ราชวงศ์ถัง.. สายสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับชาวหู (胡人) —–คำว่า ‘ชาวหู’ เป็นคำที่ชาวจีนฮั่น (汉人) ใช้เรียกอนารยชนทางตอนเหนือแผ่นดินจีนอย่างรวมๆ พวกหูหรือชาวหูเคยเป็นดั่งคนป่าเถื่อน มีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ กางกระโจมอยู่ตามทุ่งหญ้าทางตอนเหนือของจีน และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ชาวหูที่เป็นที่รู้จักกันดีก็มีพวกซงหนู (匈奴) เซียนเปย (鲜卑) และเจี๋ย (羯) เป็นอาทิ —–นักประวัติศาสตร์จีนจำนวนมากมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเชื้อสายของต้นสกุลราชวงศ์ถัง โดยโน้มเอียงตามแนวความคิดที่ว่า ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ถังมีเชื้อสายของชาวหู —–แนวความคิดนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อ้างอิง นั่นคือ หลี่เอวียน (李渊) หรือถังเกาจู่ฮ่องเต้ (唐高祖) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง มีพระมารดาเป็นชาวเซียนเปยในสกุลตู๋กู (独孤氏) พระมเหสีของพระองค์ก็เป็นชาวเซียนเปยในสกุลโต้ว (窦氏) แม้แต่พระโอรสของพระองค์ที่ครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อมา ทรงพระนามว่า ถังไท่จงฮ่องเต้ (唐太宗) ก็มีพระมเหสีเป็นชาวเซียนเปยเฉกเช่นเดียวกับพระบิดาและพระอัยยกา แต่เป็นสกุลจ่างซุน (长孙氏) เห็นได้ว่า กษัตริย์ต้นราชวงศ์ถังล้วนแต่มีพระมารดาและพระมเหสีเป็นชาวเซียนเปย ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นราชวงศ์ถังจึงได้รับเอาขนบประเพณีและวัฒนธรรมของชาวหูแบบซึมลึก —–ชาวหูซึ่งถูกชาวจีนฮั่นมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนด้อยอารยธรรมนั้น มีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และลงหลักปักฐานอาศัยกันเป็นหลักแหล่งมาช้านานบนผืนแผ่นดินจีน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมประเพณีที่เห็นได้ชัดคือ ชาวจีนฮั่นให้ความสำคัญกับเรื่องลำดับศักดิ์และความอาวุโส ผู้เป็นบุตรย่อมเคารพภรรยาของบิดาเสมือนเป็นมารดาของตน แม้ว่าจะเป็นภรรยาน้อยของบิดาก็ตาม แต่ชาวหูไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อผู้นำของชาวหูเสียชีวิต บุตรที่สืบทอดตำแหน่งผู้นำเผ่ามีสิทธิ์ครอบครองภรรยาน้อยของพ่อได้ หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือสามารถเอาแม่เลี้ยงมาเป็นเมียได้ ดังนั้น หญิงที่มีศักดิ์เป็นแม่ แต่ต่อมาต้องกลายเป็นเมียจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวหู เรื่องราวของพระนางอู่เจ๋อเทียน (武则天 – บูเช็คเทียน) จึงต้องเริ่มต้นโดยมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของชาวหูเป็นปฐมบท ชะตาชีวิตพลิกผัน เพราะขนบประเพณีของชาวหู —–อู่เจ๋อเทียน (武则天) หรือบูเช็คเทียน เดิมชื่ออู่จ้าว (武照) เกิดปี ค.ศ. 624 บิดาของนางแซ่ ‘อู่’ (武) นามว่า ซื่อเยว์ (士彟) เป็นพ่อค้าไม้แห่งเมืองปิงโจวเหวินสุ่ย (并州文水) มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับหลี่เอวียน ทั้งสองได้ร่วมกันกระทำรัฐประหารต่อราชวงศ์สุย (隋朝) เมื่อหลี่เอวียนได้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถังในกาลต่อมา ทรงพระนามว่า ‘ถังเกาจู่ฮ่องเต้’ อู่ซื่อเยว์ (武士彟) จึงมีความดีความชอบในฐานะขุนนางผู้ร่วมบุกเบิกแผ่นดิน —–ถึงแม้ บิดาของนางจะเป็นเพียงพ่อค้า แต่มารดามาจากตระกูลสูงศักดิ์เป็นบุตรีของหยางต๋า (杨达) เสนาบดีแห่งราชวงศ์สุย นางอู่จ้าวจึงมีวาสนาได้รับการศึกษาตั้งแต่เด็กจนสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสำหรับเด็กผู้หญิงในสังคมจีนโบราณ —–ปี ค.ศ. 627 หลี่ซื่อหมิน (李世民) โอรสองค์รองของถังเกาจู่ฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์เป็นถังไท่จงฮ่องเต้ มีพระมเหสีจ่างซุนคอยเป็นเพื่อนคู่คิดและเตือนสติพระองค์อยู่ข้างกาย ปี ค.ศ. 636 พระมเหสีจ่างซุนสิ้นพระชนม์ด้วยอาการประชวร ถังไท่จงฮ่องเต้ทรงโศรกเศร้าพระทัยยิ่ง หลี่ซื่อหมิน —–ปีถัดมานางอู่จ้าวก็ถูกคัดตัวเข้าวังขณะอายุได้ 14 ปี ในตำแหน่งไฉเหยิน (才人 – มีความหมายว่าผู้มีปัญญา เป็นตำแหน่งสนมชั้นสามัญ) นางมีความงามเย้ายวน อีกทั้งเฉลียวฉลาด รู้หนังสือหนังหา ถังไท่จงฮ่องเต้จึงทรงพึงพอพระทัยสนมน้อยกลอยใจคนนี้และได้พระราชทานฉายาให้ว่า เม่ยเหนียง (媚娘 มีความหมายว่า ‘แม่สาวพราวเสน่ห์’) —–ความที่เป็นที่โปรดปราน สนมอู่จึงมีโอกาสใกล้ชิดผู้เป็นเจ้าแผ่นดินและเป็นโอกาสอันดีที่จะซึมซับความรู้ในการบริหารบ้านเมือง ประกอบกับในรั้วในวังมีหนังสือตำราที่ให้ความรู้อย่างมหาศาล เมื่อนางรู้หนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงได้โอกาสเพิ่มพูนความรู้ แต่ด้วยเพราะมีอุปนิสัยที่เด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าบุรุษเพศและมีความทะเยอทะยานผิดแปลกจากอิสตรีทั่วไป ทำให้ถังไท่จงฮ่องเต้เริ่มห่างเหินนาง จึงไม่แปลกที่นางเป็นสนมชั้นไฉเหยินอยู่นานถึง 12 ปี โดยไม่ได้รับการเลื่อนยศศักดิ์ และไม่มีโอรสธิดาแม้แต่พระองค์เดียว —–ปี ค.ศ. 649 ถังไท่จงฮ่องเต้สวรรคต บรรดาสนมและนางในของพระองค์ที่ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดาต้องออกบวชเป็นชีอยู่ที่วัดกั่นเย่ซื่อ (感业寺) ในนครฉางอาน (长安) พระโอรสองค์ที่ 9 ของถังไท่จงฮ่องเต้ พระนามว่า หลี่จื้อ (李治) ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า ถังเกาจงฮ่องเต้ ( 唐高宗) —–หลี่จื้อสมัยที่ยังเป็นองค์ชายได้พบกับสนมอู่โดยบังเอิญขณะที่เข้าเฝ้าพระบิดาของพระองค์ ครั้งนั้นกามเทพได้แผลงศรต้องหัวใจคนทั้งสอง ความรักนั้นไม่มีพรมแดน แม้คนหนึ่งจะมีศักดิ์เป็น ‘แม่’ (ภรรยาน้อยของพ่อ) ทั้งอายุก็มากกว่าองค์ชาย 4 ปี แต่ทั้งสองก็มีใจปฏิพัทธ์ต่อกัน หัวใจต่างร่ำร้องครวญเพลง ‘ฟ้ามิอาจกั้น’ หากแต่พระบิดายังอยู่ ฟ้าจึงอยู่ไกลสุดเอื้อม —–ปี ค.ศ. 654 ครบรอบ 5 ปีแห่งการสวรรคตของถังไท่จงฮ่องเต้ ถังเกาจงฮ่องเต้ได้เสด็จทรงจุดธูปทำบุญที่วัดกั่นเย่ซื่อ พระองค์จึงได้ประสบพักตร์กับแม่ชีอู่จ้าวอีกครั้ง ถ่านไฟเก่าเลยคุ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะฟ้าอยู่แค่เอื้อมนี่เอง ถึงจะเคยเป็นสนมของพระราชบิดา แต่พระองค์ก็ขอยึดถือธรรมเนียมของชาวหู —–ถังเกาจงฮ่องเต้มีพระมเหสีแซ่หวาง (王皇后) อยู่แล้ว เมื่อความทราบถึงมเหสีหวาง แทนที่พระนางจะหึงหวงกลับกลายเป็นคนส่งเสริมชักใยให้ทั้งสองได้สมหวัง เนื่องจากขณะนั้นถังเกาจงฮ่องเต้มีพระสนมแซ่เซียว (萧淑妃) เป็นคนโปรดอยู่ พระมเหสีหวางจึงจัดการให้แม่ชีอู่จ้าวสึกออกมาเป็นพระสนม เพื่อจะได้เอาไว้เป็นพวกใช้ต่อกรกับพระสนมเซียว —–นางอู่จ้าวจึงได้เข้าวังอีกครั้งตอนอายุได้ 31 ปีแล้ว ตำราและเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน บางครั้งก็มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน หากเป็นเรื่องปลีกย่อยก็จะไม่เจาะลึกให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญก็จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อมูลที่ไม่ตรงกันเพื่อให้ผู้สนใจได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม อย่างปีที่นางได้กลับเข้าวังอีกครั้ง บางตำราบอกว่าเป็นปีครบรอบการสวรรคตของถังไท่จงฮ่องเต้ 5 รอบซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 654 แต่บางตำราบอกว่าเป็นปี ค.ศ. 652 โดยมีข้อมูลสนับสนุนคือ เมื่อนางอู่จ้าวเข้าวังอีกครั้ง ถังเกาจงฮ่องเต้ทรงแต่งตั้งนางเป็นจาวอี๋ ( 昭仪 – ตำแหน่งสนมชั้นต้น) ปีต่อมา ค.ศ. 653 นางก็ให้กำเนิดพระโอรส จากนั้นปี ค.ศ. 654 ก็ให้กำเนิดพระธิดา —–สนมอู่เป็นที่โปรดปรานของถังเกาจงฮ่องเต้อย่างมาก ทำให้พระองค์เมินเฉยต่อพระมเหสีหวางกับพระสนมเซียว ทั้งสองจึงจำเป็นต้องหันมาร่วมมือกันใส่ร้ายป้ายสีสนมอู่ ซึ่งก็ไม่เป็นผลเพราะสนมอู่ผู้นี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว ยิ่งกว่านี้นางกลับใช้แผนตอบโต้ที่เด็ดขาดรุนแรง หากจะกล่าวว่า นางเป็นคนที่โหดเหี้ยมอำมหิตก็คงไม่มีเรื่องใดเกินกว่าเรื่องนี้อีก —–พระมเหสีหวางเป็นคนที่รักเด็ก พระนางไม่มีโอรสธิดาจึงแวะมาชื่นชมพระธิดาที่กำเนิดแต่พระสนมอู่เป็นประจำ แผนอันโหดเหี้ยมอำมหิตจึงถูกกำหนดขึ้น เช้าวันหนึ่ง หลังจากที่พระมเหสีหวางชื่นชมพระธิดาและเสด็จกลับไปแล้ว พระสนมอู่ก็แอบเข้าไปอุดปากอุดจมูกของลูกน้อยจนตาย จากนั้นก็ห่มผ้าไว้ดังเดิม เมื่อถังเกาจงฮ่องเต้เสด็จมาชื่นชมพระธิดาก็พบว่า พระธิดาไม่หายใจเสียแล้ว พระองค์ทรงพิโรธอย่างหนัก ส่วนพระสนมอู่ก็แสร้งกรีดร้องด้วยความตกใจจนหมดสติ ครั้นฟื้นขึ้นมาก็ร่ำไห้คร่ำครวญว่า.. ใครช่างใจร้าย ฆ่าลูกหม่อนฉันๆๆๆ… —–ในยามนั้น ถังเกาจงฮ่องเต้ย่อมทรงนึกไม่ถึงและไม่คิดระแวงสนมอู่ เพราะถือภาษิตว่า ‘พยัคฆ์ร้ายย่อมไม่กัดกินลูกของตัวเอง’ พระองค์จึงทรงถามแม่นมและนางกำนัลถึงใครบ้างที่เข้ามาหาพระธิดาก่อนหน้านี้ คำตอบที่ได้ก็คือพระมเหสีหวาง ทุกอย่างจึงเข้าทางละครบทโศกของสนมอู่ เรื่องนี้ออกจะเป็นละครน้ำเน่า แต่หากนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ บางคนอาจเผลอหลั่งน้ำตา ทว่าหากใครอ่านใจของนางในเวลานั้นได้ ก็คงได้ยินเสียงรำพึงอย่างแผ่วเบาว่า “สละชีพเพื่อแม่หน่อยนะลูก…” —–วิธีการอันโหดเหี้ยมของสนมอู่ นอกจากเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมแล้วยังเป็นการปูทางให้ตนก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในวัง นั่นคือ นางได้รับการสถาปนาให้เป็นฮองเฮาแทนพระมเหสีหวาง ถังเกาจงฮ่องเต้กว่าจะทรงทราบว่าอะไรเป็นอะไรก็หลังจากนั้นอีกหลายปี พระองค์คงเอ่ยถึงเรื่องนี้กับคนใกล้ชิดในตอนหลัง ประวัติศาสตร์ถึงได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ ไม่เช่นนั้น ใครจะบังอาจจินตนาการแต่งแต้มเรื่องการฆ่าลูกน้อยของตัวเองได้ สัตว์เดรัจฉานยังไม่ทำร้ายลูกของมันเลย แต่แม่ที่สามารถฆ่าลูกน้อยเพียงไม่กี่เดือน เพื่อปูทางไปสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่ จึงไม่อาจหาถ้อยคำในภาษาใดๆ มาพรรณนาได้ อดีตคือบทเรียน ให้ก้าวสู่อำนาจ —–เรื่องราวของชนชาติจีน เมื่อดำเนินมาถึงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉 หรือราชวงศ์ฮั่นภาคหลัง – 后汉) กษัตริย์แต่ละพระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงเปิดโอกาสให้คนใกล้ตัวเข้าฉกฉวยแอบอ้างพระราชอำนาจ กษัตริย์ 10 พระองค์หลังของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ล้วนครองราชย์ขณะมีพระชันษาระหว่าง 8-15 พรรษา มีพระองค์หนึ่งพระนามว่า หลิวหลง (刘隆) หรือก็คือกษัตริย์ซังตี้ (殇帝 – ซังเต้) ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 106 มีพระชันษาเพียง 100 วันเศษเท่านั้น —–เมื่อกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์จึงเป็นเหตุที่ญาติกาของไทเฮาเข้ามาก้าวก่ายงานบริหารราชการแผ่นดิน กลายเป็นว่าญาติฝ่ายแม่หรือฝ่ายเมียของกษัตริย์เป็นใหญ่ ฝ่ายแซ่หลิวซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์แท้ๆ ไม่ได้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ครั้นเมื่อกษัตริย์ทรงเจริญพระชันษาพอจะคิดอะไรได้บ้างแล้ว ก็ถูกพวกขันทีครอบงำชักใยให้ทรงลงพระนามเพื่อออกพระราชโองการกำจัดศัตรูทางการเมือง เรียกได้ว่า กษัตริย์ถูกใช้เป็นหุ่นเชิดหรือเป็นตรายางประทับรับรองในสิ่งที่คนใกล้ตัวบงการ —–แม้ถูกใช้เป็นประโยชน์ บางทีก็ยังรักษาชีวิตไว้แทบไม่ได้เมื่อคนใกล้ตัวกำเริบสืบสาน เช่น ในสมัยของกษัตริย์ซุ่นตี้ (顺帝พระนามเดิม หลิวเป่า – 刘保) ทรงมีมเหสีแซ่เหลียง (梁氏) คนแซ่เหลียงจึงลุแก่อำนาจถึงขนาดวางยาพิษกษัตริย์จื๋อตี้ (质帝) พระองค์น้อย เพื่อให้กษัตริย์หวนตี้ (桓帝) ที่พวกตนสนับสนุนและเห็นว่าเป็นหุ่นเชิดได้ดีกว่าได้ขึ้นครองราชย์แทน เห็นได้ว่า การเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้นเป็นงานเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง ชีวิตเปรียบเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย —–ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองการปกครองของจีนก็ขาดเสถียรภาพมาหลายร้อยปี ปลายราชวงศ์ฮั่น แผ่นดินแตกแยกเข้าสู่ยุคสามก๊ก (三国) ต่อด้วยราชวงศ์จิ้น (晋朝) จนถึงราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝) —–ท้องฟ้ามาเริ่มแจ่มใสอีกครั้งก็ล่วงเข้าปี ค.ศ. 581 เมื่อหยางเจียน (杨坚) หรือกษัตริย์สุยเหวินตี้ (隋文帝) สถาปนาราชวงศ์สุย (隋朝) รวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกแยกให้เป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้งหนึ่ง แต่แล้วราชวงศ์สุยก็อยู่ได้เพียง 30 กว่าปีก็เปลี่ยนดวงเมืองมาเป็นราชวงศ์ถัง (唐朝) —–เหตุการณ์เหล่านี้ หญิงที่รู้หนังสืออย่างสนมอู่หรือพระมเหสีอู่ตามพระยศที่ได้รับในภายหลังได้ศึกษามาเป็นอย่างดี แม้แต่การเข่นฆ่ากันเพื่อขึ้นสู่ราชบัลลังก์หรือเพื่อรักษาฐานะภาพและอำนาจเอาไว้ พระนางก็เหมือนได้เห็นกับตาตนเอง เพราะกษัตริย์ก่อนหน้าที่พระนางจะเถลิงอำนาจก็ล้วนแต่ฟันฝ่าผ่านคมหอกคมดาบมาทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น หยางเจียนที่เดิมเป็นขุนนางรับราชการอยู่ในราชวงศ์เป่ยโจว (北周) ก็ชิงราชสมบัติจากกษัตริย์จิ้งตี้ (静帝) ซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ของตนเอง (หลานตา) แล้วสถาปนาราชวงศ์สุย ทรงพระนามว่า กษัตริย์สุยเหวินตี้ (隋文帝) ต่อมาพระองค์ก็ถูกหยางกว่าง (杨广) พระโอรสองค์รองกระทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อตนเอง) แล้วขึ้นครองราชย์แทน มีพระนามว่า กษัตริย์สุยหยางตี้ (隋炀帝) —–ราชวงศ์สุยของคนแซ่หยาง มีอายุเพียง 37-38 ปีก็ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ถัง (唐朝) ของคนแซ่หลี่ หลี่เอวียนผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง ครองราชย์อยู่ได้ 8 ปีก็เกิดศึกสายเลือดด้วยการแย่งชิงอำนาจในหมู่พี่น้องร่วมสายโลหิต ผลสุดท้ายพระโอรสองค์รองนามว่า หลี่ซื่อหมินได้สังหารพี่ชายคนโตและน้องชายคนเล็ก ยังความตะลึงงันให้กับผู้เป็นบิดา แม้แต่พระองค์เองยังทรงหวาดหวั่นว่า พระโอรสจะสังหารตนอีกคนหรือไม่ อำมาตย์คนสนิทจึงชี้แนะให้พระองค์ถอยฉากลงจากอำนาจ แต่งตั้งให้หลี่ซื่อหมินเป็นรัชทายาทและขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระองค์ บูเช็คเทียน —–นางอู่จ้าวเป็นสนมของหลีซื่อหมินหรือถังไท่จงฮ่องเต้ มียศศักดิ์เป็นเพียงสนมชั้นสามัญอยู่นานถึง 12 ปีเศษกระทั่งถังไท่จงฮ่องเต้สวรรคต หากนางไม่ได้ชอบพอกับองค์ชายหลี่จื้ออยู่ก่อนแล้วก็คงต้องเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต ประวัติศาสตร์จีนก็จะไม่มีบทบันทึกเกี่ยวกับอู่เจ๋อเทียน ชะรอยจะเป็นฟ้าลิขิตที่ให้นางเกิดมาเป็นเจ้าคนนายคนปกครองแผ่นดินจีนอยู่ร่วมครึ่งศตวรรษ ภาพลักษณ์ด้านบวกของนางอู่จ้าวหรือพระนางอู่เจ๋อเทียนนั้น ไม่เกี่ยวกับคุณงามความดี แต่เป็นความสามารถของสตรีผู้หนึ่ง —–ถังไท่จงฮ่องเต้เป็นกษัตริย์ที่ทรงปรีชาสามารถ ปีรัชกาลของพระองค์คือศักราชเจินกวน (贞观) ซึ่งมักได้รับการกล่าวขานถึงอยู่เสมอ แต่น่าเสียดายที่พระองค์ครองราชย์ได้ 23 ปีก็สวรรคตขณะพระชนมายุได้ 50 พรรษา พระโอรสหลี่จื้อขึ้นครองราชย์เป็นถังเกาจงฮ่องเต้ พระองค์มีพระทัยที่อ่อนโยน แต่เป็นกษัตริย์นักรักที่ฝักใฝ่ในกามารมณ์และอ่อนด้อยความสามารถด้านการปกครอง พระพลานามัยของพระองค์ไม่สู้แข็งแรงนัก หากครองราชย์ได้สักห้าปีก็จากไป ราชวงศ์ถังก็คงเหมือนราชวงศ์ก่อนๆ ที่มีอายุไม่ยืนยาว แต่เหมือนฟ้าดินจะเล่นตลก พระองค์มีอายุยืนพอสมควรและครองราชย์อยู่ถึง 34 ปี นับเป็นโอกาสของพระนางอู่จ้าวที่เข้าบงการราชกิจอยู่เบื้องหลัง พระนางมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี ย่อมไม่ให้ใครมาเชือดได้ง่ายๆ ตรงกันข้าม กลับเป็นฝ่ายลงมือก่อนเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระโอรสของตนเองโดยเฉพาะพระธิดาก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังแบเบาะ —–ปี ค.ศ. 655 พระนางได้ใส่ร้ายป้ายสีพระมเหสีหวางและพระสนมเซียวเพื่อกำจัดให้พ้นทาง จากนั้นก็ได้เป็นฮองเฮาแทน พระมเหสีหวาง เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดแห่งวังหลัง พระนางก็เป็นผู้จัดแจงงานการน้อยใหญ่แทนองค์ฮ่องเต้เกือบทุกอย่าง บรรดาขุนนางอำมาตย์ที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ แต่เป็นปรปักษ์กับนางก็ถูกเด็ดปีกทีละคน ถ้าไม่เจอยาสั่งให้ตาย ก็ถูกเนรเทศยังชายแดน ที่เหลือแก่ตายดูจะน้อยเต็มที พระนางมีความเป็นอัจฉริยะสามารถใช้คนประจบสอพลอไปจัดการเรื่องเลวๆ ได้ จากนั้นค่อยจัดการกับพวกสอพลอที่หลัง แล้วค่อยหาคนที่เหมาะสมมาสวมบทต่อไป เป็นอันว่าพระนางรู้รักษาตัวรอดเป็นอย่างดี จึงได้ว่าราชการหลังพระวิสูตร (ม่าน) ตลอดรัชกาลของกษัตริย์ถังเกาจง —–ปี ค.ศ. 683 เมื่อกษัตริย์ถังเกาจงสวรรคต พระโอรสองค์ที่ 3 ที่เกิดแต่พระนางได้ขึ้นครองราชย์ (พระโอรสองค์โตกับองค์รองของพระนาง ถูกพระนางกำจัดไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยพระโอรสองค์โตสิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ ส่วนพระโอรสองค์รองถูกเนรเทศยังชายแดน) พระโอรสองค์ที่ 3 พระนามว่า หลีเสี่ยน (李显 หรืออีกชื่อหนึ่งว่า หลี่เจ๋อ -李哲) เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า ถังจงจงฮ่องเต้ (唐中宗) ครองราชย์ได้ไม่ถึงสองเดือนก็ถูกปลดจากตำแหน่ง เพราะเอาใจเข้าหาฝ่ายที่เป็นเมียและพ่อตามากเกินไป พระนางในฐานะพระมารดาทรงเกรงว่าจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ จึงแต่งตั้งพระโอรสองค์ที่ 4 นามว่า หลี่ต้าน (李旦) ขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า ถังยุ่ยจงฮ่องเต้ (睿宗) โดยไม่มีพิธีรีตองตามราชประเพณี —–ถังยุ่ยจงฮ่องเต้แทบไม่มีสิทธิ์ในราชกิจใดๆ เรียกว่าหุ่นเชิดยังไม่ได้เลย เป็นเพียงกษัตริย์ในนามเท่านั้นและถูกจำกัดบริเวณ เพราะพระนางกำลังเตรียมตัวขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้หญิง ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน ต่อให้มีอะไรผิดพลาด พระนางก็ยังอ้างได้ว่ามีองค์ฮ่องเต้ยุ่ยจงอยู่ ดูเถิด.. พระนางแนบเนียนแค่ไหน —–ปี ค.ศ. 684 นี้เอง พระนางในวัย 60 พรรษา ขึ้นว่าราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ พระนามว่า อู่โฮ่ว (武后) และทรงประดิษฐ์อักษรคำว่า ‘จ้าว’ (曌ประกอบด้วยคำว่า 日 + 月 + 空) ขึ้น มีความหมายว่า ‘สุริยันจันทรา ลอยเด่นอยู่บนนภา’ เพื่อใช้เป็นพระนามส่วนพระองค์ กระทั่งถึงปี ค.ศ. 690 ก็ทรงสถาปนาราชวงศ์โจว (周) และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น ‘อู่โจวหวงตี้’ (武周皇帝–กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว) ตั้งตนเป็นฮ่องเต้หญิงหรือจักรพรรดินีองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน พระนางครองราชย์ต่อมาอีก 15 ปี จนถึงปี ค.ศ. 705 พระชนมายุ 81 พรรษา ก็จำต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่ถังจงจงฮ่องเต้จากแรงกดดันของเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ จากนั้นไม่กี่เดือนพระนางก็หนีไม่พ้นพ่ายแพ้ต่อสังขารตามกาลเวลาโดยสวรรคตด้วยโรคชรา อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับว่า พระนางมีความสามารถด้านการปกครอง ตลอดเวลาที่กุมอำนาจในราชสำนักถังร่วม 50 ปีเศษ ทรงเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับราชวงศ์ถังไม่มากก็น้อย แม้แต่กษัตริย์ที่ทรงปรีชาหลายพระองค์ก็ยังเทียบพระนางได้ยาก เรื่องโดย นิรันดร นาคสุริยันต์ (เหล่าตั๊ง)