“หลิ่มไต่คิม”

ยอดจอหงวนแห่งประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว

เรื่องโดย ถิรวัสส์ อัครเดชเรืองศรี


 

หมายเหตุ: ชื่อของบุคคลและสถานที่ในบทความนี้จะถอดเสียงโดยใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นหลัก

 

ภาพวาดหลิ่มไต่คิม

——นับแต่ระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการแบบเคอจี่ว์ (科舉制度) เริ่มมีขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ.  581–618) จนถึงการจัดสอบครั้งสุดท้ายในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912) ซึ่งกินระยะเวลาราว 1,300 ปี  หากอ้างอิงตามหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ยังคงเหลืออยู่ให้สืบค้น มีบัณฑิตผู้สอบได้จอหงวนทั้งหมด 592 คน หนึ่งในนั้น คือ “หลิ่มไต่คิม” (林大欽 หลินต้าชิน ค.ศ. 1511~1545) จอหงวนฝ่ายบุ๋นท่านเดียวในประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว (潮州) และหนึ่งในเก้าจอหงวนฝ่ายบุ๋นซึ่งมีรกรากอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง (廣東 กว่างตง)

——“หลิ่มไต่คิม” มีนามรองว่า เก้งฮู (敬夫 จิ้งฟู) ฉายานามว่า ตังโพ้ว (東莆 ตงผู) เป็นบุตรของหลิ่มงี้แจ (林毅齋หลินอี้ไจ) และนางสกุลเล้า (劉氏) เกิดเมื่อวันที่ 6 เดือน 12 ในรัชศกเจิ้งเต๋อ (正德) ปีที่ 6 แห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ.1368–1644) ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1511 เป็นชาวหมู่บ้านซัวเตา ตำบลตังโพ้ว อำเภอไห่เอี๊ย จังหวัดแต้จิ๋ว (潮州府海陽縣東莆都山兜鄉)[1]

——ตามข้อมูลที่ปรากฏบนแผ่นหินจารึกหน้าสุสานหลิ่มทงเฮี้ยง (林通玄 หลินทงเสวียน) บัณฑิตผู้สอบได้ระดับจิ้นซื่อ (進士) ในรัชศกเจียโย่ว (嘉佑ค.ศ.1056–1063) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋 ค.ศ. 960–1127) มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้

“จารึกประวัติ: ท่านทงเฮี้ยง นามเดิมว่า ก่าย ฉายานามว่า ตังมุ้ย บัณฑิตระดับจิ้นซื่อ ในช่วงรัชศกเจียโย่ว แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ รับราชการในตำแหน่งรองอธิบดีกรม ผู้เป็นปฐมบรรพบุรุษตระกูลลิ้มสายอำเภอหุ่ยไล้ จังหวัดแต้จิ๋ว ทั้งเป็นทายาทรุ่นที่ 23 ของหลิ่มลก และทายาทรุ่นที่ 7 ของหลิ่มอุ้ย…

เมื่อสุสานของท่านสร้างแล้วเสร็จ ทายาทสอบได้บัณฑิตขั้นสูงต่อเนื่องกันถึง 7 รุ่น ทายาทรุ่นหลังสอบได้บัณฑิตระดับต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย และมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ เช่น หลิ่มไต่คิม ทายาทรุ่นที่ 16 ได้รับพระราชทานตำแหน่งบัณฑิตระดับจอหงวน ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 11 องค์จักรพรรดิได้พระราชทานป้ายสุสานแห่งนี้ พร้อมกับมีพระราชโองการ เชิดชูเกียรติบรรพบุรุษ”[2]

——ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หลิ่มไต่คิมเป็นทายาทรุ่นที่ 38 ของหลิ่มลก (林祿  หลินลู่ ค.ศ. 289–356) จวิ้นอ๋องแห่งแคว้นจิ้นอัน (晉安郡王) ผู้เป็นปฐมบรรพบุรุษตระกูลลิ้มสายฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว (閩林始祖) และทายาทรุ่นที่ 21 ของหลิ่มอุ้ย (林葦  หลินเหว่ย ค.ศ. 755–ไม่ปรากฏ) ผู้ตรวจการเมืองตวนโจว (端州刺史) ผู้เป็นบรรพบุรุษสายแรกในเก้าสายข้าหลวงตระกูลลิ้ม (九牧世家)

 

  • พื้นเพและพื้นความรู้

——หลิ่มไต่คิมเกิดในครอบครัวบัณฑิต ตั้งแต่เยาว์วัยมีนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปกิณกะร้อยแก้วรัชศกเจียโย่ว《嘉祐集》ของซูสวิน[3] (蘇洵 ค.ศ. 1009–1066) ทั้งยังได้รับตำรับตำราจากญาติที่สะสมไว้นับหมื่นเล่ม ภายหลังได้อ่านบทประพันธ์ของซูซื่อ[4] (蘇軾 ค.ศ. 1037–1101) และซูเจ๋อ[5] (蘇轍 ค.ศ. 1039–1112) จนซาบซึ้ง จึงเริ่มฝึกเขียนร้อยแก้ว โดยยึดตำราเหล่านี้เป็นต้นแบบ อนุชนคนรุ่นหลังจึงยกย่องงานเขียนของหลิ่มไต่คิมว่า “สำนวนเปี่ยมด้วยพลังดุจสายน้ำที่ไหลเชี่ยว ราวกับสามกวีพ่อลูกตระกูลซู” (奔騰磅礴,酷肖三蘇風格)

——ก่อนรับราชการ หลิ่มไต่คิมเคยเป็นครูสอนในโรงเรียน และรับจ้างคัดลอกตำราเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวจากสกุลซุน (孫氏) เป็นภรรยาเอก

 

  • สู่เส้นทางยอดบัณฑิต

——ในรัชศกเจียจิ้ง (嘉靖) ปีที่ 10 (ค.ศ. 1531) หลิ่มไต่คิมได้เข้าร่วมการสอบบัณฑิตระดับเมืองเอก (府試) ของจังหวัดแต้จิ๋ว และมีโอกาสแสดงปฏิภาณไหวพริบ เมื่อหวังซื่อฟาง (王世芳 ค.ศ. 1503–1563) รองข้าหลวงตรวจการแผ่นดิน ฝ่ายการศึกษาของมณฑลกวางตุ้ง (廣東按察司副使提督學政) ได้เห็นกระดาษคำตอบก็รู้สึกอัศจรรย์ใจและได้เสนอรายชื่อต่อ อู๋หลิน (吴麟 ค.ศ. 1485–1553) ข้าหลวงตรวจการแผ่นดิน (巡按御史) พร้อมกับกล่าวชมว่า “จักต้องเป็นดาวบัณฑิตลงมาจุติเป็นแน่”

——ในการสอบรอบนี้ หลิ่มไต่คิมได้แสดงภูมิปัญญาอันโดดเด่น สะท้อนทัศนคติทางการเมืองที่ห่วงใยราษฎร และการปกปักรักษาบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา หลิ่มไต่คิมชี้ทางสว่างว่า แผ่นดินจีนไม่เพียงต้องการผู้มีความสามารถ แต่ยังต้องการกษัตริย์ผู้ปราดเปรื่องด้วย เขาเขียนบทความแสดงทัศนะได้ตรงประเด็น สมกับคำชมของซิขั่ง[6] (薛侃 เซวียข่าน ค.ศ. 1486–1546) ซึ่งกล่าวว่า “มีข้อมูลครบถ้วนและถูกต้องแม่นยำ ใช้สำนวนภาษาสละสลวย เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว รู้สึกได้ว่าเปี่ยมด้วยพลัง” (考據詳核,詞旨凜烈,讀之覺奕奕有生氣)

——ในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน หลิ่มไต่คิมเข้าร่วมการสอบบัณฑิตระดับภูมิภาค (鄉試) ผลปรากฏว่าเขาสอบได้บัณฑิตระดับจี่ว์เหริน (舉人) รายชื่อลำดับที่ 6

——ปีถัดมา รัชศกเจียจิ้งปีที่ 11 (ค.ศ. 1532) เขาเข้าร่วมการสอบบัณฑิตระดับเมืองหลวง (會試) และสอบได้บัณฑิตระดับก้งซื่อ (貢士) รายชื่อลำดับที่ 12 จากการคัดเลือกของกรมพิธีการ (禮部) จึงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมสำหรับการเข้าสอบหน้าพระที่นั่ง ครั้งนั้นจักรพรรดิหมิงซื่อจง (明世宗  ค.ศ. 1507–1567) ทรงคุมสอบด้วยพระองค์เอง

——ก่อนเข้าสอบ เซี่ยเหยียน (夏言 ค.ศ. 1482–1548) เลขาธิการประจำกรมพิธีการ (禮部尚書) ผู้คุมสอบได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระเจ้าหมิงซื่อจงว่า ควรปรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เป็นธรรมแก่ผู้เข้าสอบซึ่งตอบข้อสอบด้วยเนื้อหาที่แตกต่างและแปลกใหม่ พระองค์ทรงอนุมัติ พร้อมกับมีพระบัญชาให้กรมพิธีการร่างหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ และแจ้งให้ผู้เข้าสอบปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่หลิ่มไต่คิมหาได้รับทราบไม่ ดังนั้นจึงไม่นำพาข้อห้ามต่างๆ เป็นอันว่าในการสอบครั้งนั้น หลิ่มไต่คิมได้ใช้วิจารณญาณเฉพาะตัวในการตอบข้อสอบ ซึ่งมีเนื้อความขัดกับหลักเกณฑ์ใหม่ แต่ด้วยความสามารถอันโดดเด่น เมื่อจางฝูจิ้ง (張孚敬 ค.ศ. 1475–1539) มหาราชบัณฑิต (大學士) เห็นกระดาษคำตอบ ก็กล่าวว่า “แม้ว่าจะผิดหลักเกณฑ์ แต่สำนวนภาษากระจ่างชัด สละสลวย ควรแก่การทูลเกล้าฯ ถวายต่อองค์จักรพรรดิให้ทรงพิจารณา” จึงตัดสินใจนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

——ในการสอบครั้งนี้ จักรพรรดิหมิงซื่อจงได้ตั้งโจทย์ต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารปกครองบ้านเมืองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร เนื้อหาครอบคลุมเรื่องปากท้อง ที่ทำมาหากิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงข้อขัดข้องของระบบราชการ หลิ่มไต่คิมจึงได้ทูลเสนอบทความ “ถิงซื่อเช่อ”《廷試策》ซึ่งประกอบด้วยอักษรจีนกว่า 4,500 ตัว เขาแสดงทัศนคติด้วยการมองการณ์ไกลและตีแผ่ปัญหาสังคมในเชิงลึก โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรและการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ เช่น ความคิดเกี่ยวกับความอดอยากของราษฎรเป็นภัยใหญ่หลวง เนื่องจากข้าราชการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ (遊惰) ซึ่งมีมูลเหตุสำคัญคือราษฎรส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพประจำและตกอยู่ในสถานะพเนจร (遊民) ทั้งยังเกิดความคิดประทุษร้ายต่อราชอาณาจักร (異端) ส่วนรัฐราชการที่ขยายใหญ่เกินตัวและด้อยประสิทธิภาพ (冗雜)  ก็มาจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ บุคคลในระบบราชการมากเกินไป (冗員) ไพร่พลมากเกินไป (冗兵) และค่าใช้จ่ายภาครัฐมากเกินไป (冗費) หลิ่มไต่คิมจึงเสนอ 8 มาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การแบ่งสรรที่นาสำหรับราษฎร (均田) การคัดสรรบุคคลเข้ารับราชการ (擇吏) การลดสิ่งที่เกินจำเป็น (去冗) การประหยัดงบประมาณแผ่นดิน (省費) การขยายพื้นที่ทำกินเพื่อเพาะปลูก (闢土) การลดภาษี (薄徵) การเปิดการค้าเสรี (通利) การงดค่านิยมฟุ่มเฟือย (禁奢) หลิ่มไต่คิมวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง ตอบโจทย์ตามที่กำหนดได้ครบถ้วน ทั้งยังชี้ให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างตรงจุด เป็นที่พอพระทัยของจักรพรรดิอย่างยิ่ง

——การตอบข้อสอบอย่างแยบคายด้วยอักษรราวห้าพันตัวนี้ นักวิจารณ์ต่างพากันยกย่องว่า มีความยอดเยี่ยมยิ่งกว่าผลงานของเจี่ยอี้[7] (賈誼 200–168 ปีก่อน ค.ศ.) และซูซื่อ ติงจื้อเซิน[8] (丁自申 ค.ศ. 1526–1583) กล่าวว่า หากนำกระดาษคำตอบการสอบเคอจวี่ของซูซื่อมาวางเทียบ ก็ไม่อาจแยกออกว่าฉบับไหนเป็นของซูซื่อ (以合於蘇長公制科之策,不辨其孰為長公者) กั่วจื่อจื๋อ[9] (郭子直 ค.ศ. 1535 – ไม่ปรากฏ) กล่าวว่า ลีลาสละสลวย ราวกับสำนวนภาษาของซูซื่อ (氣鬯詞雄,翩翩乎蘇長公風骨) อั่งหมั่งต่ง[10] (洪夢棟 หงเมิ่งต้ง) กล่าวว่า หากตัดประเด็นการอธิบายขยายความอย่างถ่อมตัวทิ้งไป คุณค่าเนื้อหาด้านมองการณ์ไกลย่อมเทียบเคียงกับ ‘ฎีกาหมื่นอักษร’ ของซูซื่อได้ (排盪屈注,直與子瞻《萬言書》爭千秋之價)

——การสอบหน้าพระที่นั่งนับเป็นเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตของหลิ่มไต่คิม ครั้นถึงวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1532 จักรพรรดิหมิงซื่อจงได้พระราชทานตำแหน่งบัณฑิตอันดับหนึ่ง (御擢第一) หรือจอหงวน (狀元) แก่หลิ่มไต่คิม นับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาจอหงวนซึ่งมีอายุค่อนข้างน้อยที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์จีน นอกจากนี้หลิ่มไต่คิมยังรับราชการขั้นหกระดับล่าง (從六品) ตำแหน่งอาลักษณ์ (修撰) ในราชบัณฑิตยสภาฮั่นหลิน (翰林院) ทั้งมีส่วนร่วมในการเรียบเรียงและรวบรวมบันทึกหลักฐานการสอบสวนคดี 《武案實錄》 ด้วย

 

  • สูงสุดคืนสู่สามัญ

——หลิ่มไต่คิมเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความกตัญญูเป็นเลิศ และมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย ขณะยังรับราชการอยู่ ก็พามารดามาเลี้ยงดูตอบแทน ณ เมืองหลวง

——ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 13 (ค.ศ. 1534) เนื่องด้วยสังขารของมารดาไม่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองหลวงจึงล้มป่วย ทั้งหลิ่มไต่คิมยังถูกข้าหลวงรอบข้างเช่น เหยียนซง (嚴嵩 ค.ศ. 1480–1567) สมุหราชเลขา (內閣副輔) อิจฉา บีบคั้นกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง เขาเลยเกิดความเบื่อหน่ายและตัดสินใจลาออกจากราชการ ถึงแม้ว่าหลิ่มไต่คิมได้กลับบ้านเกิดที่แต้จิ๋วแล้ว แต่ราชสำนักยังคงเปิดช่องให้เขากลับเข้ารับราชการเสมอมา ทว่าเขาปฏิเสธอย่างไม่ไยดี

——สาเหตุอีกประการที่ทำให้หลิ่มไต่คิมลาออกคือ วังหง (汪鋐 ค.ศ. 1466–1536) ผู้ตรวจข้อสอบของหลิ่มไต่คิม และจางฝูจิ้ง ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายชื่อหลิ่มไต่คิมต่อองค์จักรพรรดิ ต่างก็เป็นกังฉินที่ถูกเหล่าขุนนางเพ่งเล็ง ตามธรรมเนียมแล้ว ขุนนางผู้คุมสอบย่อมเป็น โหย่วซือ (有司) หรือ จั้วจู่ (座主) คือเป็นอาจารย์ของผู้เข้าสอบโดยปริยาย ดังนั้นหลิ่มไต่คิมจึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่จะทูลปัญหาตามความเป็นจริงของราชการงานเมืองอันจัดการได้ยาก เลยระบายความอัดอั้นผ่านกวีนิพนธ์ เช่น เหล่าผู้สูงศักดิ์หยิ่งทะนงไม่รู้ผิดชอบชั่วดี (朱門矜是非) เรื่องบนโลกวุ่นวาย ดุจเชือกป่านพันยุ่งเหยิง (世事亂如麻) ภูเขาสูงชันไม่อาจปีนปาย สายน้ำลึกจะลุยข้ามได้อย่างไร (山高不可登,河深豈可厲) เมืองกรุงมิอาจมุ่งหวังรั้งไว้ (帝鄉不可願) มีชื่อเสียงเกียรติยศกันไปไย (榮名安所須) แสวงหาความดีความชอบจะเพียงพอเมื่อไรกัน (勛名何足營) เมื่อได้รับอนุญาตจากราชสำนักให้กลับบ้านเกิดแล้ว หลิ่มไต่คิมจึงได้แต่งบทกวีอีกบท มีความว่า “นับแต่นี้หลุดพ้นจากกรง สมดังปรารถนา” (從茲脫樊籠,卒吾所好)

 

  • สิ้นใจก่อนวัยอันควร

——หลังจากกลับถึงบ้านเกิดคือ เมืองแต้จิ๋ว หลิ่มไต่คิมได้ถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีแก่ลูกศิษย์ในโรงเรียนจงซัว (華岩山宗山書院) ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านถะแอ๋ ตำบลกิมเจี๊ยะ เขตเตี่ยอัง นครแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง (廣東省潮州市潮安區金石鎮塔下村)

——ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 19 (ค.ศ. 1540) มารดาของหลิ่มไต่คิมสิ้นอายุขัย ขณะจัดงานศพ หลิ่มไต่คิมได้กระอักเลือดด้วยความตรอมใจ ทั้งยังหมดอาลัยในชีวิต และมีอาการป่วยทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 24 (ตรงกับวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1545) หลิ่มไต่คิมก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม

หน้าสุสานของหลิ่มไต่คิม

——ร่างไร้วิญญาณถูกฝังไว้ ณ ที่ราบจอหงวน (狀元埔) เขาซังโพ้ว (桑浦山) หน้าสุสานหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บนป้ายศิลาแถวบนจารึกเป็นตัวอักษรว่า “ชัยภูมิสุสานอันวิเศษแห่งตำบลตังโพ้ว” (東莆佳城) แถวกลางจารึกว่า “สุสานท่านตังโพ้วแห่งตระกูลลิ้ม บัณฑิตอันดับหนึ่งพระราชทาน อาลักษณ์ราชบัณฑิตยสภาฮั่นหลิน แห่งราชวงศ์หมิง” (明賜狀元及第翰林院修撰東莆林公墓) มุมซ้ายล่างจารึกเป็นอักษรตัวเล็กว่า “บุตรกตัญญูเทียงกี่ (เทียนจี้) สร้างขึ้นด้วยคารวาลัย” (孝子天繼泣血立石) ต่อมาในค.ศ. 1987 สุสานแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนทางการเป็น โบราณสถานสำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์แห่งนครแต้จิ๋ว (潮州市重點文物保護單位)

ซุ้มประตูรำลึกถึงหลิ่มไต่คิม ณ ถนนซุ้มประตู นครแต้จิ๋ว

——นอกจากนี้ตรงถนนซุ้มประตู (牌坊街) ณ นครแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่ผสมผสานวัฒนธรรมแต้จิ๋วหลากหลายแขนงไว้ และเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด ยังมีซุ้มประตูที่จารึกชื่อเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและสดุดีเกียรติประวัติของหลิ่มไต่คิม ผู้นำชื่อเสียงกลับมาสู่บ้านเกิด อันแสดงถึงความภาคภูมิใจของชาวแต้จิ๋วมาจนปัจจุบัน

 


[1] ปัจจุบันคือ หมู่บ้านเซียงโตว ตำบลกิมเจี๊ย เขตเตี่ยอัง นครแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง (廣東省潮州市潮安區金石鎮仙都村)

[2]  史記:通玄公、諱楷、號東美,北宋嘉佑年間進士,授員外郎,系吾惠潮林氏肇祖也,上接晉安郡王、閩林始祖祿公第二十三代孫、九牧端州刺史葦公第七代孫,…公墓造后,七代科甲,耳孫科舉蟬聯,榮史昭昭,如第十六代孫大欽、明朝壬辰科欽點第一名狀元、明嘉靖十一年壬辰、帶御賜 “林氏封瑩” 碑到山祖墓祭祀。

[3] นักประพันธ์เรืองนามในสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้เป็นบิดาของซูซื่อ (蘇軾) และซูเจ๋อ (蘇轍)

[4] ฉายานามว่า ตงพอจีว์ซื่อ (東坡居士) ผู้คนมักนิยมเรียกว่า ซูตงพอ (蘇東坡) นักปกครอง นักชิมอาหาร และนักประพันธ์นามอุโฆษในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ สอบได้บัณฑิตระดับจิ้นซื่อในรัชศกเจียโย่ว ปีที่ 2  (ค.ศ. 1057) พร้อมกับผู้เป็นน้องที่สอบได้ระดับเดียวกัน

[5] ฉายานามว่า ตงเซวียนจ๋างเหล่า (東軒長老) และสมัญญาว่า อิ่งปินอี๋เหล่า (潁濱遺老) เป็นน้องของซูซื่อ

[6] ชาวอำเภอกิ๊กเอี๊ย (揭陽縣) จังหวัดแต้จิ๋ว (潮州府) ผู้สอบได้บัณฑิตระดับจิ้นซื่อ ในรัชศกเจิ้งเต๋อ  ปีที่12 (ค.ศ. 1517) นักปราชญ์และนักปกครองในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการเผยแพร่แนวคิดสำนักจิตศาสตร์ (心學) ทางตอนใต้ของจีน

[7] นักปราชญ์และนักปกครองในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนค.ศ.–ค.ศ. 8) ชาวเมืองลั่วหยาง (洛陽)

[8] ชาวอำเภอจิ้นเจียง (晉江縣) จังหวัดเฉวียนโจว (泉州府) มณฑลฮกเกี้ยน (福建省) สอบได้บัณฑิตระดับจิ้นซื่อ ในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 29 (ค.ศ. 1550) เป็นนักปกครองผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644)

[9] ชาวอำเภอฉงเต๋อ (崇德縣) จังหวัดเจียซิ่ง (嘉興府) มณฑลเจ้อเจียง (浙江省) สอบได้บัณฑิตระดับจิ้นซื่อ ในรัชศกหลงชิ่ง(隆慶)ปีที่ 5 (ค.ศ. 1571)

[10] ชาวอำเภอไห่เอี๊ย (海陽縣) จังหวัดแต้จิ๋ว (潮州府) สอบได้บัณฑิตระดับจิ้นซื่อ ในรัชศกฉงเจิน (崇禎) ปีที่ 13 (ค.ศ. 1640)