เซวียนไทเฮา ปรากฏการณ์หงส์เหนือมังกรครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน
เรื่องโดย องค์หญิงหลันเหลียน
—–หากกล่าวถึงการว่าราชการหลังม่านไม้ไผ่ หลายๆ คนคงนึกถึงซูสีไทเฮาแห่งราชวงศ์ชิง ทว่าแท้จริงแล้วในประวัติศาสตร์จีน เรื่องราวของสตรีที่ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมีมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปีก่อนหน้านี้ โดยสตรีคนแรกที่ขึ้นสำเร็จราชการแทนประมุขอยู่ในสมัยจั้นกั๋ว (戰國 475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระนามว่า ‘เซวียนไทเฮา’ (宣太后) แห่งรัฐฉิน (秦) ซึ่งทรงครองอำนาจยาวนานถึง 41 ปี

รูปปั้นเซวียนไทเฮา ภาพจากเว็บไซต์ peking.bjd.com.cn
เส้นทางสู่อำนาจ
—–เซวียนไทเฮา ปีเกิดไม่แน่ชัด สกุลเดิมคือ ‘หมี่’ (羋) ซึ่งเป็นราชสกุลของรัฐฉู่ (楚) ต่อมาได้ถวายตัวเป็นพระสนมในกษัตริย์ฮุ่ยเหวินหวัง (惠文王) แห่งรัฐฉิน มีฐานันดรเป็น ‘ปาจื่อ’[1] (八子) จึงเป็นที่มาของพระนามว่า หมี่ปาจื่อ แม้ว่าตำแหน่งจะไม่ได้สูงนัก แต่ด้วยรูปโฉมที่งดงามและสติปัญญาที่เฉียบแหลม ทำให้หมี่ปาจื่อเป็นที่โปรดปรานของฮุ่ยเหวินหวังเป็นอย่างมาก เห็นได้จากทรงมีพระโอรสด้วยถึง 3 พระองค์ ได้แก่ องค์ชายอิ๋งจี้ (嬴稷) องค์ชายอิ๋งซื่อ (赢市) และองค์ชายอิ๋งคุย (赢悝) นอกจากนี้หมี่ปาจื่อยังเป็นสะพานให้ญาติๆ ของตนได้เข้ารับราชการเป็นแม่ทัพนายกองตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐฉิน สร้างความอิจฉาให้แก่เหล่าสนมนางในเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเว่ยฮองเฮา (魏皇后)
—–ต่อมาในช่วง 307 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากฮุ่ยเหวินหวังสวรรคตไม่นาน องค์ชายอิ๋งจี้พระโอรสองค์โตของหมี่ปาจื่อก็ถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่รัฐเยียน (燕) ตามแผนการของเว่ยซูฮองเฮาที่ต้องการพรากแม่พรากลูกออกจากกันให้หายแค้น ส่วนองค์ชายอิ๋งตั้ง (嬴盪) พระโอรสของเว่ยซูฮองเฮาก็ขึ้นสืบราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า ฉินอู่หวัง (秦武王) ตามหลักฐานบันทึกไว้ว่า ฉินอู่หวังมีพระวรกายสูงใหญ่ พละกำลังเกินกว่าคนทั่วไป โปรดการต่อสู้และการทำสงครามเป็นที่สุด วันหนึ่งเมื่อเสด็จไปเมืองลั่วหยาง (洛陽) ทรงทอดพระเนตรเห็นกระถางยักษ์จึงคิดจะประชันความแข็งแรงโดยการแข่งยกกระถาง แต่โชคไม่ดีที่กระถางนั้นใหญ่และหนักเกินกว่าจะทรงรับไหว เป็นเหตุให้ฉินอู่หวังถูกกระถางทับและสวรรคตหลังจากครองราชย์ได้เพียง 4 ปีเท่านั้น
—–การจากไปอย่างกะทันหันโดยที่ยังไม่มีรัชทายาทของฉินอู่หวัง ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก พวกที่สนับสนุนพระนางเว่ยซูและฮองเฮาของฉินอู่หวังต่างเสนอให้องค์ชายอิ๋งจ้วง (嬴壯) ซึ่งมีฐานะเป็นองค์ชายรองขึ้นสืบราชสมบัติ ทว่าฝ่ายที่สนับสนุนหมี่ปาจื่อปรารถนาจะให้องค์ชายอิ๋งจี้ขึ้นครองบัลลังก์ แน่นอนว่าเมื่อโอกาสแห่งความยิ่งใหญ่มาถึง หมี่ปาจื่อไม่รอช้าที่จะไขว่คว้าเอาไว้ พระนางได้เรียกตัวองค์ชายอิ๋งจี้กลับจากรัฐเยียน โดยมีเว่ยหรั่น (魏冉) พระอนุชาต่างบิดาของหมี่ปาจื่อ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของรัฐฉินสนับสนุนด้านกองกำลังทหารอย่างเต็มที่ หลังจากความขัดแย้งภายในยืดเยื้อกว่า 3 ปี ในที่สุด องค์ชายอิ๋งจี้ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ทรงพระนามว่า ฉินเจาเซียงหวัง (秦昭襄王) ส่วนหมี่ปาจื่อ ผู้เคยเป็นเพียงสนมธรรมดาพลันกลับกลายเป็นไทเฮา[2] ออกว่าราชการหลังม่านไม้ไผ่แทนฉินเจาเซียงหวังที่ยังอ่อนประสบการณ์ในการปกครองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เกมการเมืองกับสายตาที่กว้างไกล
—–พระสติปัญญาอันหลักแหลมและสายพระเนตรที่เฉียบคมของเซวียนไทเฮามิได้มีไว้เพียงมัดพระทัยพระสวามี แต่ยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐฉินด้วยการรับมือกับศึกในและศึกนอกได้อย่างอยู่หมัด
—–สำหรับความขัดแย้งภายในเรื่องการแย่งชิงราชบัลลังก์นั้น เซวียนไทเฮาเริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินโดยให้เว่ยหรั่นกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าที่คอยปลุกปั่นให้ราชสำนักวุ่นวายจนหมดสิ้น เช่น ลอบสังหารพระนางเว่ยซู พระมารดาของฉินอู่หวัง ตลอดจนเหล่าพระโอรสของอดีตกษัตริย์ฮุ่ยเหวินหวัง และส่งฮองเฮาของฉินอู่หวังกลับรัฐเว่ย (魏) จนสถานการณ์ภายในสงบลง
—–นอกจากนี้เซวียนไทเฮายังปรับโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยปลดขุนนางเก่าแก่ที่เคยกุมอำนาจในราชสำนัก และแต่งตั้งญาติฝ่ายพระนางมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ทรงแต่งตั้ง ‘สี่อำมาตย์’ (四貴) เพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายในวังหลวงใต้พระบัญชาของพระนาง ดังนี้ เว่ยหรั่น – พระอนุชาต่างบิดาให้เป็นอัครมหาเสนาบดีนามว่า ‘หรางโหว’ (穰侯) , หมี่หรง (羋戎) – พระอนุชาร่วมบิดาเป็น ‘อ๋องหัวหยาง’ (華陽) , องค์ชายอิ๋งซื่อ – พระโอรสองค์กลางเป็น ‘อ๋องจิงหยาง’ (涇陽) , และองค์ชายอิ๋งคุย – พระโอรสองค์เล็กเป็น ‘อ๋องเกาหลิง’ (高陵)
—–ไม่เพียงแต่การจัดระบบบริหารภายในราชสำนัก เซวียนไทเฮายังใส่พระทัยเรื่องการสร้างพันธมิตรกับรัฐภายนอก โดยใช้การอภิเษกเพื่อเชื่อมไมตรีกับรัฐอื่น เช่น จัดพิธีอภิเษกระหว่างกษัตริย์ฉินเจาเซียงหวังกับองค์หญิงแห่งรัฐฉู่และแต่งตั้งเป็นฮองเฮาอย่างสมฐานะ ในขณะเดียวกันก็ส่งองค์หญิงจากรัฐฉินไปอภิเษกกับฝั่งรัฐฉู่ด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งพระนางเอง ทรงยอมเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมการเมืองครั้งนี้ โดยยอมอภิเษกอีกครั้งกับกษัตริย์รัฐเล็กๆ อย่างรัฐอี้ฉีว์ (義渠)
—–รัฐอี้ฉีว์เป็นรัฐของชนกลุ่มน้อยผู้เก่งกาจด้านการสู้รบ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของรัฐฉิน และอยู่ภายใต้การดูแลของฉินตั้งแต่สมัยกษัตริย์ฮุ่ยเหวินหวัง ทว่าก็ยังคอยหาโอกาสบุกตีรัฐฉินเรื่อยมา ว่ากันว่าขณะที่เซวียนไทเฮาพบกับอี้ฉีว์หวัง (義渠王) นั้น ทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา ในขณะที่กษัตริย์หนุ่มมีพระชนมายุเพียง 20 กว่าพรรษาเท่านั้น ครั้งนั้นอี้ฉีว์หวังเสด็จมาถวายพระพรฉินเจาเซียงหวังที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ กษัตริย์หนุ่มประเมินรัฐฉินในขณะนั้นเป็นเพียงรัฐอ่อนแอที่มีเด็กน้อยครองบัลลังก์ภายใต้การดูแลของพระชนนีหม้ายสาว จึงคิดจะแข็งข้อ ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐฉินอีกต่อไป แต่มีหรือที่เซวียนไทเฮาผู้ปราดเปรื่องจะอ่านพระทัยกษัตริย์หนุ่มนักรบผู้นี้ไม่ออก
—–เซวียนไทเฮาทรงยอมมีสัมพันธ์กับอี้ฉีว์หวังเพื่อแลกกับความมั่นคงของรัฐฉิน การเสียสละครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่วันสองวัน แต่ยาวนานถึง 30 กว่าปี และมีพระโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ ทรงใช้มารยาหญิงปรนนิบัติ หลอกล่อให้กษัตริย์หนุ่มหลงใหลและตายใจ จนล้มเลิกความคิดที่จะบุกยึดรัฐฉิน มิหนำซ้ำยังผันตนเป็นปราการชั้นดีปกป้องรัฐฉินอีกด้วย
—–34 ปีผ่านไป รัฐฉินกลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่กว่ารัฐใดในยุคนั้น ทว่าความผูกพันตลอด 34 ปีในฐานะสามีภรรยากลับไม่ทำให้พระนางลืมความตั้งใจลงแม้แต่น้อย 272 ปีก่อนคริสต์ศักราช เซวียนไทเฮาลวงอี้ฉีว์หวังมายังรัฐฉินและลงมือสังหารผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวามี ณ ตำหนักกานเฉวียน (甘泉) พร้อมทั้งสั่งทหารเข้าบุกตีรัฐอี้ฉีว์จนแตกพ่ายและยึดพื้นที่บริเวณนั้นเป็นของรัฐฉินทันที ทำให้รัฐฉินไม่ต้องหวั่นเกรงการรุกรานจากชนกลุ่มน้อยทางตะวันตกอีกต่อไป
—–แม้ว่าจะมีคุณูปการต่อรัฐฉินมากมาย ทว่าบันทึกประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของเซวียนไทเฮานั้นกลับมีไม่มากนัก แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์จั้นกั๋วเช่อ《戰國策》ที่บันทึกไว้อย่างละเอียด ใจความว่า วันหนึ่งช่วง 307 ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์รัฐฉู่ยกทัพไปตีรัฐหาน (韓) รัฐหานไร้ที่พึ่งจึงส่งทูตมาขอความช่วยเหลือจากรัฐฉิน แต่เซวียนไทเฮากลับนิ่งเฉย ด้วยเห็นว่าการยื่นมือเข้าไปช่วยรัฐหานไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐฉินด้วยประการทั้งปวง ทว่ากษัตริย์รัฐหานก็ไม่ละความพยายาม ยังคงส่งทูตมาหว่านล้อมหลายครั้ง ท้ายที่สุดเซวียนไทเฮาจึงเรียกทูตจากรัฐหานเข้าเฝ้า พร้อมตรัสว่า “เมื่อครั้งเราถวายการปรนนิบัติกษัตริย์องค์ก่อน พระองค์ทรงวางพระบาทพาดบนตัวเรา เราอึดอัดเหลือเกิน ทว่าเมื่อทรงทอดพระวรกายลงบนตัวเรา เรากลับไม่รู้สึกหนัก นั่นเพราะเหตุใดเล่า เพราะวิธีที่สองมีประโยชน์ต่อเรา แต่วิธีแรกมิใช่ เฉกเช่นการช่วยเหลือรัฐหาน ก็ไม่มีประโยชน์ต่อรัฐฉินเช่นกัน” บทสนทนานี้ถูกยกให้เป็นการเจรจาทางการทูตที่วาบหวิวที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ความได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนแสดงถึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของเซวียนไทเฮาได้เป็นอย่างดี
เมื่อถึงคราสูญเสียอำนาจ
—–การสูญเสียอำนาจของเซวียนไทเฮามีบุคคลสำคัญผู้หนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ ฟั่นจวี (范雎) ฟั่นจวีเดิมเป็นชาวรัฐเว่ย เมื่อ 271 ปีก่อนคริสต์ศักราชได้รับการทาบทามให้มารับราชการที่รัฐฉิน ครั้นเมื่อมาถึง ฟั่นจวีก็พบว่ารัฐฉินกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ นั่นคือเซวียนไทเฮาและเหล่าสี่อํามาตย์มีอำนาจมากเกินไป จนกษัตริย์กลายเป็นเพียงหุ่นเชิดที่ไม่มีอำนาจในมือ ทว่าด้วยความเกรงกลัวพระบารมีของเซวียนไทเฮา ฟั่นจวีจึงได้แต่เก็บความคิดของตนไว้ในใจและรอคอยโอกาสอันเหมาะสมเพื่อกราบทูลต่อฉินเจาเซียงหวัง

รูปปั้นฟั่นจีว์
—–หลังจากรับใช้ใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีจนเป็นที่ไว้วางพระทัยของฉินเจาเซียงหวัง ฟั่นจวีจึงตัดสินใจกราบทูลความในใจจนหมดสิ้น ฉินเจาเซียงหวังรู้สึกพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการถอดถอนอำนาจของไทเฮาและพวกสี่อํามาตย์ก็เป็นความปรารถนาลึกๆ ในพระทัยของพระองค์อยู่แล้ว แต่เพราะทรงเห็นแก่คุณูปการของเซวียนไทเฮาที่เคยเสียสละเพื่อรัฐฉินจึงไม่กล้าหักหาญน้ำใจพระมารดา หลังจากได้รับการสนับสนุนจากฟั่นจวี ฉินเจาเซียงหวังจึงดำเนินแผนการยึดอำนาจคืน โดยเริ่มจากการปลดเว่ยหรั่นลงจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและให้ฟั่นจวีดำรงตำแหน่งแทน รวมทั้งเนรเทศกลุ่มสี่อํามาตย์ไปยังดินแดนห่างไกล และท้ายที่สุดเมื่อ 266 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฉินเจาเซียงหวังก็มีราชโองการถอดถอนเซวียนไทเฮาจากการเป็นผู้สำเร็จราชการ ปิดฉากการว่าราชการหลังม่านอันยาวนานถึง 41 ปี
บั้นปลายชีวิต
—–แม้ดูเหมือนว่าเซวียนไทเฮาจะไม่เคยทุ่มเทความรักความจริงใจให้แก่บุรุษผู้ใด เพราะสำหรับพระนางแล้ว ความรักและความเสน่หาคือเครื่องมือในการนำมาซึ่งอำนาจเท่านั้น ทว่าในช่วงบั้นปลายชีวิตนี้เอง พระนางกลับได้พบกับความหมายที่แท้จริงของความรัก ชายผู้นั้นคือ ‘เว่ยโฉ่วฟู’ (魏醜夫) ขุนนางหนุ่มหน้าตาดีที่พระนางหลงใหลขนาดมีรับสั่งว่า ยามที่พระนางสิ้นพระชนม์แล้วให้ฝังเว่ยโฉ่วฟูทั้งเป็นเพื่อไปอยู่ด้วยกัน ครั้นเมื่อเว่ยโฉ่วฟูทราบข่าวก็รู้สึกกลัวเป็นอย่างยิ่ง ขุนนางใหญ่นามว่า ยงรุ่ย (庸芮) จึงช่วยเจรจากับไทเฮาว่า “ไทเฮาทรงคิดว่าผู้ที่ตายแล้วยังมีความรู้สึกหรือไม่? หากไม่มี เหตุใดฝ่าบาทจึงประสงค์ที่จะให้คนที่พระองค์รักต้องถูกฝังทั้งเป็นพร้อมกับร่างที่ไร้ความรู้สึกด้วยเล่า?” บทสนทนาสั้นๆ ทว่าทำให้เซวียนไทเฮาเข้าใจแก่นแท้ของความรักว่า รักแท้คือความปรารถนาดีที่อยากให้คนที่เรารักพบเจอแต่สิ่งที่ดี ท้ายที่สุดพระนางจึงยกเลิกคำสั่งฝังเว่ยโฉ่วฟู
—–ในเดือนสิบ 265 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังลงจากอำนาจได้ปีกว่า เซวียนไทเฮาสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชนมายุประมาณ 74 พรรษา พระศพฝังอยู่ที่เขาหลีซาน (驪山) อำเภอจื่อหยาง (芷陽) ซึ่งก็คือเมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี (陝西) ในปัจจุบัน
[1] ในสมัยจั้นกั๋ว ตำแหน่งเจ้านายฝ่ายในของรัฐฉินแบ่งออกเป็น 8 ขั้นจากสูงไปต่ำ ได้แก่ ฮองเฮา (皇后) ฟูเหริน (夫人) เหม่ยเหริน (美人) เหลียงเหริน (良人) ปาจื่อ (八子) ชีจื่อ (七子) จ๋างสื่อ (长使) และเส้าสื่อ (少使) ตามลำดับ
[2] จากหลักฐานในบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ บทบันทึกรัฐฉิน《史記 – 秦本紀》 ระบุไว้ว่า “สตรีสกุลหมี่ พระมารดาของฉินเจาเซียงหวังแห่งรัฐฉิน ได้รับการถวายพระนามเป็นเซวียนไทเฮา จากนั้นจึงมีการเรียกตำแหน่งพระมารดาของกษัตริย์ว่าไทเฮาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า เซวียนไทเฮาเป็นไทเฮาพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน