วัดมหากตัญญุตา: วัดพุทธแห่งแรกทางตอนใต้ของจีน
โดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา
—–วัดต้าเป้าเอิน (大报恩寺 วัดมหากตัญญุตา) ตั้งอยู่นอกประตูจงหัว เขตฉินหวย นครหนานจิง เป็นวัดพุทธแห่งแรกและศูนย์กลางของพุทธศาสนาทางตอนใต้ของประเทศจีน ทว่าปัจจุบันกลับเหลือเพียงซากปรักหักพัง และเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสถานที่เดิมเพียงเท่านั้น
—–ก่อนที่วัดต้าเป้าเอินจะกลายสภาพเป็นดั่งปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน เริ่มจากคริสต์ศักราช 247 ซึ่งตรงกับยุคสามก๊ก ภิกษุฮุ่ยแห่งแคว้นคังจีว์ (康僧会) เยือนกรุงเจี้ยนเย่แห่งแคว้นอู๋ (吴国 ง่อก๊ก) เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา ซุนกวนเกิดศรัทธา จึงได้สร้าง วัดเจี้ยนชู (建初寺) ขึ้น พร้อมทั้งสร้างสถูปพระเจ้าอโศกมหาราช (阿育王塔) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
—–วัดแห่งนี้ผ่านการบูรณะและการเปลี่ยนชื่อมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น วัดฉางกาน (长干寺) ในสมัยราชวงศ์จิ้น วัดเป้าเอิน (报恩寺) สมัยแคว้นเฉินแห่งราชวงศ์เหนือใต้ วัดเทียนสี่ (天禧寺) สมัยราชวงศ์ซ่ง และวัดหยวนซิ่งฉือเอินจิงจงเจี้ยว (元兴慈恩旌忠教寺) สมัยราชวงศ์หยวน จนกระทั่งรัชศกหย่งเล่อปีที่ 6 แห่งราชวงศ์หมิง ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ณ วัดแห่งนี้ ทำให้สถาปัตยกรรมภายในวัดถูกเผาเป็นเถ้าธุลี ในรัชศกหย่งเล่อปีที่ 10 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (明成祖 ค.ศ. 1360 – 1424) จึงมีพระราชบัญชาให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด พร้อมทั้งสร้างเจดีย์กระเบื้องเคลือบเก้าชั้น (九层琉璃宝塔) บนที่ตั้งดั้งเดิม เพื่อรำลึกและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อจักรพรรดิหมิงไท่จู่ (明太祖
ค.ศ. 1328 – 1398) และจักรพรรดินีเสี้ยวฉือเกา (孝慈高皇后 ค.ศ. 1332 – 1382) ผู้เป็นพระราชบิดาและพระราชมารดา และพระราชทานนามให้วัดแห่งนี้ว่า “วัดต้าเป้าเอิน” (วัดมหากตัญญุตา)
—–ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เจดีย์กระเบื้องเคลือบเก้าชั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของหนานจิง ได้รับการขนานนามว่าเป็น โบราณวัตถุขนาดใหญ่แห่งประเทศจีน เครื่องเคลือบชิ้นใหญ่แห่งรัชศกหย่งเล่อ (中国之大古董,永乐之大窑器) ทั้งยังเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางอีกด้วย ถือเป็นสุดยอดเจดีย์ที่ไร้เจดีย์ใดเทียมได้ ทั้งนี้เพราะความสุดยอดสามประการ
(三绝) คือ
- ยิ่งใหญ่โอฬาร สูงตระหง่านเทียมฟ้า (巨构殊形,高耸云日) เจดีย์แห่งนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สูงอันดับต้นๆ ในจีนยุคโบราณ มีทั้งหมด 9 ชั้น สูงราว 80 เมตร เทียบเท่าตึก 26 ชั้นในปัจจุบัน ยอดเจดีย์ประดับด้วยทองคำบริสุทธิ์รูปทรงไข่มุก ใต้ชายคาทุกชั้นมีกระดิ่งที่ทำจากทองแดงห้อยอยู่ รวมทั้งหมด 152 ใบ ส่งเสียงดังกังวาลได้หลายลี้
- กระเบื้องเคลือบทั้งองค์ หนึ่งเดียวข้ามยุคสมัย (通体琉璃,独步古今) โครงสร้างหลักขององค์เจดีย์ใช้อิฐก่อขึ้น นอกจากไม้ที่ประดับบนยอดเจดีย์แล้ว ส่วนด้านนอกและด้านในล้วนใช้กระเบื้องเคลือบที่มีรูปแบบและสีสันที่แตกต่างกันในการตกแต่ง ทำให้ขั้นตอนในการก่อสร้างค่อนข้างซับซ้อน ระยะเวลาการก่อสร้างจึงใช้เวลานานถึง 17 ปี
- ราตรียืนยง ประทีบคงสว่างไสว (长夜深沉,佛灯永明) ในเจดีย์แห่งนี้ ทุกชั้นจะมีหน้าต่างทั้งหมด 8 บาน หน้าต่างทุกบานถูกปิดด้วยแผ่นเปลือกหอยที่มีความบางเป็นพิเศษ มีชื่อเรียกว่า “หมิงหว่า” (明瓦 กระเบื้องเรืองแสง) ซึ่งเป็นวัสดุที่ให้แสงสว่างได้ดี ทุกค่ำคืนจะมีพระสงฆ์ 100 รูปประจำเวร เพื่อจุดประทีบทั้งหมด 144 ดวงจนสว่างไสวไปทั่ว ไม่ว่าจะมืดสักเพียงใด ก็ยังเห็นแสงสว่างเจิดจรัสจากเจดีย์แห่งนี้
—–ทว่าสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นนี้ กลับต้องพังทลายลงด้วยภัยธรรมชาติจนต้องบูรณะครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งปลายราชวงศ์ชิง ยังถูกระเบิดจากเหตุการณ์กบฎไท่ผิง จนเหลือให้เห็นแต่เพียงซากปรักหักพังเท่านั้น
—–ค.ศ. 2007 สวนสาธารณะวัดต้าเป้าเอิน (大报恩寺遗址公园) ได้ถูกสร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดเดิม ระหว่างการบูรณะ ได้ขุดค้นพบตำหนักใต้ดินและพบกับ “สถูปสัตตมงคลพระเจ้าอโศก” (七宝阿育王塔) ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ ทำให้การบูรณะครั้งนี้ถูกขยายให้เป็นหนึ่งในสิบหกโครงการใหญ่ของเมืองหนานจิง ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2015 สวนสาธารณะวัดต้าเป้าเอินได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และเปิดให้เข้าชมได้ในวันถัดมา
—–หนึ่งทิวทัศน์สำคัญในสถานที่แห่งนี้ที่ไม่ควรพลาดก็คือ “เจดีย์ต้าเป้าเอิน” ที่ถูกสร้างแทนที่บนซากปรักหักพังของเจดีย์กระเบื้องเคลือบเก้าชั้น เหตุที่ไม่สร้างเจดีย์องค์ใหม่ตามรูปแบบของเจดีย์กระเบื้องเคลือบเดิม เป็นเพราะโครงสร้างของเจดีย์กระเบื้องเคลือบมีน้ำหนักมาก และจะต้องขุดถึงโครงสร้างด้านล่าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานรากจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบของเจดีย์
—–แม้จะน่าเสียดายที่ชนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เห็นเจดีย์กระเบื้องเคลือบเก้าชั้นอันแสนวิจิตร ทว่าเจดีย์องค์ใหม่ที่ถูกสร้างแทนองค์เก่าก็มีความประณีตงดงามและน่าสนใจไม่แพ้กัน เจดีย์องค์ใหม่นี้หลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่กับวัฒนธรรมโบราณเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว องค์เจดีย์ใช้โครงสร้างเหล็ก และกระจกใสน้ำหนักเบาในการก่อสร้าง มีความสูง 93.57 เมตร ยามค่ำคืนก็ใช้ไฟ LED เพื่อให้แสงสว่างไสวดั่งแสงแห่งธรรม การก่อสร้างด้วยวิธีเช่นนี้มิเพียงสวยงาม ทั้งยังเป็นการปกป้องโบราณสถานให้คงสภาพสมบูรณ์สืบต่อไป