“จางอั้ยหลิง”
ยอดนักเขียนหญิงของจีนยุคสาธารณรัฐ
เรื่องโดย เดชาวัต เนตยกุล
“ชีวิตเป็นดั่งอาภรณ์อันวิจิตร ที่เต็มไปด้วยเห็บเหาไต่คลาน”
(“生命是一襲華美的袍,爬滿了蚤子。”)
——ความเปรียบข้างต้น เป็นคำอุปมาที่ปรากฏในความเรียง(散文)เรื่อง “เทียนไฉเมิ่ง”(《天才夢》ฝันของอัจฉริยะ)ของนักประพันธ์สตรีเรืองนามในหน้าประวัติวรรณกรรมจีนสมัยใหม่นามว่า “จางอั้ยหลิง”(張愛玲 ค.ศ.1920 – 1995)ความเปรียบดังกล่าวสะท้อนภาพชีวิตของเธอได้เป็นอย่างดี แม้มีชื่อเสียงโด่งดังจากงานประพันธ์อันโดดเด่น เป็นที่รู้จักของชาวจีนจำนวนมาก ทว่าเธอกลับต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ นานา ที่ถาโถมเข้ามาจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
——“จางอั้ยหลิง” มีชื่อเดิมว่า “จางอิง”(張煐)เกิดใน ค.ศ.1920 ที่นครเซี่ยงไฮ้ เธอเป็นบุตรีของจางจื้ออี๋(張志沂 ค.ศ.1896 – 1953)กับหวงอี้ฟ่าน(黃逸梵 ค.ศ.1896[1] – 1957)“จางจื้ออี๋” บิดาของเธอ เป็นทายาทมีตระกูล เขาเป็นบุตรชายของ “จางเพ่ยหลุน”(張佩綸 ค.ศ.1848 – 1903)รองหัวหน้าสำนักตรวจตราฝ่ายซ้าย(左副都御史)สมัยราชวงศ์ชิงและเป็นหลานของ “หลี่หงจาง”(李鴻章 ค.ศ.1823 – 1901)ข้าหลวงมณฑลจื๋อลี่ (直隸總督)ขุนนางคนสำคัญสมัยปลายราชวงศ์ชิง จางจื้ออี๋ทำงานในตำแหน่งส่วนเลขานุการภาษาอังกฤษของสำนักการรถไฟสายเทียนจิน-ผูโข่ว นครเทียนจิน(天津津浦鐵路局) ส่วน “หวงอี้ฟ่าน” มารดาของเธอ เป็นกุลสตรีมีตระกูลเช่นกัน และมีแนวคิดสมัยใหม่ ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบประเพณีของจีน การที่จางอั้ยหลิงได้รับการศึกษาอย่างดีนั้น เป็นเพราะมีมารดาคอยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งชื่อ “อั้ยหลิง” ยังเป็นชื่อที่มารดาตั้งให้ในภายหลัง โดยยืมคำจากภาษาอังกฤษว่า “ไอลีน” (Eileen)
——หากพิจารณาจากเทือกเถาเหล่ากอจะเห็นได้ว่า ครอบครัวของจางอั้ยหลิงมีฐานะอันทรงเกียรติในสังคม เธอจึงได้รับการศึกษามากกว่าสตรีส่วนใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน ด้วยฐานะเช่นนี้ หลายคนอาจคิดว่าชีวิตของเธอคงโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
——จางอั้ยหลิงเติบโตมาในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น แม้บิดาจะมีความรู้ แต่กลับเป็นคนเสเพล ติดฝิ่น ทั้งยังเลี้ยงดูหญิงอื่นไว้นอกบ้าน ไม่รู้จักปรับปรุงนิสัยของตนเอง ส่วนมารดาก็หนีไปเรียนต่อต่างประเทศพร้อมกับน้องสามี “จางเม่ายวน”(張茂淵 ค.ศ. 1901 – 1991) โดยไม่สนใจไยดีลูกที่ยังเล็ก นานทีปีหนจึงจะกลับมาเยี่ยมบ้าน หลายปีผ่านไป บิดาและมารดาของจางอั้ยหลิงก็ตัดสินใจแยกทางกัน จางอั้ยหลิงจำต้องอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาเลี้ยง เธอจึงพลอยได้ความรู้ด้านภาษาจากบิดาติดตัวมาบ้าง ทว่าในภายหลัง เธอมีเรื่องผิดใจกับมารดาเลี้ยง บิดาจึงตบตีเธอ และขังเธอไว้ในห้องเป็นเวลาหลายเดือน แม้แต่ “จางจื่อจิ้ง”(張子靜 ค.ศ. 1921 – 1997) น้องชายของเธอก็อับจนหนทางที่จะช่วยเหลือ ด้วยสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์อันร้าวฉานในครอบครัวเช่นนี้ เธอจึงมีนิสัยที่ผิดผู้ผิดคน เย็นชา ไม่ชอบเข้าสังคม ลงท้ายเลยหนีออกจากบ้าน แล้วใช้ทักษะในการเขียนสร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นนักประพันธ์นามอุโฆษของจีนในที่สุด
“ฉันเป็นเด็กผู้หญิงที่แปลกประหลาด ถูกมองว่าเป็นอัจฉริยะตั้งแต่ยังเยาว์
นอกจากปรับปรุงความสามารถของตนแล้ว หามีเป้าหมายอื่นใดเพื่อดำรงชีวิตอยู่ไม่”
(我是一個古怪的女孩,從小被目為天才,除了發展我的天才外別無生存的目標。 )
——ข้อความดังกล่าว จางอั้ยหลิงได้เขียนไว้ในความเรียงเรื่อง “เทียนไฉเมิ่ง” เธอเริ่มแต่งนิยายตั้งแต่อายุ 12 ปีและได้ลงตีพิมพ์ในวารสารของโรงเรียน หลังจากหนีออกจากบ้าน จางอั้ยหลิงก็ไปพักพิงอยู่กับมารดาและอาหญิงที่กลับประเทศมาเป็นครั้งคราว จากนั้นใช้ความสามารถของตนสอบเข้ามหาวิทยาลัยลอนดอนจนได้ ทว่าเนื่องด้วยอังกฤษตกอยู่ในภาวะสงคราม เธอจึงต้องเบนเข็มไปเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์(文學系) มหาวิทยาลัยฮ่องกงแทน
——ใน ค.ศ. 1941 ฮ่องกงถูกญี่ปุ่นยึดครอง จางอั้ยหลิงจึงต้องระหกระเหินกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ทั้งที่ยังไม่สำเร็จการศึกษา ในช่วงเวลานั้นเอง เธอได้เริ่มเขียนบทความภาษาอังกฤษให้แก่หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ (《泰晤士報》) และนิตยสาร “เอ้อร์สือซื่อจี้”(《20世紀》คริสต์ศตวรรษที่ 20)อีกทั้งเริ่มแต่งนิยายเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ไม่นานนักผลงานจากน้ำพักน้ำแรงของเธอก็ปรากฏ นิยายเรื่อง “เฉินเซียงเซี่ย – ตี้อีหลูเซียง”(《沉香屑·第一爐香》เศษไม้กฤษณา:สุคนธ์กระถางที่หนึ่ง)ได้ออกสู่สายตาผู้อ่านและได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ตามมาด้วยนวนิยายเรื่องอื่นที่ทยอยตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เช่น “เฉินเซียงเซี่ย – ตี้เอ้อร์หลูเซียง” (《沉香屑·第二爐香》เศษไม้กฤษณา: สุคนธ์กระถางที่สอง)“โม่ลี่เซียงเพี่ยน” (《茉莉香片》ชาดอกมะลิ)“ชิงเฉิงจือเลี่ยน” (《傾城之戀》รักล่มเมือง)นอกจากนี้ เธอยังเขียนบทหนังให้แก่วงการภาพยนตร์อีกด้วย ผลงานเรื่องต่างๆ ของเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่วประเทศจีน โดยเป้าหมายที่เธอยึดมั่นอยู่เสมอคือ “รีบมีชื่อเสียงแต่เนิ่นๆ”
——อย่างไรก็ตาม ชีวิตมนุษย์มักมีทั้งสุขและทุกข์คละปนกันไป ความรักของจางอั้ยหลิงกลับไม่ราบรื่นดั่งหน้าที่การงาน เพราะการปรากฏตัวของบุรุษผู้หนึ่งในปี ค.ศ. 1944 ชีวิตของเธอได้เปลี่ยนไปจากเดิม
“เมื่อพบเขา เธอกลับกลายเป็นต่ำต้อยด้อยค่า ดุจดังธุลี
ทว่าใจเธอปีติยินดี ราวมวลมาลีแย้มบานจากธุลีนั้น”
(見了他,她變得很低很低,低到塵埃里,但她心裡是歡喜的,從塵埃里開出花來。 )
——ข้อความข้างต้นนั้น จางอั้ยหลิงรำพันถึงความรู้สึกที่มีต่อนักประพันธ์หนุ่มนาม “หูหลานเฉิง”(胡蘭成 ค.ศ. 1906 – 1981)ซึ่งมีอายุมากกว่าเธอถึง 14 ปี แต่โชคชะตาได้ดลบันดาลให้ทั้งคู่มาพบพานกันด้วยนิยายเรื่อง “เฟิงสั่ว” (《封鎖》ปิดผนึก)ของจางอั้ยหลิง หูหลานเฉิงชื่นชอบศิลปะการประพันธ์ในนิยายเรื่องนี้ และอยากรู้จักผู้เขียน เมื่อทั้งสองได้พบกันครั้งแรกก็รู้สึกถูกคอ จึงนัดพบกันหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง ความผูกพันแปรเปลี่ยนเป็นความรัก แม้ความรักครั้งนี้จะถูกจางเม่ายวน ผู้เป็นอาหญิงคัดค้าน เพราะในขณะนั้นหูหลานเฉิงมีคนรักอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นรักต่างวัยกับจางอั้ยหลิงด้วย แต่สุดท้าย ทั้งสองก็ตกลงปลงใจแต่งงานกันโดยไม่จัดพิธี ในทะเบียนสมรสจึงได้เขียนไว้เพียงว่า
“หูหลานเฉิงจางอั้ยหลิงลงนามสัญญาร่วมชีวิต
สมรสเป็นสามีภรรยา ปรารถนาชีวิตสงบสุข มั่นคงสถาพร”
( “胡蘭成張愛玲簽訂終身,結為夫婦,願使歲月靜好,現世安穩。” )
——ชีวิตอันสงบสุข บางครั้งก็มิจิรังยั่งยืน เพราะเส้นทางรักครั้งนี้ดำเนินไปเพียง 3 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง ใน ค.ศ. 1945 เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน หูหลานเฉิงที่มีใจฝักฝ่ายรัฐบาลหุ่นเชิดญี่ปุ่น และกลายเป็นคนขายชาติ(漢奸)จึงต้องหนีตายหัวซุกหัวซุน และได้เปลี่ยนชื่อเร้นกายอยู่ในเวินโจว พอจางอั้ยหลิงทราบแหล่งกบดานจึงได้ออกเดินทางไปหาเขา ทว่าชายที่เธอรักใคร่อย่างสุดหัวใจ กลับมีหญิงอื่นข้างกายเสียแล้ว กระทั่งปีค.ศ. 1947 เธอจึงได้ตัดความสัมพันธ์กับเขาในที่สุด แม้การที่เธอและเขาเคยร่วมชีวิตกัน จะทำให้เธอได้ชื่อว่าเป็นภรรยาของคนขายชาติ และต้องตกเป็นขี้ปากชาวบ้านอยู่เนืองๆ ทว่าเธอก็ไม่อาจทำใจให้ลืมเลือนความรักครั้งนี้โดยง่าย
——หลายปีต่อมา จางอั้ยหลิงได้รู้จักผู้กำกับ “ซังหู”(桑弧 ค.ศ. 1916 – 2004)ผ่านการร่วมงานภาพยนตร์ ทั้งคู่ต่างมีความรู้สึกที่ดีให้กัน ทว่าด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องแยกย้ายกันไปตามทางของตน
——ใน ค.ศ. 1955 จางอั้ยหลิงขณะมีอายุ 35 ปี ได้ย้ายไปตั้งรกรากที่อเมริกาและพบรักกับนักเขียนบทชาวอเมริกันชื่อ “เฟอร์ดินาน รีเฮอร์”(Ferdinand Reyher / 賴雅 ค.ศ. 1891 – 1967)ความรักครั้งนี้ช่วยเยียวยาจิตใจอันอ้างว้างของจางอั้ยหลิงให้อบอุ่นขึ้น แต่ก็ไม่วายต้องพบอุปสรรคนานาประการ เช่น มารดามาตายจากไป สามีป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต งานเขียนก็ไม่ได้รับความนิยมดังเดิม อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะต้องรับผิดชอบรายจ่ายเป็นจำนวนมาก แต่เธอก็ยังคงยืนหยัดรังสรรค์ผลงาน เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวต่อไป จนกระทั่งสามีเสียชีวิตใน ค.ศ. 1967
——ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกานั้น เธอยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “อู่ซื่ออี๋ซื่อ”(《五四遺事》เรื่องหนหลังครั้ง 4 พฤษภา)หรือบทภาพยนตร์ “ฉิงฉั่งหรูจั้นฉั่ง”(《情場如戰場》สนามรักดั่งสนามรบ) “เถาฮวาอวิ้น” (《桃花運》โชคชะตาแห่งรัก) “เหรินไฉเหลี่ยงเต๋อ” (《人財兩得》เพียบพร้อมทั้งคนและทรัพย์)อีกทั้งมีงานแปล งานวิจารณ์วรรณกรรม รวมถึงการนำงานเก่ามาปรับปรุง กระทั่ง ค.ศ. 1968 หลังจากสามีเสียชีวิต ผลงานของเธอก็กลับมาโด่งดังเป็นที่นิยมอีกครั้งในฮ่องกงและไต้หวัน สถานะการเงินของเธอดีขึ้นตามลำดับ เธอยังได้ทำงานที่ศูนย์วิจัยจีนศึกษา(中國研究中心)มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ อีกด้วย
——ใน ค.ศ. 1972 จางอั้ยหลิงย้ายไปใช้ชีวิตตามลำพังที่ลอสแอนเจลิส เธอเก็บตัว ตัดขาดจากสังคมมากขึ้น ไม่พบผู้อื่นหากไม่จำเป็น และมักย้ายที่อยู่ด้วยเหตุผล “หนีตัวหมัด” ที่คอยรังควานตามห้องพัก หรือแม้กระทั่งบนตัวเธอ แต่แท้จริงแล้ว ต้นต้อกลับเกิดจากโรคผิวหนังและปัญหาด้านสภาพจิตใจ ในช่วงเวลานี้เธอยังคงผลิตงานประพันธ์ประปราย จนกระทั่งวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1995 มีผู้พบร่างไร้วิญญาณของเธอในอพาร์ตเมนต์ เมืองลอสแอนเจลิส หลังจากเธอสิ้นใจแล้วราว 1 อาทิตย์ สิริอายุ 75 ปี ดูเหมือนเธอรู้ตัวว่าวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึง เธอจึงได้เตรียมเอกสารและจดหมายสำคัญเอาไว้เรียบร้อย เถ้ากระดูกของเธอถูกโปรยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1995 ซึ่งตรงกับวันเกิด ถือเป็นการปิดตำนานของอีกหนึ่งยอดนักเขียนหญิงแห่งแผ่นดินจีน
——ถึงแม้จะล่วงลับไปแล้ว แต่จางอั้ยหลิงก็ฝากผลงานชั้นยอดให้โลกได้ประจักษ์ไว้เป็นจำนวนมาก เป็นผลงานอันยืนยงผ่านยุคสมัยที่เธอมีชีวิตอยู่ เนื้อหาเน้นความสมจริง บรรยายถึงจิตใจอันซับซ้อนของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และมักให้ความสำคัญแก่สตรีเพศเป็นหลัก สะท้อนภาพชีวิตแต่งงาน ความรัก ครอบครัว อุปสรรค หรือความเป็นอยู่ของสตรีที่ถูกกดขี่ในสังคมปิตาธิปไตย นอกจากนี้ผู้อ่านยังได้รู้เห็นสภาพบ้านเมืองในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้สมัยนั้นด้วย ผลงานที่โด่งดังของเธอ ได้แก่
- นิยายขนาดกลาง “เฉินเซียงเซี่ย – ตี้อีหลูเซียง”(《沉香屑第一爐香》เศษไม้กฤษณา: สุคนธ์กระถางที่หนึ่ง)
- นิยายขนาดกลาง “หงเหมยกุยอวี่ไป๋เหมยกุย”(《紅玫瑰與白玫瑰》กุหลาบแดงและกุหลาบขาว)
- นิยายขนาดสั้น “โม่ลี่เซียงเพี่ยน”(《茉莉香片》ชาดอกมะลิ)
- นิยายขนาดสั้น “ชิงเฉิงจือเลี่ยน”(《傾城之戀》รักล่มเมือง)
- ความเรียง “เกิงอีจี้”(《更衣記》บันทึกผลัดอาภรณ์)
- บทภาพยนตร์ “ปู้เหลี่ยวฉิง”(《不了情》รักมิรู้จบ)
- หนังสือรวมนิยาย “ฉวนฉี”(《傳奇》ตำนาน)
- หนังสือรวมบทร้อยแก้ว “หลิวเหยียน” (《流言》ข่าวลือ)เป็นอาทิ
——ทั้งนี้ผลงานหลายเรื่องของเธอยังได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือละครเวทีในยุคปัจจุบันด้วย เช่น
- ภาพยนตร์เรื่อง “ชีวิตข้า…ขอกล้าที่จะรัก” ใน ค.ศ. 1997 สร้างจากนวนิยายเรื่อง “ปั้นเซิงหยวน”(《半生緣》บุพเพครึ่งชีวี)นำแสดงโดยเหมยเยี่ยนฟาง อู๋เชี่ยนเหลียน หลีหมิง
- “เล่ห์ราคะ” ใน ค.ศ. 2007 สร้างจากนวนิยายเรื่อง “เส้อเจี้ย” (《色,戒》ราคะ-ละเลิก)นำแสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ย และทังเหวย
- ละครโทรทัศน์ “ชิงเฉิงจือเลี่ยน” (《傾城之戀》รักล่มเมือง) ใน ค.ศ. 2009 นำแสดงโดยเฉินซู่ หวงเจวี๋ย
ภาพจากภาพยนตร์ “ชีวิตข้า…ขอกล้าที่จะรัก”
——ส่วนชีวประวัติซึ่งเป็นดั่งตำนานอันมีสีสันของเธอ ก็มีผู้นำไปสร้างเป็นสื่อภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เช่นเดียวกัน เช่นภาพยนตร์เรื่อง “กุ๋นกุ่นหงเฉิน”(《滾滾紅塵》/ Red Dust / โลกมนุษย์อันวุ่นวาย)ในค.ศ. 1990 นำแสดงโดย หลินชิงเสีย ฉินฮั่น จางม่านอวี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกเรื่องราวความรักระหว่างจางอั้ยหลิงกับหูหลานเฉิงไปใช้เป็นวัตถุดิบและต้นแบบของตัวละครในเรื่อง หรือละครโทรทัศน์เรื่อง “ซั่งไห่หวั่งซื่อ”(《上海往事》เรื่องอดีตนครเซี่ยงไฮ้)ใน ค.ศ. 2004 นำแสดงโดย หลิวรั่วอิง จ้าวเหวินเซวียน ที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งชีวิตของเธอได้อย่างน่าสนใจ
——นี่คือประวัติโดยสังเขปของ “จางอั้ยหลิง” นักประพันธ์สตรีเรืองนามชาวจีน ชีวิตของเธอมีทั้งสุขและเศร้า มากด้วยชื่อเสียง แต่ก็มากด้วยความขมขื่น ดั่งอาภรณ์อันงามวิจิตร ทว่าเต็มไปด้วยตัวเห็บเหารังควาน ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง
[1] บางแหล่งระบุว่าปี ค.ศ. 1899