ตำนานเด็กกำพร้าตระกูลจ้าว เรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง?
เรื่องโดย กงจื่อเสียน
——ตำนาน “เด็กกำพร้าตระกูลจ้าว” หรือจ้าวซื่อกูเอ๋อร์ (趙氏孤兒) เป็นเรื่องเล่าอมตะอันมีฉากหลังโยงใยไปถึงประวัติศาสตร์จีนสมัยชุนชิว (春秋 770 – 476 ปีก่อน ค.ศ.) การที่ตำนานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเล่าขานกันมาช้านาน เนื่องจากนักประพันธ์สมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1271 – 1368) นามว่า จี่จวินเสียง (紀君祥) ได้นำเรื่องดังกล่าวไปเขียนเป็นบทละครจ๋าจี้ว์[1] (雜劇) เรื่อง เด็กกำพร้าตระกูลจ้าวล้างแค้น (趙氏孤兒大報仇) ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่โศกนาฏกรรมแห่งละครจ๋าจี้ว์สมัยราชวงศ์หยวน (元雜劇四大悲劇) อีกด้วย
- ภูมิหลัง “เด็กกำพร้าตระกูลจ้าว”
——บทละครจ๋าจี้ว์เรื่องนี้มีต้นเค้ามาจากบันทึกประวัติศาสตร์ บทว่าด้วยตระกูลจ้าว (史記·趙世家) โดยซือหม่าเชียน (司馬遷 ราว 145 หรือ 135 – 86 ปีก่อน ค.ศ.) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศจีน
——เรื่องราวเล่าย้อนไปยังสมัยชุนชิว เมื่อครั้งแผ่นดินจีนยังแบ่งเป็นแคว้นต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก มิได้รวมเป็นปึกแผ่นเฉกเช่นทุกวันนี้ ครั้งนั้นแคว้นจิ้น (晉國 1,033 – 376 ปีก่อนค.ศ.) มีจิ้นหลิงกง (晉靈公 624 – 607 ปี ก่อน ค.ศ.) เป็นเจ้าแคว้น ทว่าจิ้นหลิงกงยังทรงพระเยาว์ อำนาจในการปกครองจึงอยู่ในเงื้อมมือของเสนาบดีตงฉินนามว่า จ้าวตุ้น (趙盾 655 – 601 ปีก่อน ค.ศ.)
——เมื่อจิ้นหลิงกงทรงเจริญวัย กลับมีนิสัยเสเพล ลุ่มหลงในโลกียสุข มิได้ใส่พระทัยในราชกิจ ทั้งยังโหดเหี้ยมอำมหิต เห็นชีวิตราษฎรเป็นผักปลา ซ้ำร้ายข้างกายยังมีขุนนางกังฉิน ถูอั้นกู่ (屠岸賈) คอยยุยงให้กระทำแต่เรื่องเสื่อมเสีย ตามใจอย่างไร้เหตุผล จ้าวตุ้นต้องคอยเพ็ดทูลทัดทานอยู่หลายครา เป็นเหตุให้จิ้นหลิงกงกริ้วที่ถูกขัดพระทัย ถูอั้นกู่จึงเป่าหูจิ้นหลิงกงให้ออกอุบายเพื่อกำจัดจ้าวตุ้น ทว่าสวรรค์มีตา ฟ้าดินยังปกป้องจ้าวตุ้น เขาจึงสามารถหนีจนรอดชีวิตมาได้
——ในเวลาต่อมา จ้าวชวน (趙穿 ไม่ทราบปีเกิด – 607 ปีก่อน ค.ศ.) ญาติผู้น้องของจ้าวตุ้น ทนพฤติกรรมอันเหลวแหลกไร้มโนธรรมของจิ้นหลิงกงไม่ไหว เลยวางแผนลอบสังหารจิ้นหลิงกงจนสิ้นพระชนม์จ้าวตุ้นได้กลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีอีกครั้ง และแต่งตั้ง จิ้นเฉิงกง (晉成公 ไม่ทราบปีเกิด – 600 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นเจ้าผู้ปกครองแคว้นจิ้นองค์ใหม่
——หลายปีผ่านไป จ้าวตุ้น จ้าวชวน รวมถึงจิ้นเฉิงกงต่างก็สิ้นอายุขัย พระโอรสของจิ้นเฉิงกงขึ้นครองแคว้นจิ้นในนาม จิ้นจิ่งกง (晉景公 ไม่ทราบปีเกิด – 581 ปีก่อน ค.ศ.) ถูอั้นกู่จึงฉวยโอกาสนี้เฝ้าประจบสอพลอจิ้นจิ่งกง และยุยงให้พระองค์ลงโทษตระกูลจ้าว เนื่องด้วยตระกูลจ้าวเป็นต้นเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์ของจิ้นหลิงกง จิ้นจิ่งกงหลงเชื่อคำใส่ร้ายป้ายสีของถูอันกู่ จึงแต่งตั้งถูอั้นกู่เป็น ซือโค่ว (司寇)[2] และมอบอำนาจให้สะสางเรื่องนี้ ตระกูลจ้าวจึงถึงคราวพินาศด้วยน้ำมือของถูอั้นกู่ หลายร้อยชีวิตต้องมอดม้วยอย่างน่าอนาถจากการนองเลือดครั้งใหญ่ มีเพียงจ้าวจวงจี[3] (趙莊姬) ภรรยาของจ้าวซั่ว (趙朔 ราว 637 – 597 ปีก่อนค.ศ.) พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของจิ้นจิ่งกงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ต้องลี้ภัยเข้าไปคลอดในพระราชวัง
——แม้ตระกูลจ้าวจะถูกฆ่าล้างโคตร ทว่ามิได้ไร้ผู้สืบเชื้อสายเสียทีเดียว เพราะทารกที่คลอดออกมาเป็นเพศชายนามว่าจ้าวอู่ (趙武 ราว 598 – 541 ปีก่อน ค.ศ.) จ้าวจวงจีจึงคบคิดกับเฉิงอิง (程嬰 ไม่ทราบปีเกิด – ราว 583 ปีก่อน ค.ศ.) สหายของสามี เพื่อส่งตัวบุตรไปซ่อนที่นอกเมือง เพราะหากถูอั้นกู่ล่วงรู้ว่าตระกูลจ้าวมีทายาทจักต้องส่งบริวารไปกำจัดจนสิ้นซากอย่างแน่นอน
——เรื่องเป็นไปดังที่คาดไว้ เมื่อถูอั้นกู่ได้เบาะแสว่าลูกของจ้าวจวงจีเป็นเพศชาย จึงส่งทหารตามล่าทั่วเมือง ฝ่ายเฉิงอิงซึ่งพาจ้าวอู่หลบหนีอยู่ก็รู้สึกจนมุม เลยเดินทางไปหารือกับกงซุนฉู่จิ้ว (公孫杵臼 ไม่ทราบปีเกิด – ราว 597 ปีก่อนค.ศ.) ที่ปรึกษาของตระกูลจ้าว และร่วมกันวางแผนตบตาโดยใช้ทารกอื่นมาสับเปลี่ยนตัวจ้าวอู่ จากนั้นเฉิงอิงจึงแสร้งไปฟ้องถูอั้นกู่ ว่ากงซุนฉู่จิ้วซ่อนตัวจ้าวอู่ไว้ ถูอั้นกู่จึงออกคำสั่งให้เอาชีวิตเด็กผู้นั้นทันที แต่เขาหาเฉลียวใจไม่ว่าทารกนั้นเป็นเพียงตัวปลอม ส่วนกงซุนฉู่จิ้วก็ปลิดชีพตนเองตามปณิธานที่ตั้งไว้ หลายปีผ่านไป เฉิงอิงซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็เลี้ยงดูจ้าวอู่ดั่งลูกแท้ๆ ของตน เมื่อจ้าวอู่เติบใหญ่ เฉิงอิงจึงได้เล่าความจริงให้ทราบจนหมดเปลือก
——อยู่มาวันหนึ่งจิ้นจิ่งกงประชวร จึงให้โหรทำนายดวงชะตา โหรพยากรณ์ว่า ที่ทรงประชวรและรักษาไม่หาย เป็นเพราะทายาทของต้าเย่[4] (大業) คอยหลอกหลอนพระองค์อยู่ หานเจ๋ว์ (韓厥) ผู้เคยเป็นขุนนางคนสนิทของตระกูลจ้าว จึงกราบทูลจิ้นจิ่งกงว่าทายาทของต้าเย่ที่อยู่ในแคว้นจิ้นและถูกฆ่าล้างโคตรมีเพียงตระกูลจ้าวเท่านั้น ด้วยความช่วยเหลือจากหานเจ๋ว์ จิ้นจิ่งกงคืนบรรดาศักดิ์เดิมแก่จ้าวอู่ และเปิดโอกาสให้เขาเข่นฆ่าถูอั้นกู่ เป็นการแก้แค้นและล้างมลทินให้แก่บิดามารดา รวมถึงคนของตระกูลจ้าวได้สำเร็จ
——เรื่องราวของ “เด็กกำพร้าตระกูลจ้าว” อันโด่งดัง ก็เป็นดั่งที่บรรยายโดยสังเขปข้างต้น และด้วยความที่ตำนานนี้มีเนื้อเรื่องน่าสนใจ จึงได้รับการดัดแปลงและต่อเติมเสริมแต่งในภายหลัง บ้างก็เพิ่มว่าทารกที่ใช้สับเปลี่ยนตัวเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวนั้นเป็นลูกชายของเฉิงอิง บ้างก็ให้เด็กกำพร้าตระกูลจ้าวเป็นบุตรบุญธรรมของถูอั้นกู่ หรือแม้แต่แต่งเรื่องขยายว่าหากถูอั้นกู่ตามล่าเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวไม่พบก็จะกำจัดเด็กทารกในเมืองที่เกิดปีเดียวกับเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวให้หมดสิ้น การต่อเติมเช่นนี้สร้างความสนุกสนานแก่เนื้อเรื่อง รวมถึงแยกแยะภาพลักษณ์ของตัวละครฝ่ายดีและฝ่ายร้ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเชิดชูแนวคิดว่าด้วยคุณธรรมน้ำมิตรของตัวละครในเรื่องอย่างเฉิงอิงหรือกงซุนฉู่จิ้วให้โดดเด่นกว่าเดิมด้วย
(งิ้วเรื่องตำนานเด็กกำพร้าตระกูลจ้าว โดยคณะงิ้วกั๋วกวง 國光劇團)
- อีกตำนานของเด็กกำพร้าตระกูลจ้าว
——แม้เรื่องราวเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวดังกล่าวข้างต้น จะเป็นฉบับที่รู้จักกันแพร่หลาย ทว่ายังมีฉบับอื่นที่มีเนื้อหาแตกต่างอย่างสิ้นเชิง คัมภีร์ประวัติศาสตร์ยุคโบราณจั่วจ้วน (左傳) ได้บันทึกเหตุการณ์อันเกี่ยวพันของเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งพอจะสรุปเรื่องราวโดยสังเขปได้ว่า หลังจากจ้าวซั่ว บุตรของจ้าวตุ้น ถึงแก่กรรม จ้าวจวงจีผู้เป็นภรรยาของจ้าวซั่วและมารดาของจ้าวอู่ ลักลอบได้เสียกับ จ้าวอิงฉี (趙嬰齊) ซึ่งเป็นอาคนเล็กของสามี เมื่อเรื่องผิดศีลธรรมเช่นนี้เข้าหูจ้าวถง (趙同 ไม่ทราบปีเกิด – ราว 583 ปีก่อนค.ศ.) และจ้าวคั่ว (趙括 ไม่ทราบปีเกิด – ราว 583 ปีก่อนค.ศ.) ผู้นำตระกูลจ้าวในขณะนั้น จ้าวอิงฉีจึงถูกเนรเทศจนไปสิ้นใจอยู่ที่แคว้นฉี ด้วยเหตุนี้ จ้าวจวงจีจึงแค้นเคืองตระกูลจ้าว เลยเพ็ดทูลจิ้นจิ่งกงว่า จ้าวถงและจ้าวคั่วคิดก่อกบฏ ตระกูลหลวน (欒氏) และตระกูลซี่ (祁氏) สองตระกูลใหญ่ในราชสำนักที่ไม่ถูกกับตระกูลจ้าวอยู่แล้ว จึงผสมโรงใส่ร้าย สุดท้ายจิ้นจิ่งกงเลยมีรับสั่งให้ประหารคนตระกูลจ้าว สายของจ้าวถงและจ้าวคั่วจนหมดสิ้น
——เวลาผ่านไปไม่นานนัก หานเจ๋ว์ก็กราบทูลจิ้นจิ่งกงว่าถ้าปล่อยให้ขุนนางตงฉินอย่างจ้าวตุ้นไร้ทายาท เช่นนั้นใครเล่าจะยอมเสียสละทำงานเพื่อแผ่นดินอีก จิ้นจิ่งกงจึงทรงตระหนักได้และประทานบรรดาศักดิ์และศักดินาคืนแก่ตระกูลจ้าว โดยให้จ้าวอู่บุตรของจ้าวซั่วและจ้าวจวงจีเป็นผู้สืบตระกูลต่อไป
——เรื่องราวของตระกูลจ้าวในฉบับจั่วจ้วนนี้ หากมองผิวเผิน อาจเห็นเป็นเพียงเรื่องผิดศีลธรรมคบชู้สู่ชายของจ้าวจวงจี อันนำไปสู่หายนะของตระกูลจ้าว ทว่าหากมองให้ลึกซึ้งก็จะพบว่า เรื่องนี้เป็นเสมือนศึกแย่งชิงอำนาจภายในตระกูลเช่นกัน กล่าวคือในอดีต จ้าวชุย (趙衰 ไม่ทราบปีเกิด – ราว 662 ปีก่อนค.ศ.) บิดาของจ้าวตุ้น เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับจิ้นเหวินกง (晉文公ราว 697 – 628 ปีก่อนค.ศ.) จิ้นเหวินกงจึงตอบแทนจ้าวชุยด้วยการประทานธิดานาม จ้าวจี (趙姬)[5] ให้เป็นภรรยา ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคนคือ จ้าวถง จ้าวคั่ว และจ้าวอิงฉี ดังนั้นบุตรทั้งสามของจ้าวจีจึงถือเป็นทายาทสายตรงของจ้าวชุย ทว่าก่อนที่จะครองคู่กับจ้าวจี จ้าวชุยเคยร่วมเรียงเคียงหมอนกับสตรีที่ชื่อ ซูเหว่ย (叔隗) จนมีบุตรชายนาม “จ้าวตุ้น” เมื่อจ้าวจีทราบเรื่อง ด้วยความใจกว้าง จ้าวจีจึงให้จ้าวชุยตั้งซูเหว่ยเป็นเอกภริยา ส่วนตนยอมเป็นภรรยารอง ทายาทสายตรงของจ้าวชุยเลยกลายเป็นจ้าวตุ้นโดยปริยาย และต่อมาจ้าวตุ้นมีบุตรชายชื่อจ้าวซั่ว บิดาของจ้าวอู่นั่นเอง
(ผังตระกูลจ้าว)
——ครั้นจ้าวตุ้นขึ้นรับราชการจนก้าวหน้าได้เป็นขุนนาง ก็รำลึกถึงความดีของจ้าวจี จึงคืนตำแหน่งทายาทสายหลักให้แก่สามพี่น้อง จ้าวคั่วเลยได้สิทธิ์ในการเป็นผู้นำตระกูลจ้าว ส่วนจ้าวซั่วและจ้าวอู่ ผู้เป็นทายาทของจ้าวตุ้นก็หมดสิทธิ์ไป และด้วยเหตุนี้เอง อาจทำให้จ้าวจวงจีรู้สึกไม่ยุติธรรม ประกอบกับจ้าวคั่วได้เนรเทศคนรักของตนในภายหลังด้วย จ้าวจวงจีจึงฉวยโอกาสนี้กำจัดผู้นำสายหลักของตระกูลจ้าวเพื่อปูทางให้ลูกของตนเป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน ทั้งนี้ นอกจากศึกสายเลืดอภายในตระกูลแล้ว ยังมีผู้มองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการคานอำนาจระหว่างจิ้นจิ่งกงกับตระกูลจ้าวที่ครองอำนาจในราชสำนักมานานอีกด้วย
——จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องราวฉบับที่บันทึกในคัมภีร์จั่วจ้วนกับฉบับบันทึกประวัติศาสตร์ บทว่าด้วยตระกูลจ้าวดูกลับตาลปัตรกัน จ้าวจวงจีมิใช่สตรีที่เสียสละเพื่อตระกูลจ้าว แต่เป็นสตรีที่ลักลอบคบชู้จนตระกูลจ้าวสายหลักต้องล่มสลาย ตระกูลจ้าวเองก็มิได้ถูกฆ่าล้างโคตร แค่ถูกสังหารเพียงสองสายเท่านั้น ชื่อของถูอั้นกู่ก็ไม่มีปรากฏให้เห็นในเนื้อเรื่องแต่อย่างใด
โปสเตอร์ภาพยนตร์ “ดาบแค้นบัลลังก์เลือด” หรือ “จ้าวซื่อกูเอ๋อร์”
——ยุคหลังราชวงศ์ซ่ง (宋ค.ศ. 960 – 1279) และราชวงศ์หยวน เรื่องราวอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตามฉบับจั่วจ้วนค่อยๆ เลือนหายไป แต่เรื่องราวในฉบับบันทึกประวัติศาสตร์ บทว่าด้วยตระกูลจ้าว ซึ่งออกแนวโศกนาฏกรรมกลับเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นโดยผ่านการเล่านิทาน รวมถึงการแสดงงิ้วที่เน้นการสะเทือนอารมณ์จนผู้ชมรู้สึกประทับใจ ส่งผลให้ “ประวัติศาสตร์ฉบับปรุงแต่ง” มีอิทธิพลยิ่งกว่า “ประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริง” และด้วยเหตุนี้เอง ตำนานเด็กกำพร้าตระกูลจ้าวฉบับละครจ๋าจี้ว์สมัยหยวนจึงได้รับความนิยมสูงสุด เพราะถึงแม้จะมีการต่อเติมเสริมแต่งเรื่องราวจนผิดแปลกจากฉบับจั่วจ้วนไปมาก แต่ก็แฝงข้อคิดด้านความมีคุณธรรมของตัวละคร เชิดชูหลักธรรมะย่อมชนะอธรรม รวมถึงปลูกฝังมโนธรรมสำนึกอันเป็นจิตวิญญาณที่ควรยกย่องของชาวจีนแก่ผู้ชม ชาวจีนจึงประทับใจตำนานฉบับนี้ยิ่งกว่าฉบับอื่น
[1] จ๋าจี้ว์ (雜劇) คือศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจีน ซึ่งมีรูปแบบการแสดงที่หลากหลาย ทั้งร้อง พูด รวมถึงเต้นรำ คล้ายกับการแสดง “ละครพันทาง” ของไทย
[2] ซือโค่ว (司寇) เป็นตำแหน่งขุนนางผู้มีหน้าที่ดูแลการลงอาญา
[3] จ้าวจวงจี (赵莊姬) เป็นการนำแซ่เดิมของนางคือจี (姬) มาประสมกับชื่อสกุล “จ้าว” (趙) รวมถึงสมัญญานาม จ้าวจวงจื่อ (趙莊子) ของสามี
[4] ต้าเย่ (大業) คือบรรพบุรุษของแคว้นฉิน (秦國) แคว้นจ้าว (趙國) แคว้นสวี (徐國) และแคว้นเหลียง (梁國)
[5] จ้าวจี (趙姬) ในที่นี้เป็นการนำแซ่เดิมของนางคือจี (姬) มาประกอบกับชื่อสกุล “จ้าว” (趙)