ย้อนรอยตระกูลต้วนแห่งต้าหลี่
เรื่องโดย กงจื่อเสียน
——ในยุทธจักรอันกว้างใหญ่ ซึ่งเปี่ยมด้วยบรรดาจอมยุทธ์และวิทยายุทธ์สุดพิสดารนั้น “กระบี่เทพหกชีพจร” (六脈神劍) และ“ดรรชนีเอกสุริยัน” (一陽指) ถือว่าเป็นสองยอดกระบวนท่าของตระกูลต้วน (段氏) แห่งอาณาจักรต้าหลี่ (大理國 ค.ศ. 937–1094, 1096–1254)[1] ที่ยากจักหากระบวนท่าใดทัดเทียม
——หากผู้อ่านเป็นคอนิยายกำลังภายในของกิมย้งก็คงเคยทราบกิตติศัพท์ของ “ตระกูลต้วน” กันมาบ้าง เพราะเป็นที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่บ่อยครั้ง เช่น ตัวละครต้วนอี้ว์ (段譽) อ๋องน้อยเมืองต้าหลี่ ในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า《天龍八部》หรือ ต้วนจื้อซิง (段智興) กษัตริย์ต้าหลี่ หนึ่งในสี่จอมยุทธ์แห่งยุทธจักร ฉายาราชันทักษิณ (南帝) ในเรื่องมังกรหยก (ตำนานวีรบุรุษยิงอินทรี)《射雕英雄傳》แม้ยอดวิทยายุทธ์ รวมถึงเรื่องราวโลดโผนต่างๆ จะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้ประพันธ์ แต่ตัวละครเหล่านี้กลับถอดแบบมาจากบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
-
กำเนิดตระกูลต้วนแห่งอาณาจักรต้าหลี่
——เรื่องราวความเป็นมาของตระกูลต้วนแห่งต้าหลี่นั้น เริ่มตั้งแต่สมัยอาณาจักรน่านเจ้า (南詔國 ค.ศ. 738–902) ตอนปลาย ในช่วงเวลานั้นแผ่นดินลุกเป็นไฟ กษัตริย์น่านเจ้าถูกปลงพระชนม์และอาณาจักรน่านเจ้าก็ถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรต้าฉางเหอ (大長和國 ค.ศ. 902–928) อาณาจักรต้าเทียนซิง (大天興國 ค.ศ. 928–929) และอาณาจักรต้าอี้หนิง (大義寧國 ค.ศ. 929–937) ตามลำดับ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินถึงสามครั้งในระยะเวลาเพียงสามสิบห้าปีเช่นนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านตาดำๆ ต้องตกเป็นเหยื่อสงคราม ต้วนซือผิง (段思平 ค.ศ. 893–944) ผู้บัญชาการทหารอำเภอทงไห่ (通海節度使) ทายาทขุนศึกแห่งน่านเจ้า จึงได้ช่องซ่องสุมไพร่พลจากชนเผ่าต่างๆ และสามารถนำกำลังทหารโจมตีจนได้ชัยชนะอาณาจักรต้าอี้หนิงในที่สุด แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรต้าหลี่เมื่อค.ศ. 937 ตระกูลต้วนแห่งราชวงศ์ต้าหลี่จึงเริ่มปรากฏบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์จีนนับแต่นั้น
——หนังสือประวัติตระกูลต้วน《段氏世家》และหนังสือเกร็ดประวัติศาสตร์น่านเจ้า《南詔野史》ได้บันทึกเกี่ยวกับต้นตระกูลของต้วนซือผิงโดยสังเขปว่า เดิมเป็นชาวเมืองกูจาง (姑臧) แคว้นอู่เวย (武威) (เมืองอู่เวย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) บรรพบุรุษของเขามีนามว่า “ต้วนเจี่ยนเว่ย” (段儉魏) เป็นแม่ทัพของเก๋อหลัวเฟิง (閣羅鳳) กษัตริย์องค์ที่สองแห่งน่านเจ้า เขานำทัพชนะกองทัพราชวงศ์ถังในสงครามเทียนเป่า (天寶) จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางชิงผิง (清平官)[2] และมีนามพระราชทานว่า “จงกั๋ว” (忠國 ภักดีต่อชาติ) ถือศักดิ์เทียบเท่ามหาเสนาบดี และมีผู้สืบทอดเชื้อสายมาอีก 6 รุ่น จนถึงรุ่นของ “ต้วนซือผิง”
——หลังจากต้วนซือผิงปกครองต้าหลี่ ก็เริ่มปฏิรูปอาณาจักรในด้านต่างๆ ทั้งยกเลิกระบบทาส (奴隸制) เปลี่ยนเป็นใช้ระบบศักดินา (分封制) รวมถึงวางรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองของชนเผ่าไป๋ให้มั่นคง ต้าหลี่จึงกลายเป็นอาณาจักรที่มีความเป็นปึกแผ่น ส่วนกษัตริย์ต้วนซือผิงเองก็เป็นที่ยอมรับของอาณาประชาราษฎร์ เมื่อสวรรคต ประชาชนชาวไป๋พร้อมใจกันสร้างรูปปั้น วัดวาอาราม รวมถึงจัดพิธีสักการะเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ในทุกๆ ปี
-
ประเพณีการสละราชย์และออกผนวช
——พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ยูนนานหลังจากกลางคริสต์ศตวรรษที่ 8 และได้รับการอุปถัมภ์จากเชื้อพระวงศ์น่านเจ้าจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นเมื่อก่อตั้งอาณาจักรต้าหลี่แล้ว ตระกูลต้วนก็ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมเดิมของน่านเจ้าอยู่ พุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและระบบความคิดของตระกูลต้วน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม จนเกิดประเพณีการสละราชย์และออกผนวชขึ้นภายหลัง
——ครั้นกษัตริย์ต้วนซือผิงสวรรคต ต้วนซืออิง (段思英 ค.ศ. 916–967) พระโอรสจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ทว่ากลับโดนต้วนซือเหลียง (段思良 ค.ศ. 899–952) พระปิตุลาปลดจากตำแหน่งและส่งไปบวชเป็นภิกษุ แม้ต้วนซืออิงจะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของต้าหลี่ที่เสด็จเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็หาใช่ต้นคิดและเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่สละราชย์ออกผนวชไม่
——ในเวลาต่อมาต้วนซู่หลง (段素隆) กษัตริย์องค์ที่ 8 ของต้าหลี่ ไม่โปรดการบริหารบ้านเมือง จึงสละราชย์และออกผนวช การออกผนวชแม้มิใช่จารีตประเพณีที่พึงปฏิบัติอย่างขาดไม่ได้ แต่ก็มีกษัตริย์ต้าหลี่ถึง 9 พระองค์ที่เสด็จออกผนวช ทั้งนี้ มีผู้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการออกผนวชของเหล่ากษัตริย์ต้าหลี่ไว้ 4 ประการคือ
- เพลี่ยงพล้ำในการชิงอำนาจทางการเมือง จึงถูกปลดเป็นภิกษุ
- สถานะในราชบัลลังก์ไม่มั่นคงและถึงคราวอับจน จึงออกผนวชเพื่ออาศัยผ้าเหลืองคุ้มภัย
- ตระกูลเกากุมอำนาจ จึงถูกบีบให้ออกผนวช
- ปฏิบัติตามขัตติยประเพณี เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ กษัตริย์องค์เก่าจึงออกผนวช เพื่อเปิดทางให้กษัตริย์องค์ใหม่บริหารบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่
——อนึ่ง การออกผนวชยังอาจเป็นผลสืบเนื่องจากการรวมอำนาจอาณาจักรกับศาสนจักรของอาณาจักรน่านเจ้าและต้าหลี่ด้วย
-
การเรืองอำนาจของตระกูลเกา
——หลังจากกษัตริย์ต้วนซือเหลียงขึ้นครองราชย์ ก็มีผู้สืบสันตติวงศ์อีก 7 รุ่น ซึ่งใน 7 รุ่นนี้ก็ปรากฏทั้งกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา และกษัตริย์ที่ไม่ค่อยใส่พระทัยในงานราชกิจ
——ครั้นถึงรัชสมัยของกษัตริย์ต้วนซู่ซิง (段素興 ไม่ทราบปีเกิด–ราวค.ศ. 1044) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่หย่อนพระปรีชา ขาดความสามารถในการปกครอง สนพระทัยแต่สิ่งบันเทิงเริงรมย์ จึงถูกมหาเสนาบดีเกาจื้อเซิง (高智升) ปลดจากตำแหน่ง และสถาปนาต้วนซือเหลียน (段思廉 ค.ศ. 1027–ค.ศ. 1108) พระปนัดดา (เหลน) ของต้วนซือผิงขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ในช่วงที่ต้วนซือเหลียนครองแผ่นดิน ตระกูลหยางก่อการจลาจล และตระกูลเกา (高氏) มีบทบาทในการปราบจลาจลในครั้งนี้ สร้างความดีความชอบแก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง ตระกูลเกาจึงมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ในขณะที่พระราชอำนาจของกษัตริย์ตระกูลต้วนกลับลดน้อยถอยลง สามสิบปีต่อมา ต้วนซือเหลียนได้สละราชย์ให้แก่ต้วนเหลียนอี้ (段廉義 ไม่ทราบปีเกิด–ค.ศ. 1080) ผู้เป็นโอรส
-
เหล่าราชาแห่งยุทธจักรนิยาย
——หลังจากรัชสมัยของต้วนเหลียนอี้ บ้านเมืองปั่นป่วน เพราะมีการผลัดเปลี่ยนผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังถูกแทนที่ด้วยตระกูลขุนนางเช่น หยางอี้เจิน (楊義貞 ไม่ทราบปีเกิด–ค.ศ. 1080) ผู้ปลงพระชนม์ต้วนเหลียนอี้ และตั้งตนเป็นกษัตริย์แทน หรือเกาเซิงไท่ (高升泰 ไม่ทราบปีเกิด–ค.ศ. 1096) ผู้บีบต้วนเจิ้งหมิง (段正明) กษัตริย์หุ่นเชิดให้สละราชสมบัติ และเถลิงอำนาจในราชบัลลังก์เสียเองใน ค.ศ.1094 ทั้งยังเปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็น “ต้าจง” (大中) อีกด้วย แต่ต่อมาเกาเซิงไท่เห็นว่าประชาชนยังศรัทธาตระกูลต้วนอยู่ จึงสั่งเสียโอรสให้คืนราชบัลลังก์แก่ตระกูลต้วน
——ค.ศ. 1096 เมื่อเกาเซิงไท่สวรรคต ต้วนเจิ้งฉุน (段正淳) ขึ้นครองราชย์ ผู้ครองอาณาจักรต้าหลี่กลับเป็นคนตระกูลต้วนอีกครั้ง ต้าหลี่เข้าสู่ยุค “โฮ่วต้าหลี่” (後大理) หรือสมัยต้าหลี่ตอนปลาย อย่างไรก็ตาม อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่ในเงื้อมมือของตระกูลเกาดังเดิม สถานการณ์จึงกลายเป็นว่า “ตระกูลต้วนปกครองบ้านเมืองโดยปราศจากอำนาจ ตระกูลเกากุมอำนาจโดยมิได้ครองแผ่นดิน”
——กษัตริย์ต้วนเจิ้งหมิงและต้วนเจิ้งฉุนที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นต้นแบบของตัวละครชื่อเดียวกันในนิยายเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า องค์หนึ่งคือลุงผู้มีจิตใจเมตตา อีกองค์หนึ่งคือบิดาผู้มากรักของ “ต้วนอี้ว์” พระเอกตามท้องเรื่องนั่นเอง ในนิยายต้วนเจิ้งฉุนเป็นเพียงเจิ้นหนานอ๋อง (鎮南王) มิได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ซ้ำร้ายยังฆ่าตัวตายเพราะรัก ทว่าตามความเป็นจริง ต้วนเจิ้งฉุนทรงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 15 ของต้าหลี่
——ค.ศ. 1108 ต้วนเจิ้งฉุนสละราชย์และออกผนวช ต้วนเจิ้งเหยียน (段正嚴 ค.ศ. 1083–1176) พระโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ต้วนเจิ้งเหยียนมีอีกพระนามหนึ่งคือ “ต้วนเหออี้ว์” (段和譽) เป็นต้นแบบของตัวละคร “ต้วนอี้ว์” ในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า พระองค์มิได้ทรงช่ำชองกระบวนท่าอย่างกระบี่เทพหกชีพจร หรือพลังเทพภูติอุดร เฉกเช่นตัวละครในนิยาย แต่พระองค์ก็มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งบุ๋นและบู๊ ถือว่าเป็นกษัตริย์องค์สำคัญของต้าหลี่ ทรงครองราชย์นานถึง 41 ปี แม้จะตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของตระกูลเกา พระองค์ก็ยังคงบริหารแผ่นดินอย่างแข็งขัน สร้างความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960–1279) จนราชวงศ์ซ่งยอมรับสถานะกษัตริย์ต้าหลี่ บั้นปลายชีวิตของพระองค์เผชิญทั้งศึกนอกศึกใน จึงสละราชย์ให้แก่พระโอรส “ต้วนเจิ้งซิง” (段正興) และออกผนวชเช่นเดียวกับพระบิดา
——ครั้นถึง ค.ศ.1171 ต้วนจื้อซิง (段智興 ไม่ทราบปีเกิด–ค.ศ. 1200) หลานชายของต้วนเจิ้งเหยียนขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นต้นแบบของตัวละคร “อิดเต็งไต้ซือ” (一燈大師) ในเรื่องมังกรหยก ทว่าอันที่จริงพระองค์กลับมิได้มีพระปรีชาเท่าไรนักและยังมิเคยออกผนวชอีกด้วย พระองค์ไม่ใส่พระทัยความเป็นอยู่ของพสกนิกร แต่ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทรงสร้างวัดวาอารามถึง 60 แห่ง จนทรัพย์สินเงินทองในท้องพระคลังร่อยหรอ เป็นเหตุให้ต้าหลี่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
-
เส้นทางสู่กาลอวสาน
——ก่อนที่ต้าหลี่จะล่มสลาย ก็ยังมีช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นความหวังใหม่อยู่บ้าง กษัตริย์ต้วนจื้อเสียง (段智祥) ทรงปกครองแผ่นดินด้วยหลักคุณธรรม รู้จักมอบหมายหน้าที่แก่ผู้มีความสามารถ สถานการณ์บ้านเมืองจึงกระเตื้องขึ้น ทรงครองราชย์นานถึง 33 ปี ทว่าหลังจากนั้นต้าหลี่ก็เริ่มเสื่อมอำนาจ จนถึงคราวล่มสลายในรัชสมัยของกษัตริย์ต้วนซิงจื้อ (段興智 ไม่ทราบปีเกิด–ค.ศ. 1260)
——ค.ศ. 1252–1254 มองโกล (蒙古) ยกไพร่พลจากทางเหนือมาโจมตีอาณาจักรต้าหลี่ เดิมทีกำลังทหารต้าหลี่ก็มิได้อ่อนแอ เพียงแต่ตระกูลเกาต้องการลดทอนอำนาจของตระกูลต้วน จึงย้ายกำลังพลมีฝีมือของราชวงศ์มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของตน ในขณะเดียวกันก็ฝึกทหารในเขตแดนที่ตนดูแลอย่างจริงจัง กองกำลังในพระนครเลยย่อหย่อน เมื่อถึงเวลาต้องรบทัพจับศึกก็มิอาจต้านทานทัพมองโกลไว้ได้ ต้าหลี่จึงถูกยึดครองในที่สุด ถือเป็นการสิ้นแผ่นดินและสิ้นอำนาจวาสนาของตระกูลต้วนและตระกูลเกาแห่งต้าหลี่แต่เพียงนี้
รายพระนามกษัตริย์แห่งต้าหลี่
ลำดับ | พระนาม | ช่วงเวลาครองราชย์ | เหตุการณ์สำคัญ |
ต้าหลี่ตอนต้น (前大理 ค.ศ. 937 – 1094) | |||
1 | ต้วนซือผิง (段思平) | ค.ศ. 937–944 | ต้วนซือผิงก่อตั้งอาณาจักรต้าหลี่ |
2 | ต้วนซืออิง (段思英) | ค.ศ. 944–945 | ถูกต้วนซือเหลียงปลดเป็นภิกษุ |
3 | ต้วนซือเหลียง (段思良) | ค.ศ. 945–952 | ปลดหลานชายและขึ้นครองราชย์ |
4 | ต้วนซือชง (段思聰) | ค.ศ. 952–968 | ตระกูลเกาเริ่มมีบทบาทในราชสำนัก |
5 | ต้วนซู่ซุ่น (段素順) | ค.ศ. 969–985 | เผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน ทว่าสามารถยุติลงได้ |
6 | ต้วนซู่อิง (段素英) | ค.ศ. 986–1009 | เป็นกษัตริย์ที่ดี ใส่พระทัยอาณาประชาราษฎร์ |
7 | ต้วนซู่เหลียน (段素廉) | ค.ศ. 1009–1022 | |
8 | ต้วนซู่หลง (段素隆) | ค.ศ. 1023–1026 | สละราชย์ออกผนวช |
9 | ต้วนซู่เจิน (段素真) | ค.ศ. 1027–1041 | |
10 | ต้วนซู่ซิง (段素興) | ค.ศ. 1041–1044 | ถูกเกาจื้อเซิงปลด และแต่งตั้งต้วนซือเหลียนเป็นกษัตริย์ |
11 | ต้วนซือเหลียน (段思廉) | ค.ศ. 1044–1075 | สละราชย์ออกผนวช |
12 | ต้วนเหลียนอี้ (段廉義) | ค.ศ. 1075–1080 | ขุนนางหยางอี้เจินปลงพระชนม์ต้วนเหลียนอี้
และตั้งตนเป็นกษัตริย์ |
หยางอี้เจิน (楊義貞) | ค.ศ. 1080 | ครองราชย์ 4 เดือน ถูกตระกูลเกาสังหาร | |
13 | ต้วนโซ่วฮุย (段壽輝) | ค.ศ. 1080–1081 | ตระกูลเกาครองอำนาจในราชสำนัก สละราชย์ออกผนวชทั้งสองพระองค์ |
14 | ต้วนเจิ้งหมิง (段正明) | ค.ศ. 1081–1094 | |
ต้าจง (大中 ค.ศ. 1094–1096)
เกาเซิงไท่บีบต้วนเจิ้งหมิงให้สละราชย์ และเถลิงอำนาจในราชบัลลังก์เสียเอง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็นต้าจง |
|||
เกาเซิงไท่ (高升泰) | ค.ศ. 1094–1096 | ก่อนสิ้นใจ สั่งเสียให้บุตรชายคืนบัลลังก์แก่ตระกูลต้วน | |
ต้าหลี่ตอนปลาย (後大理 ค.ศ. 1096-1254)
เกาเซิงไท่เสียชีวิต และคืนบัลลังก์ให้แก่ตระกูลต้วน ต้วนเจิ้งฉุนขึ้นครองราชย์ ต้าจงกลับมาเป็นต้าหลี่อีกครั้ง |
|||
15 | ต้วนเจิ้งฉุน (段正淳) | ค.ศ. 1096–1108 | สละราชย์ออกผนวช |
16 | ต้วนเจิ้งเหยียน (段正嚴) | ค.ศ. 1108–1147 | ทรงครองราชย์ 41 ปี ยาวนานที่สุดในอาณาจักรต้าหลี่ บั้นปลายชีวิตสละราชย์ออกผนวช |
17 | ต้วนเจิ้งซิง (段正興) | ค.ศ. 1147–1171 | สละราชย์ออกผนวช |
18 | ต้วนจื้อซิง (段智興) | ค.ศ. 1172–1200 | อาณาจักรต้าหลี่เริ่มเสื่อมอำนาจ |
19 | ต้วนจื้อเหลียน (段智廉) | ค.ศ. 1200–1204 | |
20 | ต้วนจื้อเสียง (段智祥) | ค.ศ. 1205–1238 | ปกครองด้วยหลักคุณธรรม ต้าหลี่มีความหวังใหม่ |
21 | ต้วนเสียงซิง (段祥興) | ค.ศ. 1239–1251 | อาณาจักรต้าหลี่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง |
22 | ต้วนซิงจื้อ (段興智) | ค.ศ. 1251–1254 | |
ค.ศ. 1252–1254 ทัพมองโกลบุกโจมตีดินแดนต้าหลี่ จนต้าหลี่ถึงคราวล่มสลาย |
[1] ระหว่างค.ศ. 1094–1096 ถูกคั่นด้วยอาณาจักรต้าจง (大中) ของตระกูลเกา
[2] ขุนนางระดับสูงสุด ตำแหน่งรองจากกษัตริย์แห่งน่านเจ้า