มองวัฒนธรรมชิงผ่านภาพ
‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ ฉบับราชวงศ์ชิง
เรื่องโดย ความทรงจาง
——ภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ (清明上河圖) หรือภาพ ‘พื้นที่บริเวณรอบแม่น้ำในเทศกาลชิงหมิง’ ฉบับราชวงศ์ชิง (清院本) เป็นฉบับที่ได้รับความชื่นชมด้านความงดงามและความละเอียดไม่แพ้ฉบับราชวงศ์ซ่งเหนือ เดิมภาพชิงหมิงซ่างเหอถู ฉบับราชวงศ์ชิงถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่ง (北京故宮博物院) ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋ง (國民黨) ย้ายสมบัติบางส่วนไปไต้หวัน และภาพนี้ก็ถูกขนย้ายไปด้วย ปัจจุบันภาพนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงไทเป (台北故宫博物院) บนเกาะไต้หวัน ภาพชิงหมิงซ่างเหอถูฉบับราชวงศ์ชิงมีลักษณะเด่นที่ความยาว เพราะยาวถึง 1152.8 ซ.ม. กว้าง 35.6 ซ.ม. ด้านซ้ายสุดของภาพคือพระราชวังอันโอ่อ่า ตรงกลางคือเมืองเปี้ยนจิง (汴京 ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง 開封 มณฑลเหอหนาน 河南) และมีแม่น้ำเปี้ยนเหอ (汴河) ตั้งแต่กลางภาพไปถึงด้านขวา ในภาพมีคนมากกว่า 4,000 คน เนื้อหาสะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆帝 ค.ศ. 1711-1799) ช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ภาพชิงหมิงซ่างเหอถูขนาดเต็ม มีความยาวถึง 1152.8 ซ.ม.
——ช่วงปลายราชวงศ์หมิงถึงต้นราชวงศ์ชิง เกิดภาพชิงหมิงซ่างเหอถูฉบับเลียนแบบจำนวนมากแพร่หลายอยู่ในหมู่ประชาชน ด้วยเหตุนี้จิตรกรราชสำนัก 5 คน ประกอบด้วยเฉินเหมย (陳枚) ซุนฮู่ (孫祜) จินคุน (金昆) ไต้หง (戴洪) และเฉิงจื้อเต้า (程志道) จึงร่วมกันวาดภาพ ‘ชิงหมิงซ่างเหอถู’ ฉบับใหม่ขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1736 ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง เหล่าจิตรกรวาดภาพดังกล่าวโดยพิจารณาข้อดีของผลงานฉบับเลียนแบบแต่ละชิ้น ผสมผสานกับประเพณีในเทศกาลชิงหมิง นอกจากนี้ยังแฝงค่านิยมของสิ่งปลูกสร้างแบบตะวันตก แม้ว่าอาจเสียเอกลักษณ์ของภาพเดิมฉบับราชวงศ์ซ่งไปบ้าง แต่กลับแสดงให้เห็นสภาพสังคมช่วงเทศกาลชิงหมิงในสมัยราชวงศ์ชิงได้เป็นอย่างดี จึงมีคุณค่ายิ่งทางศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
——ภาพวาดชิ้นนี้มีสีสันสวยสดงดงาม รายละเอียดที่น่าสนใจได้แก่ อาคารทรงตะวันตก โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหาร แผงขายภาพวาด ยานพาหนะ เวทีงิ้ว การแสดงละครลิง งานแต่งงาน จิตรกร ฯลฯ โดยเฉพาะสะพานหงเฉียว (虹橋 สะพานสายรุ้ง) ที่พัฒนาจากฉบับดั้งเดิมซึ่งเป็นสะพานไม้มาเป็นสะพานอิฐ และร้านขายสินค้าบนสะพานซึ่งเดิมสร้างจากฟางมาเป็นสร้างจากไม้
——นักประวัติศาสตร์มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความหมายของคำว่า ‘ชิงหมิง’ แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่ามาจาก ‘เทศกาลชิงหมิง’ (หรือเช็งเม้ง 清明節) อันเป็นเทศกาลที่เซ่นไหว้ปัดกวาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ แม้เนื้อหาในภาพจะไม่ปรากฏสุสานหรือหลุมศพ แต่กลับเห็นเกี้ยวตามท้องถนนมีดอกท้อประดับอยู่ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาเพิ่งกลับมาจากป่านอกเมือง นอกจากนี้ในภาพยังเห็นกิจกรรมที่มักทำกันในเทศกาลนี้ เช่น การสอดกิ่งหลิวบนศีรษะ การเล่นว่าว การโล้ชิงช้า ฯลฯ
——ในภาพมีรายละเอียดที่น่าสนใจมีดังนี้
-
ร้านสุรา
——หากเดินอยู่ริมถนนแล้วเห็นผ้าลักษณะคล้ายธงแขวนอยู่บนไม้ไผ่ แสดงว่านั่นคือโรงแรม ผ้าดังกล่าวเรียกว่า ‘จิ่วเหลียน’ (酒帘) สมัยนั้นผู้คนมักมาดื่มเหล้าพักผ่อน หรือพูดคุยกันที่ร้านสุรา
-
หาบเร่แผงลอย
——คนขายของหาบเร่แผงลอยกำลังร้องตะโกนเรียกลูกค้าไปตามทาง พวกเขาชอบขายในย่านที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น บริเวณโรงงิ้วหรือสะพาน นอกจากนี้ยังมีร้านอีกประเภทที่บริการอาหารเครื่องดื่มด้วยการวางเก้าอี้ไว้ริมถนนให้ลูกค้านั่ง ทั้งสะดวก รวดเร็ว และราคาถูก
-
ร้านอาหาร
——ร้านอาหารในสมัยนั้นแขวนพู่ทรงกลมทำจากกระดาษเป็นสัญลักษณ์ ร้านในภาพมีชื่อว่า ‘จินหลานจวี๋’ (金蘭局) เป็นร้านอาหารที่แขกกินอาหารไปพลางชื่นชมทิวทัศน์พลาง หน้าร้านมีคนสองคนกำลังโค้งคำนับกัน คาดว่าเป็นเจ้าของร้านกำลังส่งลูกค้า อีกด้านคนใช้กำลังเลิกม่านหน้ารถรอเจ้านายขึ้นรถ
-
การย้อมผ้า
——วัสดุย้อมผ้าส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ เช่น ยางจากรากไม้ ก้านไม้ ดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ ร้านจะย้อมผ้าแล้วซักจากนั้นจึงตากให้แห้ง ร้านย้อมผ้าในภาพกำลังตากผ้าบนราวที่สูงมาก
-
การซักเสื้อผ้า
——ในภาพมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังซักเสื้อผ้าอยู่ริมแม่น้ำ เธอวางผ้าไว้บนแผ่นหินแล้วใช้กระบองฟาดเพื่อขจัดคราบสกปรก จากนั้นก็ซักด้วยน้ำในแม่น้ำ ด้านข้างมีราวตากผ้า
-
โรงเตี๊ยม
——โรงเตี๊ยมเป็นที่พักคนเดินทาง ไม่ไกลจากประตูเมืองมีโรงเตี๊ยมขึ้นป้ายว่า ‘ร้านนี้เป็นที่พักสำหรับขุนนาง’ (本店安歇仕客行臺) คำว่า ‘仕客’ หมายถึง อาคันตุกะที่เป็นขุนนาง ส่วนคำว่า ‘行臺’ เป็นสถานที่ซึ่งขุนนางแวะพักเวลาตรวจราชการ เราจึงทราบว่าที่นี่คือโรงเตี๊ยม ไม่เพียงคนเท่านั้น แม้แต่ม้าที่มากับเจ้าของก็ได้รับการดูแลเช่นกันเพราะมีฟางให้ม้ากินอย่างอิ่มหนำสำราญ
-
เรือเทียบท่า
——แม่น้ำเปี้ยนเหอมีเรือสัญจรจากทั่วประเทศ การสัญจรบางครั้งอาจใช้เวลาหลายเดือน ลูกเรือจึงต้องแกร่วอยู่บนเรือจนเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง เรือในภาพจอดเทียบท่าอยู่ บนเรือลำหนึ่งมีหญิงสาวกำลังเลี้ยงลูก และวางเครื่องครัวไว้บนส่วนหน้าของเรือ
-
โรงอาบน้ำ
——สมัยนั้นใช่ว่าทุกบ้านมีห้องอาบน้ำ เวลาอาบน้ำจึงต้องไปโรงอาบน้ำสาธารณะ ริมถนนมีโรงอาบน้ำและข้อความบนผนังเขียนว่า ‘โรงอาบน้ำสะอาด’ (潔淨浴室) หน้าร้านมีผู้ชายที่เพิ่งอาบน้ำเสร็จเดินออกมาจากร้าน ที่นี่นอกจากใช้อาบน้ำชำระร่างกายแล้ว ยังเป็นที่นัดพบพูดคุยกับเพื่อนฝูง ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง
-
เกวียนพ่วง
——มีเกวียนชนิดหนึ่งที่พ่วงต่อกัน 2 คัน บรรทุกฟางข้าว บนเกวียนคันหน้ามีสุ่มไก่ 2 สุ่ม บนเกวียนคันหลังมีห่าน 2 ตัว หลังเกวียนมีแพะ 2 ตัว คาดว่าคงนำไปขายที่ตลาด คนขี่วัวใช้แส้ฟาดวัวให้เดิน ส่วนวัวก็เดินงุดๆ ลากรถไป
-
การขี่ลา
——ชาวชนบทสมัยก่อนนิยมขี่ลา เพราะลาคล่องตัวกว่าสัตว์ชนิดอื่น เดินไปตามซอกซอยเล็กๆ ได้สะดวก และราคาถูกกว่าม้าหรือล่อค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อเสียคือลาเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างซน มันมักคุกเข่าอย่างกะทันหันจนคนขี่ตกลงมาเช่นในภาพนี้
-
การสอบจอหงวน
——การสอบจอหงวนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอ่านหนังสือและเรียนเทคนิคการเขียน สถานที่ในภาพคือโรงเรียน (學堂) บนกำแพงติดกระดาษสีแดงเขียนว่า ‘การเรียน’ (學) โรงเรียนสมัยนั้นเชิญผู้มีความรู้ในท้องถิ่นมาสอน เนื้อหาเกี่ยวกับตำราโบราณ เช่น ‘คัมภีร์สามอักษร’ (三字經) ‘คัมภีร์พันอักษร’ (千字文) ‘สี่ตำราห้าคัมภีร์’ (四書五經) เป็นต้น
-
การแสดงกลางแจ้ง
——งิ้วประเภทนี้จัดแสดงอยู่กลางแจ้ง สมัยโบราณไม่มีโรงงิ้วโรงละคร ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลจึงได้จัดสร้างเวทีแสดงกลางแจ้ง ใต้เวทีงิ้วมีเสาขนาดใหญ่ค้ำอยู่ นักแสดงแต่งตัวอย่างพิถีพิถัน ด้านล่างมีผู้คนจำนวนมากชมการแสดงอย่างตั้งอกตั้งใจ
-
การแสดงริมถนน
——การแสดงริมถนนเป็นความบันเทิงเพียงไม่กี่อย่างในสมัยนั้น มักอยู่ตามท้องถนน ตลาด หรือร้านอาหาร ลักษณะคล้ายการแสดงเปิดหมวกในปัจจุบัน ในภาพเขียนนี้มีทั้งการแสดงของลิง และการเดินไต่เชือก
-
การโล้ชิงช้า
——ลานบ้านตระกูลคนรวยหลังหนึ่งมีผู้หญิงหลายคนกำลังโล้ชิงช้าอย่างสนุกสนาน อันที่จริงการโล้ชิงช้าเป็นนันทนาการแบบดั้งเดิมที่นิยมเล่นกันในเทศกาลชิงหมิง นอกจากจะทำให้สนุกสนานแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และฝึกความกล้าหาญอีกด้วย
-
ขบวนเกี้ยวแต่งงาน
——ขบวนเกี้ยวแต่งงานมุ่งหน้าไปยังตัวเมือง ขบวนประกอบด้วยคนถือโคมไฟ กระบองไม้ คนเล่นดนตรี คนถือร่มสีแดง เกี้ยว ด้านหลังคือคนขี่ม้าไปส่งขบวน ข้างขบวนมีลูกหาบกำลังหาบข้าวของ ทุกคนพาดบ่าด้วยผ้าสีแดงเพื่อแสดงถึงความเป็นสิริมงคล
-
หมอดู
——หมอดูถือเป็นอาชีพเก่าแก่ ภาพเขียนชิ้นนี้มีหมอดูอยู่หลายคน ป้ายที่แขวนไว้กับร่มมีตัวอักษรเขียนว่า ‘เฟิงเจี้ยน’ (風鑑) ซึ่งหมายถึงการดูโหงวเฮ้ง หมอดูใช้พัดป้องปากพูดอะไรบางอย่าง
-
เกี้ยว
——เกี้ยวเป็นยวดยานที่สะดวกสบายที่สุดในสมัยนั้น ตัวเกี้ยวเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีคานให้คนหามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผู้ชายหรือผู้หญิงก็นั่งได้
-
บ้านจิตรกร
——เจ้าของบ้านหลังนี้คือจิตรกรผู้กำลังวาดภาพ ที่ลานบ้านมีเด็กกำลังจุดไฟ คาดว่าคงเตรียมต้มน้ำร้อนชงชา ในแม่น้ำเรือลำหนึ่งเคลื่อนผ่านช้าๆ บนเรือมีผู้ทรงภูมิ 2 คนซึ่งดูเหมือนว่ามาเยี่ยมเยียนจิตรกร พวกเขาคงมาร่ำสุราพูดคุยอย่างออกรสกับจิตรกร
-
ร้านขายยา
——การรักษาโรคในสมัยนั้น แพทย์ออกใบสั่งยาให้คนไข้ แล้วให้คนไข้ไปซื้อยาที่ร้านขายยา นอกจากขายยาจีนแล้ว ร้านขายยายังมีบริการต้มยาอีกด้วย
-
จวนขุนนางเฝ้าประตูเมือง
——ประตูเมืองเป็นส่วนปกป้องตัวเมืองจากข้าศึก เมื่อเข้าประตูเมืองมาแล้ว ด้านขวามือคือจวนขุนนางเฝ้าประตูเมือง คล้ายกับสถานีตำรวจในปัจจุบัน หน้าประตูจวนมีศาลาที่พักให้เจ้าหน้าที่คอยตรวจตราเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัย
ที่มาภาพ
https://zh.wikipedia.org/wiki/%E6%B8%85%E6%98%8E%E4%B8%8A%E6%B2%B3%E5%9C%96#/media/File:Along_the_River_During_the_Qingming_Festival_(Qing_Court_Version).jpg
[/fusion_builder_column][/fusion_builder_row][/fusion_builder_container]