‘ยงเจิ้ง’ ฮ่องเต้ผู้ทรงพระวิริยปรีชา เรื่องโดย หลินเหม่ยอัน —–เมื่อกล่าวถึงจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ชิง (清朝 ค.ศ. 1636-1912) แน่นอนว่าย่อมต้องมี 3 พระองค์ รวมอยู่ด้วย ได้แก่ จักรพรรดิคังซี (康熙 ค.ศ. 1654-1722) ครองราชสมบัติยาวนานถึง 61 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุ 69 พรรษา จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正 ค.ศ. 1678-1735) ครองราชสมบัติเพียง 13 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุ 57 พรรษาเท่านั้น และจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆 ค.ศ. 1711-1799) ครองราชสมบัติ 60 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุ 89 พรรษา หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุใดจักรพรรดิยงเจิ้งจึงมีพระชนมายุน้อยเช่นนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจักรพรรดิอีกสองพระองค์ หลังจากรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว สามารถสรุปได้เป็นคำสั้นๆ ว่าจักรพรรดิยงเจิ้งคือ ‘ฮ่องเต้ยอดขยัน’ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการอ่านมาก ชนิดที่ว่าแค่กวาดพระเนตรครั้งเดียวก็อ่านได้ 10 บรรทัด และในช่วงเวลา 13 ปีที่ครองราชสมบัติพระองค์ได้ทรงพระอักษรเอกสารต่างๆ กว่า 40,000 ฉบับ เฉลี่ยวันละกว่า 100 ฉบับ ส่วนคตินิยมสมัยใหม่ที่ว่าทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันนั้นใช้ไม่ได้กับจักรพรรดิยงเจิ้ง เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่โปรดการทรงงานล่วงเวลาเสมอ —–พระราชกิจข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติในแต่ละวันเท่านั้น จึงเข้าใจได้ว่าพระองค์ทรงงานหนักมากจนไม่มีเวลาสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่มีเวลาเสด็จประพาสที่ไหน (1 ปีพระองค์ทรงหยุดแค่ 3 วันเท่านั้น) มาดูกันว่าพระราชกิจใน 1 วัน ของจักรพรรดิยงเจิ้งมีอะไรบ้าง —–โดยปกติทรงตื่นจากบรรทมตั้งแต่ช่วงก่อนฟ้าสาง (ตี 3 ถึง ตี 5) เพราะเวลาช่วงนั้นราชองครักษ์เห็นว่าห้องของจักรพรรดิก็จุดตะเกียงสว่างไสวแล้ว หลังจากนั้นข้าหลวงที่อยู่ถวายงานก็เข้ามาชำระพระวรกาย หวีพระเกศา โกนพระมัสสุ (หนวด) และพระทาฐิกะ (เครา) ให้จักรพรรดิ เมื่อเสร็จเรียบร้อยพระองค์จะเริ่มเสวยพระกระยาหารมื้อเช้าแบบเรียบง่าย แต่ในวันที่เร่งรีบพระองค์จะมีพระราชดำรัสสั่งให้งดมื้อเช้าทันที —–เนื่องด้วยพระองค์ทรงงานร่วมกับผู้คนหลากหลาย จึงทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ และวิชาที่เกี่ยวกับอารยธรรมจีนโดยละเอียด นอกจากนี้ยังทรงศึกษาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา รวมถึงสูตรยารักษาโรคต่างๆ พระองค์อุทิศเวลาช่วงเช้า (7-9 โมง) เพื่อทรงพระอักษรและศึกษาวิชาการ —–ระหว่าง 9-11 โมงเช้า พระองค์มักเสด็จไปที่สำนักปกครองเกือบทุกวันตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ทรงครองราชสมบัติในขณะที่จักรพรรดิพระองค์อื่นทรงเข้าสำนักปกครองแค่อาทิตย์ละครั้งเท่านั้น จักรพรรดิยงเจิ้งทรงงานทุกวันจนเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายประทับใจมาก แต่บรรดาเหล่าข้าราชบริพารที่ถวายงานกลับเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง —–นอกจากนี้ยังโปรดทำสิ่งต่างๆ ในเวลาไล่เรียงกันตามขั้นตอนเสมอ ทรงจัดสรรเวลาได้อย่างมีคุณค่า เฉกเช่นการชงชาของชาวจีน ซึ่งเริ่มจากการนำกาน้ำร้อนมาล้าง จากนั้นเทน้ำใส่กา นำกาน้ำร้อนไปตั้งบนเตา ระหว่างที่รอน้ำเดือดก็ล้างกาน้ำชา ล้างถ้วยชา และเตรียมใบชาไว้พร้อม พอน้ำเดือดก็ชงชาและรอดื่มชาได้เลย นี่คือแบบอย่างของการทำงานที่เป็นระบบระเบียบคุ้มกับเวลาที่เสียไป —–จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเลือกพระที่นั่งไท่เหอ (太和殿) เป็นสถานที่สำหรับเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ในสมัยนั้นพระราชวังจะใช้สำหรับออกมหาสมาคมหรือประกอบพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นต้น แต่ด้วยพระราชดำริที่ไม่เหมือนใคร ด้วยพระองค์ทรงเชื่อว่าการปกครองบ้านเมืองนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเช่นเดียวกัน พระที่นั่งไท่เหอ —–เมื่อออกว่าราชการเสร็จแล้วพระองค์มีพระที่นั่ง 2 แห่ง ที่มักจะเสด็จไปทรงงานต่อทันทีคือพระตำหนักเฉียนชิง (乾清宮) และพระที่นั่งหย่างซิน (養心殿) จะประทับทรงงานที่นั่นจนถึงบ่าย 3 พระองค์จึงจะเริ่มเสวยพระกระยาหารยามบ่ายและทรงงานต่อ มื้อบ่ายนี้ถือเป็นมื้อสุดท้ายของวัน เท่ากับว่าใน 1 วัน พระองค์เสวยแค่ 2 มื้อเท่านั้น ตำหนักเฉียนชิง —–จักรพรรดิยงเจิ้งเวลาเสวยพระกระยาหารทุกครั้งจะไม่ตรัสเลย หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสวยสิ่งใด พระองค์แค่ชายพระเนตรเท่านั้น ข้าหลวงจึงต้องคอยสังเกตอากัปกิริยาของพระองค์ตลอดเวลา และห้ามแพร่งพรายแก่คนภายนอกว่าพระองค์โปรดพระกระยาหารชนิดใด ต้องเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันคนที่จะลอบปลงพระชนม์โดยการวางยาพิษในพระกระยาหารจานโปรด นอกจากนี้การเสวยพระกระยาหารพร้อมกับตรวจเอกสารต่างๆ ไปด้วย ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับพระองค์ หากวันใดที่ปลอดพระราชกิจ พระองค์จะทรงพระอักษรเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองหรือประวัติศาสตร์ หากพระองค์ไม่ได้ทรงงานเลยจะไม่สบายพระทัยเป็นอย่างมาก —–หลังจากเสวยมื้อสุดท้ายของวันแล้ว ตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 1 ทุ่ม หากมีเวลาว่าง จักรพรรดิคังซี (พระราชบิดาของพระองค์) โปรดการอ่านหนังสือ ส่วนจักรพรรดิเฉียนหลง (พระราชโอรส) โปรดการประพันธ์บทกวีเป็นอย่างมาก และทรงประพันธ์บทกวีไว้ทั้งหมดกว่า 48,000 บท แต่จักรพรรดิยงเจิ้งกลับปฏิบัติพระราชกิจต่อไปไม่ยอมพักพระราชอิริยาบถ จนบรรดาข้าราชบริพารแทบจะร่ำไห้ เพราะพระองค์ยังคงทรงงานต่อจนเกือบถึงเที่ยงคืน ทั้งที่โดยปกติเวลาเข้าบรรทมของจักรพรรดิพระองค์ก่อนๆ ในสมัยราชวงศ์ชิงตามกฎคือ 2 ทุ่มเท่านั้น —–เนื่องจากในยุคที่จักรพรรดิยงเจิ้งขึ้นครองราชสมบัติ แผ่นดินจีนเผชิญปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นเหตุให้พระองค์คร่ำเคร่งกับพระราชกิจจนละเลยพระวรกาย แต่ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ พระองค์ทรงสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกครั้ง โดยเน้นการส่งออกสินค้า เช่น ผ้าต่วน ผ้าไหม และอื่นๆ นอกจากนี้ยังทรงมีมาตรการปราบปรามการทุจริตในกลุ่มขุนนางได้เด็ดขาด ขุนนางที่มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราษฎรไม่ต้องรับภาระหนักในการจ่ายภาษีเหมือนเเต่ก่อน เงินในท้องพระคลังจึงเพิ่มขึ้น —–จักรพรรดิยงเจิ้งโปรดพระที่นั่งหย่างซินมากกว่าพระตำหนักเฉียนชิง ‘หย่างซิน’ หมายถึง บำรุงพระทัย (養 yǎng หมายถึง บำรุง, 心 xīn หมายถึง หัวใจ) เพราะที่ประทับแห่งนี้สะดวกสบาย มีพื้นที่ใช้สอยหลากหลาย นอกจากทรงงานแล้วยังเป็นห้องเครื่องและห้องบรรทม เมื่อทรงพระดำเนินออกมาก็เข้าสู่ท้องพระโรงเลย พระที่นั่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นพระที่นั่งที่มีอาคารบริวารล้อมรอบหลายชั้น เข้าออกโดยการเดินผ่านที่พักของเหล่าบริวาร ดังนั้นจึงมีข้าราชบริพารคอยเป็นหูเป็นตาให้อย่างดี หากมีผู้คิดร้ายลอบเข้ามาสังหารก็ไม่สามารถเล็ดลอดไปได้ เพราะตำหนักนี้เข้าออกได้แค่ทางเดียว และพระที่นั่งนี้ยังมีทางลับสำหรับจักรพรรดิเพื่อหลบหนีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วย —–จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเป็นกษัตริย์ที่มีอุปนิสัยกล้าแข็งและเด็ดขาด ทำให้มีศัตรูมากมาย เรื่องความปลอดภัยจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พระองค์ทรงเลือกประทับอยู่ที่พระที่นั่งแห่งนี้ จนกระทั่งต่อมาฮองเฮาก็ทรงย้ายจากพระตำหนักเฉียนชิงมาประทับที่ห้องด้านหลังของพระที่นั่งหย่างซินเพื่อจะได้คอยปรนนิบัติดูแลพระจักรพรรดิอย่างใกล้ชิด ภาพมุมสูงของพระที่นั่งหย่างซิน ห้องหนึ่งในพระที่นั่งหย่างซิน แขวนป้ายฝีพระหัตถ์ของจักรพรรดิยงเจิ้ง —–ภายในพระที่นั่งนี้มีป้ายต่างๆ ส่วนมากเป็นฝีพระหัตถ์ของจักรพรรดิยงเจิ้ง ทรงเขียนบทกวีและข้อความต่างๆ ด้วยลายพระหัตถ์อันวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องพระโรง (ห้องโถงขนาดใหญ่ในพระที่นั่ง) มีป้ายลายพระหัตถ์ “จงเจิ้ง เหรินเหอ” (中正仁和) หมายถึง “การเป็นกษัตริย์ที่ดีต้องมีความเที่ยงธรรมและเมตตา” เป็นการเตือนสติพระองค์เอง และเพื่อเป็นราชนีติให้แก่จักรพรรดิในรุ่นต่อๆ ไป ป้ายจงเจิ้งเหรินเหอ ณ ท้องพระโรงในพระที่นั่งหย่างซิน —–จักรพรรดิยงเจิ้งสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ครองราชสมบัติยาวนานนัก แต่พระองค์ทรงสร้างผลงานด้านต่างๆ ไว้มากมายให้แก่ประเทศจีน จึงยังทรงสถิตอยู่ในหัวใจของชาวจีนทุกคนจวบจนปัจจุบัน