ไขข้อสงสัยสตรีจีนสมัยโบราณ

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์


 

——เพศหญิงเป็นเพศที่มีข้อจำกัดต่างๆ ในการดำรงชีวิตมากกว่าเพศชาย ทั้งในเรื่องสรีระ การให้กำเนิดบุตร ฐานะทางสังคม ฯลฯ โดยเฉพาะสตรีจีนสมัยโบราณซึ่งอยู่ภายใต้กรอบสังคม ความเชื่อและค่านิยมบางเรื่องอันเนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย และอาจไม่ได้เปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปมากนัก คำถามที่ฟังดูธรรมดาในปัจจุบันเมื่อได้คำตอบจากเรื่องราวในอดีตอาจทำให้ผู้คนสมัยนี้นึกไม่ถึงเลยก็ได้

ภาพถ่ายสตรีปลายสมัยราชวงศ์ชิง

สตรีจีนโบราณโกนขนหรือไม่

——สตรีจีนโบราณให้ความสำคัญแก่เรื่องความสวยความงาม โดยเฉพาะเรื่องเส้นขนเช่นเดียวกับสตรีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นด้ายสองเส้นหนีบกำจัดขนอ่อนบนใบหน้า หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘หมังหมิ่ง’ (挽面)

——อันที่จริงการใช้เส้นด้ายกำจัดขนอ่อนบนใบหน้าเป็นเทคนิคการเสริมสวยของชาวจีนในแถบเมืองเก่าหรือชนบทในพื้นที่หมิ่นหนาน (閩南) เช่น เซี่ยเหมิน (廈門) เฉวียนโจว (泉州) จางโจว (漳州) ซัวเถา (汕頭) แต้จิ๋ว (潮州) รวมทั้งไต้หวัน (台湾) ซึ่งนิยมทำกับผู้หญิงที่กำลังจะออกเรือนเพื่อให้ใบหน้าดูเกลี้ยงเหลา การทำหมังหมิ่งในสมัยก่อนต้องมีพิธีเซ่นไหว้และหญิงสูงวัยเป็นผู้ทำให้แก่เจ้าสาวเท่านั้น แต่เมื่อการทำหมังหมิ่งได้ผลดีจึงได้รับความนิยมและแพร่หลายไปยังผู้หญิงทั่วไป การทำหมังหมิ่งนิยมใช้เส้นด้ายที่ทำจากปอ แต่ปัจจุบันปอหายากมากขึ้น จึงใช้เส้นด้ายธรรมดาแทน

การทำหมังหมิ่งแถวถนนเจริญกรุง

——การทำหมังหมิ่งมีเรื่องราวความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-618) เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) ผู้หญิงที่รักสวยรักงามเริ่มใช้วิธีนี้เพื่อกำจัดขนในจุดอื่นๆ เช่น บริเวณหน้าแข้ง ฯลฯ

 

สตรีจีนสมัยโบราณใส่ชุดชั้นในหรือไม่

——เสื้อชั้นในของผู้หญิงจีนสมัยโบราณเรียกว่า ‘ตู้โตว’ (肚兜) มีลักษณะเป็นผืนผ้าคล้ายผ้ากันเปื้อน สำหรับคาดรอบอกและมีสายผ้าผูกที่คอกับเอว อาจมีกระเป๋าไว้ใส่ของกระจุกกระจิก คาดว่าตู้โตวเริ่มมีขึ้นเมื่อ 818 ปีก่อนคริสต์ศักราช คัมภีร์จั่วจ้วน 《左傳》ได้บันทึกเกี่ยวกับชุดที่เรียกว่าอี้ฝู (衵服) ซึ่งเป็นชุดที่ใส่แนบเนื้อ จึงคาดกันว่าชุดอี้ฝูเป็นต้นแบบของตู้โตวในยุคหลัง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เรียกเสื้อชั้นในว่า ‘อิง’ (膺) ส่วนสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) เรียกว่า ‘เป้าฟู่’ (抱腹) ผู้หญิงในสมัยราชวงศ์หมิงเริ่มคุ้นเคยกับการใส่ตู้โตว ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า ‘โตวจื่อ’ (兜子) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงจึงเรียกว่าตู้โตวตามที่ผู้คนในปัจจุบันคุ้นเคย

ตู้โตว

——ตู้โตวโดยมากเป็นทรงคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแนวตั้ง มักทำจากฝ้ายหรือไหม และมักใช้สีแดง ปักลวดลายงดงาม นอกจากมีประโยชน์เหมือนเสื้อชั้นในแล้ว ตู้โตวยังช่วยกันลมหนาวยามนอนหลับ ซึ่งผู้ชายมีฐานะบางคนก็นิยมใส่เช่นกัน

——ส่วนกางเกงชั้นในนั้น มีเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่าหากผู้หญิงโบราณมีประจำเดือนจะสวมกางเกงเก่าที่ตัดขาออกแล้วไว้ข้างใน เพื่อไม่ให้กางเกงข้างนอกเปื้อน ต่อมาผู้ชายเริ่มใส่ตาม จนพัฒนาเป็นกางเกงในเช่นสมัยปัจจุบัน

 

สตรีจีนสมัยโบราณใช้อะไรเป็น ‘ผ้าอนามัย’

——ผ้าอนามัยถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้หญิงอย่างมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าผ้าอนามัยแบบที่ใช้กันในปัจจุบันเพิ่งถูกคิดค้นขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในยุคที่ยังไม่มีผ้าอนามัย ผู้หญิงจีนในสมัยโบราณใช้อะไรแทน

——ผู้หญิงในสมัยโบราณใช้ใบไม้ หญ้าแห้ง หรือเปลือกไม้เพื่อซับประจำเดือน ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการถักทอผ้า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติอีกต่อไป จึงเปลี่ยนมาใช้ผ้าห่อวัสดุที่ซับได้ดีอย่างขี้เถ้าหรือพืชประเภทป่าน ปอ จากนั้นใช้เชือกร้อยที่ผ้าแล้วผูกกับเอว ผ้าอนามัยประเภทนี้เรียกว่า ‘ผ้ารอบเดือน’ (月事布) ซึ่งนำไปซักแล้วใช้ใหม่ได้ ผู้หญิงในยุคนั้นเก็บ ‘ผ้ารอบเดือน’ อย่างมิดชิด สามีบางคนแต่งงานมาเป็นสิบปียังไม่เคยเห็นผ้ารอบเดือนของภรรยาเลย

——หลังจากมีการประดิษฐ์กระดาษในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25-220) คนที่มีฐานะดีหน่อยมักใช้กระดาษราคาแพงแต่สะอาดใส่ในผ้ารอบเดือนแทน ส่วนประชาชนทั่วไปยังคงใช้ขี้เถ้าเช่นเดิม

 

สตรีจีนสมัยโบราณคุมกำเนิดอย่างไร

——ก่อนจะมีวิธีคุมกำเนิดแบบปัจจุบัน เช่น การกินยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย ฯลฯ ผู้หญิงทั่วไปรวมถึงผู้หญิงที่มีอาชีพโสเภณีในสมัยโบราณซึ่งมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อย่างมาก มีวิธีคุมกำเนิดอย่างไร

——คนโบราณบางกลุ่มเชื่อว่าการทากลิ่นชะมดบริเวณสะดือของผู้หญิงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ดังเช่นสองพี่น้องสาวงามในประวัติศาสตร์จีนอย่างฮองเฮาจ้าวเฟยเยี่ยน (趙飛燕 45-1 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และนางสนมจ้าวเหอเต๋อ (趙合德 45-7 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สมัยจักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้ (漢成帝 51-7 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็เคยมีบันทึกว่าใช้วิธีนี้

——ในหมู่ชาวบ้านมีบันทึกเกี่ยวกับตำรับยาลับจากในวังว่าดอกหญ้าฝรั่นช่วยคุมกำเนิดได้ เมื่อพระจักรพรรดิไม่โปรดจะมีลูกกับนางสนมคนไหน ก็สั่งให้ขันทีใช้น้ำดอกหญ้าฝรั่นล้างช่องคลอดของนางสนมคนนั้น เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยขจัดอสุจิได้

——นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าปรอทช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากใช้ในปริมาณเล็กน้อย โสเภณีบางยุคถูกหลอกให้ดื่มน้ำหรือน้ำชาที่ผสมปรอท โดยที่เจ้าตัวเข้าใจว่าเป็นขี้เถ้า

——เคยมีโสเภณีบันทึกเอาไว้ว่าก่อนรับแขก แม่เล้าให้ดื่มน้ำชนิดหนึ่ง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ดื่มแล้วไม่ตั้งครรภ์ เชื่อกันว่าน้ำชนิดนี้เป็นน้ำที่ชงด้วยจุกลูกพลับ หากดื่มน้ำต้มจุกลูกพลับ 7 ชิ้น ติดต่อกัน 7 วัน จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 1 ปี

จุกลูกพลับ

——นอกจากยาหรือสารบางชนิดที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังมีบันทึกเกี่ยวกับ ‘ถุงยางอนามัย’ ซึ่งทำมาจากไส้แกะ กระเพาะปัสสาวะหมู และถุงลมปลาอีกด้วย

 

สตรีจีนสมัยโบราณลดน้ำหนักอย่างไร

——สตรีในปัจจุบันอาจไปฟิตเนสหรือลดปริมาณอาหารหากต้องการมีรูปร่างผอมเพรียว แต่สตรีจีนโบราณมีวิธีลดน้ำหนักอย่างไร

——อันที่จริงผู้หญิงจีนสมัยโบราณให้ความสำคัญแก่รูปร่างมากกว่าผู้หญิงในปัจจุบันด้วยซ้ำ เห็นได้จากคำพูดโบราณที่ว่า “กษัตริย์ฉู่ชอบคนเอวบาง ในวังมากด้วยคนท้องหิว” (楚王好細腰,宮中多餓人) สะท้อนให้เห็นว่าสังคมสมัยนั้นมีค่านิยมเรื่องรูปร่างเช่นกัน ดังนั้นผู้หญิงโบราณจึงต้องควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งวิธีการหลักเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารเช่นเดียวกับปัจจุบัน คือต้องรับประทานอาหารซึ่งเครื่องปรุงมีสรรพคุณเป็นยา เช่น ฟักเขียว ซานจา (山楂) ซานเย่า (山藥) ที่มีสรรพคุณในการลดน้ำหนักและลดไขมัน นอกจากนี้ยังมีสูตรอาหารที่ช่วยลดความอ้วน เช่น โจ๊กลูกเดือย โจ๊กฟักเขียว โจ๊กใบบัว ฯลฯ บางตำรายังเชื่อว่าการกินกระบองเพชรช่วยลดความอ้วนได้

——สตรีในแต่ละยุคสมัยมีวิธีการลดน้ำหนักที่แตกต่างกัน เช่น การเต้นรำและร้องเพลง การฝังเข็ม การอังความร้อน การนวด หรือแม้กระทั่งการสวมเสื้อรัดเอวให้มีรูปร่างดี

 

จีนสมัยโบราณมีผู้หญิงรักร่วมเพศไหม

——ผู้หญิงรักร่วมเพศในสมัยโบราณเรียกว่า ‘หมัวจิ้ง’ (磨鏡) คำว่า 磨 หมายถึง บดหรือเสียดสี มาจากการเสียดสีร่างกายของผู้หญิงรักร่วมเพศ ส่วนคำว่า 鏡 หมายถึง กระจก มาจากอวัยวะเพศของผู้หญิงที่เรียบแบนเหมือนแผ่นกระจก

ภาพวาดผู้หญิงรักร่วมเพศในสมัยโบราณ

——ในราชสำนักจีนสมัยโบราณ ตำหนักฝ่ายในอันใหญ่โตมีนางสนมหรือนางกำนัลจำนวนมาก ผู้ชายซึ่งผู้หญิงเหล่านี้คลุกคลีได้คือพระจักรพรรดิหรือขันทีเท่านั้น เนื่องจากพระจักรพรรดิมีเพียงพระองค์เดียว ผู้หญิงฝ่ายในมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระจักรพรรดิไม่มากนัก จึงต้องหาวิธีปลดปล่อยทางเพศในรูปแบบต่างๆ เป็นธรรมดา เช่น การช่วยตัวเอง การมีสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ซึ่งส่วนใหญ่คู่รักร่วมเพศมักเป็นชนชั้นสูง เช่น พระสนมกับนางกำนัล หรือพระสนมด้วยกัน นอกจากนี้บางคนยังแอบลักลอบมีความสัมพันธ์กับองครักษ์หรือขุนนางที่เป็นเพศชายอีกด้วย

——ทั้งนี้ผู้หญิงในวังส่วนใหญ่ต้องอดทนต่อความเหงา คนที่ใจกล้าหน่อยถึงกับหลบหนีออกจากวัง เช่นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งซึ่งจักรพรรดิถังจงจง (唐中宗 ค.ศ. 656-710) เสด็จออกไปนอกพระราชวัง แล้วพบกับนางสนมและนางกำนัลจำนวนหนึ่งที่หลบหนีออกมา ส่วนคนที่ไม่กล้าหนีอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย เช่น โหวฟูเหริน (侯夫人) พระสนมในจักรพรรดิสุยหยางตี้ (隋煬帝 ค.ศ. 569-618) แต่เหตุการณ์เช่นนี้พบได้น้อยมาก

——ผู้หญิงในวังมีวิธีขจัดความเหงาและสนองความต้องการทางเพศ นอกวังก็มีผู้หญิงที่รักร่วมเพศเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นนักบวชหรือนักพรตหญิง

——นักบวชหรือนักพรตหญิงเฟื่องฟูอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) เป็นต้นมา ทว่าผู้คนทั่วไปไม่ได้รู้สึกดีต่อนักบวชหญิงเท่าไรนัก เพราะในสังคมที่มีเพศชายเป็นศูนย์กลางนั้นมองว่าเพศหญิงเป็นเพียงคนคอยรับใช้สามีและเลี้ยงดูบุตร ดังเช่นงานประพันธ์จีนในอดีตจำนวนมากที่มักเขียนถึงนักบวชหญิงในด้านลบ เช่น ลอบเป็นชู้กับผู้ชาย หรือรักร่วมเพศกันเอง

——เรื่องราวเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสตรีที่แตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ภูมิปัญญาและพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดต่างๆ ในทุกยุคทุกสมัย