ถอดรหัสความหมายมงคลชื่ออาหารจีน
เรื่องโดย สวิตตา พงษ์ดนตรี
“ประชาราษฎร์ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร”
(民以食為天)
อัญพจน์ข้างต้นเป็นวาทะอันโด่งดังในหนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์” (史記) ซึ่งเรียบเรียงโดย ซือหม่าเชียน (司馬遷 ราว 145 หรือ 135 – 86 ปีก่อน ค.ศ.) ในยุคราชวงศ์ฮั่น (漢) ข้อความดังกล่าวสะท้อนคตินิยมของสังคมจีนว่า “อาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้คน” ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนยังได้กำหนดความหมายอันดีงามให้แก่อาหาร เพื่อแสดงถึงความปรารถนา ความเชื่อ หรือเพื่อเป็นสิริมงคลในพิธีสำคัญ และเป็นสื่อสัญญะทางวัฒนธรรมไปยังผู้พบเห็น ซึ่งอาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจภาษาจีน ล้วนสามารถเข้าถึงความหมายที่แฝงอยู่ได้
อาหารจีนหลายชนิด ซึ่งมีความหมายมงคลที่เกี่ยวพันกับเทศกาล คติชาวบ้าน รวมถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนนั้น สามารถแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้
- อาหารมงคลในเทศกาลหรือวันสำคัญตามประเพณี
เกี๊ยว (餃子) : ชาวจีนทางเหนือนิยมรับประทานเกี๊ยวในวันตรุษจีน (春節) เนื่องจากเกี๊ยวมีลักษณะคล้ายกับ “หยวนเป่า” (元宝) ซึ่งเป็นเงินก้อนหรือทองแท่งสมัยโบราณ ดังนั้นการรับประทานเกี๊ยวจึงสื่อความหมายโดยปริยายถึง ความร่ำรวย และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
บัวลอย (元宵) : ขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ชาวจีนทางเหนือเรียกว่า “หยวนเซียว” ชาวจีนทางใต้เรียกว่า ทังหยวน (湯圓) นิยมรับประทานในเทศกาลหยวนเซียว (元宵節) หรือ เทศกาลโคมไฟ (燈節) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินกสิกรรมของจีน
คำว่า หยวน (元 yuán) ในชื่อขนมบัวลอย พ้องเสียงกับคำว่า หยวน (圓 yuán) ซึ่งหมายถึง “ความกลมเกลียว” สอดคล้องกับคตินิยมของชาวจีนที่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า มีความสมัครสมานสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
บ๊ะจ่าง (粽子) : อาหารซึ่งชาวจีนนิยมรับประทานในเทศกาลตวนอู่ (端午節) หรือที่คนไทยคุ้นหูว่าเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินกสิกรรมของจีน เนื่องจากคำว่า 粽子 (zòng zi) ในภาษาจีนกลาง ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า 眾子 (zhòng zi) แปลว่า “มากด้วยบุตรชาย” หรือ “中子” (zhòng zi) แปลว่า “กำเนิดบุตรชาย” ดังนั้นการรับประทานบ๊ะจ่างจึงแฝงไว้ซึ่งความหมายให้ผู้รับประทานมีทายาทหรือครอบครัวที่เจริญรุ่งเรือง
อนึ่ง คำว่า “บ๊ะจ่าง” เดิมเป็นภาษาถิ่นฮกเกี้ยน หมายถึง ขนมข้าวเหนียวห่อใบไผ่ มีไส้หลากหลายทั้งคาวและหวาน ขึ้นกับความนิยมของแต่ละท้องที่ หลายแห่งใช้เป็นอาหารมงคลประกอบพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในเทศกาลตวนอู่ เพื่อระลึกถึง กวีชวีหยวน (屈原 ราว 343 – 278 ปีก่อน ค.ศ.) ขุนนางตงฉินแห่งแคว้นฉู่ (楚) และในหลายท้องที่ยังมีจัดกิจกรรมแข่งเรือมังกรประจำปีอีกด้วย
ขนมไหว้พระจันทร์ (月餅): ขนมที่นิยมรับประทานในเทศกาลจงชิว (中秋節) หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินกสิกรรมของจีน
“餅” (bǐng) คือขนมที่ทำด้วยแป้งและมีไส้ต่างๆ คนไทยรู้จักในชื่อ “ขนมเปี๊ยะ” ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว ด้วยมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม และรูปทรงกลมแบนคล้ายพระจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนวันจงชิว จึงใช้เป็นเครื่องเซ่นเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ในวันดังกล่าว ทั้งนี้ การรับประทานขนมไหว้พระจันทร์มีความหมายอันดี สื่อถึงความสามัคคี (团结) ความกลมเกลียว (团圆) และความเป็นสิริมงคล (吉利)
- อาหารมงคลที่สะท้อนความเชื่อโบราณเรื่องการมีทายาท
เนื่องด้วยสังคมจีนสมัยก่อนให้ความสำคัญแก่ “การมีบุตรเพื่อสืบวงศ์ตระกูล” จึงเห็นว่าพืชบางชนิดเป็นอาหารมงคล เพราะมีเมล็ดจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความงอกงาม เช่น ถั่วลิสง (花生) ทับทิม (石榴) ลำไย (桂圓) ฟักทอง (南瓜) แตงโม (西瓜) พุทราแดง (紅棗) เม็ดบัว (蓮子) ฯลฯ อาหารจำพวกนี้ไม่ปรากฏความหมายมงคลในชีวิตประจำวัน แต่จะสื่อความหมายมงคลเมื่อนำไปเป็นเครื่องแสดงความยินดีแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน และอวยพรให้ทั้งคู่มีลูกไวๆ หรือมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
ตัวอย่างเช่น เมื่อนำตัวอักษรจากชื่ออาหาร 4 ชนิดมาประสมกัน ได้แก่ 棗 (พุทรา) 生 (ถั่วลิสง) 桂 (ลำไย) และ 子 (เม็ดบัว) จะพ้องเสียงกับคำอวยพรในภาษาจีนว่า 早生貴子 (zǎo shēng guì zǐ) ซึ่งหมายความว่า “ขอให้กำเนิดบุตรที่สูงส่งในเร็ววัน” (มีลูกชายมากมายไว้สืบสกุล)
- อาหารที่มีความหมายมงคลเพราะลักษณะภายนอก
ชาวจีนกำหนดความหมายมงคลให้แก่อาหารด้วยคติความเชื่ออันหลากหลายมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาหารบางชนิดสื่อความหมายมงคลได้ตามลักษณะที่ปรากฏให้เห็น เช่น
- เส้นบะหมี่ (麵條) เป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน
- ลูกบัวลอย (湯圓) เป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่กลมเกลียว
- ข้าวโพดทั้งฝัก (玉米) เป็นสัญลักษณ์ของทอง เพราะมีสีเหลืองอร่ามดั่งทอง
- ข้าวสาร (大米) เป็นสัญลักษณ์ของเงินตรา เพราะเป็นโภคทรัพย์ที่มีค่า
- ไข่ปลา (鱼卵) เป็นสัญลักษณ์ของความมีลูกดก
- อาหารที่มีความหมายมงคลเพราะลักษณะพิเศษ
อาหารบางชนิดสื่อความหมายมงคลตามลักษณะเฉพาะที่ปรากฏ เช่น
ข้าวเหนียว (糯米飯) ถือเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพอันแน่นแฟ้น เพราะมีความเหนียวแน่น เสมือนความสัมพันธ์ที่สนิทสนม ผูกพันกัน
อ้อย (甘蔗) หรือ น้ำผึ้ง (蜂蜜) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวานชื่นของชีวิตคู่ เพราะมีรสชาติอันหอมหวาน ตัวอย่างเช่น คำอวยพรคู่สมรส “祝福生活甜蜜!” ซึ่งหมายความว่า ขออวยพรให้ชีวิต (มีความสุข) หวานปานน้ำผึ้ง
- อาหารที่มีความหมายมงคลเพราะพ้องเสียงกับคำมงคล
อาหารบางชนิดสื่อความหมายมงคลได้ด้วยเหตุที่เป็นคำพ้องเสียง กล่าวคือ ชื่อเรียกของอาหารมีการออกเสียงที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันกับคำที่มีความหมายมงคล ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ปลา (魚 yú) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ เพราะออกเสียงคล้ายกับ 餘 (yú) ที่แปลว่า “เหลือ” จึงเกิดคำอวยพรปีใหม่ว่า 年年有魚 (nián nián yǒu yú) หมายความว่าเหลือกินเหลือใช้ทุกปี
ส้ม (桔 jú) ถือเป็นสัญลักษณ์มงคล เพราะออกเสียงคล้ายกับ 吉 (jí) แปลว่า โชคดีและเป็นสิริมงคล จึงเกิดคำอวยพรปีใหม่หรือฉลองการเปิดกิจการค้าขายว่า 大吉大利 (dà jí dà lì) แปลว่า มหามงคล มหาลาภ
แอปเปิ้ล (蘋果 píng guǒ) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบ ปลอดภัย หรือสันติสุข เพราะคำว่า 蘋 (píng) พ้องเสียงกับ 平 (píng) ซึ่งย่อมาจาก 平安 (píng ān) แปลว่า ปลอดภัย สงบสุข หรือ 和平 (hé píng) แปลว่าสันติสุข จึงมีคำอวยพรสำหรับวาระต่างๆ เช่น
- 出入平安 chū rù píng ān เดินทางเข้าออกก็ขอให้ปลอดภัย
- 四季平安 sì jì píng ān ขอให้ปลอดภัยตลอดสี่ฤดู
- 闔家平安 hé jiā píng ān ขอให้ทั้งครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข
ขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลี (糕 gāo) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าและเลื่อนขั้นตำแหน่ง เพราะออกเสียงพ้องกับ 高 (gāo) แปลว่า สูง มีคำอวยพรเพื่อให้การงานก้าวหน้าว่า 年年高升 (nián nián gāo sheng) หมายความว่า (ขอให้) เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทุกปี
ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงนำอาหารมงคลจำพวก ขนมเข่ง (年糕 nián gāo) ที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว หรือขนมถ้วยฟู (发糕 fā gāo) มาเซ่นไหว้เทพเจ้าบรรพบุรุษ และมอบให้แก่กันในงานฉลองปีใหม่จีน เพื่ออธิษฐานหรืออวยพรให้เจริญก้าวหน้าทุกปี และมีความรุ่งเรืองในชีวิต
ผักกาดหอม (生菜 shēng cài) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย เพราะออกเสียงพ้องกับ 生財 (shēng cái) หมายถึง เกิดทรัพย์ มีคำอวยพรสำหรับการค้าขาย เป็นต้นว่า 和氣生財 (hé qì shēng cái) ความปรองดองก่อให้เกิดความมั่งคั่ง
สาลี่ (梨 lí) ถือเป็นสัญลักษณ์ของการได้เงินได้ทอง เพราะออกเสียงใกล้เคียงกับ 利 (lì) แปลว่า กำไร หรือผลประโยชน์ เช่น 一本萬利 (yì běn wàn lì) หมายถึง ลงทุนสิ่งใด (ขอให้) ได้กำไรมหาศาลเป็นหมื่นเท่า แต่ถ้าผู้พูดต้องการอวยพรอีกฝ่ายให้ทำงานราบรื่น ปราศจากอุปสรรค ก็สามารถใช้คำว่า 吉祥順利 (jí xiáng shùn lì) ซึ่ง 利 ในที่นี้หมายถึงความราบรื่นและความเป็นสิริมงคล
อาหารที่ได้รับการกำหนดความหมายมงคลในด้านต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นอาหารที่มนุษย์ใช้บริโภคในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อาหารมงคลดังกล่าวนอกจากสะท้อนความปรารถนาของผู้คนที่ต้องการให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่นและสะดวกสบายแล้ว ยังสื่อความหมายโดยนัยถึงวัฒนธรรม คตินิยม ขนบธรรมเนียมของชาวจีนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย