ผู้เฒ่าจันทรา เทพพ่อสื่อในตำนานจีน
เรื่องโดย ไห่ กวง เฉิน
——ชาวจีนยุคโบราณเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตถือเป็นลิขิตจากเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลาภ ยศ อำนาจ วาสนา หรือแม้กระทั่งความรัก โดยเฉพาะเรื่องคู่ครองที่พิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะนอกจากจะขึ้นอยู่กับบุพเพสันนิวาสแล้ว ยังมีเทพพ่อสื่อเป็นผู้ดูแลให้มนุษย์ทุกคนได้ครองคู่กับผู้ที่มีบุญร่วมกัน ซึ่งเทพผู้นั้นคือ ‘ผู้เฒ่าจันทรา’ (月下老人)
——คำว่า ‘ผู้เฒ่าจันทรา’ ภาษาจีนเรียกว่า ‘เย่ว์เซี่ยเหล่าเหริน’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘เย่ว์เหล่า’ (月老) ว่ากันว่าเทพพ่อสื่อองค์นี้เป็นชายชรา ถือเชือกวิเศษสีแดงกับสมุดบันทึกเป็นของประจำตัว ชาวจีนเชื่อว่าหากผู้เฒ่าจันทราผูกปลายเชือกแดงไว้ที่ข้อเท้าของชายหญิงคู่ใดแล้ว แม้อีกฝ่ายจะอยู่ไกลสักเพียงใด ก็ย่อมได้ครองรักกันในที่สุด ตามคำกล่าวที่ว่า “ห่างกันพันลี้แสนไกล บุพเพเชื่อมไว้ด้วยด้ายแดง” (千里姻緣一線牽)
——ความเชื่อเรื่องผู้เฒ่าจันทราปรากฏเป็นบันทึกลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ในหนังสือรวมนิยายชื่อว่า ‘ซวี่เสวียนไกว้ลู่’ 《續玄怪錄》ตอนร้านหมั้นหมาย《定婚店》บทประพันธ์ของหลี่ฟู่เหยียน (李復言) ความว่า ในสมัยราชวงศ์ถังมีบัณฑิตหนุ่มนามว่าเหวยกู้ (韋固) เดินทางมาท่องเที่ยวที่อำเภอซ่งเฉิง (宋城) ขณะพักอยู่ที่โรงเตี๊ยมหนันเตี้ยน (南店) เหวยกู้พบกับชายชราผู้หนึ่งนั่งอยู่หน้าประตูร้าน ข้างกายมีกระเป๋าใบใหญ่ ส่วนมือก็เปิดตำราที่เต็มไปด้วยตัวอักษรประหลาดซึ่งเขาเองก็อ่านไม่ออก ด้วยความสงสัยเหวยกู้จึงเอ่ยถามชายชราว่าเป็นตำราประเภทใด ชายชราหัวเราะพลางอธิบายว่าเป็นบันทึกคู่บุพเพสันนิวาสของชายหญิงทุกคู่บนโลก เหวยกู้ได้ยินดังนั้นยิ่งสนใจ จึงถามว่าภายในกระเป๋าใบใหญ่นั้นคือสิ่งใด ฝ่ายชายชราอธิบายต่อว่าเป็นเชือกแดงวิเศษสำหรับผูกข้อเท้าชายหญิงที่มีวาสนาต่อกัน ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลที่เป็นอริกัน มีฐานันดรต่างกัน หรืออยู่ไกลกันสุดหล้าฟ้าเขียว เพียงผูกเชือกแดงเข้าด้วยกันแล้ว คนทั้งคู่จะได้ครองรักกันแน่นอน
——เหวยกู้ยืนฟังนิ่ง แม้ในใจไม่เชื่อคำพูดชายชรานัก ทว่าอีกใจก็อยากรู้ว่าคู่ครองของตนจะหน้าตาเป็นเช่นไร ขณะที่เขากำลังจะเอ่ยถาม ชายชรากลับลุกขึ้น หอบหิ้วหนังสือและกระเป๋าสัมภาระมุ่งหน้าไปยังตลาด เขาเดินตามชายชราไปเรื่อยๆ เมื่อถึงตลาด มีหญิงตาบอดข้างหนึ่งเดินตรงมาทางเขา เธอผู้นั้นกำลังอุ้มเด็กหญิงตัวน้อยอายุราว 3 ขวบอยู่ในอ้อมอก ชายชราหยุดยืนมองและกล่าวกับเหวยกู้ว่า เด็กหญิงในอ้อมแขนของหญิงตาบอดผู้นั้นคือภรรยาของเหวยกู้ในอนาคต เหวยกู้ได้ฟังก็รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะไม่เชื่อว่าบัณฑิตหนุ่มอนาคตไกลอย่างตนจะมีคู่ครองเป็นเพียงบุตรสาวของหญิงตาบอด ทว่าชายชรากลับตอบด้วยท่าทียิ้มแย้มว่า “ด้ายแดงได้ผูกไว้แล้ว ใครเล่าจะปฏิเสธได้” แล้วพลันหายไปอย่างไร้ร่องรอย ฝ่ายเหวยกู้ที่กำลังโกรธจัดเพราะรู้สึกว่าตนถูกตาเฒ่าแปลกหน้าหลอก จึงสั่งให้คนรับใช้ไปสังหารเด็กน้อยผู้นั้นเสีย ด้วยหมายจะท้าทายว่าหากเด็กน้อยตายไปแล้วคำกล่าวของชายชราจะเป็นจริงได้อย่างไร คนรับใช้รับคำสั่งก็วิ่งตรงไปยังหญิงตาบอด ใช้มีดแทงเด็กหญิงตัวน้อยแล้วรีบหนีไป
——หลังจากเหตุการณ์นั้น แม้ว่าจะมีคนแนะนำให้เหวยกู้รู้จักกับหญิงสาวอีกมากมาย ทว่าเขากลับไม่เคยประสบความสำเร็จในความรักเลยสักครั้ง จนกระทั่งเวลาผ่านไป 14 ปี เหวยกู้รับราชการเป็นขุนนางใหญ่โต และได้แต่งงานกับบุตรสาวของหวังไท่ (王泰) ผู้ตรวจการเมืองเซี่ยงโจว (相州) หลังจากแต่งงาน เหวยกู้พบว่าภรรยามีรอยแผลเป็นจางๆ อยู่ที่บริเวณคิ้ว เมื่อสอบถามจึงได้ความว่า เป็นรอยแผลจากเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีก่อนตอนไปท่องเที่ยวที่เมืองซ่งเฉิง ขณะที่แม่นมอุ้มเธอเดินเล่นอยู่ที่ตลาดนั้นเอง จู่ๆ ก็มีคนร้ายพุ่งตรงมาหมายจะใช้มีดแทงเธอ โชคดีที่โดนเพียงแค่บริเวณคิ้ว แต่ก็กลายเป็นแผลเป็นจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเหวยกู้ได้ยินก็ตกใจมาก จึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อนให้หวังไท่และภรรยาฟัง ในตอนนั้นเองเขาจึงเชื่อคำพูดของตาเฒ่าแปลกหน้า ซึ่งแท้จริงแล้วคือเทพพ่อสื่อผู้ดูแลเรื่องคู่ครองของมนุษย์ ตั้งแต่นั้นมา เหวยกู้และภรรยาจึงทะนุถนอมความรักครั้งนี้เป็นอย่างมาก ต่างคนต่างซาบซึ้งในวาสนาที่มีต่อกันตั้งแต่ชาติปางก่อน และครองรักกันอย่างมีความสุข
——ต่อมานายอำเภอซ่งเฉิงทราบเรื่องราวนี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อร้าน ‘หนันเตี้ยน’ เป็น ‘ติ้งฮุนเตี้ยน’ หรือ ‘ร้านหมั้นหมาย’
——เรื่องราวผู้เฒ่าจันทรากับด้ายแดงวิเศษ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาสของชาวจีนในสมัยราชวงศ์ถังที่ว่า เทพเจ้าเบื้องบนเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของมนุษย์ โดยที่ตัวมนุษย์เองไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชะตานี้ได้ สามารถพบความเชื่อดังกล่าวในงานเขียนสมัยราชวงศ์ถังอีกหลายชิ้น เช่น ‘สารพันเรื่องราวบนโลกล้วนถูกลิขิตไว้แล้ว’ จากหนังสือบันทึกก่านติ้ง《感定錄》ของหลี่ปี้ (李泌) ‘เหตุการณ์อันเกี่ยวพันกับมนุษย์ล้วนถูกกำหนดมาไว้แต่เดิม’ จากบันทึกสวี้ติ้งมิ่ง《續定命錄》ของหันเฉวียน (韓泉) หรือ ‘ทุกเรื่องที่มนุษย์ประสบล้วนคือชะตาฟ้าลิขิต’ จากตำราจี้เหวิน《紀聞》เป็นต้น
——เรื่องราวของผู้เฒ่าจันทราได้รับความนิยมในหมู่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีการเผยแพร่ในหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงราชวงศ์หมิงตอนต้น ได้หยิบยกตำนานผู้เฒ่าจันทรามาถ่ายทอดใหม่ในรูปแบบของอุปรากรโดยใช้ชื่อว่า ‘ผู้เฒ่าจันทรากำหนดคู่ครองมนุษย์’《月下老定世間配偶》ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) มีการสอดแทรกตัวละครผู้เฒ่าจันทราลงในนิยายหลายๆ เรื่อง เช่น ความฝันในหอแดง《紅樓夢》ฉบับของเฉาเสวี่ยฉิน (曹雪芹) ยอดยุทธ์เยาวมาลย์《兒女英雄傳》ของเหวินคัง (文康) ปรัชญาของผู้เฒ่าจาง《老張的哲學》ของเหลาเส่อ (老舍) เป็นต้น โดยในบันทึกฝูเซิงลิ่วจี้ 《浮生六記》ของเสิ่นซานไป๋ (沈三白) ได้บรรยายลักษณะของผู้เฒ่าจันทราอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ ‘มือหนึ่งถือด้ายแดง อีกมือหนึ่งถือบันทึกบุพเพสันนิวาส ใบหน้ามีเลือดฝาดดั่งเด็กน้อย เส้นผมขาวราวขนนกกระเรียน วิ่งเร็วหาตัวจับยาก’
——แม้ว่าทุกวันนี้คนจีนมีทัศนคติต่อเรื่องโชคชะตาต่างจากยุคโบราณไปมาก แต่ความเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาสและผู้เฒ่าจันทรายังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากในประเทศจีนมีศาลผู้เฒ่าจันทราอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนมีผู้คนมาขอพรเรื่องความรักกันอย่างไม่ขาดสาย หนึ่งในศาลผู้เฒ่าจันทรามีชื่อเสียงที่สุด คือตำหนักผู้เฒ่าจันทราที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบซีหู เมืองหังโจว บริเวณประตูตำหนักมีกลอนคู่บทหนึ่งซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดีในหมู่คนจีน เนื้อหากล่าวถึงความเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาสและการเคยอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พบเจอและครองคู่กับผู้มีวาสนาต่อกัน ดังนี้
ขอคู่รักทุกแห่งหนบนโลกนี้ ได้ครองคู่เคียงฤดีดั่งที่ฝัน
ตามลิขิตแต่ปางก่อนย้อนผูกพัน หวังบุพเพคงมั่นไม่คลาดคลา
(願天下有情人,都成了眷屬; 是前生注定事,莫錯過姻緣。)