วัดหงฝ่า:
วัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเซินเจิ้น

เรื่องโดย สุชานันท์ อินทร์แก้ว


ขอขอบคุณรูปจาก http://www.foyuanzhilu.com/

——วัดหงฝ่า (弘法寺) สร้างขึ้นในค.ศ. 1983 เป็นวัดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อค.ศ. 1949 ตัววัดตั้งอยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์เซียนหู (仙湖植物园) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเซินเจิ้น (深圳) มณฑลกวางตุ้ง (广东) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30,000  ตารางเมตร อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังประกอบไปด้วย วิหาร ห้องโถง อาคาร และศาลา รวมกว่า 40 หลัง ทำให้วัดหงฝ่าได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเซินเจิ้น

——วัดหงฝ่าเป็นวัดพุทธนิกายฌาน (禅宗) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “นิกายเซน” ด้านหน้าวัดคือทะเลสาบเซียนหู (仙湖) ด้านหลังคือภูเขาอู๋ถง (梧桐山) อาคารหลักที่น่าสนใจประกอบไปด้วย วิหารไตรทวาร (三门殿) วิหารท้าวจตุโลกบาล (天王殿) และพระมหาอุโบสถ (大宗宝殿) นอกเหนือจากอาคารดังกล่าวแล้ว พื้นที่รอบบริเวณยังมีวิหารและพระอุโบสถให้ได้เยี่ยมชมมากมาย เช่น วิหารเจ้าแม่กวนอิม (观音殿) วิหารบูรพาจารย์ (祖师殿)  วิหารพระสังฆารามโพธิสัตว์ (伽蓝殿) วิหารพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (地藏殿) ฯลฯ อนึ่ง วัดหงฝ่าแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดเก็บพระธาตุของพระเถระเปิ่นฮ่วน (本焕长老)[1]  อดีตเจ้าอาวาสอีกด้วย

พระเถระเปิ่นฮ่วน | ขอขอบคุณภาพจาก https://www.hongfasi.net/

ขอขอบคุณรูปจาก http://www.foyuanzhilu.com/

  • วิหารไตรทวาร

——วิหารไตรทวาร (三门殿) เป็นประตูทางเข้าวัดพุทธในประเทศจีน โดยปกติจะมี 3 บานเรียงชิดติดกัน บานตรงกลางจะเป็นบานใหญ่ที่สุด อีกสองบานข้างๆ จะเป็นประตูเล็ก ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า “ไตรทวาร” (三门)

——วิหารไตรทวารของวัดหงฝ่าเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการหลุดพ้น 3 ประการ ประกอบไปด้วยประตูสุญญตะ (空门) ประตูอนิมิตตะ (无相门 ไร้รูป) และประตูอัปปณิหิตะ (无愿门 ไร้ปรารถนา) ทางขึ้นบันไดก่อนเข้าวิหารมีรูปปั้นสิงโตตัวใหญ่ 2 ตัวตั้งอยู่เป็นดั่งผู้อารักขา เมื่อเขาไปข้างในจะเจอรูปปั้นของเทพทวารบาล (金刚力士) อยู่ 2 องค์ เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งการพิทักษ์ปกป้องในศาสนาพุทธ พระพักตร์ของเทพทั้งสองดุดันบึ้งตึง องค์ที่อยู่ทางซ้ายจะอ้าพระโอษฐ์ มีชื่อว่าเทพวัชรคุยหปติ (密迹金刚)  เป็นเทพที่คอยคุ้มครองครรภธาตุมณฑล (胎藏界)[2] และเป็นดั่งสัญลักษณ์ของพละกำลังที่มากมายอย่างไม่มีสิ้นสุด ในขณะที่องค์ทางขวาซึ่งก็คือพระนารายณ์ (那罗延天) จะปิดพระโอษฐ์ เป็นเทพที่คอยคุ้มครองวัชรธาตุมณฑล[3](金刚界)  และเป็นสัญลักษณ์ของกำลังที่ถูกเก็บซ่อนไว้

 

  • วิหารท้าวจตุโลกบาล (天王殿)

——เมื่อเข้าไปด้านในวิหาร จะพบเจอกับพระพุทธรูปของพระศรีอริยเมตไตรย์ (弥勒佛) สัญลักษณ์ของความสุขและความอุดมสมบูรณ์ ข้างองค์ของท่านจะมีรูปปั้นของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช (持国天王)  ประจำทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกมหาราช (增长天王) ประจำทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์มหาราช (广目天王)  ประจำทิศประจิม และท้าวเวสสุวัณมหาราชา (多闻天王)  ประจำทิศอุดร

 

  • พระมหาอุโบสถ (大雄宝殿)

ภายในพระมหาอุโบสถ | ขอขอบคุณภาพจาก http://www.hongfasi.net/

——ด้านในพระมหาอุโบสถจะมีพระพุทธรูปทองคำอยู่ 3 องค์ให้เหล่าพุทธศาสนิกชนสักการะ องค์กลางคือพระศากยมุนีพุทธเจ้า (释迦牟尼佛)  ทางซ้ายมือคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (文殊菩萨)  และทางขวามือคือพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (普贤菩萨)  พระพุทธรูปองค์เล็กที่อยู่ทางซ้ายมือของพระศากยมุนีพุทธเจ้าคือพระมหากัสสปะ (摩诃迦叶)  ส่วนทางขวาจะเป็นพระอานนท์ (阿难) นอกจากพระพุทธรูปที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในอุโบสถยังมีรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมในปางต่างๆ ให้ได้เข้าไปเยี่ยมชมและสักการะบูชา

 


[1] อดีตเจ้าอาวาสวัดหงฝ่า ประธานกิตติมศักดิ์รุ่นที่ 8 ของสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน ได้รับการขนานนามว่า “ปรมาจารย์ด้านพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน” (中国佛门泰斗)

[2] ครรภธาตุมณฑล (胎藏界) มีความหมายว่าภาวะอันแท้จริงของพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ในสรรพสัตว์ แต่ยังไม่ได้สําแดงให้ปรากฏ แสดงถึงภาวะอันแท้จริง และคุณลักษณะของพระตถาคต เป็นความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมนตรยาน

[3] วัชรธาตุมณฑล (金刚界) หมายถึง สัญลักษณ์ในทางปัญญาอันคมกล้าที่สามารถตัดอวิชชาได้ แสดงถึงปัญญาคุณของพระตถาคตซึ่งมีอยู่ในสรรพสัตว์