—–อักษร 冲 (chōng อ่านว่า ชง) ในภาษาจีนปัจจุบัน มีที่มาจากอักษร 2 ตัว —–1. 沖 (chōng อ่านว่า ชง) เอาเสียงจากคำว่า 中 (zhōng อ่านว่า จง) ความหมายของอักษร 氵 (น้ำ) ซึ่งรูปเต็มเป็น 水 รวมกันแล้วหมายถึง น้ำกระฉอก น้ำพุ่งขึ้น ต่อมาความหมายขยายตัวไปอีกหลายประการ ความหมายที่คุ้นกันดีคือ เทน้ำใส่ เช่น 沖茶 (chōng chá อ่านว่า ชงฉา) เสียงแต้จิ๋วว่า ชงเต๊ หมายถึง ชงชา คำนี้ภาษาไทยยืมมาใช้จนติดอยู่ในภาษา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามความหมายว่า “ก. เทน้ำร้อนลงบนใบชาหรือสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น เพื่อสกัดสาร กลิ่น หรือรสที่ต้องการ เช่น ชงชาจีน ชงชาดอกคำฝอย, ใช้น้ำร้อนทำให้ละลาย เช่น ชงนม, เทน้ำร้อนจากกาลงในภาชนะอื่นในคำว่าชงน้ำร้อน เช่น ชงน้ำร้อนใส่กระติก” ปัจจุบันเขียนลดรูปเป็น 冲 —–2. 衝 (chōng อ่านว่า ชง) เดิมเขียน ? มาจากอักษร 行 (เดิน แถว แนว ทาง) แล้วแยกเป็น 彳 亍 แทรกอักษร童 (tóng อ่านว่า ถง) ลงตรงกลาง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอักษร 重 (chóng อ่านว่า ฉง) เอาเสียงของอักษร 重 รวมกับความหมายของอักษร 行 แล้ว หมายถึง เส้นทางยาวใหญ่ไปได้ทั่วทุกถิ่น ต่อมาความหมายขยายตัวเป็น ทางแยกกว้างใหญ่ไปได้ทั่วทิศ เพราะทางกว้างใหญ่ควบขับยวดยานพาหนะได้สะดวกรวดเร็ว ความหมายจึงขยายต่อเป็น พุ่งโผน ชน กระแทก กระทบกระทั่ง แล้วขยายเพิ่มเป็น ฝ่า บุก บุกรุก โจมตี ขัดแย้ง ล่วงเกิน มุ่ง มุ่งสู่ ที่สำคัญอันคนทั่วไปสนใจคือความหมายเชิงโหราศาสตร์จีน ซึ่งเราใช้ทับศัพท์ว่า “ชง” ความหมายนี้รูปอักษรดั้งเดิมคือ ? แต่รูปมาตรฐานที่ใช้มานานสองพันกว่าปีคือ 衝 —–คำว่า “ชน” ในภาษาไทยน่าจะมาจากความหมายหนึ่งของอักษร 衝 นี่เอง แต่จะเป็นคำยืมมาจากภาษาจีนตั้งแต่โบราณหรือเป็นคำที่จีนและไทยใช้ร่วมกันมาแต่ดั้งเดิม เป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้าต่อไป —–ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปฏิรูปอักษรให้ง่ายขึ้น เขียนสะดวกขึ้น เป็นอักษรตัวตัด (简体字) อักษร 衝 และ 沖 จึงเขียนเป็น 冲 เหมือนกัน แต่ในพจนานุกรมจะแยกเป็น 冲1 (沖) กับ 冲2 (衝) ซึ่งตัวที่สองอ่านได้ 2 เสียงเป็น chōng (ชง) และ chòng (ช่ง) ซึ่งกลายเสียงกลายความหมายมาจาก chōng (ชง) ต่อไปจะอธิบายเฉพาะเสียง chōng (ชง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า “ชง” ทางโหราศาสตร์จีน —–ปัจจุบันอักษร 冲 (chōng อ่านว่า ชง) มีหลายความหมาย ต้องดูคำที่ผสมหรือซ้อนอยู่จึงจะรู้ความหมายได้ชัดเจน เฉพาะ 冲2 (衝) มีความหมายที่สำคัญคือ เส้นทางใหญ่ยาว (街冲) ทางแยก สถานที่สำคัญ (要冲) ศูนย์กลางคมนาคม (冲要) พุ่งเข้า (冲刺) ชน กระแทก ปะทะ (冲撞) กระแทก ตี โจมตี (冲击) บุก บุกโจมตี (冲锋) ขัดแย้ง (冲突) บุกรุก-รุกล้ำ ล่วงเกิน-ขัดแย้ง (冲犯) —–คำว่า “ชง” (冲 / 衝) ตามหลักโหราศาสตร์จีนนั้นเป็นความหมายเก่าที่สืบทอดมาตามความเชื่อและศาสตร์เฉพาะวิชาของจีน จะแปลอย่างมักง่ายตามความหมายในปัจจุบันไม่ได้ ต้องหาเค้าเงื่อนตามความหมายเก่าที่คลี่คลายมาตามลำดับและคำอธิบายตามศาสตร์เฉพาะทางของจีน —–ผู้เขียนดูรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่วงก่อนเที่ยงของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันจ่ายของไหว้ตรุษจีน วิทยากรในรายการอธิบายว่า “ชง” คือ ชน ซึ่งไม่ค่อยถูก เพราะถ้าแปลคำว่า ชน กลับเป็นจีนก็คือ 冲撞 (chōng zhuàng อ่านว่า ชงจ้วง) แสดงว่าผู้อธิบายไม่รู้หนังสือจีน —–ตามความเข้าใจเชิงโหราศาสตร์จีนอย่างชาวบ้าน ชง คือ ขัดแย้ง เข้ากันไม่ได้ เช่น ก. ชงกับ ข. ก็คือ ก. กับ ข. เข้ากันไม่ได้หรือขัดกันตามเกณฑ์โหราศาสตร์จีน ไม่ใช่ชนหรือปะทะกัน ปีชวดชงกับปีมะเส็ง (สมมุติ) หมายถึง คนที่เกิดสองปีนี้มีดวงขัดกันหรือเข้ากันไม่ได้ คงไม่ถึงชนหรือปะทะกันตามความหมายในภาษาไทย —–ชง ในความหมายว่า ขัดแย้งกันตามหลักโหราศาสตร์จีนน่าจะตรงกับภาษาจีนว่า 冲突 (chōng tū อ่านว่า ชงทู หมายถึง ขัดแย้ง) หรือ 冲犯 (chōng fàn อ่านว่า ชงฟ่าน หมายถึง ล่วงเกิน ขัดแย้ง) มากกว่า ชน ปะทะ ซึ่งภาษาจีนใช้ว่า 冲撞 มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) เล่ม 3 อธิบายคำ 衝 (冲chōng อ่านว่า ชง) และคำผสมที่เกิดจากคำนี้ไว้ในหน้า 1083-1090 มีความหมายของ “ชง” ในเชิงโหราศาสตร์จีนอยู่ในคำ 衝犯 (chōng fàn อ่านว่า ชงฟ่าน แต้จิ๋วอ่าน ชงหวม) ดังนี้ 衝犯 (chōng fàn) 1. ฝ่า กระทบ (冲冒, 触犯) 2. บุกรุก (进犯) 3. ล่วงเกิน ปะทะ ขัดแย้ง (冒犯, 冲撞) 4. ความเชื่องมงายในอดีตอย่างหนึ่ง เชื่อว่าธาตุทั้ง 5 (ปัญจธาตุ) ขัดข่มกันอยู่ (旧时一种迷信说法,谓五行相冲克) สองคำสุดท้ายในคำนิยามของความหมายนี้คือ冲克 (chōng kè อ่านว่า ชงเค่อ) คำ 冲 ก็คือ ขัดแย้ง 克 คือ ข่ม ปราบ เอาชนะกัน นี่เองคือที่มาของคำว่า “ชง” ในเชิงโหราศาสตร์จีน —–คำอธิบายนี้อิงอยู่กับหลักปัญจธาตุหรือธาตุทั้ง 5 (五行) ของปรัชญาสำนักยินหยาง (阴阳家) ตามหลักปรัชญาสำนักยินหยางถือว่าโลกนี้มีธาตุมูลฐานอยู่ 5 อย่างคือ ดิน (土) น้ำ (水) ไฟ (火) ไม้ (木) และโลหะ (金) คำสุดท้ายนี้มักแปลผิดเป็นทอง อักษร 金 (jīn อ่านว่า จิน แต้จิ๋วอ่าน กิม) แปลว่าโลหะ หรือทองคำ แต่ในเรื่องปัญจธาตุ หมายถึง โลหะ สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีธาตุเหล่านี้ประกอบหรือกำกับอยู่ เช่น เรื่องทิศและสีประจำทิศ —–เรื่องปีนักษัตร ปีเกิดของคนก็มีธาตุประจำปีซึ่งแยกย่อยเป็นยิน (阴) กับหยาง (阳) —–ธาตุดินประจำปีเกิดรวม 4 ปี นอกนั้นธาตุละสองปี โดยแยกเป็นยินกับหยาง —–ธาตุทั้งห้านี้ให้กำเนิด และขัดข่มกันเองเป็นวงจร คือ ธาตุดินให้กำเนิดโลหะ โลหะให้กำเนิดน้ำ น้ำให้กำเนิดไม้ ไม้ให้กำเนิดไฟ ไฟให้กำเนิดดิน ในแง่การขัดข่มกัน ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มโลหะ โลหะข่มไม้ ไม้ข่มดิน เป็นวงจรดังภาพประกอบ —–ธาตุที่เป็นคู่ให้กำเนิดนั้นช่วยเหลือกัน ส่วนคู่ขัดข่มนั้นควบคุมข่มกัน แต่แยกออกจากกันไม่ขาด มีคู่ให้กำเนิดสิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น มีคู่ขัดข่มสิ่งนั้นจึงเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างสมดุลกลมกลืน เป็นปรัชญาเรื่องการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และแตกดับของสรรพสิ่งในโลก —–ในทางโหราศาสตร์เรื่อง “ชง” ได้เอาหลักการขัดข่มกันของปัญจธาตุเป็นฐานศึกษาวิเคราะห์และเพิ่มเติมรายละเอียดไปตามศาสตร์ของตน ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียด แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ชง” หรือขัดข่มกันนั้นไม่ได้มีแต่ด้านร้าย แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสันติ ไม่หยุดนิ่งอยู่ ทำให้มีพัฒนาการของชีวิตและสรรพสิ่ง วกกลับมาเรื่องของการแปลคำว่า “ชง” (冲 / 衝) ตามหลักโหราศาสตร์จีนว่าควรแปลเป็นไทยว่าอะไร —–แม้ว่าความหมายหนึ่งของอักษร “ชง” (衝) จะตรงกับคำว่า “ชน” ในภาษาไทย แต่ที่ใช้ไม่ตรงกัน จึงไม่ควรใช้เป็นคำแปล คำจีน-ไทยที่เสียงและความหมายพ้องกันแต่ที่ใช้ไม่ตรงกัน ในลักษณะนี้ยังมีอีก เช่น คำว่า 错 (cuò อ่านว่า ชั่ว) เสียงตรงกับคำว่า “ชั่ว” ของไทย แต่ในภาษาจีนหมายถึง ผิด ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ชั่วช้า เลวร้าย อย่างในภาษาไทย ใช้แทนกันหรือใช้เป็นคำแปลกันไม่ได้ ได้แค่ใช้เทียบเคียงกันว่า พ้องเสียงกันและความหมายไปในทำนองเดียวกัน คงเป็นคำที่มาจากคำดั้งเดิมคำเดียวกัน แต่ต่อมาความหมายและที่ใช้ต่างกันไป —–โหราศาสตร์หรือวิชาหมอดูของไทยมีความเชื่อเรื่อง “ขัด” อยู่ด้วย หมายถึง “เกิดปัญหาหรือทุกข์ภัยเพราะขัดแย้งหรือล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ความขัดแย้งล่วงเกินนั้นมักเกิดเพราะปฏิบัติต่อท่านไม่ถูกต้อง หรือพลั้งเผลอล่วงเกินโดยไม่ตั้งใจ แล้วเกิดความเจ็บป่วยหรือปัญหาในชีวิต หมอดูจะทำนายว่า “ขัด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด เช่น ขัดเจ้าที่ ขัดผีเรือน ขัดจอมปลวก (ซึ่งคนไทยในชนบทบางคนนับถือ) การขัดนี้บางทีเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เด็กวิ่งเล่นเอะอะตึงตังที่หน้าหิ้งผีเรือน เผลอไปปัสสาวะใกล้ศาลพระภูมิ แล้วเกิดอาการเจ็บป่วย หมอดูจะแนะวิธีแก้ให้ง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง หรือถือโอกาสเอาประโยชน์เข้าตัวหมอ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นบาป —–ความหมายของคำว่า “ขัด” ดังกล่าวนี้ พจนานุกรมทุกฉบับของไทยไม่ได้เก็บไว้ เพราะเป็นความหมายเฉพาะของวิชาหมอดูไทย ไม่ใช่ความหมายทั่วไป —–เรื่อง “ขัด” ของหมอดูไทยมีส่วนคล้ายกับเรื่อง “ชง” ของจีนอยู่บ้าง ต่างก็เกิดจากอำนาจลี้ลับเหมือนกัน แต่เกิดเป็นปัญหาในลักษณะต่างกัน ชงของจีนเป็นเกณฑ์ห้ามทำกิจนั้นกิจนี้ เพราะมีความขัดแย้งกันในความลี้ลับ ส่วนขัดของไทย เกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงมาหาสาเหตุว่าขัดแย้งกับสิ่งลี้ลับใด จะแก้ไขอย่างไร แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน —–อนึ่งความเชื่อเรื่อง “ชง” มีที่มาจากเรื่อง “ปัญจธาตุขัดข่มกัน” (五行冲克,五行相克) ธาตุทั้งห้ามีความขัดแย้งข่มกันอยู่ในตัวเป็นวงจรดังกล่าวมาแล้ว ไม่ใช่การปะทะ ชนกัน ซึ่งมีความรุนแรงกว่า เพราะในความขัดข่มเป็นปฏิปักษ์กันยังมีความเกื้อกูลจุนเจือให้ความงอกงามแก่กันด้วย เป็นทั้งการสนับสนุนและควบคุมกัน เพื่อให้เกิดสมดุลของธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของสำนักยินหยาง —–ดังนั้นคำว่า “ชง” ตามความเชื่อเชิงโหราศาสตร์ของจีนจึงควรแปลเป็นไทยว่า ขัดแย้ง ล่วงเกิน มากกว่าแปลว่า ชน ปะทะ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าให้ระบุความหมายของคำ “ชง” ในความหมายที่ว่านี้เป็นภาษาจีนด้วยคำที่กะทัดรัดก็ควรจะเป็น 冲突 (ขัดแย้ง) 冲犯 (ล่วงเกิน ขัดแย้ง) ไม่ใช่ 冲撞 (ชน ปะทะ) หรือ冲击 (chōng jī อ่านว่า ชงจี หมายถึง ตี โจมตี) —–ที่สำคัญมหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) ซึ่งเป็นพจนานุกรมฉบับใหญ่และมาตรฐานที่สุดของจีนในปัจจุบันก็เก็บความหมายของคำว่า ชง เชิงความเชื่อทางโหราศาสตร์ไว้ในคำว่า 冲犯 คือ ล่วงเกิน ขัดแย้ง ถ้าอะไร “ชง” กันจึงไม่ควรเกี่ยวข้องกันเพราะจะขัดแย้ง ล่วงเกินกัน ทำให้เกิดผลร้ายตามมานั่นเอง แต่ดังกล่าวแล้วว่าตามหลักปรัชญายินหยาง “ชง” หรือการขัดข่มกันเป็นของคู่กับการเกื้อกูลให้กำเนิด ดำเนินควบคู่กันไปตามสมดุลของธรรมชาตินั่นเอง เป็นปกติวิสัยของธรรมชาติ มิได้เลวร้ายจนน่าสะพรึงกลัว ควรเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น เรื่องโดย…ผศ. ถาวร สิกขโกศล อ่านตอนที่ 2