วิเคราะห์การใช้คำอวยพรปีมังกร เรื่องโดย สหเศียร |
——ในคติความเชื่อของจีน ‘มังกร’ (龙 lóng) เป็นสัตว์วิเศษที่แปลงร่างได้ บินขึ้นฟ้าได้ มุดลงดินหรือดำน้ำลึกได้ สามารถปรับตัวได้ในหลายสถานการณ์ มีอิทธิฤทธิ์เกี่ยวข้องกับฟ้าฝนน้ำและไฟ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แทนอำนาจจักรพรรดิ ความสูงส่ง และเกียรติยศในวัฒนธรรมจีน นอกจากนี้ ศาสตร์ฮวงจุ้ยยังกำหนดให้ มังกรคราม (青龙 qīng lóng) เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันออก มีสถานะเทียบเท่าเทพเจ้าในลัทธิเต๋า สามารถปัดเป่าความชั่วร้ายและพลังลบต่างๆ พร้อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง อายุยืนยาว โชคลาภวาสนาได้อีกด้วย
——เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ ซึ่งตรงกับปีมะโรง หรือ ปีมังกร ชาวจีนจึงใช้มังกรเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งปีคริสต์ศักราช 2024 นอกจากนี้ยังกล่าวคำอวยพรเพื่อส่งต่อความสุขสวัสดีในชีวิตให้แก่กัน ที่ได้ยินหรือพบเห็นได้บ่อยคงหนีไม่พ้นคำว่า ‘สุขสันต์ปีมังกร’ (龙年快乐 lóng nián kuài lè) และคำว่า ‘มหามงคลปีมังกร’ (龙年大吉 lóng nián dà jí) ทว่านอกจากคำมงคลข้างต้นแล้ว ยังมีคำอวยพรที่มีคำว่า ‘มังกร’ (龙) ประสมขึ้นมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับปีมังกรโดยเฉพาะ ทางอาศรมสยาม-จีนวิทยาจึงได้รวบรวมถ้อยคำเหล่านี้มาวิเคราะห์และนำเสนอเพื่อศึกษาที่มา ความหมายและวิธีการใช้ ดังนี้
- ประเภทที่ 1: คำมงคลตามแบบแผน จากตำนานที่สร้างความเชื่อของชาวจีนโบราณ
——วิธีการใช้ : ใช้อวยพรอย่างสุภาพในโอกาสที่เป็นทางการ โดยทั่วไปนิยมอวยพรแก่กันในรูปแบบลายสือศิลป์พู่กันจีน หรือประกอบภาพมงคลมากกว่ากล่าวเป็นภาษาปาก
——龙马精神 lóng mǎ jīng shén จิตวิญญาณดุจอาชามังกร
——หมายถึง: (ขอให้) พละกำลังแข็งแรงทั้งกายและใจ อำนวยผลให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
——อธิบายเพิ่มเติม: 龙马 อาชามังกร คือ สัตว์มงคลในตำนานของจีนชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายคลึงทั้งม้าและมังกร โดยบรรพบุรุษชาวจีนเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งพละกำลังและพลานามัยแข็งแรง 龙马精神 จึงมีนัยถึงการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสภาพจิตใจที่เข้มแข็งพร้อมก้าวหน้าอย่างไม่ย่อท้อ
——ที่มา: ตามเรื่องปรัมปราว่า ในยุคดึกดำบรรพ์ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าฝูซี (伏羲) ณ พื้นที่อำเภอเมิ่งจิน (孟津) ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลั่วหยาง (洛阳) มีสัตว์วิเศษนามว่าอาชามังกร (龙马) ได้โผล่ออกมาจากแม่น้ำเหลือง และปรากฏ ‘แผนที่แม่น้ำเหลือง’ (河图) บนหลังเพื่อนำมาถวายพระเจ้าฝูซี ช่วยให้พระเจ้าฝูซีค้นพบแผนผังแปดทิศ (八卦图) ซึ่งเป็นผังสัญลักษณ์บอกหลักแห่งฟ้าและดินในลัทธิเต๋า คนไทยมักรู้จักกันในชื่อว่า ‘ยันต์แปดทิศ’
——ข้อสังเกต : หลายคนตีความคำว่า 龙马精神 ไปในอีกแนวทางหนึ่งว่าเป็นจิตวิญญาณทรงพลังดุจม้าและแข็งแกร่งเหมือนมังกร เหตุเพราะมังกรและม้าต่างเป็นสัตว์มงคลในคติความเชื่อของจีน การที่สัตว์ทั้งสองได้รับยกย่องให้เป็นสัตว์มงคลนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากคัมภีร์อี้จิง (易经คัมภีร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง)[1] ซึ่งกำหนดให้มังกรและม้ามีความหมายแทน ‘ลายลักษณ์ [2] เฉียน’ หรือ ‘ลายลักษณ์ฟ้า‘ (乾卦) อันเป็นมงคลสูงสุด บ่งบอกถึงความขยันขันแข็ง กระตือรือร้น เจริญรุ่งเรืองด้วยพลังเชิงบวกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยอธิบายสถานการณ์ต่างๆ เปรียบเปรยกับอิริยาบถของมังกร เช่น อยู่ที่สูง อยู่ที่ต่ำ บินเหินฟ้า กระโดดลงน้ำ ดังคำว่า 天行健 tiān xíng jiàn แปลว่า ฟ้าดำเนินแข็งขัน หนักแน่นเข้มแข็งตลอดกาล ในที่นี้อุปมาอุปไมย ‘ฟ้า’ (天) เป็น ‘ม้า’ (马) เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจภูมิปัญญาของคนจีนที่ส่งเสริมให้มนุษย์เลียนแบบฟ้าคือ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น ในโลกอุดมคติของคนจีน ‘มังกร’ กับ ‘ม้า’ จึงปรากฏภาพลักษณ์เป็นสัตว์มงคลบนสวรรค์อันสูงส่ง ทรงพลัง น่าเกรงขาม ครองคุณสมบัติขั้นเทพในเรื่องของความรวดเร็ว และอดทน
- 鱼跃龙门 yú yuè lóng mén ปลาทะยานข้ามประตูมังกร
——หมายถึง: (ขอให้) เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานสมกับที่ทุ่มเทอุตสาหะ
——อธิบายเพิ่มเติม: 鱼 ปลา ในที่นี้อุปมาถึง คนที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ส่วน 龙门 lóng mén คือคำอุปมาสำหรับตระกูลทรงอำนาจและมีชื่อเสียงในสังคมจีนยุคโบราณ มีการใช้คล้ายกับสำนวน 鲤鱼跳龙门 (lǐ yú tiào lóng mén ปลาหลี่กระโดดข้ามประตูมังกร ) เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถว่ายทวนน้ำที่ไหลเชี่ยว และพยายามปรับตัวให้มีสมรรถนะเหนือคู่แข่ง จึงนำมาเปรียบเปรยคนที่พยายามถีบตัวให้ได้เลื่อนฐานะ ทั้ง 2 สำนวนสื่อนัยว่า คนมีความพยายามจงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
——ที่มา: เรื่องปรัมปราเล่ากันว่า ปลาหลี่ว่ายทวนน้ำและกระโดดข้ามผ่านประตูมังกรได้เมื่อใดก็จะแปลงร่างเป็นมังกรทะยานขึ้นฟ้าได้ เป็นการเลื่อนสถานะทางสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับบัณฑิตสมัยโบราณที่ตรากตรำศึกษาเล่าเรียนเพื่อสอบเป็นขุนนาง
——อนึ่ง มีคนสืบค้นได้ว่า 龙门 เป็นช่องแคบแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำเหลืองบริเวณเมืองเหอจิน (河津) มณฑลซานซี (山西) มีน้ำไหลเชี่ยวตลอดเวลา สองฝั่งเป็นผาสูงชัน มองไปเหมือนประตูมหึมาที่ตั้งตระหง่าน ชาวบ้านจึงเล่าขานกันว่าเป็นประตูพระราชวังที่พญามังกรอาศัยอยู่ ในสมัยโบราณผู้ใดสอบผ่านจ้วงหยวน (状元 zhuàng yuán จอหงวน) ถึงจะได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิผู้อวยตนเป็นโอรสมังกรสวรรค์ และมีสิทธิ์เข้ารับราชการจนสามารถไต่เต้าเป็นขุนนางใหญ่โต ดังนั้น ผู้คนยังใช้ภาพลักษณ์ของปลาคาร์ฟ (ปลาหลี่) ซึ่งว่ายทวนกระแสน้ำและไม่กลัวความยากลำบากเป็นอุปมาสำหรับผู้ที่มีความเพียรพยายาม
——ข้อสังเกต : 鲤鱼 คือปลาชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในตระกูลปลาคาร์ฟ ชาวจีนนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งยังสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายาม และความมั่งคั่งอย่างสมบูรณ์แบบ
- ประเภทที่ 2: แก้ไขคำอวยพรปีใหม่แบบทั่วไปให้ใช้เฉพาะเจาะจงสำหรับปีมังกร
——วิธีการใช้ : ใช้ในบริบทการเฉลิมฉลองปีมังกร โดยทั้งคำอวยพรปีใหม่แบบเดิมและคำอวยพรประสมใหม่ต่างสามารถใช้เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศมงคลปีใหม่และสื่อความหมายมงคล
- คำอวยพรปีใหม่ทั่วไป
——新年快乐 xīn nián kuài lè สุขสันต์ปีใหม่
——新年大吉 xīn nián dà jí มหามงคลปีใหม่
——新年发财 xīn nián fā cái มั่งคั่งร่ำรวยรับปีใหม่
——新年行大运 xīn nián xíng dà yùn (ดวง) ชะตารุ่งเรืองรับปีใหม่
- คำอวยพรปีใหม่หลังแก้ไข โดยใช้ 龙 (lóng มังกร) แทนคำว่า 新 (xīn ใหม่) เพื่อใช้เฉพาะปีมังกร
——龙年快乐 lóng nián kuài lè สุขสันต์ปีมังกร
——龙年大吉 lóng nián dà jí มหามงคลปีมังกร
——龙年发财 lóng nián fā cái มั่งคั่งร่ำรวยรับปีมังกร
——龙年行大运 lóng nián xíng dà yùn (ดวง) ชะตารุ่งเรืองรับปีมังกร
- ประเภทที่ 3: ยืมคำมงคลตามแบบแผนมาแก้ไข โดยใช้ 龙 แทนคำใดคำหนึ่ง ให้เป็นคำมงคลใหม่ เพื่อใช้เฉพาะเจาะจงสำหรับปีมังกร
——วิธีการใช้: ทั้งคำมงคลตามแบบแผน และคำอวยพรประสมใหม่ต่างใช้เป็นภาษาพูดและภาษาเขียนได้ โดยสื่อความหมายมงคลตามขอบข่ายต้นฉบับและเสริมสร้างบรรยากาศมงคลปีใหม่ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในบริบทต้อนรับปีนักษัตรแล้ว คำอวยพรที่ประสมขึ้นใหม่จะสื่อความหมายมงคลแทนคำมงคลดั้งเดิมตามหลักไวยากรณ์ไม่ได้
- ตัวอย่างที่ 1
- คำมงคลตามแบบแผน:
——财运亨通 cái yùn hēng tōng โชคทรัพย์รุ่งเรือง
- คำอวยพรประสมใหม่:
——龙运亨通 lóng yùn hēng tōng โชคมังกรรุ่งเรือง
——ข้อสังเกต : ในที่นี้ใช้ 龙 แทนคำว่า 财 ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเงินทอง เพื่อให้ได้ความหมายมงคลตรงตามบริบทที่ผู้พูดต้องการสื่อสารตามสถานการณ์ คือ ขอให้ร่ำรวยและชีวิตรุ่งโรจน์ในปีมังกร
- ตัวอย่างที่ 2
- คำมงคลตามแบบแผน:
——鸿运当头 hóng yùn dāng tóu โชคยิ่งใหญ่มาเยือน
- คำอวยพรประสมใหม่:
——龙运当头 lóng yùn dāng tóu โชคมังกรมาเยือน
——ข้อสังเกต : ในที่นี้ใช้ 龙 แทนคำว่า 鸿 ซึ่งอุปมาถึงความยิ่งใหญ่ เพื่อให้ได้ความหมายมงคลตรงตามบริบทที่ผู้พูดต้องการสื่อสารตามสถานการณ์ คือ ขอให้โชคดีในปีมังกร
- ตัวอย่างที่ 3
- คำมงคลตามแบบแผน:
——福星高照 fú xīng gāo zhào เทพเจ้าโชคลาภคุ้มครอง
——吉星高照 jí xīng gāo zhào เทพมงคลคุ้มครอง
- คำอวยพรประสมใหม่
——福龙高照 fú lóng gāo zhào มังกรโชคลาภคุ้มครอง
——吉龙高照 jí lóng gāo zhào เทพมงคลคุ้มครอง
——ข้อสังเกต : ใช้ 龙 แทนคำว่า 星 ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าประจำดวงดาว โดยประสมกับคำว่า 福 (โชคลาภ วาสนา) หรือ 吉 (มงคล) เพื่อให้ได้ความหมายมงคลต้อนรับปีมังกร
- ประเภทที่ 4: ยึดหลักการคำพ้องเสียงหรือคำที่มีเสียงใกล้เคียงในการแก้ไขคำมงคลดั้งเดิมหรือคำที่สื่อความหมายเชิงบวก เพื่อแสดงความหมาย 2 ชั้นในการอวยพร
——วิธีการใช้ : คำอวยพรประเภทนี้สื่อความหมายมงคลตามขอบข่ายต้นฉบับและเสริมสร้างบรรยากาศมงคลปีใหม่ แต่เวลาใช้พึงตระหนักถึงความเหมาะสมหรือกาลเทศะด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ตัวอย่างที่ 1: ใช้ 龙 แทนคำพ้องเสียง 隆 lóng ซึ่งหมายถึง “ความรุ่งเรือง”
——เดิม: 生意兴隆 shēng yì xīng lóng (ขอให้) กิจการเจริญรุ่งเรือง
——ใหม่: 生意兴龙 shēng yì xīng lóng (ขอให้) กิจการเจริญรุ่งเรืองในปีมังกร
- ตัวอย่างที่ 2 ใช้ 龙 แทนคำพ้องเสียง 拢lǒng ซึ่งหมายถึง “เอามือทั้งสองข้างหรือวงแขนโอบรัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าหาตัว”
——เดิม: 好运拢总来 hǎo yùn lǒng zǒng lái โชคดีจงรวบเข้ามาทั้งหมด
——ใหม่: 好运龙总来 hǎo yùn lóng zǒng lái โชคดีจงรวบเข้ามาทั้งหมดในปีมังกร
- ตัวอย่างที่ 3: ใช้龙 lóng แทนคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกันอย่าง 荣róng ซึ่งหมายถึง “(พืช) งอกงาม” หรือ “เจริญผลิดอกออกผล”
——เดิม: 欣欣向荣 xīn xīn xiàng róng (ขอให้) เจริญรุ่งเรือง
——ใหม่: 欣欣向龙 xīn xīn xiàng lóng (ขอให้) เจริญรุ่งเรืองในปีมังกร
- ตัวอย่างที่ 4: ใช้ 龙 lóng แทนคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกันอย่าง 融 róng อันหมายถึง “การผสมผสาน” หรือ “ความกลมเกลียว”
——เดิม: 其乐融融 qí lè róng róng (ขอให้) ชื่นชีวาสมัครสมานสุขสันต์
——ใหม่: 其乐龙龙 qí lè lóng lóng (ขอให้) ชื่นชีวาสมัครสมานสุขสันต์ปีมังกร
——สรุปว่า การเขียนหรือการกล่าวคำอวยพรเพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกันในโอกาสปีใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมที่ผู้คนส่งมอบกำลังใจและความปรารถนาดีให้แก่กัน ไม่ว่าในเรื่องความสุข ความร่ำรวย หน้าที่การงาน ความสำเร็จ สุขภาพ ฯลฯ
——อย่างไรก็ตาม สำหรับคำอวยพรที่ใช้เฉพาะโอกาส จะต้องคำนึงถึงผู้รับสาร รวมถึงบริบทในการใช้งานให้สอดคล้องกับกาลเทศะด้วย จึงจะมีความถูกต้องเหมาะสม ปีติยินดี อิ่มเอมใจตลอดปีทั้งผู้ให้และผู้รับ
[1] คัมภีร์อี้จิง《易经》เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในสากลโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล ธรรมชาติ และสังคมมนุษย์ โดยทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรที่คงอยู่ถาวร
[2] ลายลักษณ์ (卦 ภาษาจีนกลางอ่านว่า ‘กว้า’ ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า ‘ข่วย’) คือ สัญลักษณ์ที่ประกอบด้วยเส้นหยิน (‒ ‒) กับเส้นหยาง (—) นำมาจัดเรียงเป็น 3 แถว โดยไล่เรียงสลับกันจนได้เป็น 8 ลายลักษณ์ ซึ่งนำมาใช้แทนธรรมชาติทั้ง 8 ตามที่คัมภีร์อี้จิงบัญญัติไว้ ได้แก่ ลายลักษณ์ฟ้า (☰) ลายลักษณ์ดิน (☷) ลายลักษณ์ไฟ (☲) ลายลักษณ์น้ำ (☵) ลายลักษณ์สายฟ้า (☳) ลายลักษณ์ลม (☴) ลายลักษณ์หนองน้ำ (☱) และลายลักษณ์ขุนเขา (☶) รวมเรียกว่า อัฏฐลักษณ์หรืออัฏฐภาค (ลายลักษณ์ทั้งแปด) เมื่อนำลายลักษณ์ทั้ง 8 มาจับคู่สลับกันไป ก็จะได้คู่ลายลักษณ์ทั้งหมด 64 แบบ