—–อักษร 鸩 (zhèn) ในภาษาจีนกลางปัจจุบัน หมายถึง วิหคพิษตามตำนานของจีน ว่ากันว่าหากนำขนของมันมาแช่เหล้าก็จะกลายเป็นเหล้าพิษที่สามารถปลิดชีพคนได้ทันที ด้วยเหตุนี้อักษร 鸩 จึงกินความถึง เหล้าพิษหรือการใช้เหล้าพิษสังหารคนอีกด้วย

—–นักอักษรศาสตร์ในยุคปัจจุบันค้นพบอักษร 鸩 ในรูปอักษรจ้วน ส่วนซ้ายคือรูป (冘) เป็นภาพนักโทษสวมขื่อคา สื่อถึงการถูกลงทัณฑ์ และส่วนขวาคือรูป  เป็นภาพนก ความหมายโดยรวมของอักษร  จึงสื่อถึงการถูกประหารชีวิตโดยให้ดื่มเหล้าพิษจากขนนก บ่อยครั้งก็เป็นเหล้าพิษที่ได้รับพระราชทานจากฮ่องเต้ ซึ่งถ้าเทียบกับการประหารชีวิตวิธีอื่นในยุคโบราณของจีนแล้ว วิธีนี้ถือว่ามีความเมตตาปรานีมากที่สุด

—–สำหรับหลักฐานเกี่ยวกับอักษร 鸩 นั้น แรกเริ่มมีบันทึกในคัมภีร์ซานไห่จิง (山海经) ซึ่งเป็นคัมภีร์ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่รวบรวมตำนานและเทพนิยายต่างๆ ไว้มากมาย โดยคัมภีร์ให้คำนิยามอักษร 鸩 ไว้ว่าเป็นสัตว์ปีกที่ดุร้ายชนิดหนึ่ง ขนสีม่วงดำ ตัวใหญ่กว่านกอินทรี คอเรียวยาว จะงอยปากสีแดง และกินแต่งูพิษเป็นอาหาร พิษงูจึงแทรกซึมไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย หากนำขนหรือมูลของมันมาแช่เหล้าก็จะกลายเป็นเหล้าพิษชนิดรุนแรง ผู้ที่ดื่มเข้าไปจะเสียชีวิตสถานเดียว

—–ต่อมาในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉 ค.ศ. 25-220) หนังสือซัวเหวินเจี่ยจื้อ (说文解字) อธิบายเพียงแค่ว่า 鸩 คือ นกมีพิษ เมื่อมาถึงสมัยจิ้นตะวันตก (西晋 ค.ศ. 265-317) ปรากฏหลักฐานว่านกมีพิษชนิดนี้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ ต้องพยายามห้ามไม่ให้นกชนิดนี้บินข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง (长江) เด็ดขาด เพราะเกรงว่าขนพิษของมันจะทำให้แม่น้ำทั้งสายกลายเป็นพิษ ทั้งยังสั่งห้ามไม่ให้เลี้ยงนกชนิดนี้เด็ดขาด หากพบเห็นต้องฆ่าทิ้งทันที จึงสันนิษฐานว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มันสูญพันธุ์ไป[1]

—–นอกจากนั้นในหนังสือจิ้นซู (晋书) หนังสือประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้นยังมีบันทึกว่าหวังข่าย (王恺) แม่ทัพใหญ่แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตกเลี้ยงนกมีพิษชนิดนี้ไว้ ต่อมาถูกทางการจับได้ นกของเขาจึงถูกนำไปเผาทิ้งต่อหน้าประชาชน เพื่อเตือนขู่ไม่ให้ผู้ใดเลี้ยงนกมีพิษชนิดนี้อีก

—–เมื่อผ่านกาลเวลามาถึงราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) และราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) แม้จะปรากฏคำว่า 鸩杀 (สังหารด้วยยาพิษ) แต่ข้อมูลบันทึกอื่นๆ เกี่ยวกับอักษร 鸩 ในตำราทางประวัติศาสตร์แทบจะไม่ปรากฏ

—–ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1912) อักษร 鸩ปรากฏขึ้นอีกในบทจ้งตู๋ของหนังสือเปี้ยนเจิ้งลู่ (辩证录•中毒门) กล่าวว่า หากผู้ใดดื่มเหล้าที่มีพิษของนกชนิดนี้ผสมอยู่จะเกิดอาการตาเหลือก หนาวสั่นไปทั้งตัว มึนงงคล้ายเมา พูดไม่เป็นภาษา และหากหลับตาลงก็จะเสียชีวิตทันที

—–จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน สารานุกรมฉือไห่ (辞海) ให้คำนิยามอักษร 鸩 เพียงแค่ว่าเป็น ‘นกมีพิษตามตำนาน’ เท่านั้น เห็นได้ชัดว่ากาลเวลาที่ผ่านไปหลายพันปีทำให้การมีอยู่ของนกมีพิษชนิดนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

—–อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโลกทางชีววิทยาไม่ปรากฏร่องรอยว่ามีนกชนิดนี้อาศัยอยู่ และไม่ว่ามันจะเคยมีอยู่ในครั้งโบราณกาลหรือเป็นเพียงแค่ตำนานเล่าขาน แต่อย่างน้อยเรื่องราวปริศนาของมันก็ตกทอดมาถึงปัจจุบันให้คนรุ่นหลังอย่างเราๆ ได้ศึกษากันต่อไป

[1] หลิวอี้เซิง(刘逸生)นักวิชาการของจีนเชื่อมั่นว่านกมีพิษชนิดนี้มีอยู่จริงในสมัยโบราณ แต่ภายหลังได้สูญพันธุ์ไป