หลวงจีนสามรูป: ถอดรหัสนิทานธรรมผ่านศิลปะภาพยนตร์แอนิเมชั่นจีน
เรื่องโดย: สนสามใบ
——ที่ประเทศจีน หากผู้คนต้องการพูดกระทบกระเทียบพฤติกรรมการทำงานแบบเกี่ยงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมทำเพราะเกรงว่าจะเสียเปรียบ จนขาดความปรองดองกัน มักอ้างภาษิตชาวบ้าน “หลวงจีนหนึ่งรูปตักน้ำมาดื่ม หลวงจีนสองรูปหาบน้ำมาดื่ม หลวงจีนสามรูปไม่มีน้ำจะดื่ม” (一個和尚挑水喝,兩個和尚抬水喝,三個和尚沒水喝。) ซึ่งแม้จะเป็นถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่กลับสื่อความหมายอันเป็นคติอย่างลึกซึ้งชวนให้ขบคิดว่า เมื่อทำงานคนเดียว เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ หรือสะสางงานที่คั่งค้างได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อมีผู้ร่วมงานเพิ่ม ปัญหากลับซับซ้อนและแก้ยากกว่าเดิมจนไม่อาจจัดการให้เสร็จสิ้นได้
——ราวค.ศ. 1980–1981 ผู้กำกับและศิลปินจากสตูดิโอแอนิเมชั่นภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ (上海美術電影製片廠) ได้นำภาษิตดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “หลวงจีนสามรูป” 《三個和尚》 จนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และฝังใจผู้คนด้วยความคิดแยบคายในหลายประเด็น เช่น ปัจเจกชนและการรวมกลุ่ม ฯลฯ กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีการนำมาศึกษาและประยุกต์ใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรจนกลายเป็นไวรัล
——ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “หลวงจีนสามรูป” มีความยาว 18 นาที และมีเค้าโครงดังนี้
——กาลครั้งหนึ่ง มีวิหารโบราณตั้งอยู่บนภูเขา วันหนึ่งมีหลวงจีนรูปหนึ่งเดินทางเข้าไปอาศัยอยู่ เขาต้องลงเขาไปตักน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ทั้งยังต้องทำความสะอาด ดูแลความเรียบร้อยภายในวัดเป็นกิจวัตร ต่อมามีหลวงจีนอีกรูปหนึ่งมาขออาศัยด้วย ทว่าไม่นานก็เกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะต่างคนต่างไม่ยอมลงเขาไปตักน้ำ และช่วยทำงานปัดกวาดเช็ดถู หลังจากโต้เถียงอยู่พักใหญ่ หลวงจีนทั้งสองก็ตกปากรับคำกันว่า จะลงเขาพร้อมกันเพื่อไปหาบน้ำมาใช้มาดื่ม แต่แล้ว หลวงจีนอีกรูปหนึ่งก็มาขออาศัยด้วย ปัญหาจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะหลวงจีนทั้งสามพากันเกี่ยงงาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งสามจึงไม่มีน้ำดื่ม และอยู่อย่างอัตคัด วันหนึ่งเชิงเทียนล้มจนเกิดไฟไหม้ ถึงแม้หลวงจีนทั้งสามจะร่วมมือกันระงับเหตุ แต่วิหารยังคงถูกไฟไหม้เสียหายหนัก เนื่องจากไม่มีน้ำดับไฟ ด้วยเหตุนี้หลวงจีนทั้งสามจึงเริ่มได้สติ แล้วร่วมมือกันบูรณะและทะนุบำรุงวัดสืบไป
——หลังจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉายเมื่อค.ศ. 1981 ก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังได้รางวัลอันทรงเกียรติอีกมากมาย เช่น
- รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากกระทรวงวัฒนธรรมจีน
- รางวัลเทศกาลภาพยนตร์ไก่ทองคำ ครั้งที่ 1
- รางวัลเหรียญเงินจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 4 ของประเทศเดนมาร์ก
- รางวัลหมีเงินจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 32
- รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชั่นนานาชาติเอสพินโฮครั้งที่ 6 ในประเทศโปรตุเกส
- รางวัลระดับเงินจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมะนิลาครั้งที่ 2
- รางวัลกิตติมศักดิ์จากเทศกาลภาพยนตร์เด็กนานาชาติซานฟรานซิสโกเดกิโตครั้งที่ 6 ในประเทศเอกวาดอร์
——ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “หลวงจีนสามรูป” มีสองคน คนแรกคือ สีว์จิ่งต๋า (徐景達ค.ศ. 1934–1987) ผู้สันทัดจัดเจนด้านการออกแบบศิลปะและกำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดการ์ตูนด้วยหมึกจีน เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง เทพนาจาอาละวาดสมุทร《哪吒鬧海》 ฉบับ ค.ศ. 1979 อีกคนคือหม่าเค่อเซวียน (馬克宣ค.ศ. 1939–2015) ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งแอนิเมชั่นหมึกจีน” (中國水墨動畫之父) ทั้งสองทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจีนเปี่ยมด้วยศิลปะซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม
——หากพิจารณาผลงานอมตะชิ้นนี้ในรายละเอียด จะพบเกร็ดวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดแบบหมึกจีน ลักษณะนิสัยของตัวละคร ดนตรี คติชาวบ้าน วิถีชีวิต หรือความคิดเชิงปรัชญา ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญอันทำให้แอนิเมชั่นที่ดูเหมือนเรียบง่ายเรื่องนี้มีพลังและน่าจดจำ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “หลวงจีนสามรูป” จึงถือเป็นงานศิลปะสร้างสรรค์รุ่นบุกเบิกซึ่งมุ่งชู “วัฒนธรรมจีน” ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตาชาวโลก
⦿ ภาพวาดสะท้อนเสน่ห์ศิลปะจีน
——ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างสรรค์จากภาพวาดน้ำหมึกซึ่งเขียนโดยพู่กันจีน มีลักษณะเด่นคือการใช้เทคนิคการวาดภาพสีน้ำพู่กันจีนที่เรียกว่า หลิวไป๋ (留白)[1] ซึ่งเป็นการเว้นพื้นที่ว่างในภาพ ฉากหลังไม่ซับซ้อน ไม่เน้นองค์ประกอบมากมาย เพื่อให้คนดูพักสายตา กอปรกับเป็นการวาดโดยมุ่งสื่ออารมณ์ความรู้สึกด้วยภาษาภาพ (寫意)[2] ด้วยการสร้างตัวละครหลักให้เด่น ดึงดูดผู้ชมให้สัมผัสถึงสีหน้า ท่าทาง รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ซึ่งแสดงออกผ่านลายเส้นอันคมชัด และการใช้สีหมึกอย่างมีชั้นเชิง ทั้งความเข้ม-จาง รวมถึงการเล่นสีระหว่างสีโทนร้อนและสีโทนเย็น สะท้อนความกลมกลืนระหว่างภาพทิวทัศน์ วัดวา และป่าเขากับมโนคติอันลึกซึ้ง
——นอกจากนี้ ผู้กำกับยังจัดองค์ประกอบภาพในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ต่างจากแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งนี้เพื่อนำเสนอภาพที่มีขนาดกระชับพอดีกับรายละเอียดของภาพ
⦿ เครื่องแต่งกายถอดแบบมาจากชุดพระมหายาน
——เครื่องแต่งกายของหลวงจีนสามรูปในเรื่องมีลักษณะผสมผสานระหว่างชุดพระภิกษุในอินเดียโบราณกับเสื้อคลุมของจักรพรรดิจีนตั้งแต่หลังราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581–618) และมีชื่อเรียกว่า “ไห่ชิง” (海青 เขียวครามน้ำทะเล) ถือเป็นต้นแบบชุดหลวงจีนของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งผ่านการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และประเพณีของจีน
——ในภาษาจีนคำว่า “ไห่” (海) แปลตรงตัวว่า ทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีความหมายโดยปริยายว่า กว้างขวาง สง่างาม อิสระและรองรับสรรพสิ่ง ส่วนคำว่า “ชิง” (青) เป็นชื่อเรียกรวมสำหรับสีหลากชนิด ได้แก่ เขียว คราม น้ำเงิน และดำ ในที่นี้อิงความหมายจากสำนวนจีนที่ว่า “สีครามสกัดจากต้นครามแต่สีเข้มยิ่งกว่าต้นคราม” (青出於藍勝於藍) กล่าวคือ การศึกษาธรรมะย่อมนำไปสู่ความลึกล้ำยิ่งขึ้น จึงกล่าวได้ว่า ชุด “ไห่ชิง” ซึ่งหลวงจีนทั้งสามนุ่งห่มในภาพยนตร์นั้น ได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องกับความเชื่อทางมหายานของชาวจีน
⦿ สีสันสื่อความหมายอันแยบคาย
——การเลือกใช้สีอย่างมีชั้นเชิงแนบเนียนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูมีชีวิตชีวา และสื่อสารอารมณ์สนุกสนานแก่ผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ที่ติดตาของหลวงจีนสามรูป กล่าวคือ หลวงจีนร่างเล็กสวมชุดสีแดง หลวงจีนร่างสูงสวมชุดสีคราม และหลวงจีนร่างท้วมสวมชุดสีเหลือง สีทั้งสามต่างก็เป็นแม่สี ไม่เพียงสามารถผสมออกมาเป็นสีอื่นๆ ได้ทุกสี แต่เมื่อผสมตามสัดส่วนยังกลับกลายเป็นสีดำที่คนจีนให้ความสำคัญ ด้วยเหตุที่สีดำเป็นสีซึ่งมีสถานะสูงสุดตามหลัก “ปัญจธาตุ” (五行) ของจีน และชนชั้นปกครองก็ถือเป็นสีสำคัญมาแต่ครั้งโบราณ ยามผู้นำออกรบต้องเลือกใช้ม้าศึกสีดำ ครั้นบูชาเทวดาหรือจัดพิธีบวงสรวงก็เซ่นไหว้ด้วยสัตว์สีดำ แม้แต่ตัวละครในงิ้วอย่างเปาบุ้นจิ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมก็ทาหน้าสีดำ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะว่าคนจีนถือว่าสีดำเป็นสัญลักษณ์แทนความถูกต้องตามแบบแผนและความเป็นนิรันดร์
⦿ กายภายนอกบอกความเป็นสากลของมนุษย์
——ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “หลวงจีนสามรูป” มีตัวละครหลักเพียง 3 ตัว หากแต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจในรายละเอียดของผู้กำกับ ตัวละครทั้งสามจึงได้รับการออกแบบให้มีรูปกายที่แตกต่างกัน คือ สูง เตี้ย อ้วน และผอม ซึ่งสะท้อนลักษณะของคนธรรมดาสามัญที่ล้วนแต่ไม่สมบูรณ์แบบ
——อนึ่ง ตามภูมิปัญญาจีนโบราณ คำว่า “สาม” ไม่ได้เป็นเพียงคำบอกจำนวนเท่านั้น แต่ “สาม” ในที่นี้ ยังหมายถึง “ทุกสิ่ง หรือ สรรพสิ่ง” ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดเชิงปรัชญาสำนักเต๋าที่ว่า “เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม และสามให้กำเนิดสรรพสิ่ง” (道生一,一生 二,二生三,三生萬物。)
⦿ นิสัยใจคอส่อตัวตนและอัตตา
——หลวงจีนทั้งสามต่างก็แสดงออกซึ่งลักษณะนิสัยที่เด่นชัด กล่าวคือ หลวงจีนร่างเล็ก เป็นคนเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณ ขณะที่หาบน้ำร่วมกับหลวงจีนร่างสูง เขาก็หยิบไม้บรรทัดมาวัดระยะของไม้หาบ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบเนื่องจากส่วนสูงและทางเดินที่ลาดชันจะทำให้น้ำหนักเทมาทางด้านเขา และในหลายๆ เหตุการณ์เขาก็เป็นคนออกอุบาย เช่น แอบกินขนมขณะนั่งสมาธิ เอาน้ำจากแจกันศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์มาดื่มเพื่อแก้กระหาย เมื่อเกิดไฟไหม้ หลวงจีนร่างเล็กก็รีบวิ่งลงเขาเพื่อไปตักน้ำมาดับไฟ
——หลวงจีนร่างสูง มีรูปร่างกำยำล่ำสัน ทำงานว่องไวและได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเกิดไฟไหม้วิหาร หลวงจีนร่างสูงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่วิ่งไปแบกน้ำต่อเมื่อเห็นหลวงจีนร่างเล็กสะดุดล้มครั้งแล้วครั้งเล่า
——หลวงจีนร่างท้วมมีรูปร่างอ้วนเตี้ย ท่าทางอุ้ยอ้าย ถึงจะเคลื่อนตัวไม่คล่องแคล่ว แต่ก็เป็นคนอารมณ์ดี รับบทเป็นตัวตลกที่เพิ่มสีสันและอารมณ์ขัน (humor) ให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้
⦿ ความคิดปรัชญาที่มองมนุษย์ในแง่ดี
——แม้ว่าภาพยนตร์จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างหลวงจีนสามรูป แต่แก่นของเรื่องกลับสะท้อนความเข้าใจของชาวจีนที่มีต่อมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์มีความดีมาแต่กำเนิด(人性本善) หากพินิจพิจารณาหลวงจีนแต่ละรูปก็จะเห็นว่า ทั้งสามมีลักษณะนิสัยคล้ายกัน คือ มีความเมตตาและคิดบวก สังเกตได้จากตอนที่หลวงจีนทั้งสามเดินทางมายังวัดครั้งแรก เช่น หลวงจีนร่างเล็กสะดุดเต่าล้ม แต่ก็ไม่ถือสา ทั้งยังช่วยพลิกตัวเต่าที่หงายท้องก่อนเดินทางต่อไป หลวงจีนร่างสูงถูกผีเสื้อบินว่อนรบกวนอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ไม่ได้แสดงอาการหงุดหงิด ทั้งยังจับผีเสื้ออย่างทะนุถนอมและวางบนกลีบดอกไม้แล้วค่อยจากไป ส่วนหลวงจีนร่างท้วมพบปลาในรองเท้าบูตหลังจากข้ามแม่น้ำ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจปล่อยปลาไป หลวงจีนทั้งสามปรากฏตัวครั้งแรกในภาพลักษณ์ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส สอดคล้องกับวาทะของปรัชญาเมธีลัทธิหรูอย่างเม่งจื๊อ (孟子 372–289 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ว่า “มนุษย์เกิดมามีจิตใจดีโดยกำเนิด”(人之初,性本善)
⦿ ดนตรีสร้างบรรยากาศและนำทางอารมณ์ของเรื่องราวได้
——ภาพยนตร์เรื่อง “หลวงจีนสามรูป” ได้รับการยกย่องเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นชั้นยอด เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือทั้งเรื่องไม่มีบทสนทนาใดๆ แต่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและบรรยากาศได้อย่างสนุกสนานโดยใช้การแสดงอากัปกิริยาของตัวละครและดนตรีประกอบเป็นหลัก มีความรื่มรมย์และสมจริง ฉากต่างๆ ในภาพยนตร์จึงสามารถเร้าอารมณ์ของผู้ชมได้ เช่น จังหวะก้าวเท้าที่กระฉับกระเฉง การเลียนเสียงเรอและการเคาะปลาไม้ตอนสวดมนต์ รวมทั้งอารมณ์ตื่นตระหนกของหลวงจีนเมื่อเกิดไฟไหม้ ความตึงเครียดขณะที่กำลังกุลีกุจอช่วยกันดับไฟ ฯลฯ
——สอดคล้องกับคำกล่าวของ จินฟู่ไจ้(金復載ค.ศ.1942–ปัจจุบัน)ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ วัย 83 ปี ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ว่า “ดนตรีดุจดังจิตวิญญาณของภาพยนตร์แอนิเมชั่น”(音樂是動畫的靈魂。)
——ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้สมจริงและมีชีวิตชีวา ผู้ประพันธ์ดนตรีและผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภายในวัดอยู่บ่อยครั้ง สังเกตวัตรปฏิบัติของหลวงจีนและรายละเอียดต่างๆ เมื่องานด้านการผลิตแอนิเมชั่น การแต่งเพลง การวาดภาพ การพากย์เสียง และงานอื่นๆ ประสานกันอย่างเหมาะเจาะจนสำเร็จลุล่วง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานและประชาชนชาวจีนทุกคนในเวลาต่อมา
⦿ คิดอย่างสร้างสรรค์ สืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างมีวิจารณญาณ
——หลวงจีนสามรูปมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเมื่อประสบเหตุไฟไหม้ หลวงจีนรูปหนึ่งเอามือปิดปาก หลวงจีนรูปหนึ่งเอามือปิดหู และหลวงจีนอีกรูปหนึ่งเอามือปิดตา ซึ่งตรงกับความเข้าใจของชาวจีนที่ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจากรุ่นสู่รุ่นว่า “ไม่พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ฟังสิ่งที่ไม่ควรเข้าหู และไม่มองสิ่งที่ไม่เหมาะสม” คติพจน์ดังกล่าวมาจากคัมภีร์หลุนอี่ว์(論語)หรือ “วาทะขงจื๊อ” ซึ่งบันทึกโดยศิษย์ของขงจื๊อ (孔子 551–479 ปีก่อนค.ศ.) ย้ำเตือนให้คนเรารู้จักปฏิบัติตนโดยยึดถือหลักศีลธรรมอันดีให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เสนอมุมมองความคิดสมัยใหม่ที่มีต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมว่า ยังมีข้อยกเว้นสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้หรือเกิดเหตุร้ายแรง ทัศนคติที่ว่า “ไม่พูด ไม่ฟัง ไม่มอง” ไม่อาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ตรงกันข้ามเราจำเป็นต้องปลดเปลื้องพันธนาการของกฎเกณฑ์หรือกรอบความคิดเหล่านี้ และลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญถึงจะค้นพบทางออกและอยู่รอดต่อไปได้
[1] 留白 อ่านว่า หลิวไป๋ เป็นคำเรียกเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมจีน หมายถึง การเว้นพื้นที่ว่างในงานศิลปะ
[2] 寫意 อ่านว่า เสี่ยอี้ เป็นคำเรียกเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมจีน หมายถึง การใช้ภาษาภาพเพื่อสื่อความหมายด้วยหมึกและลายเส้นเรียบง่าย เน้นแสดงออกซึ่งความคิดและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความสมจริงของภาพ