อิทธิพลของเรื่องสยองขวัญ

และภูตผีปีศาจจีนในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์

 

ภาพพิมพ์ในพระราชวังโจ้วหวัง (土紂王館の段) แสดงตำนานปีศาจจิ้งจอกแห่งสามแผ่นดิน (จีน อินเดีย และญี่ปุ่น – 三国妖狐伝) ผลงานของศิลปินญี่ปุ่นยุคเอโดะ คัตสึชิกะ โฮคุไซ (葛飾北斎 ค.ศ. 1760-1849) (ภาพจาก British Museum)

——ญี่ปุ่นเป็นชาติหนึ่งที่รับวัฒนธรรมจากจีนมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581 – 619) ของจีนเป็นอย่างน้อย วัฒนธรรมจีนได้กลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในหลายด้าน รวมถึงสิ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของญี่ปุ่นอย่างตำนานภูตผีปีศาจและสิ่งมีชีวิตพิสดาร ซึ่งวัฒนธรรมจีนก็สามารถแทรกซึมเข้าไปได้อย่างแนบเนียน ภูตผีปีศาจของจีนจำนวนหนึ่งจึงเข้าไปโลดแล่นในปกรณัมภูตผีปีศาจของญี่ปุ่นด้วย

 

  • สิ่งมีชีวิตพิสดารจากคัมภีร์ซานไห่จิง          

——ซานไห่จิง《山海經》หรือคัมภีร์ขุนเขามหาสมุทร เป็นตำราประมวลสภาพภูมิประเทศ สิ่งมีชีวิตพิสดาร และเรื่องปรัมปราของจีน เชื่อกันว่าตำราดังกล่าวแต่งขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์เซี่ย (夏 ราว 2,070 – 1,600 ปีก่อนค.ศ.)[1] ของจีน ซานไห่จิงน่าจะเข้าสู่ญี่ปุ่นในสมัยนาระที่กำลังเปิดรับวัฒนธรรมจีนยุคนั้น ซึ่งตรงกับรัชกาลพระจักรพรรดิถังจงจง (唐中宗 ค.ศ. 656 – 710) แห่งราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618 – 907) ราชสำนักญี่ปุ่นได้ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีและนำเอกสารวรรณคดีจีนจำนวนมากกลับไปญี่ปุ่นด้วย รวมทั้งคัมภีร์ซานไห่จิง

——ใน ค.ศ. 1997 มีการค้นพบม้วนไม้ไผ่คัมภีร์ซานไห่จิงสมัยนาระที่จังหวัดนีงาตะ (新潟县) หลังจากสมัยนาระ ซานไห่จิงได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน อิทธิพลของซานไห่จิงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะ และสิ่งมีชีวิตพิสดารในซานไห่จิงก็กลายเป็นโยไก (妖怪) หรือสิ่งมีชีวิตพิสดารในปกรณัมญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

การปราบปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง (ภาพต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติไดเอ็ตญี่ปุ่น)

——สิ่งมีชีวิตพิสดารในซานไห่จิงที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง คือจิ้งจอกเก้าหาง (九尾狐狸) หรือคิวบิ โนะ คิซึเนะ (九尾の狐) จิ้งจอกเก้าหางถือเป็นสัตว์ประหลาดในซานไห่จิงที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และโชซอน (เกาหลี) จิ้งจอกเก้าหางปรากฏตัวบ่อยครั้งในตำนานและงานศิลปะญี่ปุ่นยุคจารีต  เช่น เรื่องทามาโนะโนมาเอะ《玉藻前》แต่งในสมัยมูโรมาจิและนำมาแต่งเสริมในยุคเอโดะ กล่าวถึงจิ้งจอกที่ปลอมตัวไปเป็นพระสนมในราชสำนักญี่ปุ่นสมัยเฮอัน  กวีในสมัยเอโดะ (江戸 ค.ศ. 1603-1868) ไขความเรื่องดังกล่าวว่า แท้จริงแล้วปีศาจจิ้งจอกเก้าหางก็คือพระสนมต๋าจี่ (妲己) ในเรื่องห้องสิน《封神演義》สมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368 – 1644) ของจีน พระสนมต๋าจี่รอดจากการถูกประหารชีวิตเมื่อราชวงศ์ซาง (商 ราว 1,600 – 1,046 ปีก่อนค.ศ.) ล่มสลาย ก่อนจะลี้ภัยไปเป็นมเหสีของราชากัลมาษบาทแห่งแคว้นมคธ[2] ในอินเดียอยู่ชั่วระยะเวลาไม่นาน ครั้นเกิดความวุ่นวายในแคว้นมคธ นางจิ้งจอกเก้าหางได้หลบหนีกลับสู่เมืองจีน ปลอมตัวเป็นพระสนมเปาซื่อ (褒姒) ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周 1046 – 771 ปีก่อนค.ศ.) และก่อความวุ่นวายขึ้นอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งราชวงศ์โจวตะวันตกล่มสลาย นางจิ้งจอกเก้าหางจึงเดินทางไปยังญี่ปุ่นและเร้นกายอยู่หลายปี ก่อนแปลงเป็นหญิงสาวแล้วเข้าไปเป็นพระสนมในราชสำนักจักรพรรดิโทบะ ครั้งนี้นางปีศาจพยายามจะปลงพระชนม์พระจักรพรรดิเพื่อดูดพลังชีวิต แต่ถูกจับได้และถูกฆ่าในที่สุด ต่อมามีการต่อเติมเรื่องราวเมื่อ ค.ศ. 1653 ว่า ศพของนางจิ้งจอกเก้าหางได้กลายเป็นหินอยู่ในจังหวัดโทจิงิ มีชื่อเซ็ชโชเซกิ (殺生石) แปลว่าหินคร่าชีวิต เพราะเชื่อกันว่าถ้าไปสัมผัสหรือแตะต้องเข้าจะตายทันที

——เรื่องของจิ้งจอกเก้าหางในญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากจีนผ่านตำราซานไห่จิง แล้วผสมกลมกลืนกับเรื่องห้องสินที่น่าจะเข้าสู่ญี่ปุ่นผ่านการติดต่อกับจีนตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์หมิงจนถึงต้นราชวงศ์ชิง  อันเป็นช่วงเวลาที่มีการพิมพ์หนังสือทั้งงานเก่าและงานใหม่จำนวนมาก เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาขึ้น

——นอกจากเรื่องปีศาจจิ้งจอกเก้าหางอันลือชื่อแล้ว งานจิตรกรรมชิ้นเอกของญี่ปุ่นชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการศึกษาเรื่องภูตผีปีศาจญี่ปุ่นอย่าง สมุดภาพกระบวนแห่ปีศาจราตรีร้อยชนิด (百鬼行夜) ยังปรากฏภาพปีศาจและสิ่งมีชีวิตพิสดารซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ซานไห่จิง เช่น ปีศาจโดโนะซุระ (胴面) ผู้ซึ่งใบหน้าอยู่ตรงหน้าอกและมีลักษณะเหมือนกับสัตว์ประหลาดที่ชื่อ สิงเทียน (刑天) ในซานไห่จิง หรือปีศาจอินุกามิ / อินุไก (犬神/犬怪) ผู้ซึ่งใบหน้าเป็นสุนัข และมีลักษณะเหมือนกับสัตว์ประหลาดที่ชื่อ เทียนโก่ว (天狗) ในซานไห่จิง นั่นแสดงให้เห็นว่าปีศาจและสิ่งมีชีวิตพิสดารจำนวนหนึ่งในความเชื่อญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากซานไห่จิงด้วย

——ไม่เพียงสารพัดสิ่งมีชีวิตพิสดารในคัมภีร์ซานไห่จิงเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อระบบความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจในสังคมญี่ปุ่น แต่ตำนานเรื่องภูตผีวิญญาณของจีนบางเรื่องยังเข้ามามีบทบาทในปกรณัมปรัมปราญี่ปุ่นด้วย นอกจากเรื่องพระสนมต๋าจี่ในห้องสินแล้ว อีกเรื่องหนึ่งซึ่งกลายเป็นตำนานผีญี่ปุ่นอันโด่งดังก็คือเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น”

 

  • โคมไฟโบตั๋นและเรื่องลี้ลับจากเอโดะ

——นิยายลี้ลับของญี่ปุ่นที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันในระดับสากลเรื่องหนึ่งคือ โคมไฟโบตั๋น (牡丹燈籠 โบตันโดโร) ผลงานของอะไซ เรียวอิ (浅井了意 ค.ศ. 1612 – 1691) ภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในเกียวโตสมัยเอโดะตอนต้น ท่านแต่งเรื่องนี้ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1666 เพื่อเป็นบทละครสำหรับแสดงหุ่นมือญี่ปุ่น และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชม

——ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สมัยใหม่ในยุคเมจิ (明治 ค.ศ. 1868 – 1912) มีการดัดแปลงบทของเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น” สำหรับแสดงเป็นละครประเภทรากูโงะ(落語)[3] ในค.ศ. 1884 และดัดแปลงเป็นบทละครคะบุกิ (歌舞伎) เริ่มแสดงใน ค.ศ. 1892 ทั้งยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

——“โคมไฟโบตั๋น” เป็นเรื่องของซามูไรชั้นล่างกับบุตรีของซามูไรชั้นสูงที่ชะตาชีวิตถูกลิขิตให้มาพบรักแต่ไม่อาจครองคู่กันได้ด้วยความแตกต่างทางฐานะ ต่อมาฝ่ายหญิงเกิดล้มป่วยและสิ้นใจพร้อมกับพี่เลี้ยงที่ตายตกตามกัน วิญญาณของทั้งสองได้ไปหาฝ่ายชายในคืนเทศกาลโอะบง[4] การพบกันอีกครั้งทำให้ซามูไรดีใจมาก และทั้งคู่ก็เริ่มใช้ชีวิตด้วยกันอย่างลับๆ ในบ้านของซามูไรผู้ไม่เฉลียวใจว่าคนรักตายแล้ว ซามูไรมองเห็นหญิงสาวและพี่เลี้ยงในลักษณะของคนปกติ แต่เพื่อนบ้านกลับเห็นหญิงสาวในลักษณะของโครงกระดูก เพื่อนบ้านจึงแอบบอกความจริงให้ซามูไรทราบ ซามูไรจึงไปขอคำปรึกษาจากนักบวชและนำป้ายเครื่องรางมาติดหน้าบ้านไว้ ก่อนจะหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน ฝ่ายวิญญาณหญิงสาวและพี่เลี้ยงเมื่อเข้าบ้านไม่ได้ก็เฝ้าพร่ำเพรียกเรียกหาคนรักอยู่ข้างนอกทุกค่ำคืน จนฝ่ายชายทนไม่ไหว เปิดประตูบ้านออกมา จึงถูกฆ่าตายในที่สุด

——ส่วนสำนวนคะบุกิมีความว่า ซามูไรนั้นซูบผอมตรอมตรมเพราะความคิดถึงหญิงคนรัก ทั้งยังกลัวจนหัวหด คนรับใช้ในบ้านเห็นนายระทมขมขื่นหนักก็สงสารเลยเอาเครื่องรางออกไป วิญญาณหญิงสาวและพี่เลี้ยงจึงเข้ามาในบ้านได้ และฆ่าซามูไรตายในคืนนั้นเอง

——นักวิชาการร่วมสมัยทั้งจีน ญี่ปุ่น และชาวตะวันตก เห็นตรงกันว่าเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น” นี้ พระอะไซ เรียวอิ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น”《牡丹通記》ในหนังสือรวมนิทานสยองขวัญ เรื่องเล่าใหม่ตอนดับโคม《剪燈新話》ของฉีว์โย่ว (瞿佑) ซึ่งกล่าวถึงบัณฑิตหนุ่มเมืองหนิงปัวได้พบรักกับหญิงสาวที่ถือโคมไฟดอกโบตั๋นมาเที่ยวกับพี่เลี้ยงในคืนเทศกาลหยวนเซียว ขณะที่ความรักกำลังหวานชื่น ชายหนุ่มก็รู้ความจริงจากชายชราเพื่อนบ้านว่าหญิงคนรักเป็นปีศาจโครงกระดูกขาวที่ตายมานานแล้ว ส่วนพี่เลี้ยงแท้จริงคือหุ่นกระดาษที่เตรียมไว้เผาส่งให้ผู้วายชนม์ บัณฑิตหนุ่มรีบไปขอความช่วยเหลือจากนักพรตเต๋าและได้รับเครื่องรางมาป้องกันตัว แต่แล้ววันหนึ่ง เขากลับลืมคำแนะนำจากนักพรตเสียสนิท ปีศาจสาวและพี่เลี้ยงจึงหาตัวพบ แล้วลากเขาลงไปขังไว้ในโลงศพหญิงสาวจนตายและกลายเป็นปีศาจในที่สุด ปีศาจหญิงสาว บัณฑิตหนุ่ม และนางพี่เลี้ยงออกก่อความวุ่นวายจนชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวน สุดท้ายนักพรตที่เคยช่วยเหลือชายหนุ่มจึงต้องขันอาสามาช่วยจับปีศาจทั้งสามเผาไฟ เรื่องร้ายเลยคลี่คลายในตอนจบ

การพบกันของบัณฑิตหนุ่มกับปีศาจสาวและนางพี่เลี้ยงในคืนเทศกาลโคมไฟ ในเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น” (ฉบับจีน) (ภาพพิมพ์หินเขียว จากสมุดภาพ 畫傳剪燈新話 พิมพ์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1889)

——เมื่อนำเนื้อหาและสำนวนใน “โคมไฟโบตั๋น” สองฉบับ คือฉบับของจีนและของญี่ปุ่นสำนวนเก่า มาเปรียบเทียบก็พบว่าคล้ายกันมาก ความแตกต่างอาจมีเพียงตอนจบ และบริบททางสังคมในเรื่องที่มีการดัดแปลงให้เข้ากับสภาพสังคมญี่ปุ่น เช่น ดัดแปลงเทศกาลหยวนเซียวเป็นเทศกาลโอะบง เปลี่ยนนักพรตเต๋าเป็นนักบวชในพุทธศาสนาของญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น

ภาพพิมพ์แกะไม้เรื่องโคมไฟโบตั๋น (ฉบับญี่ปุ่น) ฝีมือโยชิโทชิ สึกิโอกะ แกะในค.ศ. 1881 (ภาพจาก THE ART GALLERY OF SOUTH AUSTRALIA)

——นอกจากเรื่อง “โคมไฟโบตั๋น” แล้ว วิลเลียม ดี.เฟลมิง (William D.Fleming) นักวิชาการด้านวรรณคดีเปรียบเทียบชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีญี่ปุ่น ได้ตั้งข้อสังเกตว่านิทานสยองขวัญหลายเรื่องที่แต่งในสมัยเอโดะนั้น มีเนื้อหาคล้ายกับเรื่องสยองขวัญอันลือชื่อของจีนที่แต่งในสมัยต้นราชวงศ์ชิงอย่าง เหลียวจายจื้ออี้”《聊齋志異》ของผูซงหลิง (蒲松齡 ค.ศ. 1640 – 1715) เนื่องจากเรื่อง “เหลียวจายจื้ออี้” ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังครั้งแรกในรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ อันเป็นยุคใหม่ของญี่ปุ่นแล้ว และความนิยมเกี่ยวกับนิยายจีนเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเช่นกัน ความคล้ายกันดังกล่าวจึงพอจะเป็นเครื่องยืนยันถึงการรับอิทธิพลจีนเข้ามายังญี่ปุ่นของคนชั้นสูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญที่สามารถเข้าถึงภูมิปัญญาจีนโบราณได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างสรรค์งานเขียนเกี่ยวกับภูตผีปีศาจที่แพร่หลายในสังคมญี่ปุ่น

——ทั้งนี้บริบทสังคมก็ส่งผลให้นักประพันธ์ในสมัยเอโดะของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจีนด้วย นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการพิมพ์ในเมืองจีนแล้ว ทางการญี่ปุ่นสมัยเอโดะยังอนุญาตให้พ่อค้าต่างชาติอย่างพ่อค้าจีนเข้ามาประกอบการที่ท่าเรือเมืองนางาซากิ (長崎) ได้ ส่วนชนชั้นสูงญี่ปุ่นสมัยเอโดะก็ศึกษาวิทยาการของจีนควบคู่กับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมของจีนรวมถึงเรื่องภูตผีปีศาจและนิยายสยองขวัญจึงได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังญี่ปุ่นอย่างง่ายดาย

——ภูตผี สิ่งมีชีวิตพิสดาร และเรื่องสยองขวัญอันโดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึงในสังคมญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งนั้น จึงเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอดีตที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และเป็นสิ่งแทนความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในสมัยโบราณด้วย


[1] ยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดนัก แต่ตำรานี้น่าจะมีมาก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 ราว  206 ปีก่อนค.ศ. – ค.ศ. 220) เนื่องจากบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้《史記》ของซือหม่าเชียน (司馬遷) ได้กล่าวถึงประวัติของคัมภีร์นี้ไว้ และมีการปรับปรุงเนื้อหาในคัมภีร์แล้วตีพิมพ์สืบมา

[2] ราชาในตำนานอินเดียที่กลายเป็นรากษส และฆ่าคนจำนวนมาก ตำนานนี้กล่าวว่าพฤติกรรมดุร้ายนั้นเกิดจากการยุยงของจิ้งจอกเก้าหาง แต่บางตำนานก็เล่าว่า นางจิ้งจอกได้เข้าสู่อินเดียในยุคของพระเจ้าพินทุสาร ต่อมาถูกพระเจ้าอโศกมหาราชจับได้จึงหนีกลับแผ่นดินจีน

[3] ละครญี่ปุ่นประเภทหนึ่งที่แสดงในลักษณะของการเล่านิทาน

[4] เทศกาลโอะบง (お盆) เป็นเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของญี่ปุ่น เรื่อง “โคมไฟโบตั๋น” ฉบับดั้งเดิมในสมัยเอโดะกล่าวว่า ซามูไรกับวิญญาณหญิงสาวและพี่เลี้ยงเพิ่งรู้จักกันครั้งแรกในเทศกาลนี้ จากนั้นจึงเริ่มคบหากันโดยที่ฝ่ายชายไม่ทราบว่าอีกฝ่ายเป็นวิญญาณ