสะพานฮ่องกงจูไห่มาเก๊ากับแผ่นดินจูไห่-มาเก๊า และยังเป็นท่าเรือที่จะเชื่อมฮ่องกง จูไห่และมาเก๊าเข้าด้วยกันเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน แบ่งเป็นท่าเรือจูไห่ (珠海口岸) มีรูปร่างเป็นทรงรี  มีพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางเมตร และท่าเรือมาเก๊า (澳門口岸) มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ประมาณ 600,000 ตารางเมตร

เกาะเทียมท่าเรือจู่ไห่มาเก๊า (珠澳口岸人工島)

 

  • เกาะเทียมท่าเรือฮ่องกง (香港口岸人工島) มีพื้นที่ 1,500,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติฮ่องกงและ Tung Chung New Town

เกาะเทียมท่าเรือฮ่องกง (香港口岸人工島)

 

เรียบเรียงโดย เสี่ยวเฉิน