—–มีคำกล่าวว่า “นักแปลคือทูตวัฒนธรรม” ทูตวัฒนธรรมต้องเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเองเพื่อให้ผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเข้าใจ ขณะเดียวกันนักแปลไม่เพียงแต่ต้องถ่ายทอดสารที่เจ้าของภาษาต้องการสื่อให้ถูกต้อง แต่ยังต้องสื่อเนื้อหาที่แฝงด้วยวัฒนธรรมมากมายไม่ต่างกับทูตวัฒนธรรม
—–นักอ่านนิยายจีนคงคุ้นชื่อ “เบียร์-อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี” เป็นอย่างดี เบียร์เป็นนักแปลนิยายจีนเบอร์ต้นๆ ของไทย เขาทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานมายาวนานกว่าทศวรรษ ด้วยการทำงานที่ละเอียดชนิดที่หาตัวจับยาก ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก สำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง
—–อาศรมสยามฯ อยากให้ผู้อ่านทราบถึงที่มาและเคล็ดลับของนักแปลเจ้าของฉายา “ราชานักแปลนิยายจีนร่วมสมัย” จึงชวนเบียร์มาคุยด้วยในประเด็นต่างๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักแปลหรือผู้ที่อยากเป็นนักแปล
เริ่มเรียนภาษาจีนตั้งแต่เมื่อไร
—–ผมเริ่มเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ประมาณ 10 ขวบครับ เพราะที่บ้านส่งเสริม แล้วก็มีเชื้อสายจีนด้วย ฝั่งแม่เป็นคนแต้จิ๋ว ส่วนฝั่งพ่อเป็นคนฮกเกี้ยน ตอนเด็กไปอยู่มาเลเซียและสิงคโปร์พร้อมกับครอบครัว ที่บ้านนับถือศาสนาทางจีน เลยส่งไปเป็นเด็กวัดเด็กโรงเจ กลับมาอีกทีคือตอนโต ระหว่างอยู่ที่นั่นก็เรียนเรื่องศาสนาและคำสอน ได้เรียนและใช้ภาษาจีนก็เลยได้ภาษาจีนกลับมา
เทคนิคการเรียนภาษาจีนให้เก่ง
—–ผมใช้ความขยันกับความมีวินัย ตอนเด็กส่วนหนึ่งโดนบังคับให้คัด บังคับให้ท่อง บังคับให้พูด อีกส่วนมาจากใจรัก แล้วก็มีเป้าหมายว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร เรียนอย่างมีเป้าหมายแล้วเราจะสนุก
แรงบันดาลใจในการมาเป็นนักแปล
—–จริงๆ ผมเป็นคนที่ชอบแบ่งปัน เรารู้ภาษาหนึ่ง เราเห็นสิ่งที่ดีที่สนุกหรือมีคุณค่าในภาษานี้ ขณะที่คนอีกกลุ่มไม่รู้เลยว่ามีของดีอะไรในฝั่งนี้บ้าง เราเลยอยากจะนำเสนอ จึงเป็นก้าวแรกที่อยากทำงานแปล เพราะฉะนั้นงานแปลที่จะทำเราจะคัดเลือกสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่าในการทุ่มเท กลายเป็นมาตรฐานในการคัดเลือกงานเรื่อยมา
ทำไมถึงเลือกจะแปลหนังสือ ในเมื่อการแปลก็มีหลากหลายประเภท
—–จริงๆ งานแปลมีหลายอย่างผมก็ทำทุกอย่าง แปลหนังสือก็แปล แปลเอกสารก็แปล แปลปากเปล่าก็แปล แปลบรรยายก็แปล แปลทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาษา แต่ว่าสิ่งที่มันเป็นอาชีพได้ชัดเจนคือแปลหนังสือ ก็เลยค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นนักแปลที่แปลหนังสือครับ
มีเทคนิคการแปลภาษาจีนอย่างไร
—–ส่วนตัวผมจะใช้วิธีอ่านให้มันคล่อง ความจริงมันมาจากที่ตัวเองเคยไปอบรมการแปล การเป็นบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์จัดเมื่อนานมาแล้ว ก็ได้เทคนิคที่เขาบอกมา เวลาที่คุณแปลภาษาพูดก็ให้มันเป็นภาษาพูด แปลแล้วต้องอ่านรู้เรื่อง ก็เลยใช้เทคนิคอย่างนั้นเรื่อยมาครับ
คุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเป็นนักแปล
—–คุณจะต้องอยู่กับตัวเองได้ ต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีวินัย สำหรับอาชีพนี้คุณจะต้องอยู่กับตัวเองและความเหงาให้เก่ง จัดการเรื่องความกดดันของตัวเองได้ดี เพราะเวลาที่เราแปลอะไรนานๆ เราจะเจอทางตัน แล้วเวลาตัน เราต้องหาทางออกให้ตัวเอง บางเรื่องก็มีคนช่วยบางเรื่องก็ไม่มีคนช่วย
ทำอย่างไรเวลารู้สึกเครียดกับการแปล
—–ต้องพักครับ ความจริงเป็นคำถามที่ผมถามนักแปลคนอื่นเมื่อไม่นานมานี้ วิธีการอย่างหนึ่งคือ เอาความเครียดไปถามคนอื่นว่าเขาทำยังไง ไประบายให้เพื่อนร่วมอาชีพฟัง ส่วนตัวผมเองผมผ่านมาบ้าง แล้วก็วนกลับมาเจออีก ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ บางครั้งก็พัก บางครั้งก็ดูหนัง บางครั้งก็เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่น
คิดว่าค่าตอบแทนของนักแปลในไทยปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่
—–เหนื่อยครับ สิ่งที่พวกเรานักแปลคุยกันเสมอคือ สมัยที่ผมทำงานแปลวันแรกเรทเป็นยังไง ผ่านมา 14-15 ปี เรทก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเราอยู่ได้ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าถามถึงเรื่องค่าตอบแทนเรายังต้องดิ้นรนพยายามหาทางต่อยอดต่างๆ เพราะว่าอย่าให้งานแปลหยุดอยู่ที่แค่งานแปล ถ้าคุณได้แปลหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนกับคุณได้นามบัตร คุณจะได้โพรไฟล์มา แล้วจากนั้นคุณก็ควรเอาโพรไฟล์นี้ไปทำอย่างอื่นด้วย การแปลมันคือการลงทุน ถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่ได้ค่าตอบแทนซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ แต่มันก็พร้อมให้คุณไปต่อยอดอะไรอื่นๆ
—–ส่วนใหญ่สิ่งที่นำไปต่อยอดก็ยังคงอยู่ในวงการหนังสือครับ อย่างเช่นการรู้จักกับต่างประเทศ ทั้งเรื่องกระบวนการของลิขสิทธิ์ การพูดคุยกับนักเขียนในระหว่างการแปล การรู้จักคนทำให้จะเกิดคอนเนกชั่น แล้วก็จะเกิดงานต่างๆ ตามมามากมาย แต่เราต้องเอาไปต่อยอดมัน
คอนเนกชั่นสำคัญแค่ไหนสำหรับอาชีพนักแปล
—–สำคัญครับ คอนเนกชั่นที่มีอยู่เป็นประโยชน์ให้คุณไปต่อคอนเนกชั่นใหม่ จากสำนักพิมพ์นี้ไปสู่สำนักพิมพ์นั้น ถ้าคุณทุ่มเทกับมันมากพอชื่อเสียงของคุณก็จะไปสู่ต่างประเทศ เวลาเขาอยากจะติดต่องานเขาก็จะติดต่อมาหาคุณ คุณอาจจะได้งานนอกเหนือจากงานหนังสือเลย ทั้งงานล่าม งานบรรยาย งานตรวจสอบ หรืองานท่องเที่ยว
ได้ยินมาว่าคำบางคำ ต้องใช้เวลาค้นหาข้อมูลอยู่นานมาก อยากให้แชร์ประสบการณ์
—–ตัวอย่างจากนิยายเรื่อง “รหัสลับหลังคาโลก” ตอนนั้นน่าจะเป็นเนื้อหาในเล่มแรกๆ เรายังไม่ชินกับศัพท์วิทยาศาสตร์และศัพท์ภูมิศาสตร์ มันเป็นขอบเขตใหม่สำหรับเรา คำแปลต้องไม่อ่านแล้วเหมือนกับแปลมา อ่านแล้วต้องเหมือนกับนักเขียนเขียนด้วยภาษาไทย ฉะนั้นเวลาที่เขาใช้คำศัพท์เฉพาะในอาชีพนั้น เช่น นักข่าวกำลังรายงานข่าว เราจะไม่แปลให้รู้สึกว่านักแปลกำลังแปลข่าว หรือคนพยากรณ์อากาศกำลังแปลพยากรณ์อากาศ แต่ต้องได้กลิ่นอายหรือให้คำเหมือนกับออกมาจากปากของนักวิชาการเอง เราจึงพยายามต้องไปสวมวิญญาณของนักวิชาการนั้นให้มากที่สุด แล้วจิตวิญญาณพวกนี้ไม่ได้สวมง่ายๆ มันต้องอ่าน ต้องค้นคว้า และตั้งสมาธิมาก พอเรียบเรียงขึ้นมาเป็นประโยคมันฟังดูเป็นคำที่มาจากผู้เชี่ยวชาญจริง มันต้องใช้การบ่มเพาะตัวเองพอสมควร บางย่อหน้าแปลประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือข้ามวันก็มี หยุดอยู่ตรงนั้น แล้วก็ค้นกูเกิลไปหน้านั้นหน้านี้จนกระทั่งแรมเต็ม ถึงใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่สุดท้ายผลตอบรับที่ได้ก็คุ้มค่าครับ แต่นักอ่านมักจะชอบอ่านข้ามเนื้อหาที่พวกเราแปลยากที่สุด (หัวเราะ)
ข้อมูลตามเว็บไซต์มีข้อผิดพลาดค่อนข้างมาก มีวิธีการตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างไร
—–อย่างแรกอย่าลืมว่าเราเป็นนักแปลเราไม่ใช่นักเขียน ฉะนั้นไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด เราก็ต้องว่าไปตามนักเขียน เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจสอบให้มันเป๊ะขนาดนั้น แต่ถ้าตรวจสอบคร่าวๆ และพบว่านักเขียนผิดมาจริงๆ เราจะพยายามทำให้มันคลุมเครือเพื่อเซฟทุกฝ่าย
—–ส่วนข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเราจะอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่ง ถือเป็นการเซฟตัวเองทางหนึ่ง หากว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญมายืนยัน ก็ต้องถามผู้เชี่ยวชาญ ถามแพทย์ ถามบุคคลในวงการ แต่ฟิคชั่นเราไม่ค่อยเจออะไรที่ซีเรียสขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในจินตนาการ พูดถึงเรื่องภูต ผี ปีศาจ ตำนานเล่าขาน ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตจริงขนาดนั้น
ถ้าให้เลือกได้ชอบแปลหนังสือแนวไหน
—–ยังคงแปลนิยายครับ ถ้าเลือกได้โดยที่ไม่ได้เลือกให้ตัวเองก็น่าจะเลือกให้ภรรยา แปลนิยายรักบ้าง อันนี้ไม่ค่อยมาถึงมือ ทุกวันนี้ก็ยังคงแปลแนวแฟนตาซี ผจญภัยอยู่ ซึ่งก็ยังสนุกกับมันนะ
ถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นนักแปล คิดว่าจะทำอาชีพอะไร
—–ผมก็คงจะสอนหนังสือ หากินกับเรื่องภาษาต่อไป ผมคิดว่าสิ่งที่ผมน่าจะงัดออกมาแล้วไม่แพ้ใครในประเทศนี้หรือในวงการนี้ก็คงน่าจะเป็นเรื่องของภาษา ถ้าผมไม่ได้แปล ก็คงจะต้องหากินทางภาษาในทางใดทางหนึ่ง
คุณเบียร์ทำสำนักพิมพ์เองด้วย มีแรงบันดาลใจอย่างไร
—–มันมาจากการที่เราเคยแปลงานนักเขียนที่เราชื่นชอบมาก ตอนนั้นเรายังไม่มีชื่อเสียง ทักษะการแปลของเรายังไม่แข็งแกร่ง ยังไม่เติบโต รู้สึกว่าเราทำได้ไม่เต็มที่ ทำได้ไม่ดีพอ ในวันที่มีศักยภาพแล้วเราเลยอยากจะเอามาขัดเกลาใหม่ จึงเป็นนิยาย 3 เรื่องแรกของสำนักพิมพ์ครับ ทำเพื่อบูชาครูก็ว่าได้ จึงเอามาทำใหม่แล้วก็อยากจะทำให้มันดีที่สุด นั่นคือจุดเริ่มต้น ต่อมาก็ค่อยๆ ต่อยอด พอขี่หลังเสือแล้วก็ต้องทำต่อไป ด้วยการหาหนังสือเรื่องใหม่มา อนาคตต้องบริหารให้เป็นสำนักพิมพ์จริงๆ มีนักแปล มีทีมงาน มีกองบรรณาธิการ แต่ทุกวันนี้ยังผูกติดกับการแปลนิยายเรื่องยาวของสำนักพิมพ์อื่น ทำให้กลับมาทำงานนี้ได้ไม่เต็มที่ อยากได้แรงสนับสนุนจากผู้อ่านทุกท่านด้วยครับ (สนใจนำนิยายรักมาแปลไหมครับ) นิยายรักเหรอครับ ยังไม่เคยคิดเลยนะว่าเราจะเอามาแปลเองหรือเปล่า เพราะตอนนี้ยังทุ่มเทกับงานแปลที่สำนักพิมพ์อื่นอยู่ แต่ถ้าหากสำนักพิมพ์ไหนเอานิยายรักให้ผมแปล ผมก็แปลนะ
วงการหนังสือซบเซา ทำการตลาดของสำนักพิมพ์อย่างไร
—–เราอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุน เราไม่ได้อยู่ด้วยยอดขาย อันนี้คือเปิดมาประมาณ 3 ปี ทำหนังสือ 3 เล่ม ขึ้นเล่มที่ 4 เราอยู่ได้จากเงินสนับสนุนการแปลที่เป็นทุนจากรัฐบาลไต้หวันครับ ตอนนี้ก็เลยทำให้เรายังอยู่ได้ ส่วนการบริหารบริษัทเราก็มักจะนำเงินที่ได้จากการแปลมาถมมัน ฟังดูน่าเศร้านะครับ ขาดทุนอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าคำพูดของเพื่อนจะขลังแค่ไหนนะ เขาบอกว่าให้ทนไป 10 เล่ม ผมก็จะลุยไปให้ถึง 10 เล่ม เคยบอกแฟนไว้อย่างนั้น พูดถึงเรื่องธุรกิจตัวเองแล้วรู้สึกหมองเลยเห็นไหม (หัวเราะ)
เห็นพูดถึงภรรยาบ่อย ครอบครัวมีส่วนช่วยในการทำงานอย่างไรบ้าง
—–อ๋อ เขาจะเป็นนักอ่านคนแรกที่อ่านงานของผมตลอด ยกเว้นหนังสือไม่กี่ชุดพวกหนังสือผจญภัย สมัยก่อนหนังสือทุกเล่มแทบจะต้องผ่านเขามาก่อน เขาจะเป็นคอมเมนเตเตอร์คนแรกตลอด น่าจะต้องบอกว่าทำให้เรายังคงมั่นใจในการทำงานตรงนี้มาตลอด เพราะถ้าเขาอ่านแล้วสนุก เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย! ฝีมือยังไม่ตก ถ้าเขาอ่านแล้วเริ่มไม่สนุกเราจะเริ่มเครียดครับ
ผลงานที่ภูมิใจมากที่สุด
—–ความจริงผมภูมิใจกับทุกเรื่องครับ แต่งานแปลที่ภูมิใจที่สุดในแง่ของความยากก็น่าจะต้องยกให้ “รหัสลับหลังคาโลก” แต่ละเรื่องก็จะมีสตอรีไม่เหมือนกัน เรื่องที่มีสตอรีให้เล่ามากที่สุดคือ “รหัสลับหลังคาโลก” กับ “บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน” ที่ทำให้ได้พบกับนักอ่านที่น่ารักและก็ติดตามกันมาตลอด
คิดว่าความผิดพลาดจากการแปลเป็นเรื่องปกติไหม
—–ความผิดพลาดมันไม่ใช่เรื่องปกติหรอกครับ แต่ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ มนุษย์มันผิดพลาดได้ ทั้งแปลผิด อ่านผิด ตีความผิด สิ่งที่เราทำได้คือพยายามควบคุมให้มันน้อยที่สุด ความผิดพลาดที่คุณเห็นมันผ่านการควบคุมมาแล้ว เราจะไม่แก้ตัวว่าสิ่งที่ผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องปกติถ้าปกติเราคงไม่กลับมาแก้มัน ก็ต้องยอมรับว่ามันคือความผิดพลาด
พอใจในจุดนี้หรือยัง มีความฝันอะไรในอนาคต
—–ยังครับ ส่วนความฝันอายุปูนนี้แล้วสิ่งที่เราอยากได้คือผ่อนบ้านให้หมด แล้วก็มีเงินให้ใช้ฟุ่มเฟือยบ้างเพื่อแลกกับการทำงานอย่างเต็มที่ ทุกวันนี้ยังต้องแบ่งสมาธิในการทำงานไปคิดเรื่องพวกนี้พอสมควร ในอนาคตอยากจะถ่ายทอดเทคนิคเหล่านี้ให้กับนักแปลรุ่นน้อง ทุกวันนี้มีนักแปลที่เกิดขึ้นมาจากการที่เคยฟังเราพูดหรือเคยมีเราเป็นแรงบันดาลใจ แล้วต่อไปเขาทำงานเราก็รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น
ทำไมนักแปลหรือนักเขียนต้องไปทำงานที่ร้านกาแฟ
—–เหงามั้งครับ (หัวเราะ) เอาจริงๆ คนที่ผมรู้จักแทบไม่มีใครไปทำงานที่ร้านกาแฟเลย ส่วนตัวผมว่าก็คงเหงาอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ อีกอย่างหนึ่งคือเราจะนั่งคิดว่าวันหนึ่งเราจะแปลกี่หน้า คำนวณว่าคุ้มค่ากาแฟไหม (หัวเราะ) จะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำงานให้แซงค่ากาแฟวันนั้น สิ่งสำคัญคือแปลอยู่บ้านมันถูกสิ่งยั่วยุต่างๆ ดึงดูดเราไปได้ง่าย เช่น เกม หนัง และที่สำคัญเตียง ซึ่งร้านกาแฟไม่มีสิ่งเหล่านี้ครับ
อาชีพนักแปลส่งผลต่อสุขภาพบ้างไหม มีวิธีป้องกันอย่างไร
—–สิ่งที่ไม่น่าเชื่อและล้วนเป็นปัญหาที่เราคาดคิดไม่ถึง เช่น ลงพุง การนั่งอยู่ในท่านี้ร่างกายส่วนต่างๆ ไม่มีปัญหา แต่มันลงมาตรงนี้ (ชี้ที่ท้อง) มีคนส่งภาพงานวิจัยมาให้ดูมันมาจากท่านั่ง เพราะฉะนั้นคุณต้องลุกบ่อยๆ อย่าขี้เกียจ แล้วการเลือกที่นั่งก็อย่ามักง่าย อย่างเช่นโซฟานั่งทำงานไม่ได้มันจะจม มีน้ำหนักตีกลับขึ้นมาที่หลัง ไม่กี่วันหลังคุณก็จะทรุด ฉะนั้นเก้าอี้ให้แข็ง ส่วนตำแหน่งสรีระต้องถูกต้อง ส่วนการพักผ่อนนอกจากพักผ่อนระหว่างวันแล้วยังต้องพักผ่อนระหว่างสัปดาห์หรือระหว่างเดือนด้วย ให้ร่างกายได้คลายความเกร็งออกมา ไม่เช่นนั้นเวลาที่มันคลายออกมาหลังจากสะสมนานๆ คุณก็จะเจ็บปวดมากครับ ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ หัวไหล่ ข้อศอก คอ และหลัง
—–นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องสายตา ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการแปลหรือเป็นเพราะวัยกันแน่ สายตาผมปกติจนกระทั่งหนึ่งปีมานี้เริ่มทรุดอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรารู้สึกว่าต้องหาทางแก้ หลายคนบอกว่าใช้วิธีการอ่านเอาแล้วก็ให้เครื่องมันพิมพ์ หรือว่า อ่านแล้วค่อยมาถอดเทป แต่ผมยังไม่ชิน เพราะมันก็จะมีกระบวนการที่ใช้สมองและความคิดต่างๆ ที่ยังไม่เหมือนกัน
สุดท้ายอยากให้คุณเบียร์ฝากอะไรถึงผู้อ่าน
—–อยากจะพูดในฐานะนักแปล ตอนนี้ตามโซเชียลมีเดียกำลังพูดถึงเรื่องการคอมเมนต์ ผมมีความรู้สึกว่าการให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ อย่าไปงก แม้คนเราไม่ได้กินคำชมเป็นอาหาร แต่บางครั้งจิตใจก็ต้องการสิ่งเหล่านี้มาหล่อเลี้ยงเพื่อผลักดันให้เราทำงานต่อไป ถ้าคุณมีนักแปลที่ชื่นชอบ มีงานแปลที่ชื่นชอบ ไม่ว่างานของใครก็ตาม ชมให้เขาเห็นตามสื่อต่างๆ เขาคงได้อมยิ้มครับ อมยิ้มครั้งเดียวมันเป็นแรงผลักดันให้เขาทำงานต่อได้อีกเยอะเลยครับ