ปานเจา: ยอดกัลยาณี
นักประวัติศาสตร์หญิงคนแรกของจีน

เรื่องโดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล


——แม้จะมิได้มีรูปโฉมงามเลิศเยี่ยงไซซี (西施 ราว 503–473 ปีก่อนค.ศ.) และหวังเจาจวิน (王昭君 ราว 54–19 ปีก่อนค.ศ.) แต่ “ปานเจา” (班昭 ราวค.ศ. 49–120) ก็ปรากฏเกียรติคุณโด่งดังอยู่ในประวัติศาสตร์จีน เพราะเป็นยอดกัลยาณีผู้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้เป็นเลิศและประเสริฐด้วยจริยาวัตร หาผู้เสมอเหมือนมิได้

——ปานเจาเป็นคนรุ่นหลังหวังเจาจวิน หนึ่งในสี่ยอดหญิงงามของจีนประมาณร้อยปี นางมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 49–120 ตรงกับช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (東漢 ค.ศ. 25–220) วงศ์ตระกูลเป็นขุนนางผู้ทรงความรู้ ปู่เป็นข้าหลวง ปานเปียว (班彪 ราวค.ศ. 3–54) ผู้บิดา เป็นปราชญ์เชี่ยวชาญวิทยาการของลัทธิขงจื๊อและเป็นนักประวัติศาสตร์สำคัญคนหนึ่งของจีน ปานกู้ (班固 ราวค.ศ. 32–92) พี่ชายคนโตเป็นบุคคลสำคัญในการเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร “ฮั่นซู”《漢書》ปานเชา (班超) พี่ชายคนรอง เดิมเป็นบัณฑิตผู้ทรงความรู้ แต่พออายุ 41 ได้วางปากกาจับอาวุธไปขยายอาณาเขตจีนด้านตะวันตก เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการบุกเบิก “ทางสายไหม” อีกทั้งครอบครัวเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินและตำรับตำรา ปานเจาจึงเป็นหญิงที่ได้รับการศึกษาดี มีความรู้เลิศไม่แพ้ชายมาแต่เยาว์วัย ภูมิลำเนาของวงศ์ตระกูลนางอยู่อำเภออันหลิง (安陵) เมืองฝูเฟิง (扶風) ปัจจุบันอยู่ทางด้านตะวันออกเมืองเสียนหยาง (鹹陽) มณฑลส่านซี (陝西)

——พออายุ 14 ปี ปานเจาแต่งงานกับเฉาโซ่ว (曹壽) คนบ้านเดียวกัน อยู่ด้วยกันไม่กี่ปี สามีก็ตายจาก มีบุตรด้วยกันสามคน ชายสองหญิงหนึ่ง นางครองหม้ายพรหมจรรย์อย่างผุดผ่องมาตลอด เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เป็นคนดีมีความรู้ ตนเองยังได้ค้นคว้าหาความรู้ตลอดมาจนเป็น “ปราชญ์หญิง” อันดับหนึ่งของจีน

——นางได้สำแดงภูมิรู้ให้ปรากฏเลื่องลือด้วยการเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร “ฮั่นซู” ซึ่งพี่ชายและบิดาเขียนค้างไว้จนจบ ได้รับเชิญไปเป็น “พระอาจารย์” ของ “ฮองเฮา” และนางในของพระเจ้าฮั่นเหอตี้ (漢和帝 ค.ศ. 79–106) เป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ในราชวิทยาลัย แต่งบทวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นอันมาก ที่สำคัญยิ่งคือหนังสือนารีจริยา《女诫》อันเป็นตำราสอนจรรยาวัตรหญิงทำนองเดียวกับสุภาษิตสอนหญิงหรือกฤษณาสอนน้องของไทย

 

  • เรียบเรียงพงศาวดาร “ฮั่นซู”

ภาพ “ปานเจาชำระประวัติศาสตร์” (班昭修史) วาดโดย ก่ายฉี (改琦 ค.ศ. 1773–1828) สมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912)

——หนังสือ “ฮั่นซู” เป็นพระราชพงศาวดารชุดที่สองของจีน ชุดแรกคือ “สื่อจี้”《史記》ซึ่งซือหม่าเชียน (司馬遷 ราว 135–86 ปีก่อนค.ศ.) เป็นผู้เรียบเรียง กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงศักราชไท่ชู (太初 104–101 ปีก่อนค.ศ.) ในรัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ (漢武帝 156–87 ปีก่อนค.ศ.) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนค.ศ.–ค.ศ. 8)  เหตุการณ์หลังจากนั้นจนถึงราชวงศ์ฮั่นตะวันออกยังไม่มีพระราชพงศาวดารฉบับที่ถือว่าเป็นมาตรฐานได้

——ปานเปียวบิดาของปานเจามีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะแต่งพระราชพงศาวดารฉบับมาตรฐานต่อจากสื่อจี้ จึงได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร โบราณวัตถุ ตลอดจนตำนานต่างๆ เรียบเรียง “สื่อจี้” ตอนต่อ แต่เขียนไปได้ 65 บท ก็ล่วงลับเสียก่อนเมื่อ ค.ศ. 54 ขณะนั้นปานกู้บุตรชายคนโตกำลังเรียนอยู่ที่ราชวิทยาลัยในนครลั่วหยาง (洛陽) เมืองหลวงของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขารีบกลับมาจัดการศพและสืบสานปณิธานบิดา เอางานเขียนที่ค้างอยู่มายกร่างเรียบเรียงใหม่และเขียนตอนต่อ ในชื่อหนังสือว่า “ฮั่นซู” ซึ่งแปลว่า “พระราชพงศาวดารราชวงศ์ฮั่น”

——เมื่อปานกู้เริ่มเขียนฮั่นซูนั้น มีคนไปถวายฎีกาพระเจ้าฮั่นเหอตี้ว่า เขาแต่งพระราชพงศาวดารโดยพลการ ฮ่องเต้จึงทรงเรียกต้นฉบับไปดู กลับพอพระทัยสนับสนุนให้เรียบเรียงต่อ แต่ภายหลังปานกู้ได้รับภัยการเมือง ต้องโทษตายในคุก ร่างพระราชพงศาวดารฮั่นซูยังค้างอยู่สองบรรพ คือ บรรพดาราศาสตร์ และบรรพวงศาวลี ซึ่งกล่าวถึงสายสกุลของบุคคลสำคัญทั้งหมด

——ด้วยคุณค่าของส่วนที่เรียบเรียงแล้ว ทำให้ขุนนางและเหล่าบัณฑิตต่างกังวล เสียดาย เกรงต้นฉบับจะกระจัดกระจายหมด จึงถวายฎีกาให้ฮั่นเหอตี้หาคนเรียบเรียงต่อให้จบ ฮั่นเหอตี้ทรงทราบมาว่า ปานเจาเป็นผู้รอบรู้ศิลปวิทยานานาแขนง แตกฉานทั้งดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และความรู้สาขาอื่นๆ จึงเรียกตัวปานเจาไปทำงานนี้ ทรงอนุญาตให้นางใช้เอกสารในหอสมุดหลวงที่นครลั่วหยางได้ ปานเจาจึงทำงานนี้ได้สะดวก นางเรียบเรียงส่วนที่ค้างอยู่ทั้งสองบรรพและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่พี่ชายเรียบเรียงไว้แล้วจนเรียบร้อยสมบูรณ์

——เนื่องจากพระราชพงศาวดารชุดนี้เขียนด้วยภาษาแบบแผน กระชับลึกซึ้ง คนไม่มีพื้นฐานอ่านเข้าใจยาก ฮ่องเต้จึงทรงมอบหมายให้ปานเจาเป็นผู้อธิบายถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในพระราชพงศาวดารชุดนี้แก่บัณฑิตในราชวิทยาลัย นักประวัติศาสตร์และปราชญ์รุ่นหลังหลายคนก็เป็นศิษย์นาง  เช่น หม่าหญง (馬融 ค.ศ. 79–166)

——นอกจากนี้ พระเจ้าฮั่นเหอตี้ยังทรงเรียกตัวปานเจาเข้าไปสอนศิลปวิทยาแก่เติ้งฮองเฮา (鄧皇后 ค.ศ. 81–121) พระมเหสีเอกและเจ้านายฝ่ายในทั้งปวง เติ้งฮองเฮาได้เป็นศิษย์เรียนทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ตลอดจนรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์กับปานเจา แสดงให้เห็นว่านางเป็นผู้รอบรู้กว้างขวางอย่างยิ่ง เมื่อฮั่นเหอตี้สวรรคต ราชสมบัติตกแก่ราชโอรสวัยร้อยกว่าวัน พระราชชนนีเติ้งฮองไทเฮาเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ขณะนั้นก็มีพระชนมายุเพียง 25 – 26 พรรษา แม้จะเป็นผู้ใฝ่ความรู้แต่ประสบการณ์ยังน้อย ราชการงานเมืองและเรื่องสำคัญต่างๆ จึงต้องปรึกษาพระอาจารย์ปานเจาอยู่เสมอ นางจึงอยู่ในฐานะที่ปรึกษาราชการคนสำคัญของนางพญาฮองไทเฮาในขณะนั้น ผลก็ปรากฏว่าได้ช่วยให้ราชการแผ่นดินเรียบร้อยดีตลอดมา

——ชาววังสมัยนั้นตั้งแต่เติ้งฮองไทเฮาลงมาล้วนเรียกขานปานเจาว่า “ต้ากู” (大家) คำนี้แปลว่า “อภิสตรี” หรือ “มหานารี” หมายถึง หญิงผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความรู้และจริยาวัตรอันงาม

ภาพ “เฉาต้ากูสอนหนังสือ”《曹大家授書圖》วาดโดยจินถิงเปียว (金廷標) สมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616–1912) ภาพจากเว็บไซต์ south.npm.gov.tw

——ความที่แม่ดีมีส่วนเกื้อหนุนความก้าวหน้าของลูกไปด้วย เฉาเฉิง (曹成) บุตรคนโตของปานเจาได้รับแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ “กวนเน่ยโหว” (關內侯) ซึ่งอาจจะแปลเทียบเป็นไทยง่ายๆ ว่า “พระยาในด่าน” ภายหลังเฉาเฉิงก้าวหน้าในราชการถึงระดับเสนาบดี เฉากู่ (曹谷) บุตรคนเล็กก็ได้เป็นเจ้าเมืองในส่วนภูมิภาค

 

  • นารีจริยา: จรรยาของสตรีสมัยโบราณ

——นอกจาก “ฮั่นซู” สองบรรพแล้ว ปานเจายังมีผลงานนิพนธ์อีกมากมาย เคยมีผู้รวบรวม “ชุมนุมนิพนธ์ต้ากู” ไว้สามเล่ม แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันกระจัดกระจายเหลืออยู่ไม่ครบ

——บทนิพนธ์ชิ้นเล็กๆ แต่มีความสำคัญมากบทหนึ่งของนางคือ นารีจริยา หรือ หนี่ว์เจี้ย 《女诫》เป็นเรื่องว่าด้วยจริยาวัตรอันควรของหญิง มี 7 บทสั้นๆ ใจความสำคัญกล่าวถึง “จริยาสี่” ของหญิง ทำนอง “เรือนสามน้ำสี่” ของไทย จริยาสี่ประกอบด้วย นารีลักษณ์ (婦容) นารีพจน์ (婦言) นารีกิจ (婦功) และนารีธรรม (婦德) จริยาสี่นี้ใช้เป็นมาตรฐานประเมินคุณค่าผู้หญิงจีนตลอดมาในยุคเก่า ปัจจุบันแม้จะลดความสำคัญลง แต่ก็ยังมีผู้ยึดถืออยู่ไม่น้อย

——ในสมัยที่ปานเจาเขียน “นารีจริยา” ราชวงศ์ฮั่นใช้จริยธรรมขงจื๊อเป็นหลักในการปกครองแผ่นดิน ลักษณะเด่นประการหนึ่งของจริยธรรมขงจื๊อคือ หญิงมีฐานะต่ำต้อยด้อยกว่าชาย ต้องอยู่ในปกครองของชาย เมื่อเยาว์วัยอยู่ในโอวาทพ่อแม่ (未嫁從父) แต่งงานแล้วต้องอนุวัตรตามสามี (既嫁從夫) สามีตายต้องอาศัยอยู่กับลูก (夫死從子) ไม่มีอิสระในตัวเอง ทั้งถูกกวดขันจริยธรรมทางเพศมาก สามีตายจะต้องครองตัวเป็นหม้ายพรหมจรรย์ มีสามีใหม่หรือประพฤติเสื่อมเสียเรื่องชู้สาวไม่ได้เด็ดขาด ฐานะอันต่ำต้อยของหญิงนั้น บางยุคถึงกับถือว่า “ด้อยปัญญาคือคุณค่าของลูกผู้หญิง” (女子無才便是德) เพราะหญิงมีปัญญาจะเจ้าความคิด ปกครองยาก

——หนังสือนารีจริยาของปานเจา แม้ไม่สนับสนุนคตินิยมที่ว่า “ด้อยปัญญาคือคุณค่าของลูกผู้หญิง” แต่ก็ยอมรับฐานะเป็นรองของผู้หญิง สอนให้หญิงเชื่อฟังสามี ช่วยเลี้ยงดูลูกด้วยความเสงี่ยมเจียมตน รักษาตัวมิให้มัวหมองต้องคำครหา ให้หนักแน่นอดทน ใช้ความสุขุมเยือกเย็นชนะใจสามี ตัวนางเองก็ได้ประพฤติเป็นแบบอย่างในทุกๆ ด้าน แม้ตนจะมีความรู้เป็นเลิศ ก็มิได้โอ้อวดลำพอง ยังคงเสงี่ยมเจียมตนตามที่นางสอนคนอื่นไว้

 

  • รับพี่ชายกลับสู่มาตุภูมิ

——จริยาวัตรของปานเจาที่ประทับใจคนรุ่นหลังมากอีกก็คือ ความเป็นน้องกตัญญู เรื่องมีอยู่ว่า ปานเชาพี่ชายของนางไปรับราชการทหารอยู่ชายแดนตะวันตกตั้งแต่อายุ 41 ปี จนอายุ 70 ปี คนชราย่อมอยากกลับบ้านเดิม จึงถวายฎีกาขอกลับภูมิลำเนา ปานเจารู้ดีว่าราชสำนักต้องการคนเข้มแข็งเอาจริงเอาจังอย่างปานเชาไว้เป็นหลักอยู่ชายแดนมาก เกรงว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้คืนถิ่น จึงได้ถวายฎีกาของตน ทูลพรรณนาให้เห็นว่าปานเชาพี่ชายได้อุทิศแรงกายแรงใจไว้จนหมดสิ้นที่ชายแดนด้วยความจงรักภักดีต่อแผ่นดินมาถึง 30 ปี แต่บัดนี้แก่ชราเรี่ยวแรงเสื่อมถอย ยากที่จะแบกภาระอันหนักอยู่ชายแดนต่อไปได้ ขืนให้อยู่ต่อไปอาจทำราชการพลาดพลั้งเสียหายแก่แผ่นดิน จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตกลับมาตายในมาตุภูมิ ฎีกาของปานเจาเปี่ยมด้วยเหตุผลและโวหารอันลึกซึ้งจับใจ ฮ่องเต้จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปานเชากลับภูมิลำเนาได้ ปานเชากลับมาอยู่สุขสบายที่บ้านได้เดือนเดียวก็ถึงแก่กรรม ผู้คนจึงแซ่ซ้องสดุดีผลงานกตัญญูต่อพี่ของปานเจามาก

 

  • บั้นปลายชีวิต

——ในราวปี ค.ศ. 113 ปานเจาได้ทูลลาออกจากวัง กลับไปอยู่กับเฉากู่ บุตรชายคนเล็กที่เมืองเฉินหลิว (陳留) ระหว่างทางนางผ่านสถานที่สำคัญและทัศนียภาพอันงามมากมาย จึงได้แต่งกวีนิพนธ์ทำนองร้อยกรองบันทึกการเดินทางเรื่อง “ร้อยกรองท่องตะวันออก” 《東征賦》ไว้ เป็นบทกวีที่มีชื่อเสียงบทหนึ่ง ซึ่งยังมีผู้ศึกษากันตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

——ปานเจาถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 70 ปี พอข่าวมรณกรรมนางมาถึงเมืองหลวง ผู้คนต่างพากันเศร้าโศกอาลัย เติ้งฮองไทเฮาเศร้าเสียดาย “ต้ากู” ของพระองค์มาก ทรงฉลองพระองค์ยาวไว้ทุกข์ให้ และส่งพนักงานหลวงไปจัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ สะใภ้แซ่ติงของปานเจาเป็นผู้เขียน “คำสดุดีมหานารี” อ่านไว้อาลัยในการศพครั้งนั้น

——ปานเจาได้ใช้ชีวิตมีคุณค่าเกินคุ้มมาตลอดตั้งแต่เยาว์วัยตราบวาระสุดท้าย เป็นลูกที่ดี เป็นน้องที่ดี เป็นศรีภรรยา เป็นแม่ที่ดี ครูที่ดี และพลเมืองดี มีความรู้เป็นเลิศแต่เสงี่ยมเจียมตน จนกลายเป็นแบบฉบับของ “ยอดกัลยาณีจีน” มาตราบเท่าทุกวันนี้