“จางอาหลิน” จากผู้ต้องสงสัยวางยาพิษสู่มหาเศรษฐีแห่งไซง่อน
เรื่องโดย พลพัธน์ ภูรีสถิตย์
——ในวันที่ 15 มกราคม คริสต์ศักราช 1857 ในอาณานิคมฮ่องกงของอังกฤษได้เกิดคดีสะเทือนขวัญขึ้นคดีหนึ่ง เมื่อชาวตะวันตกจำนวนหลายร้อยคน รวมทั้งเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ( Sir John Bowring ค.ศ. 1792 – 1872) ข้าหลวงใหญ่ถูกนำส่งโรงพยาบาลกะทันหันเนื่องจากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและวิงเวียนศีรษะฉับพลัน ผลการวินิจฉัยพบว่าเกิดจากการได้รับสารพิษจากสารหนูที่ผสมในขนมปังซึ่งรับประทานเป็นอาหารเช้า และเมื่อสืบสวนต่อจึงพบว่าขนมปังเหล่านั้นผลิตโดยร้านอี้ว์เฉิง (裕成辦館 หรือ 裕盛辦館) ของชาวจีนชื่อจางอาหลิน (張阿霖 ค.ศ. 1827 – 1900) หรือจางเพ่ยหลิน (張霈霖)
——เหตุการณ์วางยาพิษในขนมปังครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะที่สงครามฝิ่นกำลังดำเนินไปอย่างชุลมุนวุ่นวายในฝั่งมณฑลกวางตุ้งของจีนแผ่นดินใหญ่ จุดชนวนความโกรธเคืองระหว่างชาวจีนและชาวอังกฤษบนเกาะฮ่องกงให้กระพือรุนแรงขึ้นอีกครั้ง
——นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกรุ่นหลังอย่าง จอร์จ เบียร์ เอ็นดาค็อตต์ (George Beer Endacott ค.ศ. 1901-1971) มีความเห็นมุ่งเป้าไปทางประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและสันนิษฐานว่า การวางยาเพื่อหวังสังหารหมู่ชาวอังกฤษเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ราชสำนักชิงเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ส่วนแจน มอร์ริส (Jan Morris ค.ศ. 1926 – 2020) นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกอีกท่าน กลับปักใจเชื่อว่าจางอาหลินกระทำลำพังโดยผู้เดียวด้วยความรักชาติ มีเจตนาเพื่อแก้แค้นชาวอังกฤษที่ยึดครองดินแดนของจีนและถือตัวเป็นเจ้าอาณานิคม
——จนกระทั่งปัจจุบัน นักวิชาการสมัยใหม่ต่างก็ยังไม่มีใครชี้ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้ต้องหาคดีวางยาพิษครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ชื่อของจางอาหลินก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไปแล้ว
——จางอาหลิน เกิดเมื่อปีคริสต์ศักราช 1827 (บางกระแสว่าเกิดปีคริสต์ศักราช 1830) มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเซียงซานของจังหวัดกว่างโจว แม้ว่าครอบครัวมีฐานะยากจน แต่ด้วยบิดาเป็นนักวิชาการ เขาจึงได้รับการอบรมความรู้มากกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในสมัยนั้น อีกทั้งจางอาหลินยังมีความสามารถด้านภาษาเป็นเยี่ยม เขาสามารถพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวียดนามได้อย่างคล่องแคล่วในระยะเวลาอันสั้น จากนั้น จางอาหลินในวัย 13 ปีและครอบครัวอพยพไปอาศัยในมาเก๊าระยะหนึ่งก่อนจะย้ายมาตั้งรกรากในฮ่องกง
——หลังเกิดเหตุการณ์วางยาพิษ ตำรวจอังกฤษได้เข้าควบคุมตัวจางอาหลินและลูกจ้างชาวจีน 50 คนในร้านส่งฟ้องศาล จางอาหลินได้ให้ทนายแก้ต่างและแสดงหลักฐานในชั้นศาลว่าครอบครัวของตนก็ได้รับสารพิษจากการรับประทานอาหารเช้าเช่นกัน อีกทั้งด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มชาวจีนในฮ่องกง ในที่สุดจางอาหลินก็หลุดพ้นจากความผิดฐานวางยาพิษโดยเจตนา ด้วยการยอมจ่ายค่าปรับเพื่อชดใช้ความเสียหายจนหลุดจากคดีนี้
——ทว่า บรรดาชาวอังกฤษที่มาประจำการเกาะฮ่องกงพยายามหาทางจับจางอาหลินแขวนคอในฐานะ “ผู้ร้าย” ให้ได้ ระหว่างนั้นภรรยาและลูกชายของเขาประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตอย่างลึกลับ ต่อมาเนื่องด้วยแรงกดดันจากสังคมชาวอังกฤษทั้งบนเกาะฮ่องกงและกรุงลอนดอน รัฐบาลอาณานิคมจึงตัดสินให้ขับไล่จางอาหลินออกจากอาณานิคมฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปี ที่สุดจางอาหลินและครอบครัวจึงสามารถเดินทางออกนอกฮ่องกงได้สำเร็จ
——จางอาหลินได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในมาเก๊าด้วยการเปลี่ยนชื่อของตนเป็น หงไท่ (宏泰) และก่อตั้งธุรกิจ “หงไท่” (Wang Tai) เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าตะวันตก ต่อมาในคริสต์ศักราช 1860 รัฐบาลฝรั่งเศสในเวียดนามว่าจ้างให้จางอาหลินจัดหาเรือสำเภาจีนจำนวนหนึ่ง เมื่อการต่อเรือสำเร็จและส่งมอบตรงตามกำหนด ชื่อเสียงของ “หงไท่” ก็โด่งดังขึ้นในเรื่องความน่าเชื่อถือทางการเงิน และการดำเนินธุรกิจ
——ในปีคริสต์ศักราช 1862 จางอาหลินได้รับเชิญจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปตั้งรกรากในเวียดนาม และเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่อีกครั้งโดยเปิดโรงงานเผาอิฐขึ้นที่ไซง่อน (西貢 Saigon) ถือเป็นโรงงานเผาอิฐแห่งแรกในเวียดนาม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นเพราะว่า รัฐบาลฝรั่งเศสสมัยนั้นซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าอาณานิคม 3 เมือง ได้แก่เมืองเบียนฮหว่า (邊和 Bien Hoa) เมืองยาดิ่งห์ (嘉定 Gia Dinh) และเมืองดินห์เตือง (定祥 dinh Tuong) มีความต้องการดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภค ทั้งถนน สะพานและอาคารสำนักงานที่เป็นแลนด์มาร์ก หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นลักษณะของฝรั่งเศส
——นอกจากนี้ จางอาหลินยังลงทุนในกิจการส่งออกข้าวไปยังจีนและฮ่องกงในปีคริสต์ศักราช 1879 รวมทั้งยังเข้าไปลงทุนผูกขาดการค้าสุราในกัมพูชาด้วย ทำให้จางอาหลินกลายเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของอาณานิคมฝรั่งเศสที่เวียดนาม ความสำเร็จเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากความรอบรู้เรื่องธุรกิจและความสามารถด้านภาษาของเขา จึงทำให้เขากลายเป็นผู้กว้างขวางในวงการธุรกิจข้ามชาติ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือความชํ่าชองในการเข้าหาเจ้าอาณานิคมด้วย “วิธีพิเศษ” อาทิ ก่อสร้างสถานที่สุดหรูเพื่อพักผ่อนหย่อนใจสำหรับข้าราชการชาวฝรั่งเศส จัดหาเครื่องดื่มอาหารและความบันเทิงระดับไฮเอนด์เพื่อตอบสนองความต้องการ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จางอาหลินจึงได้ครอบครองสัมปทาน “ใบอนุญาตการค้าฝิ่น” ในเขตเช่าซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1862 เพื่อเพิ่มรายได้ทางรัฐให้แก่ฝรั่งเศส การดำเนินธุรกิจค้าฝิ่นแบบผูกขาดตั้งแต่การเพาะปลูกในฟาร์ม การแปรรูปวัตถุดิบ การขนส่งสินค้า รวมทั้งช่องทางการจำหน่าย สร้างรายได้มหาศาลแก่จางอาหลินและ “อาณาจักรธุรกิจหงไท่” ที่เวียดนาม และแน่นอนว่าจุดหมายปลายทางการขายฝิ่นก็คือแผ่นดินจีนที่ปกครองโดยราชสำนักชิงซึ่งอยู่ในช่วงอ่อนแอและกำลังเสื่อมอำนาจลงทุกที
——ทว่า ขณะที่การค้าฝิ่นของกลุ่มหงไท่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ใน ค.ศ. 1881 รัฐบาลฝรั่งเศสก็ประกาศยกเลิกสัมปทานกะทันหัน ไม่เพียงปิดฉากการผูกขาดการค้าฝิ่นด้วยการเปิดประมูล อีกทั้งยังลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปฝิ่นแห่งใหม่ที่ไซ่ง่อนเสียเอง ส่วนจางอาหลินก็ค่อยๆ ติดหล่ม “กับดักหนี้” ของธนาคารฝรั่งเศส ซึ่งกู้เงินให้ขยายธุรกิจและก่อสร้าง “อาคารหงไท่” (宏泰大廈) ก่อนหน้านี้ แต่แล้วก็หันมาทวงหนี้คืน ทำให้จางอาหลินต้องนำธุรกิจหลายอย่างรวมทั้งอาคารหงไท่ทยอยขายคืนให้แก่เจ้าหนี้แบบตัดราคา
——ในเวลาต่อมา มีจดหมายจากผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชยการ อุตสาหกรรมและอาณานิคมฝรั่งเศสส่งมาถึงข้าหลวงใหญ่ที่ไซง่อนในคริสต์ศักราช 1891 เนื้อหาในจดหมายได้แฉความในว่าจางอาหลินมอบ “ของขวัญ” ให้ผู้อำนวยการภาษีศุลกากรชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก เป็นผลให้เขาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าหลายประการ ทางรัฐบาลอาณานิคมจึงให้ผู้อำนวยการศุลกากรคนดังกล่าวเกษียณก่อนกำหนด ส่วนจางอาหลินก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมาก
——อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จทางธุรกิจของจางอาหลินยังนำมาซึ่งตำแหน่งทางสังคมในชุมชนจีนในต่างแดน ทั้งการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าจีนกวางตุ้งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลฝรั่งเศสในปีคริสต์ศักราช 1880 ได้รับอิสริยาภรณ์ลียองดอนเนอร์จากฝรั่งเศสในปีคริสต์ศักราช 1889 และภายหลัง ราชสำนักชิงยังแต่งตั้งให้จางอาหลินเป็นกงสุลใหญ่ประจำนครไซง่อน ทั้งนี้ จักรพรรดิกวงซี่ว์ (光緒帝 ค.ศ. 1871-1908 ) ยังพระราชทานยศขุนนางระดับ 4 ให้จางอาหลินด้วย จากอดีตผู้ต้องสงสัยคดีวางยาพิษ กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ได้รับความนับถือจากทั้งชาวจีนและชาวตะวันตกในอาณานิคมอย่างมาก สลับบททาทระหว่างจำเลยในคดีขนมปังพิษ นักธุรกิจผู้ล่ำซำที่ประสบความสำเร็จ เสาหลักของชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางแสวงหาโชคไปยังต่างแดน รวมทั้งเจ้าพ่อยาเสพติดที่ซ่อนเร้น ชื่อเหล่านี้ล้วนอยู่ในบุคคลเดียวกันตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
——จางอาหลินถึงแก่กรรมในปีคริสต์ศักราช 1900 ทายาทได้จัดการส่งศพกลับไปฝังที่บ้านเกิดในเซียงซานตามประเพณีนิยมของชาวจีนโพ้นทะเลที่มีฐานะ เป็นอันสิ้นสุดชีวิตหลายแง่มุมของผู้ต้องสงสัยคดีวางยาที่กลายเป็นมหาเศรษฐีในเวียดนามยุคต้นอาณานิคมฝรั่งเศสแต่เพียงเท่านี้
อ้างอิง
- GERARD SASGES. Scaling the Commanding Heights: The colonial conglomerates and the changing political economy of French Indochina. Modern Asian Studies, Vol. 49, No. 5 (SEPTEMBER 2015), pp. 1485-1525 , p.1495-1496
- Schoonakker, Bonny (15 January 2007). “Racial tensions mixed with a dash of arsenic and yeast” . https://www.scmp.com/article/578666/racial-tensions-mixed-dash-arsenic-and-yeast module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=578666 , Retrieved 12 July 2019.
- https://sites.google.com/view/minhvien-yaohan/%E8%B6%8A%E5%8D%97%E7%9F%A5%E5%A4%9A%E5%B0%91/%E7%9F%A5%E5%A4%9A%E5%B0%91%E4%B9%8B21-40/%E8%B6%8A%E5%8D%97%E7%9F%A5%E5%A4%9A%E5%B0%91-34
[/fusion_builder_column][/fusion_builder_row][/fusion_builder_container]