—–อารยธรรมหย่างเสา (仰韶文化) เป็นอารยธรรมยุคหินใหม่ของผู้คนในแถบตอนกลางของลุ่มแม่น้ำฮวงโห (黃河) ซึ่งอยู่ระหว่างมณฑลกานซู่ (甘肅省) กับมณฑลเหอหนาน (河南省) ในปัจจุบัน อารยธรรมนี้อยู่ในช่วงเวลาราว 5000-3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แบ่งได้เป็น 3 ช่วงย่อยคือ ช่วงต้น (ราว 5000-4900 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ช่วงกลาง (ราว 4900-3500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ช่วงปลาย (ราว 3500-2900 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีเอกลักษณ์คือมีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี (彩陶)

—–อารยธรรมหย่างเสาครอบคลุมบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสา (仰韶村遺址) แหล่งโบราณคดีปั้นโพ (半坡遺址) แหล่งโบราณคดีเจียงไจ้ (姜寨遺址) แหล่งโบราณคดีเมี่ยวตี่โกว (廟底溝遺址) แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านต้าเหอ (大河村遺址) และแหล่งโบราณคดีซีโพ (西坡遺址)

 

การค้นพบ

—–การค้นพบร่องรอยอารยธรรมหย่างเสาครั้งแรกเกิดขึ้นที่หมู่บ้านหย่างเสา (仰韶村) อำเภอเหมี่ยนฉือ (澠池縣) มณฑลเหอหนาน (河南省)

—–ใน ค.ศ. 1918 โยฮัน กันนาร์ แอนเดอรส์สัน (Johan Gunnar Andersson) นักโบราณคดีชาวสวีเดนเดินทางไปสำรวจซากดึกดำบรรพ์ที่มณฑลเหอหนาน ต่อมาใน ค.ศ. 1920 แอนเดอรส์สันส่งผู้ช่วยนามว่าหลิวฉางซาน (劉長山) เดินทางไปสำรวจซากดึกดำบรรพ์เพิ่มเติม และได้พักที่หมู่บ้านหย่างเสาเป็นเวลา 3 วัน ขณะที่กำลังรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ก็พบโบราณวัตถุโดยบังเอิญ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่นั่นค้นพบเครื่องมือหินจำนวนมาก หลิวฉางซานจึงซื้อโบราณวัตถุกว่า 600 ชิ้นจากชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นขวานหินและมีดหิน รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่ง

โยฮัน กันนาร์ แอนเดอรส์สัน ค.ศ. 1920

—–แอนเดอรส์สันศึกษาโบราณวัตถุจนรู้ประจักษ์ชัดว่านี่คือการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน เขาและทีมงานจึงลงไปสำรวจหมู่บ้านหย่างเสาในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1921 แอนเดอรส์สันตรวจหาและถ่ายภาพหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ค้นพบเครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา กระดูก ฯลฯ แล้วนำมาศึกษาอย่างจริงจัง

—–ในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1921 แอนเดอรส์สันและทีมงานเดินทางไปยังหมู่บ้านหย่างเสาอีกครั้ง เขาขุดหลุม 17 แห่ง วัตถุโบราณที่พบมากคือเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี แอนเดอรส์สันสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณซึ่งผู้คนมีภูมิปัญญาระดับสูง เพราะสามารถทำเครื่องปั้นดินเผา ล่าสัตว์ จับปลา แต่เขาวิเคราะห์จากเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีและพบว่ามีความคล้ายคลึงกับที่ขุดค้นพบในเอเชียกลาง เขาจึงเสนอแนวคิดว่าอารยธรรมหย่างเสาสืบทอดมาจากตะวันตกผ่านเอเชียกลางแล้วเข้าสู่จีน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแอนเดอรส์สันก็เดินทางกลับสวีเดน

—–ใน ค.ศ. 1945 คณะนักโบราณคดีแห่งซีอานไปสำรวจที่หมู่บ้านปั้นโพซึ่งห่างจากเมืองซีอานประมาณ 10 กิโลเมตร มีการขุดค้นจนพบโบราณวัตถุกว่าพันชิ้น เครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากเป็นชนิดลายเขียนสี จึงวิเคราะห์กันว่าเป็นอารยธรรมแบบเดียวกับที่หย่างเสา

—–ต่อมาใน ค.ศ. 1956-1957 นักโบราณคดีขุดค้นแหล่งโบราณคดีเมี่ยวตี่โกวครั้งใหญ่ โดยขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมกว้าง 4 เมตรจำนวน 280 หลุม ซากบ้านเรือนที่พบนั้นคล้ายคลึงกับที่แหล่งโบราณคดีปั้นโพ จากการขุดค้นและศึกษาสามารถสรุปได้ว่าอารยธรรมในย่านนี้คืออารยธรรมหย่างเสา และแพร่หลายจากจงหยวน[1] (中原) ไปยังพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

แหล่งโบราณคดีเมี่ยวตี่โกว

—–แม้อารยธรรมหย่างเสาไม่อาจสะท้อนภาพอารยธรรมจีนในยุคเดียวกันได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอู่อารยธรรมและประวัติศาสตร์จีน หลังจาก 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช อารยธรรมโบราณได้พัฒนาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จงหยวน จึงกล่าวได้ว่าอารยธรรมหย่างเสาได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมใกล้เคียงและประสานกันเป็นอารยธรรมดั้งเดิมของชาวจีน และต่อมาก็ได้พัฒนาเป็นอารยธรรมยุคราชวงศ์เซี่ย (夏 2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถือว่าอารยธรรมหย่างเสาเป็นอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์และเป็นรากของอารยธรรมจีนในปัจจุบัน

—–ตั้งแต่ ค.ศ. 1921 เป็นต้นมา มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีหย่างเสาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ. 2000 ได้ค้นพบทั้งหมด 5,013 แห่ง กระจายอยู่ใน 9 มณฑล ประกอบด้วยมณฑลส่านซี (陝西) มณฑลเหอหนาน (河南) มณฑลซานซี (山西) มณฑลกานซู่ (甘肅) มณฑลเหอเป่ย (河北) มณฑลหูเป่ย (湖北) มณฑลชิงไห่ (青海) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (內蒙古) เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (寧夏回族自治區)

 

สิ่งปลูกสร้าง

—–ในยุคที่อารยธรรมหย่างเสารุ่งเรืองผู้คนทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ หมู่บ้านมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หมู่บ้านขนาดใหญ่ประกอบด้วยบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ล้อมรอบด้วยลำน้ำสายเล็ก นอกหมู่บ้านมีเตาเผาภาชนะดินเผาและสุสาน บ้านเรือนเมื่อแรกเริ่มเป็นทรงกลม ต่อมาจึงพัฒนาเป็นสี่เหลี่ยม บ้านส่วนใหญ่สร้างด้วยดินเหนียวผสมกับต้นหญ้า โครงบ้านทำด้วยไม้ กำแพงบ้านก่อหญ้าและเผาไฟเพื่อให้แข็งแรงทนแดดทนฝน การที่บ้านเรือนอยู่ริมน้ำก็เพื่อความสะดวกในการบริโภค การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการคมนาคม หลุมศพในอารยธรรมหย่างเสามีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝังศพพร้อมกับเครื่องปั้นดินเผาและข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ

 

เกษตรกรรมและปศุสัตว์

—–ชาวบ้านยุคอารยธรรมหย่างเสาปลูกพืชจำพวกข้าวฟ่างเพื่อบริโภคเป็นอาหารหลัก มักพบข้าวฟ่างหรือเปลือกข้าวฟ่างในภาชนะที่ขุดค้นพบเป็นประจำ ชาวบ้านยุคนั้นยังรู้เทคนิคการปลูกพืชผักนานาชนิด มีการค้นพบเมล็ดชา ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ฯลฯ

—–ผลิตผลทางการเกษตรในยุคนี้ยังไม่ดีนัก เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือมีประสิทธิภาพต่ำ เช่น กระบองไม้ปลายแหลม พลั่วหิน จอบหิน ขวานหิน ฯลฯ เครื่องมือที่ทำจากหินล้วนมีน้ำหนักมาก จึงใช้งานไม่สะดวกเท่าที่ควร ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งวิธีการกะเทาะเปลือกข้าวจนได้ผลิตผลมากขึ้น

—–ชนเผ่าต่างๆ ในอารยธรรมหย่างเสาเก็บของป่าและตกปลาบริเวณตอนกลางของแม่น้ำฮวงโห ถือเป็นทำเลเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ มีการขุดค้นพบเฮเซลนัท เกาลัด เมล็ดสน หอยหลัวซือ (螺螄) รากของพืช ไข่นก น้ำผึ้ง แมลง ฯลฯ ผู้คนยุคนี้รู้จักการจับปลา เพราะว่าพบอุปกรณ์จับปลา ทั้งตะขอตกปลาและฉมวก บนเครื่องปั้นดินเผาก็วาดรูปแหจับปลา จึงทำให้ทราบว่าชาวบ้านรู้จักใช้แหจับปลา ใช้เบ็ดตกปลา และใช้ฉมวกแทงปลา

—–การล่าสัตว์เป็นหน้าที่ของผู้ชาย แหล่งอารยธรรมปั้นโพพบกระดูกสัตว์หลากหลายชนิด เช่น กวาง อ้น (竹鼠) กระต่าย จิ้งจอกแร็กคูน แบดเจอร์ (獾) แอนทิโลป (羚羊) นกชนิดต่างๆ ฯลฯ เครื่องมือที่ใช้ล่าสัตว์ส่วนมากทำจากหิน กระดูกสัตว์ หรือเขาสัตว์ที่เหลาจนแหลม

 

เครื่องปั้นดินเผา

—–เทคนิคการปั้นเครื่องปั้นดินเผาค่อนข้างก้าวหน้า แบ่งเป็นขั้นตอนตั้งแต่การปั้นดิน ขึ้นรูป และตกแต่งภาชนะ มีทั้งการใช้วิธีขึ้นรูปด้วยดินเหนียวเส้น วนรอบเป็นชั้นจนเป็นทรงภาชนะ และปั้นขึ้นรูป จากนั้นจึงตกแต่งให้เป็นลวดลายต่างๆ เนื้อดินโดยมากใช้ดินแดง ดินเทา และดินดำ เครื่องปั้นดินเผาที่นิยม เช่น โถ จาน ชาม ไห ขวด ฯลฯ การเขียนลายนิยมเขียนเป็นรูปทรงต่างๆ รูปคน รูปพืช รูปสัตว์ เช่น ปลา กวาง กบ นก ฯลฯ เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบจำนวนไม่น้อยที่มีลวดลายงดงาม เช่น ชามลายคนและปลา (人面魚紋彩陶盆) กาน้ำลายปลาและนก (魚鳥紋彩陶壺) กระถางรูปขวานหิน นกกระสาและปลา (彩繪鸛魚石斧圖陶缸) ฯลฯ ล้วนแต่เขียนสีทั้งนั้น ทว่าสีได้ซีดจางไปตามกาลเวลา

ชามลายคนและปลา

กาน้ำลายปลาและนก

กระถางรูปขวานหิน นกกระสาและปลา

 

ผลจากการค้นพบอารยธรรมหย่างเสา

—–ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ก่อนค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของอารยธรรมหย่างเสา วิทยาการตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่จีน ประกอบกับการวิเคราะห์ว่าอารยธรรมหย่างเสามีที่มาจากโลกตะวันตก นักวิชาการตะวันตกส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าอารยธรรมจีนรับช่วงมาจากอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย หรือเอเชียกลาง บ้างถึงกับบอกว่า ‘สามราชา ห้าจักรพรรดิ[2]’ (三皇五帝) ของจีนเป็นชาวบาบิโลน พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่าจีนไม่มีอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์และจีนไม่เคยมียุคหินใหม่ อารยธรรมจีนมีจุดกำเนิดจากโลกตะวันตก การค้นพบอารยธรรมหย่างเสาและศึกษาอารยธรรมแวดล้อมจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจีนมีอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ช่วยให้ชาวโลกยอมรับอารยธรรมจีนและยอมรับว่าจีนมีอารยธรรมยุคหินใหม่

—–ตำนานของจีนมีบันทึกถึงกษัตริย์ของชนเผ่าโบราณ ทั้งเหยียนตี้ (炎帝) หวงตี้ (黃帝) จวนซวี (顓頊) คู่ (嚳) แต่ก็ยังเกิดความสงสัยและสับสนในประวัติศาสตร์อารยธรรมจีนยุคแรกเริ่ม ทว่าเมื่อมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของอารยธรรมหย่างเสา จึงช่วยยืนยันความถูกต้องของบันทึกเหล่านั้น ตอกย้ำการมีอยู่ของอารยธรรมจีนเมื่อ 5,000 ปีก่อนและยุคราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจว ขณะเดียวกันก็ขยายช่วงเวลาของประวัติศาสตร์จีนยุคแรกเริ่มออกไปอีก 1,000 ปี ในยุคที่มีอารยธรรมหลักคืออารยธรรมหย่างเสา

—–นอกจากนี้ก่อนค้นพบหลักฐานของอารยธรรมหย่างเสา ประเทศจีนยังขาดการศึกษาด้านโบราณคดีอย่างจริงจัง เมื่อมีการค้นพบอารยธรรมหย่างเสา การศึกษาด้านโบราณคดีในยุคใหม่ของจีนจึงถือกำเนิดขึ้น และผลักดันการศึกษาด้านโบราณคดีของจีนให้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด กล่าวได้ว่าอารยธรรมหย่างเสาช่วยบุกเบิกการศึกษาโบราณคดีของจีนในหลากหลายด้าน เช่น การวิจัยทางโบราณคดีของจีน การวิจัยสังคมจีนยุคดึกดำบรรพ์ ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์อารยธรรมหย่างเสา

โบราณวัตถุหินอารยธรรมหย่างเสา

 

[1] จงหยวน คือ ภาคกลางของแผ่นดินจีนสมัยโบราณ ถือเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของจีนโดยนัย ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห)

[2] สามราชา ห้าจักรพรรดิ คือ กลุ่มคนในตำนานที่เคยปกครองจีน เชื่อกันว่าสามราชาเป็นผู้สอนเรื่องความดีและการใช้ชีวิต เช่น การสร้างบ้าน การทำไร่นา การใช้ไฟ ส่วนห้าจักรพรรดิเป็นกลุ่มคนผู้ทรงคุณธรรม มีอายุยืนยาว

 

เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์