ครรลองชีวิตและ
ความคิดเชิงปรัชญาของ “หลิ่มไต่คิม”

เรื่องโดย ภัทรโพยม


——หลิ่มไต่คิม (林大欽 หลินต้าชิน ค.ศ. 1511–1545) มีภูมิลำเนาอยู่ที่ถิ่นแต้จิ๋ว[1] ดินแดนแห่งนี้เพียบพร้อมด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย ธรรมชาติและประเพณีที่ดีงาม รวมถึงวิถีชีวิตซึ่งสอดแทรกด้วยแนวคิดปรัชญาสามสำนัก (三教) ได้แก่ สำนักหรู (儒家) สำนักเต๋า (道家) และพระพุทธศาสนา (釋家/佛教) ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสามจะมีหลักการและทัศนคติที่แตกต่างกัน แต่ก็ยอมรับซึ่งกันและกันจนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น บรรยากาศสังคมเช่นนี้หล่อหลอมจิตใจให้หลิ่มไต่คิมมีนิสัยใฝ่หาความรู้จนสามารถสอบได้ตำแหน่งจอหงวนฝ่ายบุ๋นซึ่งเป็นบัณฑิตอันดับหนึ่งในวังหลวงตาม “ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์” (科舉制度)[2] ขณะมีอายุแค่ 21 ปี (ค.ศ. 1532) ถือเป็นจอหงวนหนุ่มเพียงผู้เดียวในประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว (潮州) เป็นแบบอย่างและแรงผลักดันแก่อนุชนชาวแต้จิ๋วมาโดยตลอด

 

ภูมิปัญญาเลิศล้ำดุจทองคำล้ำค่า

——ทุกวันนี้ หลิ่มไต่คิมได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การจดจำของถิ่นแต้จิ๋ว เรื่องราวว่าด้วยความเป็นมาของหลิ่มไต่คิม[3] ได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารท้องถิ่นหลายฉบับ เช่น

  • จดหมายเหตุถิ่นแต้จิ๋ว《潮州府志》หมวดที่ 9 สมัยจักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654–1722) แห่งราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1911)
  • กวีนิพนธ์มณฑลกวางตุ้งตะวันออก《粵東詩海》หมวดที่ 21 เรียบเรียงโดย เวินหรูเหนิง (温汝能 ค.ศ. 1748–1811) สมัยราชวงศ์ชิง
  • บันทึกประวัติศาสตร์กวางตุ้ง 《廣東通志》หมวดที่ 294 สมัยจักรพรรดิเต้ากวง (道光 ค.ศ. 1782–1850) แห่งราชวงศ์ชิง

——งานชิ้นสำคัญของหลิ่มไต่คิม เมื่อครั้งท่านมีชีวิตอยู่ คือเป็นหนึ่งในคณะผู้เรียบเรียง “บันทึกประวัติศาสตร์สมัยจักรพรรดิอู่จงอี้แห่งราชวงศ์หมิง” 《明武宗毅皇帝實錄》ซึ่งอยู่ในชุดบันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิง《明實錄》นอกจากนี้ อนุชนรุ่นหลังยังรวบรวมงานเขียนอื่นๆ ของท่านเป็นตำรา “ประชุมวรรณกรรมอาจารย์ตังโพ่ว”《東莆先生文集》[4] ซึ่งในเล่มที่ 5 ได้รวบรวมบทกวีนิพนธ์ของหลิ่มไต่คิมไว้ทั้งหมด 356 บท ส่วนใหญ่เขียนขึ้นเมื่อท่านลาออกจากราชการมาดำรงชีวิตอย่างสันโดษแล้ว มีเนื้อหาแสดงอุดมคติ ปรัชญา ความเชื่อ รวมทั้งความชอบส่วนตัว สะท้อนอัตลักษณ์ของหลิ่มไต่คิมอย่างเด่นชัด เจิงม่าย (曾邁 ค.ศ. 1576–1603) บัณฑิตสำนักหรู ชาวอำเภอกิ๊กเอี๊ย แห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) เคยรำพันถึงชีวิตหลังออกจากราชการของหลิ่มไต่คิมว่า “ถึงคราวกล่าวอำลา สุขใจในทุ่งนา” (一朝謝去,甘心田裡) ครั้นสมัยคังซีแห่งราชวงศ์ชิง หวางไต้ (王岱) นายอำเภอเถ่งไฮ่ (澄海 เฉิงไห่) ก็ได้เขียนเชิดชูคุณค่าทางวรรณศิลป์ของบทกวีและตัวหลิ่มไต่คิมไว้เช่นกันว่า “คนจริง กวีจริง”  (真人真詩)[5]

——ล่าสุด นักวิชาการชาวแต้จิ๋วนามว่าหวงถิง (黄挺 ค.ศ. 1947–ปัจจุบัน) ได้อ้างอิงข้อมูลจาก “ประชุมวรรณกรรมอาจารย์ตังโพ่ว” และเรียบเรียงเป็นหนังสือ “ประชุมวรรณกรรมของหลิ่มไต่คิม” 《林大欽集》โดยการชำระ และเพิ่มเติมเนื้อหาให้สมบูรณ์ แบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ บททูลสอบ “ถิงซื่อเช่อ”《廷試策》 บทวิจารณ์ ปกิณกคดี จดหมาย และบทร้อยกรอง รวมถึงภาคผนวก ซึ่งประกอบด้วยกวีเก็บตก ความเรียงแบบ “ปากู่เหวิน” (八股文 ความเรียงแปดส่วน) คำนิยม งานเขียนเบ็ดเตล็ดที่สะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ทัศนคติเชิงวิชาการ และการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ของหลิ่มไต่คิมในแง่มุมต่างๆ ถือเป็นเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ควรค่าแก่การศึกษา

ประชุมวรรณกรรมของหลิ่มไต่คิม ฉบับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประชาชนกวางตุ้ง (广东人民出版社)

ปูพื้นความรู้ด้วยแนวคิดขงจื่อ

——ในวัยเยาว์ หลิ่มไต่คิมใฝ่หาความรู้ด้วยปัญญาอันหลักแหลม ยังไม่ถึง 10 ขวบก็ท่องจำตำราคลาสสิกของสำนักขงจื่อ (孔子 551–479 ปีก่อนค.ศ.) ได้ขึ้นใจ จนได้ฉายาเด็กอัจฉริยะ (神童) ด้วยความรู้พื้นฐานด้านจริยธรรม คุณธรรม จารีตขนบประเพณีซึ่งสอดแทรกไว้ในตำรา หลิ่มไต่คิมจึงซึมซับแนวคิดเชิงปรัชญาของขงจื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที และนำมาปรับในการดำรงชีวิต เมื่อบิดาสิ้นอายุขัยขณะหลิ่มไต่คิมมีอายุได้ 18 ปี เป็นเหตุให้หลิ่มไต่คิมต้องสอนหนังสือและรับจ้างคัดลอกตำราเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและมารดา จนรอบรู้ผลงานอมตะของลัทธิขงจื่อ ตั้งแต่จตุรปกรณ์ (四書) ของสำนักขงจื่อ ได้แก่ เมิ่งจื่อ《孟子》จงยง《中庸》 ต้าเสว์《大學》และหลุนอี่ว์《論語》จนถึงคัมภีร์หลายคัมภีร์ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องความกตัญญูอย่างคัมภีร์เซี่ยวจิง《孝經》 เรื่องปรัชญาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างคัมภีร์โจวอี้ 《周易》คัมภีร์กวีนิพนธ์ซือจิง《詩經》คัมภีร์ธรรมเนียมพิธี《禮記》รวมทั้งคัมภีร์ชุนชิว《春秋》ซึ่งว่าด้วยการปกครองและประวัติศาสตร์แคว้นหลู่ และคัมภีร์สังคีตศิลป์《樂經》[6] ซึ่งสืบทอดในรูปแบบดนตรี ฯลฯ

——หลังจากสอบได้จอหงวนและเข้ารับราชการเป็นขุนนางประจำสำนักราชบัณฑิตแล้ว หลิ่มไต่คิมก็รับมารดามาอยู่ที่เมืองหลวงเพื่อดูแลปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด ทว่าเวลาผ่านไปยังไม่ถึง 3 ปี มารดากลับเริ่มป่วยและมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ หลิ่มไต่คิมจึงตัดสินใจลาออกจากราชการและพามารดากลับภูมิลำเนาเดิม

 

เสริมมโนทัศน์ด้วยปรัชญาเต๋า

——นับแต่สอบได้อันดับหนึ่ง แล้วได้รับการยกย่องเป็นยอดบัณฑิตและรับราชการในฐานะนักปราชญ์หลวง จนสุดท้ายก็ถวายบังคมลาโดยอ้างเหตุ “ปรนนิบัติมารดาซึ่งเจ็บป่วย” วิถีชีวิตจากสูงสุดคืนสู่สามัญเช่นนี้ กินเวลาไม่ถึง 3 ปี เป็นหนทางที่หลิ่มไต่คิมตัดสินใจเลือกตามเสียงเรียกร้องของมโนธรรม หลังจากถูกข้าหลวงเก่า เช่น เหยียนซง (嚴嵩 ค.ศ. 1480–1567) สมุหราชเลขา (內閣副輔) ขัดขาด้วยความอิจฉาริษยา และได้รู้เห็นมุมมืดของวงราชการ ทั้งการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของเหล่าขุนนาง ผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบราชการ และการใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือสวมหน้ากากเข้าหากันในหมู่ผู้ดีจอมปลอม ฯลฯ หลิ่มไต่คิมจึงละทิ้งลาภยศสรรเสริญ ชีวิตอันเกษมสำราญแบบชนชั้นสูง กลับบ้านเกิดซึ่งตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ถึงแม้จะห่างไกลความเจริญและแทบไม่มีเงินมาปลูกบ้าน แต่ก็ได้ค้นพบความสุขสงบในจิตใจ อันเนื่องมาจากการเป็นคนหนักแน่นมั่นคงในความซื่อตรงและความเป็นจริง

——ด้วยนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย หลิ่มไต่คิมจึงสั่งสมความรู้จากหลายสำนักปรัชญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธ เมื่อต้องอยู่ห่างไกลเมืองหลวง และยอมรับสภาพชีวิตในชนบทที่เรียบง่ายและยากจน หลิ่มไต่คิมไม่เพียงไม่โอดครวญถึงความทุกข์ยากลำบาก หากแต่ยังเบิกบานใจกับวิถีชีวิตในชนบทซึ่งใกล้ชิดธรรมชาติ ท่านรำพึงรำพันด้วยการแต่งกลอนพรรณนาความงามของธรรมชาติ ชมปลา นก ดอกไม้ ผีเสื้อ ทัศนคติเช่นนี้ท่านได้รับอิทธิพลจากจวงจื่อ (莊子 369–286 ปีก่อนค.ศ.) ปรัชญาเมธีในยุคจั้นกั๋ว (戰國 476–221 ปีก่อนค.ศ.) ผู้ถือแนวทางหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง มุ่งแสวงอิสรภาพทางด้านจิตใจและปัญญา ด้วยการใช้ชีวิตอย่างสงบสมถะและรื่นรมย์กลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัว (自適其適) นั่นแสดงว่าหลิ่มไต่คิมได้สมาทานแนวคิดลัทธิเต๋าที่สอนว่า “ให้ดำรงชีวิตตามครรลองของธรรมชาติและยอมรับสรรพสิ่งที่ดำเนินไปตามวิถีของสิ่งนั้นๆ

 

บำเพ็ญพรตเยี่ยงเซน

——หลิ่มไต่คิมยังได้ถ่ายทอดแนวความคิดความใฝ่ใจในพุทธศาสนานิกายฌาน (禪宗 หรือ นิกายเซน) ผ่านงานเขียนเช่นกัน เมื่อกลับบ้านเกิด ท่านได้รจนาบทกวีลูกทุ่ง《田園詩》 ซึ่งเนื้อความในบทที่สามกล่าวว่า  “ถอดหัวโขนเข้าหาศึกษาเซน สงบเย็นสุขใจในป่าเขา…”[7]

——แม้หลิ่มไต่คิมจะสิ้นลมขณะมีอายุเพียง 34 ปี (ค.ศ. 1545) แต่ด้วยความพยายามฝึกฝนและพัฒนาตนให้พ้นจากสภาพถูกพันธนาการทางร่างกายและจิตใจ ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือไม่เกลือกกลั้วกับข้าราชการชั่ว ทั้งยังครองตนไร้มลทินอย่างคงเส้นคงวา จึงเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้ท่านได้รับความเคารพยกย่องจากคนรุ่นหลัง

 

หลิ่มไต่คิมกับแนวคิด “จิตศาสตร์”

——แนวคิดจิตศาสตร์ (心學 ซินเสว์)  เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์หมิง ประกอบด้วยนักปรัชญาคนสำคัญ ได้แก่ เฉินเซี่ยนจาง (陳獻章 ค.ศ. 1428–1500) ผู้เน้นความสำคัญของการบ่มเพาะจิตใจ (涵養心性) หวางหยางหมิง (王陽明 ค.ศ. 1472–1529) ผู้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าความรู้ที่แท้จริงต้องควบคู่กับการปฏิบัติ   (知行並進) รวมทั้งจ้านรั่วสุ่ย (湛若水 ค.ศ. 1466–1560) ผู้เห็นพ้องกับทัศนะแบบองค์รวมที่ว่าความรู้ (การรับรู้) และพฤติกรรมของมนุษย์ (การกระทำ/การปฏิบัติ) ไม่อาจแยกออกจากกัน จำต้องประสานความรู้กับการปฏิบัติให้เข้ากันอย่างเหมาะเจาะ (知行合一)

——นักปรัชญากลุ่มดังกล่าวมักคัดค้านกติกาทางสังคมอันมีรากเหง้ามาจากระบบตระกูลแซ่ (宗法)[8] ไม่ยึดมั่นในแบบแผนอันสุดโต่ง  ทั้งยังวิจารณ์อรรถาธิบายเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานทางปรัชญาของลัทธิขงจื่อในยุคก่อน (สมัยราชวงศ์ฮั่นและถัง) นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับแนวทางปรัชญาว่าด้วยมนุษย์ของจูซี (朱熹 ค.ศ. 1130–1200) นักปรัชญาลัทธิขงจื่อใหม่แห่งราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960–1279) ผู้สนับสนุนแนวคิดเชิงจริยธรรมซึ่งมุ่งรักษาหลักการแห่งสวรรค์ หรือปฏิบัติตามวิถีแห่งฟ้า[9]และขจัดตัณหาหรือความทะยานอยากของมนุษย์ [10] (存天理、滅人欲)

——เมื่อครั้งหลิ่มไต่คิมมีชีวิตอยู่ กระแสความคิดเกี่ยวกับจิตหรือจิตศาสตร์ เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักวิชาการ นำโดยหวางหยางหมิง บัณฑิตคติขงจื่อใหม่ ซึ่งเป็นอีกสาขาหนึ่งของแนวคิดเชิงปรัชญาแห่งลัทธิหรู สำนักนี้แสดงทัศนะว่า “จิต” มีบทบาทสำคัญกว่ากฎธรรมชาติ เพราะ “จิตมนุษย์” คือพื้นฐานของความเป็นจริงและกำหนดทุกสิ่ง นอกจากนั้นยังถกกันในประเด็นคำถามเชิงอภิปรัชญา เป็นต้นว่าจิตภายในของมนุษย์กับโลกภายนอกมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

——ในถิ่นแต้จิ๋วมีขุนนางจำนวนมากที่สนับสนุนแนวคิดสำนักจิตศาสตร์ เช่น ซิขั่ง (薛侃 เซวียข่าน ค.ศ.1486–1546) เอี่ยกี๋ (楊驥 หยางจี้) เอี่ยล้วง (楊鸞 หยางหลวน) ตั่งเหม่งเต็ก (陳明德 เฉินหมิงเต๋อ) ตั่งซือเคียม (陳思謙 เฉินซือเชียน) รวมทั้งเอ็งบ่วงตั๊ก (翁萬達 เวิงว่านต๋า ค.ศ. 1498–1552) ขุนนางผู้มีฝีไม้ลายมือลือเลื่องในยุคนั้น สมกับคำที่หวางหยางหมิงเคยกล่าวไว้ว่า “ความเรืองปัญญาแห่งสหายร่วมสำนักในแผ่นดิน มิมีถิ่นแดนใดเทียบเทียมแต้จิ๋วได้” (海內同志之盛,莫有先於潮者) หลิ่มไต่คิมมักคบหาสมาคมกับนักปราชญ์เหล่านี้ เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับจิต จนซึมทราบทัศนคติของหวางหยางหมิงอย่างลึกซึ้ง ที่จริงแล้ว ก่อนเดินทางไปสอบข้าราชการ ณ เมืองหลวง หลิ่มไต่คิมเคยเข้าร่วมเสวนาว่าด้วยจิตศาสตร์กับเหล่าบัณฑิตหรูกว่าสี่สิบคนอยู่เนืองนิตย์ และมักถกกันในประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการปรับเปลี่ยนตนเองด้วยมรรรคา “จิตมนุษย์”

——เมื่อหลิ่มไต่คิมลาออกจากราชการกลับสู่บ้านเกิดแล้ว ก็ไปปักหลักอยู่ที่เชิงเขาตังโพ่ว (東莆) และดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ ทุ่มเทกำลังความคิดในการศึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ เนื้อหาการเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นไปตามแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาจิต ดั่งที่ปรากฏในรวมบทประพันธ์เรื่อง ปาฐกถา ณ เขาหั่วง้ำ《華岩講旨》 “หวงถิง” นักวิชาการสมัยใหม่ได้ชี้แจงว่า ตำราปาฐกถาเล่มนี้ อธิบายทฤษฎีจิตศาสตร์ โดยอ้างอิงแนวคิดของหวางหยางหมิง แม้แต่ภาษาซึ่งใช้ประพันธ์ ก็คงถ้อยคำเดิมตามที่หวางหยางหมิงเขียนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแก่นความคิดเกี่ยวกับมโนธรรม (良知) ที่พึงมีสำหรับทุกคน และ การนำจิตสำนึกเยี่ยงนี้ไปปรับใช้กับทุกเรื่องที่ตนปฏิบัติในชีวิต (致良知)

——ในมุมมองของหลิ่มไต่คิม วิธีการฝึกฝนตนโดยใช้มโนธรรม คือวิธีที่เรียบง่ายที่สุด ในจดหมายซึ่ง หลิ่มไต่คิมเขียนถึงสหาย ได้สอดแทรกปรัชญาว่าด้วยความเรียบง่ายไว้ เช่น อันหลักการแท้จริงนั้นอยู่ใกล้ตัว ปฏิบัติง่าย มิจำเป็นต้องแสวงหาจากภายนอก (夫道之至邇至易,不得外求)  ด้วยว่ามโนธรรมนั้นเข้าใจง่าย พรสวรรค์นั้นไม่ซับซ้อน ความเรียบง่ายจึงเป็นสิ่งที่ทั่วหล้าพึงมี (良知故易,良能故簡,易簡天下之理得也) แก่นของความเรียบง่าย แท้จริงมิด้อยไปกว่าจินตนาการ (易簡之性,本不落於想象)

——หลิ่มไต่คิมยังพูดโน้มน้าวจนกระทั่งมารดาปรับเปลี่ยนความคิดและการกระทำได้ เช่น ไม่จุดธูปเพื่อขอพร ไม่เซ่นไหว้เพื่อหวังผล ทำจิตใจให้สงบ ทำสิ่งต่างๆ อย่างเรียบง่าย เป็นต้นแบบให้แก่เหล่าศิษย์ รวมถึงปุถุชนคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่งมงายตามความเชื่อต่างๆ นานาในสมัยนั้น

——การสูญเสียมารดาบังเกิดเกล้าทำให้หลิ่มไต่คิมเศร้าโศกเสียใจมาก หลิ่มไต่คิมได้ล่วงลับหลังจากนั้นเพียง 5 ปี ถือเป็นการปิดฉากชีวิตของผู้ซึ่งพยายามปลงและยอมรับความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงปรัชญาของหลิ่มไต่คิมมีเหตุมาจากประสบการณ์ชีวิตและสภาพแวดล้อมสังคม แม้ว่าจักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖 ค.ศ. 1507–1567) ทรงเคยชื่นชมวิสัยทัศน์อันเปี่ยมด้วยปัญญาและปฏิภาณในการสอบหน้าพระที่นั่ง แต่ข้อเสนอแผนการปฏิรูปการปกครองของหลิ่มไต่คิมกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ความกลัดกลุ้มของบัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถที่มองเห็นสถานการณ์บ้านเมืองนับวันยิ่งแย่ลง แต่ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ ทำให้หลิ่มไต่คิมปลงตก และแสดงทัศนะของตนผ่านบทกวี 《謝以忠兄兼簡諸知己》 ความว่า บัดนี้ใจกระหายลาภยศดับสลาย ใคร่ปล่อยวางภาระหน้าที่เต็มที (從此功名之心益消,任放之情轉篤陽)

——อย่างไรก็ตาม เจตจำนงทางวิชาการของหลิ่มไต่คิมก็เป็นที่ยอมรับในสังคมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องที่เตี่ยซัว ชื่อหลิ่มไต่คิมถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมีคุณค่าแก่จิตใจ เส้นทางการเรียนรู้เพื่อชีวิตและสังคมของท่านเริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ตามแนวคิดขงจื่อ กล่าวคือ มุ่งปฏิบัติในหลักการบำเพ็ญตน สร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ ปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็น สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นทั่วโลก (修身、齊家、治國、平天下) พยายามหาทางออกให้สังคมโดยอาศัยความรู้ที่มาจากหลากหลายสำนักคิด เข้าใจเนื้อแท้ของสรรพสิ่งและมุ่งบรรลุความรู้ (格物致知) ส่งเสริมด้านการศึกษาให้เข้าถึงแก่น ตั้งคำถามหาเหตุผลของสิ่งที่ศึกษาด้วยความรู้อย่างถ่องแท้และจิตอันบริสุทธิ์ ในที่สุดความคิดก็ตกผลึก โดยหันมามุ่งเน้นพัฒนาจิตเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตน ประสานการกระทำกับจิตตื่นรู้กระจ่างแจ้ง กล่าวกันว่า เมื่อเราดำรงตนในแนวทางที่ถูกที่ควร (หมายถึง จิตกับการกระทำสอดคล้องกัน) ความสุขสำราญย่อมบังเกิดแก่ตนและโลกทั้งมวล

 


[1] ถิ่นแต้จิ๋ว หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เตี่ยซัว (潮汕 เฉาซ่าน) มีที่มาจากนครแต้จิ๋ว (潮州 เฉาโจว) และนครซัวเถา (汕頭 ซ่านโถว) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมแต้จิ๋วร่วมกัน ปัจจุบันนี้พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วย นครซัวเถา แต้จิ๋ว และกิ๊กเอี๊ย (揭陽)
[2] ระบบการจัดสอบแบบกำหนดรายวิชา เพื่อคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการตามการปกครองระบอบราชาธิปไตยของจีนสมัยโบราณ หรือเรียกโดยย่อว่า ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ
[3] ติดตามเรื่อง หลิ่มไต่คิม ยอดจอหงวนแห่งประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว” ได้ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ลำดับที่ 263 ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
[4] หลิ่มไต่คิมมีฉายานามว่า ตังโพ่ว (東莆 ตงผู) เนื่องจากไปตั้งถิ่นฐานที่เขาตังโพ่วและสอนหนังสืออยู่ที่นั่น
[5] ความคิดเห็นของเจิงม่าย และหวางไต้ ปรากฏใน “คำนำสำหรับกวีนิพนธ์ของหลิ่มไต่คิม”《诗序》
[6] หายสาบสูญไป ไม่หลงเหลือต้นฉบับจริงในปัจจุบัน
[7] 休向菩提學問禪,林泉風月自娟娟。
[8] ระบบตระกูลแซ่ซึ่งเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ตั้งแต่สถาบันทางสังคมขนาดเล็กและเก่าแก่ที่สุดคือครอบครัว วงศ์ตระกูล และชุมชน จนถึงชนชาติ รัฐ และอาณาจักร เพื่อให้ทุกคนมีสำนึกร่วมของความเป็นชนชาติอย่างแน่นแฟ้น
[9] 天理 คือ กฎศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้องสำหรับทุกคนในความคิดของคนจีน
[10] 人欲 คือ ความปรารถนาของมนุษย์ หรือธรรมชาติที่แท้จริงของปัจเจกบุคคล