ภาพเขียนกระจก
ศิลปกรรมจีนที่สร้างชื่อเสียงในตลาดยุโรป
เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์
——ศิลปะจีนมีเกียรติประวัติและพัฒนาการมาเนิ่นนาน ทั้งยังได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งนิยมนำศิลปะจีนมาประยุกต์ใช้กับสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ในบรรดางานศิลปกรรมจีนที่นำมาตกแต่งวัดวาอารามจำนวนมากในรัชกาลดังกล่าวนั้น ภาพเขียนกระจกกลับด้านแบบจีน (反向玻璃畫 Chinese Reverse Glass Painting) ถือเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่เสริมองค์ประกอบภายในพระอารามให้มีความงดงามยิ่งขึ้น แต่ความเป็นมาของภาพเขียนกระจกเหล่านี้ก็น่าสนใจและควรค่าแก่การเรียนรู้เช่นกัน
——“ภาพเขียนกระจกกลับด้าน” คือศิลปกรรมซึ่งใช้สีวาดภาพบนกระจกใสหรือกระจกเงาด้านหลัง เพื่อให้ปรากฏภาพบนกระจกด้านหน้า เป็นศิลปกรรมที่มีต้นกำเนิดในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางเป็นอย่างน้อย ภายหลังได้แพร่หลายไปยังหลายประเทศรวมทั้งจีนด้วย รูปแบบศิลปกรรมก็แตกต่างกันตามวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ภาพเขียนกระจกกลับด้านเข้าสู่แผ่นดินจีนครั้งแรกสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912) ในฐานะเครื่องราชบรรณาการซึ่งราชทูตประเทศตะวันตกนำมาทูลเกล้าฯ ถวายจักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654–1722)[1] ขณะเดียวกัน งานศิลปกรรมประเภทนี้ก็เป็นที่รู้จักในหมู่สามัญชนแถบมณฑลทางใต้ เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าชนิดนี้มากับเรือสินค้าตะวันตกด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิลปินชาวกว่างโจวจึงเป็นคนกลุ่มแรกที่เริ่มวาดภาพลักษณะนี้เลียนแบบตะวันตก
——ภาพเขียนกระจกกลับด้านเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชนชั้นสูงของจีน เพราะเมื่อลงสีลงบนกระจกเงาแล้ว ภาพก็จะดูวูบวาบจับตา และมีมิติแสงเงาอันชวนหลงใหล แม้ว่าการสร้างศิลปกรรมแบบนี้กำลังโรยราในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17–18 แต่กลับค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้นใหม่ในแผ่นดินจีน ช่างจีนวาดภาพเขียนกระจกกลับด้านโดยผสมผสานวิธีการวาดแบบตะวันตกกับวิธีการวาดแบบจีน สร้างสรรค์ผลงานที่มีทั้งภาพวิถีชีวิต ภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือนบุคคล ภาพเรื่องราวจากวรรณกรรมต่างๆ
——ภาพเขียนแต่ละอย่างมีวิธีการวาดที่แตกต่างกัน เช่นการวาดภาพบุคคล หากเป็นแบบจีนจะใช้ปลายพู่กันที่เล็กละเอียด มักตัดเส้นด้วยสีดำก่อนแต่งแต้มสีสันลงบนรูปบุคคล แล้วบรรจงวาดบรรยากาศภายในภาพเป็นขั้นตอนสุดท้าย ส่วนแบบตะวันตกจะใช้วิธีการวาดด้วยสีน้ำมัน ซึ่งดูเข้ม เผยให้เห็นกายวิภาคกล้ามเนื้อของใบหน้าอย่างชัดเจน หรือภาพธรรมชาติ ก็มีทั้งการใช้วิธีการวาดแบบจีนและแบบตะวันตก บ้างใช้สีน้ำมัน และบ้างก็ใช้สีชอล์ก ตามแต่ความถนัดของผู้วาด
——นอกจากศิลปินเมืองกว่างโจวแล้ว ราชสำนักชิงเองก็มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์จิตรกรประจำราชสำนักให้สร้างศิลปกรรมประเภทนี้ด้วย เช่น ในรัชกาลพระจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711–1799) จูเซปเป กาสติคลิโยเน (Giuseppe Castiglione ค.ศ. 1688–1766) หรือที่ชาวจีนรู้จักกันในชื่อ “หลางซื่อหนิง” (郎世寧) จิตรกรหลวงชาวอิตาเลียน ได้รับการอุปถัมภ์ให้สร้างภาพเขียนกระจกกลับด้านและมีการเก็บรักษาผลงานดังกล่าวไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม (故宮博物院) บ้างเป็นภาพแขวน และบ้างก็ถูกฝังประดับไว้บนฉากกันลม ภาพเขียนที่วาดขึ้นในพระราชวังมีความละม้ายภาพเขียนจีนโบราณ ต่างกับของกว่างโจวที่ค่อนข้างได้รับอิทธิพลตะวันตก
——ภาพเขียนกระจกกลับด้านแบบจีนถือเป็นศิลปกรรมที่มีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่น สามารถผสมผสานการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธีการวาดแบบตะวันตกกับแบบตะวันออกได้อย่างกลมกลืน เดิมทีเมืองกว่างโจวเคยเป็นตลาดรับซื้อภาพเหล่านี้ แต่เมื่อถึงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในทศวรรษ 1760 เมืองนี้กลับกลายเป็นศูนย์กลางในการส่งออกภาพเขียนกระจกกลับด้านที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคตะวันออกไกลไปยังยุโรป และทำให้ตลาดภาพเขียนกระจกกลับด้านในยุโรปเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง ลูกค้าที่ซื้อภาพเหล่านี้ล้วนเป็นชนชั้นสูงในยุโรป บางรายที่ชมชอบมาก เช่น ฟรานซิส แดชวูด ที่ 2 บารอนแห่งเดสเพนเซอร์ที่ 11 (Francis Dashwood 2nd , 11th Baron Le Despencer ค.ศ. 1708–1781) ได้จ้างศิลปินมาเขียนภาพทิวทัศน์แล้วส่งไปทำเป็นภาพเขียนกระจกกลับด้านที่เมืองจีน
——ภาพเขียนกระจกกลับด้านเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงในยุโรป เช่น อังกฤษ นครรัฐเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ นอกจากนี้ พ่อค้าชาวตะวันตกซึ่งทำการค้ากับจีนก็ยังว่าจ้างช่างจีนให้วาดภาพเหมือนของตนเองในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
——แม้ราชสำนักชิงถึงคราวตกต่ำในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ภาพเขียนกระจกกลับด้านจากจีนก็ยังคงเป็นศิลปหัตถกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับกันว่าภาพเขียนกระจกกลับด้านเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการศิลปะยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ศิลปินตะวันตกอย่างฟรานซ์ มอริตซ์ วิลเฮล์ม มาร์ค (Franz Moritz Wilhelm Marc ค.ศ. 1880–1916) ชาวเยอรมัน และวาสซิลี คันดินสกี (Wassilli Kandinsky ค.ศ. 1866–1944) ชาวรัสเซีย ต่างได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนแผ่นกระจกผ่านภาพเขียนกระจกกลับด้านของจีน มีหลักฐานว่ามาร์คและคันดินสกีได้เขียนจดหมายโต้ตอบกันเรื่องวิธีการวาดภาพเขียนกระจกกลับด้านบ่อยครั้ง
——อนึ่ง ภาพเขียนกระจกกลับด้านยังได้รับความนิยมในประเทศสยามด้วย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ช่วง ค.ศ. 1824–1851) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลายแห่ง ภาพเขียนกระจกกลับด้านหลายแผ่นถูกสั่งเข้ามาเป็นของแต่งพระอารามเหล่านี้ มีทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพสัตว์ต่างๆ ภาพเหตุการณ์จากวรรณคดีจีน เช่นเรื่องสามก๊ก《三國演義》 ถือเป็นอิทธิพลด้านศิลปะของจีนที่ส่งผลต่อศิลปะไทย[2] แต่หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว ตลาดภาพเขียนกระจกกลับด้านในสยามก็ดูเหมือนจะซบเซาลง
——หลังจากทศวรรษ 1840 จีนเผชิญหายนะครั้งใหญ่ เพราะผลแห่งการทำสงครามฝิ่นกับชาติตะวันตก การส่งออกภาพเขียนกระจกกลับด้านของจีนไปยังยุโรปจึงเป็นอันสิ้นสุดลง ภาพเขียนกระจกกลับด้านเลยพลอยเสื่อมความนิยมในประเทศตะวันตกด้วย แต่ศิลปกรรมประเภทนี้ก็ยังคงมีผู้สืบทอด และแพร่หลายจากกว่างโจวไปยังถิ่นอื่นของจีน ภาพเขียนกระจกกลับด้านจึงดำรงอยู่ในประเทศจีนต่อมาจนถึงปัจจุบัน
——ในช่วงที่ชาวจีนย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนโพ้นทะเลนับแต่ปลายสมัยราชวงศ์ชิงจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน ก็ได้นำวัฒนธรรมภาพเขียนกระจกกลับด้านไปเผยแพร่ด้วย เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งนิยมภาพเขียนบนแผ่นกระจกอย่างยิ่ง มีชาวจีนกวางตุ้งอพยพไปอยู่ที่นั่นมาก และพวกเขาได้สร้างสรรค์ภาพเขียนกระจกกลับด้านให้กลายเป็นศิลปกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะในเวียดนาม นั่นคือภาพเขียนบูชาเทพเจ้าประจำบ้าน มีทั้งแบบที่วาดและลงสีพื้นหลังสองมิติ กับแบบที่วาดเป็นสามมิติบนกระจกเงาทั่วไป ปัจจุบันช่างผู้วาดภาพเขียนกระจกกลับด้านยังคงมีอยู่ในย่านเจอเลิน นครโฮจิมินห์ซิตี เวียดนาม ร้านค้าย่านนี้นอกจากผลิตสินค้าจำหน่ายในเวียดนามแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายในฮ่องกงอีกด้วย อนึ่ง ภาพเขียนกระจกกลับด้านแบบเทพประจำบ้านนี้ยังพบได้ในอีกหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย
——ไม่เพียงนำมาใช้เขียนภาพบูชาเทพเจ้าตามบ้านเท่านั้น แต่ในเวียดนามยังปรากฏการใช้ภาพเขียนกระจกกลับด้านเพื่อเป็นของประดับรถเข็นขายอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวของคนจีน รถเข็นแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงก่อนไซง่อนแตกเมื่อค.ศ. 1975 และทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่ประปราย
——ปัจจุบัน ภาพเขียนกระจกกลับด้านของจีนนับว่าเป็นศิลปวัตถุสูงค่าในตลาดซื้อขายของโบราณ (บางชิ้นมีราคาสูงถึง 10,000 กว่าดอลลาร์สหรัฐ) และเป็นงานหัตถศิลป์ที่วงวิชาการทั้งจีน ตะวันตก และประเทศอื่นๆ สนใจศึกษากันในวงกว้าง นั่นย่อมแสดงว่าศิลปกรรมอันงามประณีตนี้ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลาไม่เสื่อมคลาย
[1] หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า ภาพเขียนกระจกกลับด้านเข้ามาถึงเมืองจีนพร้อมกับเรือสินค้าและมิชชันนารีโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง
[2] เรียกวิธีการที่นำแบบอย่างศิลปะของจีนมาดัดแปลงหรือประกอบในงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และมัณฑนศิลป์ของไทยว่า “กระบวนจีน”