เยียนเจาหวาง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐเยียน
เรื่องโดย เสี่ยวเฉิน
เยียนเจาหวาง (燕昭王 335-279 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระนามเดิม จีจื๋อ (姬職) ชาวเมืองจี้ (薊城
เมืองหลวงของรัฐเยียน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของมหานครปักกิ่ง) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 39 แห่งรัฐเยียนใน
ยุคจ้านกว๋อ (戰國 475 – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นพระโอรสของเยียนหวางไคว่ (燕王噲 ?-314 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) กับนางสนม พระองค์ถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่รัฐหาน (韓國) ก่อนกลับมาสืบราชสมบัติที่รัฐเยียน ทรง
ขึ้นครองราชย์ระหว่าง 312-279 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของรัฐเยียน เยียนเจาหวางเสด็จสววรคต เมื่อ 279 ปีก่อนคริสตร์ศักราช และเยียนฮุ่ยหวาง (燕惠王 ?-272 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็สืบทอด
ราชสมบัติแทน
การสืบราชบัลลังก์
เมื่อ 318 ปีก่อนคริสต์ศักราช เยียนหวางไคว่ได้สละราชบัลลังก์ให้แก่จื่อจือ (子之 ?-314 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เขาเป็นขุนนางที่กุมอำนาจในราชสำนักแห่งรัฐเยียน (燕國) ทั้งยังยึดอำนาจด้วยการเรียกคืนตราประทับของเหล่าขุนนางอาวุโส ทำให้จื่อจือมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชากองทัพ สร้างความไม่พอใจให้แก่ตระกูลสูงศักดิ์เก่าๆ และรัชทายาทผิง (太子平 ?-314 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เป็นอย่างมาก
เมื่อ 314 ปีก่อนคริสต์ศักราช รัชทายาทผิงและแม่ทัพชื่อเป้ย (市被) ได้ร่วมมือกับเหล่าขุนนางเก่าแก่เข้า
โจมตีจื่อจือ ก่อให้เกิดสงครามภายใน กลุ่มอำนาจแตกแยกเป็นสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างดึงกำลังและกลุ่มอิทธิพลจาก
รัฐอื่นมาเป็นพวก เช่น รัฐเว่ย (魏國) รัฐจ้าว (趙國) รัฐหานเป็นต้น ทั้งสองฝ่ายสู้รบและฆ่าฟันกันอย่างไม่ปราณี
ซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน ฉีเซวียนหวาง (齊宣王 350-301 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เห็นว่ารัฐเยียนกำลังอ่อนแอจากสงครามก็เข้าแทรกแซงสถานการณ์ทางการเมืองและอำนาจของรัฐ ได้นำทหารรัฐฉีโจมตีรัฐเยียน ยังส่งผลให้รัชทายาทผิงสิ้นพระชนม์ในสงคราม เยียนหวางไคว่และจื่อจือก็ถูกสังหารโดยทหารรัฐฉี หลังสงครามรัฐเยียนสงบลง แต่กลับเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก สถานการณ์ภายในวุ่นวายและโกลาหล ราษฎรรัฐเยียนจำนวนมากต้องพลัดถิ่น
311 ปีก่อนคริสต์ศักราช เยียนเจาหวางเสด็จขึ้นครองราชย์ หลังจากเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงทุ่มเท
พระวรกายเพื่อสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น และเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
การระดมผู้มีความสามารถร่วมพัฒนารัฐเยียน
เยียนเจาหวางมีชื่อเสียงระบือไปไกลว่า ทรงยกย่องและโปรดบุคคลที่มีความสามารถ เกิดเสียงเล่าลือว่า
นอกจากนักปราชญ์แต่ละรัฐซึ่งพากันไปเยือนรัฐเยียนแล้วยังมีบุคคลสำคัญ เช่น เสนาธิการโจวเหยี่ยน (鄒衍)
จากรัฐฉี, เยว่อี้ (樂毅) จากรัฐเว่ย
ผู้มีบทบาทในการพัฒนารัฐเยียน
โจวเหยี่ยน
โจวเหยี่ยน (鄒衍 324-250 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์ (五行家)นามอุโฆษ เมื่อครั้งท่องไปทั่วรัฐเว่ย เว่ยฮุ่ยหวาง (魏惠王 400-319 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถึงกับเดินทางไปหาโจวเหยี่ยนที่
นอกเมือง ครั้นไปเยือนรัฐจ้าว กษัตริย์ผิงหยวน (平原君) นอกจากพระดำเนินเคียงไปกับโจวเหยี่ยนแล้ว ยังใช้แขนเสื้อปัดฝุ่นบนที่นั่งในงานเลี้ยงให้ด้วยความเคารพ ส่วนเยียนเจาหวางทรงทักทายโจวเหยี่ยนอย่างนอบน้อมยิ่งกว่า
เมื่อครั้งโจวเหยี่ยนเดินทางไปยังรัฐเว่ย และรัฐจ้าว พระองค์ค่อยๆ พระดำเนินถอยหลัง พลางใช้ไม้กวาดปัดกวาดสิ่งสกปรกออกจากทางเดิน ตอนประทับเยียนเจาหวางก็ประทับตรงที่สำหรับลูกศิษย์ เคารพและให้เกียรติโจวเหยี่ยนในฐานะอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เยียนเจาหวางรับสั่งให้สร้างตำหนักเจี๋ยสือกง (碣石宫) เพื่อเป็นที่พำนัก และสำนักการศึกษาของโจวเหยี่ยน
เยียนเจาหวางเปิดเมืองเพื่อต้อนรับบัณฑิตผู้ทรงเกียรติคุณ รวมถึงผู้มีปณิธานที่จะทำลายรัฐฉี และรู้จักชัยภูมิของรัฐฉีเป็นอย่างดี อีกทั้งยังต้อนรับปัญญาชน (รุ่นเก่า) ที่มีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์หรือขุนนางซึ่งเชี่ยวชาญในการทำสงคราม ทรงอุปถัมภ์คนเหล่านี้ไว้โดยให้ค่าตอบแทนอย่างดี ในบรรดาปัญญาชนซึ่งมารวมตัวกันที่รัฐเยียนเพื่อ
ช่วยเหลือเยียนเจาหวาง ทำให้รัฐเยียนเจริญรุ่งเรืองขึ้น บุคคลที่โดดเด่นที่สุดก็คือ เยว่อี้
เย่วอี้
เยว่อี้ (樂毅 ไม่ทราบปีที่เกิดและปีที่ตาย) เป็นลูกหลานของเยว่หยาง (樂羊 ขุนพลรัฐเว่ยผู้มีชื่อเสียงเกริกไกรสมัยจ้านกว๋อ) มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น เขาทราบมาว่าเยียนเจาหวางให้ความเคารพ ให้เกียรตินักปราชญ์และผู้มีความสามารถ ประจวบกับครั้งหนึ่งเย่วอี้เป็นทูตของรัฐเว่ยไปรัฐเยียน เยียนเจาหวางทรงรับรองอย่างนอบน้อม เยว่อี้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากจึงตัดสินใจอยู่ที่รัฐเยียน เยียนเจาหวางทรงแต่งตั้งเป็นขุนนางระดับสูง มอบหมายให้ดูแลด้านการปกครองและการทหาร
ปฏิรูปการปกครองภายในรัฐเยียน
เยว่อี้ทุ่มเทกำลังความคิดช่วยเยียนเจาหวางปฏิรูปการปกครองภายใน และปรับปรุงกองทัพ
– ประการแรก มุ่งชำระข้อกฎหมายของรัฐเยียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ขจัดขุนนางผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เยว่อี้เสนอให้
เยียนเจาหวางบัญญัติกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อตรวจสอบและประเมินผลเหล่าขุนนาง
– ประการสอง กำหนดเกณฑ์การพิจารณาความสามารถ และคัดเลือกคนเข้าเป็นขุนนาง ยกเลิกระบบคัดเลือกคนจากความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือญาติสนิท และความมีชาติตระกูล (ฐานะ) กวาดล้างผู้มีอิทธิพลที่ซ่องสุมกำลังคนไว้ ส่งผลให้การทำงานของขุนนางท้องถิ่นนับวันยิ่งมีมาตรฐานและโปร่งใสมากขึ้น
– ประการที่สาม เสนอให้เยียนเจาหวางปูนบำเหน็จอย่างเป็นระบบให้แก่ผู้มาสวามิภักดิ์ รวมถึงผู้ยากไร้ที่มีฐานะต่ำต้อย และเหล่าข้าทาสบริวารที่เคารพกฎของรัฐเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ในด้านการทหาร เยว่อี้เน้นยุทธวิธีและการฝึกอบรม ระเบียบข้อบังคับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพรัฐเยียนให้สูงขึ้น
เยียนเจาหวางยังทรงใส่พระทัยความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก เมื่อสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรมก็
ส่งคนเดินทางไปปลอบขวัญให้กำลังใจผู้ที่ต้องทนทุกข์กับการจัดพิธีฝังศพตามลำพัง เมื่อคู่สามีภรรยามีบุตรก็ส่งคนไปแสดงความยินดีและห่วงใย สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพผู้ปกครองที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับอาณาประชาราษฎร์
รัฐเยียนรุ่งเรือง รัฐฉีแตกพ่าย
ด้วยความช่วยเหลือของเยว่อี้และคนอื่นๆ เยียนเจาหวางทรงงานอย่างมุ่งมั่นเป็นเวลาถึง 28 ปี รัฐเยียนจึงค่อยๆเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น พระองค์ยังปลูกฝังค่านิยมความมุมานะบากบั่นต่อสู้เพื่อมุ่งหวังให้เข้มแข็งเกรียงไกร
ยิ่งขึ้น รัฐเยียนร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านข้าศึก และความพร้อมในการยกทัพปราบรัฐฉีก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
เยียนเจาหวางทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพัฒนารัฐเยียน จนรัฐเยียนนับวันเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่รัฐฉีก็เจริญรุ่งเรืองและแข็งแกร่งเช่นกัน แต่ทว่าเจ้าผู้ครองรัฐฉีกลับไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เก็บภาษีที่นาเพิ่มขึ้น
ใช้กำลังทางทหารรุกรานรัฐอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความไม่พอใจของเหล่าบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ แล้วก็ถึงเวลาของเยียนเจาหวางที่ต้องทรงกล้ำกลืนความอัปยศอยู่หลายปี และมุ่งมั่นจะแก้แค้นจึงตัดสินใจยกทัพโจมตีรัฐฉี
รัฐฉีเป็นรัฐขนาดใหญ่ทางด้านตะวันออก แค่กำลังของรัฐเยียนย่อมไม่สามารถต่อสู้เอาชัยได้ เยว่อี้จึงเสนอยุทธวิธี “ร่วมมือกับรัฐอื่นๆ” ซึ่งเยียนเจาหวางก็ทรงเห็นด้วย
ก่อนหน้านี้เยียนเจาหวาง เยว่อี้ โจวเหยี่ยน ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด ในช่วงเวลานั้นรัฐที่แข็งแกร่ง อย่างรัฐฉี รัฐฉิน และรัฐจ้าว กำลังแผ่อำนาจอย่างกว้างขวาง เมืองติ้งเถา (定陶 ปัจจุบันเป็นเขตการปกครองของเมืองเหอเจ๋อ 菏澤 มณฑลซานตง 山東) ของรัฐซ่ง (宋國) เป็นเมืองการค้าขนาดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคจงหยวน ซึ่งรัฐฉี รัฐฉิน และรัฐจ้าวต่างต้องการขอมีส่วนแบ่งในผลประโยชน์ด้วย แต่เพียงไม่นานรัฐฉีก็โจมตีรัฐซ่งจนแตกพ่าย ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐฉี รัฐฉิน กับรัฐจ้าวทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงแก่รัฐหาน รัฐเว่ย และรัฐฉู่ (楚國) จนรัฐเหล่านี้เกิดความกังวลใจ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแผนการของเยียนเจาหวางที่ชักจูงให้รัฐต่างๆ ระแวงรัฐฉี และแยกรัฐฉีให้โดดเดี่ยว
หน้าฉากดูหมือนรัฐเยียนยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐฉี ทำให้อีกฝ่ายไม่ระแวดระวัง ระหว่างนั้นก็ส่งซูฉิน (蘇秦382-332 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เดินทางไปรัฐฉีถึง 2 ครั้งเพื่อยุแหย่ให้แตกคอกับรัฐอื่น เสี้ยมเจ้าผู้ครองรัฐฉีให้ไปโจมตีรัฐฉินทางตะวันตก รุกรานรัฐซ่งทางเหนือ เยียนเจาหวางถือโอกาสดีนี้ ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐเว่ย และรัฐฉู่ อีกทั้งส่งเยว่อี้ไปเจรจาหว่านล้อมอ๋องรัฐจ้าวเพื่อโน้มน้าวให้รัฐฉินโจมตีรัฐฉี
แต่เดิมรัฐฉินทำข้อตกลงกับรัฐฉีว่าจะเป็นพันธมิตรในเรื่องการปกครอง แต่รัฐฉีกลับละเมิดข้อตกลงโดยโจมตีรัฐฉิน รุกรานรัฐซ่ง แผ่อำนาจเข้าภูมิภาคจงหยวน เพื่อระบายความคับแค้นใจ รัฐต่างๆ จึงร่วมกันโจมตีรัฐฉี แบบนี้กลายเป็นว่า รัฐฉีถูกล้อมรอบทั้งทางเหนือ ทางตะวันตก และทางใต้
ร่วมมือกันบุกโจมตีรัฐฉี
เยียนเจาหวางทรงแต่งตั้งเยว่อี้ให้เป็นแม่ทัพนำกองทัพออกรบในครั้งนี้เมื่อ 284 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ขณะเดียวกันทหารฉู่ตั้งทัพที่หวยหนาน (淮南 เป็นพื้นที่ภาคกลางของมณฑลอันฮุย) เตรียมพร้อมบุกยึดหวยเป่ย (淮北 เป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของมณฑลอันฮุย) ของรัฐฉี ในส่วนรัฐฉิน รัฐจ้าว รัฐหาน และรัฐเว่ยต่างส่งกองทัพขนาดใหญ่เข้าโจมตีรัฐฉี
ตั้งแต่แรกฉีหมิ่นหวาง (齊湣王 ?-284 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ไม่ได้คาดการณ์ว่ารัฐเยียนจะผนึกกำลังกับเจ้าผู้ครองรัฐอื่นๆ โจมตีรัฐฉี จนกระทั่งเห็นทหารเยียนโจมตีรัฐฉี ฉีหมิ่นหวางถึงกับเร่งระดมพลทั่วรัฐเพื่อออกรบ ยพทัพข้ามแม่น้ำจี้สุ่ย (濟水) ไปทางตะวันตกเพื่อต่อต้านศัตรู ทหารฉีต้องทำสงครามยืดเยื้ออยู่หลายปี ขวัญกำลังใจทหารก็ถดถอย ยิ่งกว่านั้นฉีหมิ่นหวางยังใช้วิธีการอันโหดเหี้ยมคุกคามทหารที่ไร้ประโยชน์ในสงคราม เช่น การตัดศีรษะ ตัดชิ้นส่วนร่างกาย หรือขุดหลุมศพบรรพบุรุษทำให้ขวัญกำลังใจของทหารฉียิ่งถดถอยมากขึ้น
ทหารพันธมิตรเปิดฉากโจมตีอีกครั้ง ทหารฉีที่เสียขวัญกำลังใจอยู่ก็แตกพ่ายอย่างง่ายดาย หลังจากทัพหลวงของรัฐฉีพินาศ ฉีหมิ่นหวางนำกองทหารที่เหลือหนีตายหัวซุกหัวซุนไปที่เมืองหลินจือ (臨淄 เมืองหลวงรัฐฉี) เยียนเจาหวางทรงทราบข่าวก็ดีพระทัยเป็นอันมาก รีบไปยังสนามรบเพื่อบำรุงขวัญทหาร และเลี้ยงเหล่าทหารกล้าอย่างเต็มที่
เยว่อี้กล่าวชื่นชม พร้อมกับปูนบำเหน็จให้แก่ทหารของรัฐฉินและรัฐหาน จากนั้นได้ส่งเหล่าทหารกลับรัฐของตนเอง จากนั้นจึงนำทหารรัฐเยียนบุกไปโจมตีเมืองหลวงของรัฐฉี ทหารเยียนบุกทะลวงราวกับพายุ ยกทัพไปที่ใดก็ทำลายที่นั่นราบเป็นหน้ากลอง สามารถยึดเมืองของรัฐฉีได้อย่างรวดเร็ว ฉีหมิ่นหวางถูกบีบบังคับให้ถอยหนีไปปักหลักที่เมืองจวี่ (莒 ปัจจุบันคืออำเภอตงจวี่ 東莒縣) แต่ต่อมาก็ถูกแม่ทัพน่าวฉื่อ (淖齒 ? – 283 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แห่งรัฐฉู่ฆ่าตาย
หลังจากยึดเมืองหลินจือ เยว่อี้ได้ปรับปรุงวินัยทหารให้เป็นระเบียบ สั่งห้ามทหารเยียนปล้นสะดมทรัพย์สินราษฎร อีกทั้งยังประกาศลดภาษีที่นาและภาษีต่างๆให้แก่ราษฎรรัฐฉี ยกเลิกกฎระเบียบที่โหดเหี้ยม รื้อฟื้นกฎหมายหลายๆ มาตราที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรม
นอกจากนี้ยังจัดให้มีพิธีเซ่นไหว้ฉีหวนกง (齊桓公 ?-643 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กับก่วนจ้ง (管仲725-645 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อย่างยิ่งใหญ่ตรงบริเวณชายแดนเมืองหลินจือ ทั้งสองท่านเป็นผู้ปกครองที่ทำให้รัฐฉีมีอำนาจมากที่สุดในช่วงเวลาการปกครอง มีการมอบบรรดาศักดิ์ของรัฐเยียนให้แก่ชาวรัฐฉีที่ยอมจำนนราว 100 กว่าคน นับเป็นกุศโลบายในการผูกใจชนชั้นปกครองกับราษฎรรัฐฉีไว้ เพื่อสร้างความมั่นคงในการยึดครองรัฐฉี และสร้างความเต็มใจสวามิภักดิ์ต่อรัฐเยียน
ด้านการทหาร เยว่อี้แบ่งทหารเป็น 5 สายโจมตียึดครองแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่องก็สามารถยึดไปกว่า 70 เมืองของรัฐฉี และผนวกเข้าเป็นเมืองของรัฐเยียน เยว่อี้ได้แสดงความสามารถอันเอกอุด้านการทหารและการปกครองจนเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับความไว้วางใจจากเยียนเจาหวางอย่างยิ่ง
เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จของเยียนเจาหวาง
กัวเหว่ยเสนอแผนการ
เยียนเจาหวางทรงตั้งปณิธานให้รัฐเยียนแข็งแกร่งยิ่งใหญ่ขึ้น จึงตั้งใจเสาะหาผู้มีความสามารถมาช่วยบริหารรัฐ แต่ยังไม่อาจหาผู้ที่เหมาะสมได้ จึงมีคนเสนอให้ไปปรึกษากัวเหว่ย (郭隗 ไม่ปรากฏวันเกิดและวันตาย) ขุนนางผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้เป็นอย่างยิ่ง
เยียนเจาหวางทรงเดินทางไปเยี่ยมเยียนกัวเหว่ยถึงที่บ้าน แล้วตรัสว่า “รัฐฉีฉวยโอกาสที่รัฐของเราเกิดสงครามภายในจึงเข้ารุกราน ความอัปยศครั้งนั้นเราไม่มีวันลืม แต่ว่าปัจจุบันกำลังของรัฐเยียนอ่อนแอเกินกว่าจะแก้แค้นได้ ถ้ามีบุคคลผู้เก่งกาจช่วยเราแก้แค้นและล้างความอัปยศครั้งนี้ เราก็ยินดีสนับสนุนเขา ท่านพอจะแนะนำบุคคลที่มีคุณสมบัติแบบนี้ได้หรือไม่?” กัวเหว่ยลูบเคราตัวเอง ครุ่นคิดสักพักก็พูดขึ้นว่า “ถ้าให้แนะนำบุคคลที่มีความสามารถพิเศษขนาดนั้น ข้ามิอาจบอกได้ แต่ขอให้ข้าได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งก่อน”
ในสมัยโบราณ มีกษัตริย์แห่งรัฐหนึ่งทรงโปรดม้าพันธุ์ดี พระองค์จึงส่งคนไปเสาะหาทั่วอาณาจักร แต่ 3 ปีผ่านไปก็ยังหาไม่พบ มีข้าราชบริพารคนหนึ่งทราบมาว่า มีม้าพันธุ์ดีที่ขึ้นชื่อ ณ สถานที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง จึงไปกราบทูลกษัตริย์ว่า “เพียงแค่ให้เงินข้าพระองค์ 1,000 ตำลึง ก็สามารถซื้อม้าพันธุ์ดีได้แล้ว” พระองค์ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้ข้าราชบริพารคนนี้นำเงิน 1,000 ตำลึงไปซื้อมา คาดไม่ถึงว่าพอเดินทางถึงที่หมาย ม้าพันธุ์ดีก็ล้มตายเสียแล้ว ข้าราชบริพารคิดว่าจะอธิบายอย่างไรถ้ากลับไปมือเปล่าแบบนี้ ก็เลยแบ่งเงินครึ่งหนึ่งซื้อกระดูกม้า
ข้าราชบริพารได้นำกระดูกม้ามาถวายกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์ทอดพระเนตรก็กริ้ว “ข้าให้เจ้าไปซื้อม้าที่ยังมีชีวิต ใครใช้ให้เจ้านำเงินไปซื้อกระดูกม้าที่ไม่มีประโยชน์แบบนี้กลับมา!?” ข้าราชบริพารผู้นั้นกล่าวอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “ราษฎรทราบข่าวว่าพระองค์ยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อซื้อม้าพันธุ์ดีแม้ว่าเป็นม้าตายก็ตาม ยังจะกลัวไม่มีคนนำม้าฝีเท้าดีที่มีชีวิตมาถวายอีกหรือ?” กษัตริย์เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ไม่ได้ตำหนิอะไรเพิ่มเติม เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ผู้คนต่างรู้ว่ากษัตริย์โปรดปรานและทะนุถนอมม้าพันธุ์ดีจริงๆ ไม่ถึงปีก็มีผู้ส่งม้าพันธุ์ดีหลายตัวมาจากทั่วสารทิศ
กัวเหว่ยเล่าจบก็ปรารภว่า “ถ้าฝ่าบาทมีพระประสงค์จะรวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถ ข้าน้อยก็ยินดีรับใช้ (เสมือน ม้าตายตัวนั้น) ลองให้ข้าเป็นกระดูกม้าเถอะ ” เยียนเจาหวางทรงฟังแล้วก็เกิดความสว่างทางปัญญา หลังกลับถึงรัฐเยียนจึงส่งคนไปสร้างบ้านพักอันโอ่อ่าให้กัวเหว่ยทันที อีกทั้งยังยกย่องกัวเหว่ยเป็นอาจารย์ ผู้ที่มีความสามารถแต่ละรัฐครั้นทราบว่าเยียนเจาหวางทรงมุ่งมั่นในการค้นหาคนที่มีความสามารถ ต่างพากันมายังรัฐเยียนเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า
จะเห็นได้ว่า เยียนเจาหวางกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐเยียน ยิ่งใหญ่ได้ด้วยการนอบน้อมถ่อมพระองค์ เคารพให้เกียรติผู้ที่มีความสามารถอย่างจริงใจตลอดจนรู้จักเลือกใช้คนให้ปฏิบัติหน้าที่ตามความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้รัฐเยียนเจริญรุ่งเรือง และมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นอย่างยาวนาน